Share โลกเศรษฐกิจ: วิกฤตฮ่องกง...ต้นตอสั่นคลอนสถานะการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 2, 2019 14:32 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ฮ่องกง ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย ทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว และการเงิน อย่างไรก็ตามด้วยปัจจัยบั่นทอนที่รุมเร้ารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมากว่า 6 เดือน รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงซึ่งเป็นประตูการค้าที่สำคัญของจีนแย่ลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3 ปี 2562 หดตัว 3.2% (q-o-q) นับเป็นการหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ปัจจัยดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า ความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจสั่นคลอนสถานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของฮ่องกงใน 3 มิติ ดังนี้

  • ศูนย์กลางทางการค้า ฮ่องกงถือได้ว่าเป็น “ชาติการค้า” หรือ “Trading Nation” ที่สำคัญของภูมิภาคและของโลก โดยการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP ของฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 300% สูงที่สุดในโลก โดยราว 50% เป็นการค้ากับจีน ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของฮ่องกงปี 2562 หดตัวต่อเนื่องทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกปี 2562 มูลค่าส่งออกของฮ่องกงหดตัว 3.7% (y-o-y) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกไปจีนที่หดตัวถึง 6% ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คล้ายกับหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงไทย ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนที่ล้วนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ประท้วงในเดือนมิถุนายน 2562การส่งออกของฮ่องกงกลับยิ่งทรุดหนัก โดยในไตรมาส 3 มูลค่าส่งออกของฮ่องกงหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.5% สะท้อนให้เห็นว่าการค้าระหว่างประเทศของฮ่องกงถูกซ้ำเติมจากการประท้วงที่ทำให้การผลิตและการขนส่งบางส่วนต้องสะดุดลง นอกเหนือจากเหตุผลที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้า
  • ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการเดินทาง ฮ่องกงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 29 ล้านคนต่อปี และหากรวมชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านฮ่องกง (Sameday Visitors) เข้าไปด้วยจะมีจำนวนสูงถึงราว 65 ล้านคน สูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค ด้วยจุดเด่นของการเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่มีชื่อเสียง จากการเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าปลอดภาษี อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านฮ่องกงในไตรมาส 3 หดตัวถึง 26% ต่ำสุดนับตั้งแต่โรค SARS ระบาดเมื่อปี 2546 ส่งผลให้ยอดค้าปลีกของฮ่องกงในไตรมาส 3 หดตัวถึง 18% สะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการเดินทางของฮ่องกงค่อนข้างรุนแรง
  • ศูนย์กลางทางการเงิน ปัจจุบันสินทรัพย์ของสถาบันการเงินต่อ GDP ของฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วนราว 250% สูงที่สุดในโลกหากพิจารณาตัวชี้วัดต่างๆ ของภาคการเงินนับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุประท้วงในเดือนมิถุนายน พบว่า สถานะของภาคการเงินในฮ่องกงยังคงแข็งแกร่ง โดยสินเชื่อในรูปเงินตราต่างประเทศของฮ่องกงล่าสุดในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 4.07 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นจาก 3.92 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนมิถุนายน 2562 ขณะที่เงินฝากในรูปเงินตราต่างประเทศทั้งหมดในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ราว 6.71 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นจาก 6.65 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 3.44 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง ลดลงเพียงเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ที่ 3.48 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง สะท้อนว่าภาคการเงินของฮ่องกงยังไม่ถูกสั่นคลอน

สำหรับประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในฮ่องกง ทั้งในภาคส่งออกและท่องเที่ยว โดยในภาคส่งออก พบว่ามูลค่าส่งออกของไทยไปฮ่องกงในช่วง 9 เดือนแรกหดตัวถึง 8% หดตัวสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากอาเซียนเดิมหากพิจารณาจากตลาดส่งออก 10 อันดับแรกของไทย ขณะที่ในภาคการท่องเที่ยว พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 9ของไทยหดตัว 2% ในไตรมาส 3 ปี 2562 เทียบกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวกว่า 7% อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวของไทยก็ได้อานิสงส์จากเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงเช่นกัน เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่เข้ามาไทยในช่วงไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 18.8% 12.9% 7.7% และ 8.5% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มหันมาท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยแทนฮ่องกงที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะได้ป้องกันความเสี่ยง หรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อย่างทันท่วงที

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ