CEO Talk: TPAC ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกคงรูปที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 2, 2019 15:24 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

EXIM E-NEWS ฉบับนี้จะพาไปพูดคุยกับผู้ผลิตและส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกคงรูป ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเกียรติจากคุณวรพงษ์ วุฒิพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท พลาสติค และหีบห่อไทย จำกัด (มหาชน) (TPAC) มาบอกเล่าเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจการวางรากฐานให้พร้อมรองรับกับความต้องการของลูกค้ารองรับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม และพร้อมที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

จุดเริ่มต้นของการประกอบธุรกิจ

TPAC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) ตั้งแต่ปี 2548 ดำเนินธุรกิจในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลและเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนตลอดจนเครื่องมืออุตสาหกรรม ตลอดระยะเวลา 35 ปีในอุตสาหกรรม TPAC ตระหนักถึงความต้องการของลูกค้าในผลิตภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติก ถ้วย ฝา หรือภาชนะบรรจุภัณฑ์อื่นๆจึงได้ให้บริการครบวงจร เริ่มตั้งแต่ออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยคำนึงถึงความสวยงามสอดคล้องกับสินค้า การใช้วัตถุดิบอย่างประหยัดมีคุณสมบัติการใช้งานที่เหมาะสม และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมเรียกว่า TPAC Solution

จุดเด่นของธุรกิจ

คู่ค้าเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำระดับโลกและระดับท้องถิ่น ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในอุตสาหกรรม TPACเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ระดับโลกและที่ทำธุรกิจในท้องถิ่นเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน บรรจุภัณฑ์หมวดอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนประมาณ 65% หมวดผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม 16% และหมวดเวชภัณฑ์ยาและเครื่องใช้ส่วนตัว 19%

มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recyclable) ด้วยวิสัยการบริหารงานของ TPAC ยึดถือคุณภาพลูกค้า และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นพันธกิจสำคัญ วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าเป็นพลาสติกคงรูปและพลาสติกชั้นเดียว (Rigid Monolayer Plastic Packaging) ซึ่งสามารถนำมารีไซเคิลได้ (Recyclable)

พร้อมรองรับความต้องการของลูกค้าในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่มีศักยภาพและความต้องการสูง TPAC ขยายเข้าไปในตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ มีอัตราการเติบโตสูงและมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสูง ปัจจุบัน TPAC มีฐานการผลิต 11 แห่งประกอบด้วย 4 โรงงานในไทย 6 โรงงานในอินเดีย และ 1 โรงงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัดส่วนรายได้ราว 50% มาจากประเทศอินเดีย 44% จากประเทศไทย และอีกประมาณ 6% มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดย TPAC ได้ผ่านมาตรฐาน Food Safety Standards (FSSC 22000)

นอกจากนี้ บริษัทได้พัฒนาระบบ ERP เชื่อมโยงข้อมูลในประเทศไทย อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อให้การจัดการข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ รวมทั้งมีการบริหารจัดการทางการเงินอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง

สำหรับการพัฒนากระบวนการผลิต มีการนำเทคโนโลยีการออกแบบและเครื่องจักรบางส่วนที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจรและหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการผลิต ทำให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าได้

อุปสรรคและความท้าทายในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ

ด้วยเจตนารมณ์ที่จะสร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม TPAC มุ่งเน้นผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งสอดรับกับกระแสการรณรงค์ให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นการใช้พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนี้ เนื่องจากพลาสติกเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักเบา ไม่เหมาะสมที่จะขนส่งในระยะไกล เพราะจะกระทบต่อต้นทุน การขยายการผลิตเข้าไปในประเทศอินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จึงตอบโจทย์เรื่องการขนส่ง ส่วนปัญหาเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงมาโดยตลอด โดยมีทีมงานที่สามารถบริหารจัดการปัญหาเรื่องค่าเงิน

กุญแจสู่ความสำเร็จในวันนี้

เรามุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมควบคูไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เรามุ่งผลิตสินค้าที่เป็น Rigid Plastic และ Monolayer Plastic ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้

เราพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนขยายการลงทุนไปในตลาดใหม่ เลือกประเทศที่เข้าไปลงทุนหรือขยายกิจการ โดยมองศักยภาพการเติบโตของตลาดที่จะเข้าไปลงทุนเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในแต่ละครั้งที่จะเข้าไปซื้อกิจการ

เราเลือกลงทุนในกิจการที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ มีทีมบริหารที่ดี มีงบการเงินที่เข็งแรง และมีความพร้อมที่จะพัฒนาและขยายตัว

การสนับสนุนของ EXIM BANK

EXIM BANK ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ TPAC ทั้งเงินทุนหมุนเวียนและตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการทำธุรกิจส่งออกเป็นอย่างมาก ในอนาคตผมมองว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ EXIM BANK มีศักยภาพและจะสามารถช่วยผู้ประกอบการได้คือการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) รวมทั้งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดในต่างประเทศที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มองหาตลาดใหม่ๆ ฝากถึงผู้ประกอบการและผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

การรักษามาตรฐานและคุณภาพของสินค้า ควบคู่กับความซื่อสัตย์และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเชื่อใจและสามารถดำเนินธุรกิจร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ