ส่องเทรนด์โลก: โอลิมปิกฤดูร้อน 2020...จับตาเทคโนโลยีพลิกโฉมโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 6, 2020 14:20 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกฤดูร้อน(Summer Olympic Games) ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี ไม่เพียงเป็นเวทีการแข่งขันอันทรงเกียรติของเหล่านักกีฬาฝีมือดีจากทั่วทุกมุมโลกแต่ยังถือได้ว่าเป็นเวทีแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลกในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ระบบจับเวลา (Timing System) และการแพร่ภาพโทรทัศน์ (Television Broadcasting) ทั้งนี้ โอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีส่วนช่วยยกระดับ รวมถึงกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลกอย่างมาก คือ โอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ (หรือเรียกว่า Tokyo 1964) โดย Seiko บริษัทผู้ผลิตนาฬิกาของญี่ปุ่นได้พัฒนานาฬิกาจับเวลาซึ่งมีระบบจัดเก็บสถิติเวลาด้วยคอมพิวเตอร์ขึ้นเพื่อนำมาใช้ในโอลิมปิกครั้งดังกล่าว และนำนาฬิกาจับเวลาในคราวนั้นไปพัฒนาต่อจนได้ Astron นาฬิกาข้อมือระบบควอตซ์ (Quartz Watch) หรือนาฬิกาที่ใช้แบตเตอรี่เรือนแรกของโลก ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมนาฬิกาที่เรียกว่า Quartz Crisis โดยนาฬิการะบบควอตซ์ได้เข้ามาแทนที่นาฬิกาจักรกล (Mechanical Watch) จนทำให้ผู้ผลิตนาฬิกาที่ปรับตัวไม่ทันต้องออกจากตลาดไป นอกจากนี้ ในโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ยังเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดให้บริการ Shinkansen รถไฟความเร็วสูงสายแรกของโลก ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายประเทศในยุโรปพัฒนารถไฟความเร็วสูงจนสำเร็จตามมาในอีก 2 ทศวรรษให้หลัง

ท่ามกลางสภาวการณ์ปัจจุบันของโลกซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน (Disruptive Technology) หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าโอลิมปิกฤดูร้อนที่จะจัดขึ้นในปี 2563 หรือ "โอลิมปิกฤดูร้อน 2020" ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้กลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง (หรือเรียกว่า Tokyo 2020) ในระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม-9 สิงหาคม 2563 จะเป็นเวทีให้บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยที่อาจพลิกโฉมหน้าโลกอนาคตได้อีกครั้งด้วย 2 เทคโนโลยีสำคัญ ดังนี้

การแพร่ภาพโทรทัศน์ระดับความละเอียด 8K สถานีกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น หรือ NHK จะถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ให้ชาวญี่ปุ่นรับชมตลอดทั้ง 17 วัน ด้วยมาตรฐานความคมชัดภาพในระดับ Ultra High-Definition (Ultra HD) ที่มีความละเอียด 8K ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการแสดงผลภาพที่มีความละเอียดสูงสุดในปัจจุบัน หลังจากที่ทดลองแพร่ภาพโทรทัศน์ด้วยความละเอียด 8K เป็นสถานีโทรทัศน์แรกของโลกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 บริษัทผลิตโทรทัศน์จอแบนของญี่ปุ่น อาทิ Sharp, Sony และ Panasonic จึงพยายามพัฒนาและเปิดตัวโทรทัศน์ที่สามารถรองรับการแสดงผลภาพระดับ 8K (หรือ TV 8K) ให้ทันการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แม้ในช่วงนี้ TV 8K จะมีราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับรายการโทรทัศน์ที่แพร่ภาพด้วยความละเอียด 8K ยังมีไม่มากนัก ทำให้ TV 8K อาจยังไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเท่าที่ควร แต่ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นคาดว่า TV 8K จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากในอนาคตอันใกล้ อาทิ ในจีน ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬารายการสำคัญในปี 2565 ทั้งโอลิมปิกฤดูหนาว และเอเชียนเกมส์

นอกจากนี้ สถานีกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งอิตาลี หรือ RAI จะใช้การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 ในการเริ่มแพร่ภาพโทรทัศน์ระดับความละเอียด 8K เป็นสถานีโทรทัศน์แรกในสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน

ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (ยานยนต์ไร้คนขับ) บริษัทญี่ปุ่นจะนำยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติหลากหลายประเภทมาให้บริการในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 อาทิ รถบัสขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ ระดับที่ 3 (ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ยังต้องใช้มนุษย์ควบคุมในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ซึ่งสายการบิน All Nippon Airways (ANA) จะนำมาให้บริการรับส่งผู้โดยสารภายในสนามบิน รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ ระดับที่ 4 (ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบตามเส้นทางที่กำหนดไว้) ซึ่ง Toyotaจะนำมาให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับรับส่งผู้โดยสารระหว่างสนามแข่งขันกีฬา ขณะที่บริการแท็กซี่ไร้คนขับระหว่างสนามบินกับสนามแข่งขันกีฬาของ Hinomaru Kotsu หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการแท็กซี่ในกรุงโตเกียว จะใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ได้รับการพัฒนาจากเทคโนโลยีเลเซอร์ และกล้องถ่ายรูป 3 มิติ (Stereo Camera) ของ ZMP บริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์ของญี่ปุ่น ทำให้ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะมีแท็กซี่ไร้คนขับให้บริการผู้โดยสารในกรุงโตเกียวรวมกว่า 100 คัน แม้ทุกคันจะยังมีคนขับนั่งประจำที่เพื่อคอยควบคุมรถในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม นอกจากนี้ยังมี e-Palette ยานยนต์อเนกประสงค์ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ ระดับที่ 4ที่จะใช้ระบบควบคุมความปลอดภัยจากภายนอก (คนขับไม่ต้องนั่งประจำที่ภายในรถ) จำนวน 20 คัน ที่ Toyota จะนำมาให้บริการรับส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เฉพาะบริเวณหมู่บ้านนักกีฬาเท่านั้น

ทั้งนี้ แม้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะจบลง แต่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นหลายรายจะนำรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมาทดสอบวิ่งบนถนนสาธารณะในกรุงโตเกียวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะวางจำหน่ายรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระดับที่ 5(ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ) ในท้องตลาดให้ได้ภายในปี 2568 โดยคาดกันว่ารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะได้รับความนิยมมาก ในประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เช่นเดียวกับญี่ปุ่น

นอกเหนือจากการแพร่ภาพโทรทัศน์ระดับความละเอียด 8K และยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ยังมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย อื่นๆ ที่จะนำมาใช้สนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 เช่น 3D Athlete Tracking Technology (3DAT) เทคโนโลยีประมวลผลการเคลื่อนไหวของนักกีฬาด้วย AI ที่สามารถแสดงผลเป็นภาพซ้อนทับกับการแพร่ภาพสดที่ Intel พัฒนาขึ้น Cloud Broadcasting ซึ่ง Alibaba Cloud ร่วมกับหน่วยบริการกระจายเสียงแพร่ภาพโอลิมปิก (OBS) นำสัญญาณการแพร่ภาพโทรทัศน์ไปไว้บนระบบคลาวด์ ทำให้การแพร่ภาพโทรทัศน์ข้ามประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น Facial Recognition System ที่ NEC ร่วมพัฒนากับ Intel จนสามารถประมวลผลใบหน้าได้ใน 0.3 วินาที โดยจะถูกนำไปใช้ในการรักษาความปลอดภัยบริเวณสนามแข่งขันกีฬา Robot Volunteer หลากหลายชนิด ซึ่งจะนำมาใช้นำทางที่นั่ง รวมถึงรับคำสั่งซื้อและจัดส่งเครื่องดื่มและของว่างให้แก่ผู้เข้าชมการแข่งขัน ฯลฯ

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 เปรียบเสมือนโชว์รูมของสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคตที่เปิดให้ทั้งผู้เข้าร่วมงานที่ประเทศญี่ปุ่นและผู้ชมจากทุกมุมโลกได้สัมผัสและมีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งหมายถึงโอกาสอันมหาศาลในโลกของธุรกิจ โดยเฉพาะในสินค้าและบริการที่ได้การตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการจึงควรติดตามกระแสต่างๆ ของมหกรรมการแข่งขันกีฬาครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมธุรกิจให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน รวมถึงนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ให้เป็นประโยชน์แก่ธุรกิจต่อไป

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ