รู้ทันเกมการค้า: สั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ทั้งที จะให้ดีต้องตรวจสอบผู้ขาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 7, 2020 14:13 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การที่ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ (มีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี มากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด) ภายในปี 2564 และมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 30% หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2579ซึ่งจะนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานในหลายภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้นในภาคการผลิตโดยเฉพาะเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ ส่งผลให้มีผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมสนใจลงทุนติดตั้งเครื่องจักรใหม่หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่ตัดสินใจจะติดตั้งหรือปรับปรุงเครื่องจักร นอกจากต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของเครื่องจักรแล้วยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของผู้ขายเครื่องจักรอีกด้วย มิเช่นนั้นอาจเป็นเช่น “นายชอบค้า” ที่สูญทั้งเงินและเวลาจากการนำเข้าเครื่องจักรใหม่

“นายชอบค้า” สนใจสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่จากต่างประเทศมาติดตั้งเพิ่มในโรงงาน เนื่องจากเห็นว่าในจังหวะที่เงินบาทผันผวนในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับเป็นช่วงเวลาที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อีกทั้งประเมินแล้วว่าการนำเครื่องจักรใหม่มาใช้แทนแรงงานจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก หลังจาก “นายชอบค้า” หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก็พบว่ามีผู้ขายจากประเทศหนึ่งในแถบเอเชียตั้งราคาจำหน่ายเครื่องจักรถูกกว่าที่ “นายชอบค้า” เคยซื้อจากทางยุโรปมาก “นายชอบค้า” จึงตัดสินใจสั่งซื้อจากผู้ขายรายนี้ทันที โดยตกลงจะส่งมอบสินค้าให้กับ “นายชอบค้า” ในอีก 2 เดือนข้างหน้า และผู้ขายได้ทำข้อตกลงให้“นายชอบค้า” โอนเงินค่าเครื่องจักรล่วงหน้ามาให้ก่อน 30% ส่วนค่าเครื่องจักรที่เหลืออีก 70% จะชำระหลังจากได้มีการส่งมอบ เครื่องจักร โดยกำหนดให้เป็นการชำระเงินแบบ L/C ซึ่งหมายความว่าผู้ขายเครื่องจักรจะได้รับเงินจากธนาคารของผู้ซื้อ (“นายชอบค้า”)หากผู้ขายส่งมอบเครื่องจักรและจัดทำเอกสารเรียกเก็บเงินตามเงื่อนไขที่กำหนดใน L/C ทุกประการ ซึ่งการชำระเงินวิธีนี้นอกจากทำให้ผู้ขายมั่นใจว่าจะได้รับชำระเงินแล้ว ทาง “นายชอบค้า” เองก็สบายใจว่าเครื่องจักรที่จะได้รับมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ “นายชอบค้า” โอนเงินล่วงหน้า 30% เป็นค่าเครื่องจักรให้ผู้ขายไปแล้ว ผ่านไปกว่า 2 เดือน ผู้ขายก็ยังไม่ส่งเครื่องจักรมา “นายชอบค้า” จึงได้ติดต่อไป ซึ่งทางผู้ขายให้คำตอบว่าไม่สามารถผลิตเครื่องจักรตามที่ตกลงกันได้ จึงขอไม่รับเงินในส่วนที่เหลือ แต่ก็จะไม่คืนค่ามัดจำที่รับไว้ล่วงหน้า 30% ให้เพราะมีการลงทุนไปแล้ว หลังจากนั้น “นายชอบค้า” ก็ไม่สามารถติดต่อผู้ขายรายนี้ได้อีกเลย แม้สุดท้าย “นายชอบค้า” จะยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าผู้ขายมีเจตนาโกงเงินค่ามัดจำไปตั้งแต่แรก หรือเป็นเพราะผู้ขายยังไม่มีความชำนาญมากพอจึงไม่สามารถผลิตเครื่องจักรตามแบบที่ตกลงกันไว้ได้ แต่สรุปได้ว่าการลงทุนในครั้งนี้ “นายชอบค้า”สูญทั้งเงินค่ามัดจำและเสียเวลาถึง 2 เดือน

วิธีหนึ่งที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาใช้ลดความเสี่ยงในกรณีดังกล่าวได้ คือ การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขายก่อนตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า อาทิ การสอบถามจากผู้ที่เคยสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายรายนี้ พิจารณาผลงานในอดีต ตรวจสอบที่ตั้งของบริษัทว่ามีหลักแหล่งจริงหรือไม่ หรือมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบสถานะทางการเงินในปัจจุบันของผู้ขาย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจบริการประเมินความเสี่ยงคู่ค้า สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมการรับประกันการส่งออกและการลงทุน EXIM BANK โทร. 0 2617 2111 ต่อ 3930-44 นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจซื้อหรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือต่อเติมปรับปรุงโรงงาน EXIM BANK พร้อมสนับสนุนผ่าน “สินเชื่อเพื่อการลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2 ปีแรกเพียง 2% ต่อปี เป็นเงินกู้ระยะยาวสูงสุด 7 ปี รวมระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 1 ปี วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย สอบถาม โทร. 0 2617 2111 ต่อ 2802, 2410

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ