เปิดประตูสู่ตลาดใหม่: COVID-19 ในแอฟริกา...ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจไม่รุนแรงแต่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 4, 2020 13:27 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

HIGHLIGHTS
  • เศรษฐกิจหดตัวไม่รุนแรง : หน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่งประเมินตรงกันว่าเศรษฐกิจของทวีปแอฟริกาจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่มากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ และมีโอกาสฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วในลักษณะ V Shape
  • ยังมีความเสี่ยงการแพร่ระบาด : ด้วยข้อจำกัดด้านระบบสาธารณสุขจึงมีการตรวจผู้ติดเชื้อได้ไม่มาก ทำให้มีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อแต่ไม่ได้รับการตรวจซ่อนอยู่จึงมีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นในระยะถัดไปจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้า
  • ควรติดตามสถานการณ์ : แม้คาดว่าแอฟริกาจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่รุนแรง แต่ยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำธุรกิจในแอฟริกาควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนวางแผนป้องกันความเสี่ยงทางการค้าอย่างรัดกุม

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แอฟริกาเป็นหนึ่งในทวีปที่ถูกประเมินว่าได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่รุนแรงนัก ล่าสุด IMF คาดการณ์ GDP ของภูมิภาค Sub-Saharan Africa* ปี 2563 อยู่ที่ -3.2% ซึ่งเป็นระดับติดลบที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ 3.4% ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในทวีปแอฟริกายังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นภายใต้ข้อจำกัดด้านสาธารณสุข ขณะที่หลายประเทศยังมีความเปราะบางด้านการคลัง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำธุรกิจในแอฟริกา ควรติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและปัจจัยแวดล้อมอย่างใกล้ชิด

*Sub-Saharan Africa หมายถึง กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา มีจำนวน 45 ประเทศ (ที่มา : IMF)

แม้หน่วยงานเศรษฐกิจหลายแห่งคาดการณ์ตรงกันว่าแอฟริกาได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่มากนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น แต่แนวโน้มเศรษฐกิจแอฟริกายังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่ยุติ ประกอบกับข้อจำกัดด้านระบบสาธารณสุข ทำให้แอฟริกามีความเสี่ยงที่อาจเกิดการแพร่ระบาดในระยะถัดไป ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและปรับแผนธุรกิจได้ทันท่วงที

Positive Scenario : ผู้ติดเชื้อน้อย เศรษฐกิจได้รับผลกระทบไม่รุนแรงและฟื้นตัวได้เร็ว โอกาสทางการค้ายังมีอยู่
  • จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่สูงมาก ผู้ติดเชื้อในแอฟริกามีจำนวนราว 3.7 แสนราย (ณ วันที่ 6 ก.ค. 2563) ต่ำเป็นอันดับ 2 รองจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (ที่มา : WHO)
  • เศรษฐกิจหดตัวไม่รุนแรง และมีบางประเทศที่ยังขยายตัว หน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่งคาดการณ์ตรงกันว่า GDP ปี 2563 ของแอฟริกาจะติดลบไม่มากนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น และฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติในปี 2564 ในลักษณะ V Shape
  • ธนาคารกลางยังมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) แบบผ่อนคลายได้อีกมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ธนาคารกลางของหลายประเทศในแอฟริกาจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว แต่ยังไม่ใช่ระดับต่ำสุด และยังสามารถลดได้อีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
Implications

เป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะขยายตลาดสู่แอฟริกาในช่วงที่ตลาดอื่น ๆ ยังซบเซาจากผลกระทบของ COVID-19 เมื่อผนวกกับพื้นฐานของแอฟริกาซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่กำลังเติบโตและมีความต้องการสินค้าอีกมาก โดยเฉพาะแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตะวันตกซึ่งเศรษฐกิจของหลายประเทศในปี 2563 ยังขยายตัวในแดนบวกและกลับสู่ระดับปกติได้เร็วภายในปี 2564

Negative Scenario : การแพร่ระบาดขยายวงกว้าง กระทบเศรษฐกิจรุนแรง บั่นทอนโอกาสทางการค้า
  • อัตราการตรวจผู้ติดเชื้อ COVID-19 ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อแต่ไม่ได้รับการตรวจเป็นจำนวนมาก เช่น ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกมีผู้ได้รับการตรวจไม่ถึง 1.2 หมื่นคน (จากประชากรรวม 400 ล้านคน) เทียบกับเยอรมนีมีผู้ได้รับการตรวจแล้วกว่า 5 แสนคน (ประชากร 84 ล้านคน) (ที่มา : Scientific American)
  • งบประมาณด้านสุขภาพอยู่ในระดับต่ำ เป็นข้อจำกัดในการควบคุมและรักษาพยาบาล จนอาจทำให้การแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง รายจ่ายภาครัฐด้านสุขภาพของ Sub-Saharan อยู่ที่ 5.2% ของ GDP เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 9.9%
(ที่มา : World Bank )
  • ภาคการคลังเปราะบาง เป็นข้อจำกัดในการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ OECD คาดว่าหนี้ภาครัฐของแอฟริกาจะแตะระดับ 85% ของ GDP ในปี 2563 จาก 58% ในปี 2562
Implications

สถานการณ์ COVID-19 ขยายวงกว้างจนบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปแอฟริกาควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะควรประเมินสถานะทางการเงินของคู่ค้า/ธนาคารผู้ซื้อ กำหนดเทอมการชำระเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ พร้อมทั้งป้องกันความเสี่ยงทางการค้าและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรัดกุม

สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นและสอดรับกับสถานการณ์ COVID-19 เช่น กลุ่มสินค้าอาหาร (อาหารทะเลกระป๋อง) กลุ่มสินค้าสุขอนามัย (ถุงมือยาง)

4L : 4 ประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงก่อนทำการค้ากับแอฟริกาในช่วง COVID-19

Lockdown : ติดตามความคืบหน้าล่าสุดของการปิดประเทศเพื่อปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น แอฟริกาใต้ยังปิดพรมแดนห้ามเดินทางเข้าออกประเทศ แต่ยกเลิก Lockdown แล้วเคนยาเปิดพรมแดนเฉพาะนักธุรกิจเข้าออกได้และยกเลิก Lockdown

Logistics : บริหารการขนส่งที่อาจใช้เวลานานขึ้นและมีต้นทุนสูงขึ้น มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทำให้มีการจำกัดการขนส่ง ซึ่งจะทำให้ใช้เวลาและมีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล

Law and Regulation : ทำความเข้าใจกฎระเบียบและข้อบังคับศึกษารายละเอียดกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าในช่วง COVID-19 ซึ่งอาจมีขั้นตอนการตรวจที่เพิ่มขึ้น หรือมีการห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภท

Leverage & Risk Management : หาเครื่องมือช่วยขยายการค้าและบริหารความเสี่ยง

  • ใช้ช่องทางออนไลน์และ E-Marketplace ในการเจาะตลาด ซึ่งมีต้นทุนไม่สูงและตอบโจทย์เทรนด์การบริโภคในยุค Social Distancing
  • ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านการส่งออกและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กำหนดเทอมการชำระเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำประกันการส่งออก และซื้อ Forward Contract เป็นต้น

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ