Share โลกเศรษฐกิจ: ธุรกิจยุค COVID-19...กับความท้าทายที่มากกว่า Social Distancing

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 1, 2021 13:37 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ปี 2563 ที่เพิ่งผ่านไป ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจว่าเป็น ?ปีแห่งมหาวิกฤต? ซึ่งจากสถิติในอดีตที่ผ่านมาพบว่า วิกฤตเศรษฐกิจสำคัญของโลกและของไทยมักจะเกิดขึ้นราวทุก ๆ 10 ปีตามวัฏจักรทางเศรษฐกิจ (Economic Cycle) ไล่เรียงมาตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤต Dot Com ในปี 2540-2542 วิกฤต Hamburger ในปี 2552 จนมาถึงวิกฤติ COVID-19 ที่เริ่มขึ้นในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้จะรุนแรงและซับซ้อนกว่าวิกฤตหลายครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากต้นเหตุที่ไม่ได้มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่ง ณ วันที่ 14 มกราคม 2564 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 92 ล้านคนและคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 1.9 ล้านคน จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจทั่วโลกทั้งภาคการผลิตและบริการ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัวสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ขณะที่เศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปจะ ?เปราะบางมากขึ้น? เนื่องจากการเร่งอัดฉีดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทุกประเทศกำลังใช้ ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ ในส่วนของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ธนาคารกลางหลายประเทศนำมาใช้ ทั้งนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ และมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบที่มีมูลค่าสูงกว่าในช่วง Hamburger Crisis จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความผันผวนมากขึ้นในระยะถัดไป

ขณะเดียวกันวิกฤตครั้งนี้ยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตครั้งไหนมาก่อน นั่นก็คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยที่ผ่านมาแม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ และทำให้การดำเนินธุรกิจสะดุดลง แต่ยังไม่มีวิกฤตครั้งใดที่ก่อให้เกิดการ Shock ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานจนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกอย่างหยุดชะงักลงได้มากเท่าครั้งนี้ อีกทั้งยัง Disrupt วิถีการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันได้รับผลกระทบอย่างหนัก และต้องหันกลับมาวางแผนธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับวิถี Social Distancing ที่ดูเหมือนจะกลายเป็น New Normal ในอนาคต

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าธุรกิจในอนาคตไม่เพียงต้องเผชิญกับ Social Distancing ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายในเชิงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแล้วเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับ ?Distancing? หรือความท้าทายที่จะเพิ่มขึ้นในหลายมิติ ไล่เรียงตั้งแต่ภาคการผลิตของโลกจนถึงรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ ดังนี้

Global Supply Chain Distancing : ห่วงโซ่อุปทานของโลกเชื่อมโยงถึงกันน้อยลง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ห่วงโซ่อุปทานของโลกมีความเชื่อมโยงถึงกันค่อนข้างสูงผ่านแนวคิดโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่มีการกระจายการผลิตแต่ละขั้นตอนตามความชำนาญและความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ของแต่ละประเทศเพื่อก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากร อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ปะทุขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน และวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นเริ่มสะท้อนให้ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมเห็นว่าการพึ่งพาวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศหรือประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไปก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จีนซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุดของโลก (Factory of the World) ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากแนวคิดทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (De-Globalization) และการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน รวมถึงการ Lockdown ในหลายเมืองอุตสาหกรรมของจีนในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้ประเทศที่พึ่งพาหรืออยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน ปัจจัยดังกล่าวเริ่มทำให้กระแสการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา มีรัฐบาลบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นได้ให้เงินทุนสนับสนุนแก่บริษัทญี่ปุ่นสำหรับการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน

Financial Distancing : การเข้าถึงแหล่งเงินทุนทำได้ยากขึ้น วิกฤต COVID-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ส่งผลให้ภาคธุรกิจ ทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่เผชิญกับ ?วิกฤตสภาพคล่อง? ครั้งสำคัญ ทั้งนี้ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับภาวะ ?รายได้? ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยในบางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ Lockdown และ Social Distancing อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทั้งสายการบินและโรงแรม รายได้หายไปเกือบทั้งหมด สวนทางกับต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่แทบไม่ลดลง ทั้งค่าเช่าร้านหรือโรงงาน ค่าจ้างพนักงาน รวมถึงค่าวัตถุดิบต่าง ๆ ทำให้หลายธุรกิจทั่วโลกขาดสภาพคล่อง และบางธุรกิจอาจถึงกับล้มละลายหรือเป็นหนี้สะสมจำนวนมหาศาล ขณะที่การระดมทุนหรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจทำได้ยากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และ SMEs โดยธุรกิจขนาดใหญ่ที่เดิมสามารถระดมทุนจากช่องทางอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่าการกู้ธนาคาร อาทิ การระดมทุนในตลาดทุน การออกหุ้นกู้หรือการระดมทุนผ่าน Venture Capital ก็อาจเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นจากการที่หลายบริษัทถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ มีการปรับเป้ารายได้และกำไรลง หรือแม้บางบริษัทจะระดมทุนได้ก็อาจจะได้จำนวนเงินที่น้อยกว่าที่วางแผนไว้ เนื่องจากนักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น ขณะที่หากมองถึงผู้ประกอบการ SMEs ยิ่งดูเหมือนจะยากขึ้นไปอีกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากรายได้ที่หดหาย หนี้สินที่เพิ่มขึ้นหรือมูลค่าหลักประกันที่ลดลง ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ

Business Distancing : การดำเนินธุรกิจแบบเว้นระยะห่าง สถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั่วไปในหลาย ๆ ด้าน แต่ยังส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่จะต้องเปลี่ยนไปในทิศทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัยต่าง ๆ ที่จะเข้มข้นมากขึ้น ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังเปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากรูปแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็น ?เศรษฐกิจไร้การสัมผัส? (Contactless Economy) ซึ่งถือเป็นการเร่งให้เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และเศรษฐกิจอัตโนมัติ (Autonomous Economy) เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเต็มรูปแบบมากขึ้น อาทิ การใช้หุ่นยนต์หรือระบบ Automation แทนแรงงานคน การทำงานจากบ้าน (Work from Home) หรือนอกสถานที่ (Work from Anywhere) ผ่านระบบออนไลน์ การพัฒนาระบบการทำงานที่ไร้การสัมผัสทั้ง Face ID, E-workplace, Online KYC, E-signature รวมถึงการให้บริการลูกค้าและช่องทางการตลาดต่าง ๆ ผ่าน E-platform และใช้ Big Data ในการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการทำงานและการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้กำลังก่อให้เกิดการเว้นระยะห่าง (Distancing) ตั้งแต่ระดับโลกไปจนถึงระดับผู้บริโภค ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ ดังนั้น กลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำมาใช้ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันคือการ ?ปิดทุกความเสี่ยง? ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้า รวมถึงความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มมากขึ้นภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความเปราะบางสูงเช่นในปัจจุบัน ผ่านเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การประกันการส่งออก Forward Contract หรือ FX Option เป็นต้น ควบคู่ไปกับการ ?ปรับทุกกระบวนการ? ตั้งแต่ระดับ Supplier ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องเริ่มมองหา Supplier จากในประเทศ หรือกระจาย Supplier มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่สายการผลิตอาจหยุดชะงักลงในช่วงที่ Supplier ในต่างประเทศประสบปัญหา เช่นเดียวกับกระบวนการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งการนำระบบ Automation มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับกระแส Social Distancing รวมไปถึงการปรับปรุงช่องทางขายเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการขายผ่าน E-platform เพื่อให้สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ