เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ: โอกาสที่แฝงตัวหลังอินโดนีเซียเร่งเครื่องโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 6, 2021 14:57 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในการรับมือกับ COVID-19 หลายประเทศมีแผนตัดลดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำเงินมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่อินโดนีเซียกลับประกาศเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในปี 2563-2567 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ใช้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นกลไกหลักในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเมื่อประกอบกับการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่ให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 100% ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบางประเภท ทำให้ตลาดก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานของอินโดนีเซียกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักลงทุนทั่วโลก

แนวโน้มภาคก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานของอินโดนีเซีย

ภาคก่อสร้างของอินโดนีเซียมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 และยังมีทิศทางเชิงบวกใน 10 ปีข้างหน้า ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนหลักจากนโยบายภาครัฐ ประกอบกับโครงการลงทุนที่ล่าช้าหรือที่ถูกเลื่อนออกมาจากปี 2563 จะกลับมาเร่งดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เมื่อการแพร่ระบาดบรรเทาลงและการเร่งกระจายวัคซีนทำได้เป็นวงกว้างมากขึ้น

แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของอินโดนีเซียในช่วงปี 2563-2567
  • การลงทุนจากภาคเอกชนจะมีบทบาทมากที่สุดภายใต้แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปี 2563-2567 ซึ่งการลงทุนดังกล่าวครอบคลุมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วย รองลงมาเป็นการลงทุนจากภาครัฐ ในปี 2564 รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดสรรงบประมาณราว 414 ล้านล้านรูเปียะห์ หรือเกือบ 2 เท่าของปี 2563 สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
  • กว่า 50% ของการลงทุนเป็นโครงการด้านคมนาคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่มองว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะเติบโตได้มากขึ้นจากการมีระบบคมนาคมในประเทศที่เชื่อมโยงถึงกัน
มาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของนักลงทุนต่างชาติ

นับตั้งแต่ต้นปี 2564 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกหลายมาตรการเพื่อลดอุปสรรคการลงทุนและดึงดูด FDI ให้ได้มากขึ้น โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเปิดให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานบางประเภทได้ 100% ภายใต้ New Investment List ดังนี้

Sector

รับเหมาก่อสร้าง

ข้อจำกัดเดิม

นักลงทุนต่างชาติต้องลงทุนในรูปแบบ Joint Venture (JV) กับนักลงทุนท้องถิ่น โดยถือหุ้นได้สูงสุด 67% (70% สำหรับนักลงทุนอาเซียน) ในโครงการที่มีมูลค่าสูงกว่า 5 หมื่นล้านรูเปียะห์

New Investment List (2021)

ไม่จำกัดเพดานการถือหุ้น แต่ยังต้องลงทุนในรูปแบบ JV กับนักลงทุนท้องถิ่นภายใต้ข้อกำหนดเงินทุนขั้นต่ำดังกล่าว

Sector

สนามบิน

ข้อจำกัดเดิม

นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้สูงสุด 49% โดยกำหนดเงินทุนขั้นต่ำ 1 ล้านล้านรูเปียะห์สำหรับโครงการสนามบินนานาชาติ และ 5 แสนล้านรูเปียะห์สำหรับโครงการสนามบินภายในประเทศ

New Investment List (2021)

นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 100% ภายใต้ข้อกำหนดเงินทุนขั้นต่ำดังกล่าว

Secto

ท่าเรือ

ข้อจำกัดเดิม

นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้สูงสุด 49% โดยกำหนดเงินทุนขั้นต่ำ 5 แสนล้านรูเปียะห์สำหรับโครงการท่าเรือหลัก และ 1 แสนล้านรูเปียะห์สำหรับโครงการ Hub Port

New Investment List (2021)

นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 100% ภายใต้ข้อกำหนดเงินทุนขั้นต่ำดังกล่าว

Sector

โรงไฟฟ้าและระบบสายส่ง

ข้อจำกัดเดิม

นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้สูงสุด 49% สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก (1-10 MW) 67% สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาดเล็ก (10 MW) และ 95% สำหรับโครงการขนาดใหญ่ (10 MW) ส่วนการลงทุนในระบบสายส่ง นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้สูงสุด 95%

New Investment List (2021)

นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 100%

การผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการลงทุนจะเปิดโอกาสให้บริษัทก่อสร้างต่างชาติเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียเพื่อรองรับการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ รวมถึงรับงานในโครงการตามแผนของรัฐบาล อาทิ โครงการเมืองหลวงใหม่ที่กลับมาเดินหน้าโครงการต่อ ด้วยวงเงินงบประมาณราว 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นโอกาสของบริษัทก่อสร้างของไทยที่มีประสบการณ์การดำเนินงานในต่างประเทศ รวมถึงงานที่ปรึกษาด้านการก่อสร้างที่จะเข้าไปขยายการลงทุนในอินโดนีเซีย

Development Bank...หนึ่งในกลไกการสนับสนุนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของอินโดนีเซีย

นอกจากการทำแผนเพื่อชี้เป้าหมายการลงทุนและผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุนจากต่างชาติแล้ว อินโดนีเซียยังเสริมพลังขับเคลื่อนด้วยการยกระดับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนขึ้นเป็นกระทรวงการลงทุน และเพิ่มเติมมาตรการทางการเงิน อาทิ การจัดตั้ง Sovereign Wealth Fund ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ภายใต้ชื่อ Indonesia Investment Authority (INA) เมื่อช่วงต้นปี 2564 เพื่อส่งเสริมการลงทุนในด้านต่าง ๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมกับ PT Sarana Multi Infrastruktur (SMI) ซึ่งเป็น Development Bank ที่สนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ ทั้งนี้ SMI เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเป็นตัวเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้เร็วขึ้น โดยโครงการที่ SMI สนับสนุน มีดังนี้

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นกลไกสำคัญที่ใช้เร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวลง 2.1% ในปี 2563 จากวิกฤต COVID-19 เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งเม็ดเงินลงทุนกระจายลงสู่พื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุม ขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าการลงทุนของอินโดนีเซียที่เร่งตัวขึ้นในช่วงปี 2563-2567 จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ