เรื่องเล่าจาก CLMV: ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจใน CLMV

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 6, 2022 14:36 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

C - กัมพูชา

จากการผ่อนคลายมาตรการในเรื่องการเดินทางเข้าประเทศกัมพูชา สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้วจำนวน 2 เข็ม จะไม่ต้องถูกกักตัวและสามารถเดินทางในกัมพูชาได้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยสายการบินต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป ดังนั้น คาดการณ์ว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 จะมีผู้เดินทางจากต่างประเทศ เริ่มเดินทางเข้ามายังกัมพูชามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 เคยมีจำนวนผู้เดินทางมายังประเทศกัมพูชาประมาณ 6.6 ล้านคนต่อปี

ในปี 2565 กัมพูชามีแผนการรองรับการกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญ เช่น การประกาศใช้ Law on Investment ฉบับใหม่ มีการปรับปรุงรายละเอียดด้านภาษีต่าง ๆ ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น และมีการส่งเสริมการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น Environment Protection, Bio Diversity, Circular Economy, Clean Energy และ Technology Innovations เป็นต้น รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่ประกาศใช้หรือปรับปรุงใหม่ระหว่างปี 2564 เช่น Competition Law, Law on Public-Private Partnerships, Law on E-commerce และการปรับปรุงข้อกฎหมายใน Labour Law 1997 เป็นต้น สำหรับด้านการค้ากัมพูชามีการเจรจาทั้งทวิภาคี และพหุภาคีกับประเทศต่าง ๆ เช่น Cambodia?China Free Trade Agreement (CCFTA) และ Cambodia-Korea Free Trade Agreement (CKFTA) รวมถึง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้านำเข้าระหว่างประเทศสมาชิก อันจะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดด้วยต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่คลี่คลายลงและมีการเปิดประเทศของกัมพูชา ประกอบกับรัฐบาลกัมพูชาได้เตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้าน เช่น การประกาศใช้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ การเจรจาทางการค้าทวิภาคี และพหุภาคีกับประเทศต่าง ๆ สำนักงานผู้แทนฯ เห็นว่าอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้ดี ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ ธุรกิจก่อสร้างและตกแต่งภายใน ธุรกิจพลังงานโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจดังกล่าว ในการพิจารณาขยายการค้าการลงทุนมายังกัมพูชา รวมถึงใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศ ส่งสินค้ากลับมาไทย และส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อีกด้วย

เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย

นายชูพล สุขแสนเจริญ

หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงพนมเปญ

L - สปป.ลาว

ในปี 2565 Asian Development Bank (ADB) คาดการณ์ว่า สปป.ลาว จะมีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 4.00% จากเดิม 2.30% ในปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของ GDP ได้แก่ 1) รายได้จากการเปิดใช้รถไฟลาว-จีน ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไปยังประเทศจีนได้แก่ การขนส่งสินค้า ธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตร ธุรกิจเหมืองแร่ เช่น แร่เหล็ก แร่โปแตส ถ่านหิน เป็นต้น 2) รายได้จากการขายไฟฟ้า ซึ่งนอกจากการส่งออกไปยังประเทศไทยแล้ว รัฐบาล สปป.ลาว ยังมีการผลักดันให้เกิดการลงนามรับซื้อไฟฟ้าจาก Electricity of Vietnam (EVN) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากเขื่อนน้ำอู ซึ่งเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในปลายปี 2564 3) นโยบายเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ คือ การให้สัมปทานเหมืองขุดค้นและแพลทฟอร์มการซื้อขายเงินดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้รัฐบาล สปป.ลาวประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ในด้านการบริหารจัดการหนี้สินของรัฐ มีการวางนโยบายลดการลงทุนจากภาครัฐ โดยเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) เพื่อลดภาระของรัฐลงและยังมีการกำหนดนโยบายตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและลดงบประมาณค่าใช้จ่ายภาครัฐลงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ท้าทายทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ที่ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงินกีบที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกำลังซื้อที่ลดลงของประชากร รวมถึงการขาดแคลนเงินสกุลแข็ง (Hard Currency) ที่จำเป็นต้องใช้ในการชำระภาระค่าสินค้าและชำระหนี้ระหว่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาล สปป.ลาว จะมีการออกเกณฑ์กำกับออกมาบ้างแล้วแต่ยังไม่สามารถควบคุมการบริหารสภาพคล่องของเงินตราต่างประเทศในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย

นางสาววีรนุช ธรรมศักดิ์

หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียงจันทน์

M - เมียนมา

ปี 2564 เป็นปีที่เมียนมาประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องมาจากปี 2563 บวกกับสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเมื่อต้นปี 2564 ทำให้เศรษฐกิจของเมียนมาชะลอตัวอย่างรุนแรง สำนักงานผู้แทนย่างกุ้ง มีความเห็นว่าในปี 2565 เมียนมายังคงต้องประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่คาดว่าจะดีขึ้นกว่าในปี 2564 ทั้งนี้ หลังจากที่เคยมีการทำ Civil Disobedience Movement (CDM) ปัจจุบันในส่วนของภาคแรงงานเริ่มกลับเข้ามาทำงานตามปกติ ภาคการธนาคารเริ่มเปิดให้บริการตามปกติ ในขณะที่ภาคการค้าในเมียนมาเริ่มมีการเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น โดยสังเกตได้จากการกลับมาเปิดดำเนินการของร้านค้า ร้านอาหารตามปกติ และยังมีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชาวเมียนมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย ในส่วนของภาคการผลิตโดยเฉพาะ Garment ซึ่งเคยเป็นอุตสาหกรรมการผลิตหลักในเมียนมายังคงได้รับผลกระทบเนื่องจากคำสั่งซื้อที่หดตัวลงประกอบกับหลายโรงงานได้มีการปิดตัวลงในช่วงต้นปี 2564 ส่วนภาคการท่องเที่ยวและบริการต่อเนื่องซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเมียนมา ยังคงต้องจับตามองหลังการเปิดประเทศ ทั้งด่านทางบกและด่านทางอากาศของเมียนมา ซึ่งประกาศว่าจะเปิดในไตรมาสแรกของปี 2565 คือ ทั้งนี้ หากสามารถเปิดได้ตามแผนที่วางไว้ก็จะทำให้เศรษฐกิจของเมียนมาดีขึ้นมา นอกจากนี้ เมียนมายังพึ่งพิงวัตถุดิบที่จำเป็นต่อธุรกิจโรงแรม เช่น อาหารสด วัตถุดิบจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยอีกครั้งที่จะขยายโอกาสการค้าไปยังเมียนมา

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องจับตามองซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบในเชิงลบทางเศรษฐกิจของเมียนมา เช่น

1. ปัจจัยด้านการขาดแคลนเงินสกุลแข็ง (Hard Currency) ในเมียนมา โดยเฉพาะเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐหรือการขาดแคลน

ธนบัตรจ๊าต รวมทั้ง ค่าเงินจ๊าตอ่อนตัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ The Central Bank of Myanmar (CBM) พยายามที่จะแก้ไขมาโดยตลอด

2. ปัจจัยด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่รัฐบาลเมียนมาจะดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและสร้างความมั่นใจต่อประชาชนชาวเมียนมา รวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจัยด้านการถูกคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตก

3. ปัจจัยด้านการเมืองที่หลายชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกพยายามกดดันเมียนมาให้เกิดประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด รวมทั้งปล่อยตัวนักโทษที่โดนจับในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง นอกจากนี้ ยังต้องจับตามองความพยายามของ ASEAN ในการเข้ามาแก้ไขวิกฤติการณ์ในเมียนมาเอง ซึ่งหากรัฐบาลเมียนมาแก้ไขปัจจัยต่างๆ ตามที่กล่าวมาได้ ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจต่อนานาชาติมากขึ้น และส่งผลต่อการค้าการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ ในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น

เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย

นายวรมินทร์ ถาวราภา

หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงย่างกุ้ง

V - เวียดนาม

ในปี 2564 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามต่ำกว่าประมาณการที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ส่งผลให้เมื่อช่วงกลางปี 2564 เวียดนามมีคำสั่ง Lock down ทั่วประเทศและ Lock down อย่างเข้มข้นภายใต้นโยบาย Social Distancing เมื่อเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2564 ทำให้ธุรกิจ SMEs จำนวนมากต้องปิดตัวลง และกิจการขนาดใหญ่หลายรายเกิดปัญหาด้านการผลิตจากการที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม สำนักงานผู้แทนโฮจิมินห์ ยังคงมีมุมมองที่ดีต่อเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 โดยหากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนปรนให้สามารถเคลื่อนย้ายประชาชนและแรงงานได้ตามปกติ ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเวียดนามเริ่มขับเคลื่อน ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานที่ค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่แล้วของเวียดนาม เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน จำนวนประชากรที่มีมากและประชากรวัยแรงงานที่มีกว่า 55 ล้านคน และที่สำคัญคือ ค่าแรงที่ไม่ได้สูงมากนัก ยังคงเป็นปัจจัยบวกส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากหลาย ๆ แหล่งทั่วโลกมายังประเทศเวียดนาม

นอกจากนี้ การเริ่มเปิดดำเนินการของรถไฟฟ้าในกรุงฮานอย ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนใหม่ ๆ ในเวียดนาม เช่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการมีสื่อโฆษณาต่าง ๆ บริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะเกิดการลงทุนใหม่เพิ่มเติมแล้วแล้ว ยังนำมาซึ่งการจ้างงานในปริมาณมากด้วย

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 ถือเป็นปีที่ท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับเวียดนาม เพราะนอกจากจะต้องควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ท้าทายการขยายธุรกิจของ

เวียดนาม คือ การเข้าร่วมลงนาม Paris Agreement ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 เพื่อลดภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเวียดนามตั้งเป้าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 ในปี 2593 ซึ่งการเข้าร่วมลงนามสนธิสัญญาฉบับนี้ จะทำให้เวียดนามเผชิญความท้าทายจากการต้องเร่งสร้าง Carbon Credit ด้วยการลงทุนใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือการ Replace เครื่องจักรในโรงงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อคงไว้ซึ่งจุดแข็งของสินค้าเวียดนามที่จะส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา แม้ว่าเวียดนามจะมีการลงนามใน European Union-Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตามอง คือ สถานการณ์ความตึงเครียดทางทหารระหว่างจีนกับไต้หวันบริเวณ Indo-Pacific เพราะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศมายังเวียดนามได้ เนื่องจากเวียดนามมีพื้นที่อยู่ใกล้บริเวณพื้นที่พิพาทดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเวียดนามมีนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นกลาง ดังนั้น สำนักงานผู้แทนฯ จึงมีความเห็นว่ารัฐบาลเวียดนามจะสามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ได้ในอนาคต

เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย

นายจักรกริช ปิยะศิริกุล

หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในนครโฮจิมินห์

ทั้งนี้ หากมีข้อสอบถามหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงพนมเปญ : phnompenhoffice@exim.go.th

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงเวียงจันทน์ : vientianeoffice@exim.go.th

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกรุงย่างกุ้ง : yangonoffice@exim.go.th

สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในนครโฮจิมินห์ : hcmcoffice@exim.go.th

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ