Share โลกเศรษฐกิจ: เมื่อสองมหาอำนาจแตะเบรกเศรษฐกิจ...ธุรกิจส่งออกของไทยต้องคาด Safety Belt

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 8, 2022 15:00 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

สถานการณ์ในเวทีโลกยังเป็นประเด็นท้าทายธุรกิจส่งออกอยู่เสมอ โดยในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสองขั้วมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีนในเกือบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า เทคโนโลยี ความมั่นคง รวมไปถึงประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในปีนี้ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างเผชิญโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายคนละมิติในส่วนของสหรัฐฯ อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการดำเนินนโยบายถอนคันเร่งมาตรการทางการเงินที่ต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ขณะที่จีนก็เผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวท่ามกลางความเสี่ยงในการบริหารจัดการผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของทั้งสหรัฐฯ และจีนจะสร้างแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งภาคธุรกิจไทยต้องเตรียมตั้งรับกับผลกระทบในมิติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

สหรัฐฯ...ถอนคันเร่งเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไปต่อได้

สหรัฐฯ เปิดศักราชปี 2565 ด้วยการจุดกระแสความกังวลไปทั่วโลกหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณลดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายทางการเงินที่อาจทำให้เกิดวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นรอบใหม่ที่เร็วและแรงกว่าคาด (The New Rate-hike Cycle) โดย FED มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้เดิม เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่ล่าสุดแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 7.9% ในเดือน ก.พ. 2565 หลัง FED ระบุว่ายังมีช่องว่างอีกมากสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 0-0.25% ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งเพียงพอรองรับแรงกระแทกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ FED ยังระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการลดสภาพคล่องในระบบด้วยการขายสินทรัพย์ทางการเงินที่ FED ถือครองไว้จากการทำ QE ภายในปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดกันไว้ โดยหากเกิดขึ้นจริงก็จะยิ่งกดดันให้สภาพคล่องในระบบลดลงเร็วขึ้นและทำให้ทั่วโลกเผชิญวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่เร็วและแรงขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการกู้ยืมของเอกชนให้ปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนมากขึ้น เนื่องจากจะเกิด การไหลออกของเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เข้าสู่สหรัฐฯ มากขึ้น

จีน...ใส่เกียร์ต่ำ เบาเครื่องเศรษฐกิจ เพื่อรับมือ COVID-19

ในปี 2565 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มถูกบั่นทอนจากการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ที่เข้มงวด ภายใต้นโยบาย Zero COVID-19 ซึ่งเป็นนโยบายที่มีเป้าหมายลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือศูนย์ โดยรัฐบาลจีนดำเนินมาตรการที่เข้มงวดด้วยการปิดเมืองทันทีในพื้นที่ที่ตรวจพบการแพร่ระบาด รวมถึงจำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่และจำกัดการออกจากเคหะสถานอย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่และเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะหากพบการติดเชื้อในเมืองท่าหรือศูนย์กลางการขนส่ง ไปจนถึงเมืองสำคัญในภาคการผลิต ก็จะส่งผลกระทบต่อ Supply Chain การผลิตและการขนส่งเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้เร็วขึ้น ประกอบกับข้อจำกัดด้านสาธารณสุขของจีนที่ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยหนัก (ICU) หากการติดเชื้อขยายวงกว้าง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนยังคงดำเนินนโยบาย Zero COVID-19 ต่อเนื่องในปี 2565 แม้ต้องแลกด้วยความเสี่ยงในการบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจก็ตาม

จีน...เปลี่ยนเลน ลดความเร็ว เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

การพัฒนาจีนยุคใหม่อย่างยั่งยืน (The Next Chapter of China Sustainability) เกิดขึ้นบนความเสี่ยงที่ภาวะเศรษฐกิจอาจชะลอตัว โดยปัจจุบันรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบาย Common Prosperity หรือความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การควบคุมและจัดระเบียบภาคธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เริ่มเข้ามาควบคุมภาคธุรกิจที่ส่งผลต่อความมั่นคงของสังคม อาทิ ธุรกิจสอนพิเศษ ธุรกิจเกม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ (สัดส่วนราว 14.5% ของ GDP จีน) ที่รัฐบาลจีนเข้ามาดูแลควบคุมการปล่อยสินเชื่อในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการเก็งกำไรและช่วยควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มชนชั้นกลางสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ล่าสุดจีนเตรียมนำร่องเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเมืองใหญ่บางแห่ง เพื่อลดการเก็งกำไร นอกจากนี้ ยังต้องจับตามาตรการควบคุมธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจเหมืองถ่านหิน ซึ่งมีแนวโน้มที่รัฐบาลจีนจะกลับมาควบคุมการผลิตถ่านหินอีกครั้งเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเอื้ออำนวยเพื่อเดินตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2603 หลังจากที่ในช่วงปลายปี 2564 รัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายการเพิ่มกำลังการผลิตถ่านหินชั่วคราวเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนพลังงาน (ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในจีน)

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจีนยังไม่มีการเปิดเผย Blueprint สำหรับแผนพัฒนาภายใต้นโยบาย Common Prosperity แต่ที่ผ่านมา ธุรกิจด้านเทคโนโลยีแพลตฟอร์มเป็นกลุ่มที่รัฐบาลดำเนินมาตรการควบคุมและจัดระเบียบอย่างจริงจัง อาทิ บริษัทในกลุ่ม Fintech เพื่อลดการผูกขาดและควบคุมการนำข้อมูลผู้บริโภคไปใช้

ธุรกิจส่งออกไทย...ต้องคาด Safety Belt ลดแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้น
  • Safety Belt ลดแรงกระแทกจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น ภาคธุรกิจควรเตรียมรับมือแต่เนิ่น ๆ กับต้นทุนของการระดมทุนและการกู้ยืมในช่วงขาขึ้น ด้วยการวางแผนทางการเงินและเร่งระดมทุน โดยบริษัทขนาดใหญ่สามารถใช้ช่องทางการออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ สำหรับ SMEs ยังต้องระมัดระวังสภาพคล่องของธุรกิจที่มีแนวโน้มตึงตัวและทิศทางดอกเบี้ยที่กำลังเข้าสู่ช่วงขาขึ้น โดยผู้ประกอบการควรเตรียมหาเงินทุนสำรอง โดยเฉพาะสินเชื่อโครงการสนับสนุน SMEs ของภาครัฐที่มักมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน เนื่องจากในระยะต่อจากนี้ ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยจำเป็นต้องทยอยปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยในทิศทางขาขึ้นอีกครั้ง เพื่อบรรเทาภาวะเงินทุนไหลออกไปหาผลตอบแทนที่จูงใจกว่าในตลาดเงินและตลาดทุนโลก
  • Safety Belt เพิ่มความมั่นใจเมื่อต้องผ่านช่วงค่าเงินผันผวน ภาคธุรกิจควรมีการวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า อาทิ การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FX Forward) และการซื้อสิทธิ์ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (FX Options) เพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
  • Safety Belt ลดการบาดเจ็บหากตกหลุมเศรษฐกิจจีน
  • ระยะสั้น : มาตรการ Zero COVID-19 อาจเพิ่มความเสี่ยงซ้ำเติมปัญหา Supply Chain Disruption จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และขาดแคลนชิบ ผู้ส่งออกไทยที่ค้าขายกับจีนจึงควรติดตามสถานการณ์ COVID-19 ในจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและกระจายสินค้าไทยในจีน รวมถึงความเสี่ยงที่สินค้าจะได้รับความเสียหายจากความล่าช้าในการขนส่งและกระจายสินค้า โดยเฉพาะผักและผลไม้ ซึ่งเน่าเสียได้ง่าย ผู้ส่งออกไทยจึงควรเตรียมแผนการขนส่งสำรองหากเส้นทางขนส่งเดิมได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง นอกจากนี้ ยังควรเผื่อเวลาสำหรับการขนส่งสินค้าที่อาจล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันท่าเรือหลายแห่งในจีนมีการตรวจปล่อยสินค้าและขนถ่ายสินค้าล่าช้ากว่าเดิม จากข้อจำกัดด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด เช่น การกักตัวพนักงาน และการตรวจเชื้อเชิงรุก
  • ระยะยาว : เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวจากผลกระทบของมาตรการจัดระเบียบธุรกิจภายใต้นโยบาย Common Prosperity ล่าสุด IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2565 จะขยายตัว 4.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจส่งออกของไทยที่พึ่งพาจีนเป็นตลาดหลัก ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนบางส่วนมีแนวโน้มลดลง หากมีการเดินหน้าจัดระเบียบตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในแหล่งลงทุนหลักของผู้บริโภคจีน

ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงินที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมเครื่องมือทั้งเชิงรับและเชิงรุกให้พร้อม เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งจากต้นทุนทางการเงินขาขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนสูง ตลอดจนต้องเร่งปรับปรุงเครื่องจักรและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับธุรกิจให้พร้อมคว้าโอกาสจากเทรนด์การค้าโลกยุคใหม่ให้ได้ก่อนคู่แข่ง

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2565


แท็ก สหรัฐ   AFET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ