Share โลกเศรษฐกิจ: เงินบาทอ่อนค่า...กับเงาสะท้อนในมุมมองที่แตกต่าง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 3, 2022 14:10 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เงินบาทที่อ่อนค่าแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ถอนคันเร่งอย่างเร็วและแรงผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 5 ครั้งติดต่อกันจาก 0-0.25% ในช่วงต้นปีมาอยู่ที่ 3-3.25% ในปัจจุบัน ปัจจัยดังกล่าวกดดันให้แทบทุกสกุลเงินทั่วโลกอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

ในวันนี้จะขอชวนทุกท่านมาพูดถึงเงินบาทในแง่มุมที่แตกต่างและน่าสนใจ ผ่านคำถามที่มักได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ดังนี้

  • ทำไมเงินบาทถึงอ่อนค่า? นอกจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าสุดในรอบ 20 ปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ กับไทยที่ห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ หลัง Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ รวมถึงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก คือการที่นักลงทุนไทยเริ่มกลับไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นอีกครั้งหลังชะลอลงในช่วง COVID-19 สะท้อนได้จากยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ ณ ไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ขยายตัว 4.5% (y-o-y) ซึ่งตรงจุดนี้นับได้ว่าเป็นข่าวดีกับเศรษฐกิจไทย เพราะแม้ในระยะสั้นอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าบ้าง แต่ในระยะยาว การที่ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นจะช่วยกระจายความเสี่ยง เสริมความแข็งแกร่งให้ Supply Chain รวมทั้งสร้างรายได้กลับประเทศได้ในอนาคต ตลอดจนจะเป็นสะพานที่ช่วยสร้างนักรบเศรษฐกิจหน้าใหม่โดยเฉพาะ SMEs ให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นในการรองรับความผันผวนของค่าเงินในอนาคตได้เป็นอย่างดี
  • เงินบาทอ่อนค่าดีต่อการส่งออกแค่ไหน? ช่วงนี้ผู้ส่งออกไทยคงยิ้มได้ไม่น้อย เพราะทำให้รายได้จากต่างประเทศเมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกในเทอมบาทช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 ที่ขยายตัวถึง 22% มากกว่าเทอมดอลลาร์สหรัฐที่ขยายตัว 11% โดยเฉพาะผู้ส่งออก SMEs ที่ได้รับอานิสงส์ดังกล่าวไปไม่น้อย เนื่องจากสินค้าส่งออกของ SMEs ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการนำเข้าต่ำ อาทิ อาหาร และสินค้าเกษตร เห็นได้จากมูลค่าส่งออก SMEs ในเทอมบาทที่ขยายตัวถึง 25% มากกว่าการส่งออกรวม อย่างไรก็ตาม ในมุมที่ว่าเงินบาทอ่อนค่าจะทำให้สินค้าไทยราคาถูกลงก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วสกุลเงินคู่แข่งหลายสกุลก็อ่อนค่าเช่นเดียวกัน อาทิ เงินเยน (อ่อนค่า 23%) เงินวอน (17%) เงินเปโซฟิลิปปินส์ (14%) เป็นต้น จึงไม่อยากให้ผู้ส่งออกมองเงินบาทอ่อนค่าเป็นแต้มต่อมากนัก และสิ่งที่กลัวที่สุดคือไม่อยากเห็นผู้ส่งออกไทยลดการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินซึ่งปัจจุบันก็มีสัดส่วนน้อยอยู่แล้วเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น เพราะพฤติกรรมดังกล่าวอาจหยั่งรากลึกและเพิ่มความเสี่ยงให้แก่การส่งออกไทยในระยะยาวได้
  • เงินบาทอ่อนค่าน่ากังวลไหม? คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินบาทที่อ่อนค่ายังน่ากังวล เพราะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มพลังงาน ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อไทยลดลงได้ไม่เร็วนัก อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอีกมุมหนึ่งว่า เงินบาทที่อ่อนค่าในตอนนี้อาจเป็นเงาสะท้อนเศรษฐกิจได้ดีกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2556-2563 ที่แม้เศรษฐกิจไทยจะโตเฉลี่ยเพียง 1.6% ต่อปี แต่เงินบาทกลับแข็งค่ากว่า 20% จนถูกมองเป็น Safe Haven ในการพักเงินร้อน ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าสวนทางกับภาพเศรษฐกิจจริงอาจเป็นภัยเงียบที่กดดันเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เงินบาทดูจะอ่อนค่าสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศ โดยการอ่อนค่าดังกล่าวทำให้เราไม่อยู่ในภาพลวงตา ตลอดจนอาจเป็นการช่วย Rebalance และกระตุ้นให้ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพของเงินบาทในระยะยาวได้อีกด้วย

สุดท้ายนี้ ผู้ประกอบการไทยควร ?ลด ละ เลิก? พฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงิน และควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง ทั้ง Forward Contract ที่จะช่วยล็อกอัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งซื้อ หรืออาจเลือกใช้ FX Options ที่จะเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิ์หรือไม่ใช้สิทธิ์ซื้อขายเงินตราต่างประเทศในอนาคตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถทุ่มเทเวลาให้กับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยไม่ต้องมาลุ้นกันรายวันว่าเงินบาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่า

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2565


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ