CEO Talk: โกโก้ วัลเล่ย์ : ธุรกิจโกโก้สายพันธุ์ไทยที่ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 6, 2022 14:28 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ใครจะรู้ว่า ช็อกโกแลต ที่ได้รับฉายาว่าเป็น ?Gift OF the Gods? ผลผลิตที่ได้มาจากเมล็ดของต้นโกโก้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกากลางจะมาเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีในประเทศไทย ด้วยความชอบและหลงใหลในรสชาติของช็อกโกแลต ทำให้ คุณจารุวรรณ จิณเสน ผู้ก่อตั้งบริษัท โกโก้ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด หันหลังให้กับชีวิตในเมืองใหญ่กลับมาพัฒนาบ้านเกิด สร้างแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนและสวนโกโก้แห่งแรกในจังหวัดน่าน

เริ่มต้นทำธุรกิจจากสิ่งที่ชอบ

จุดเริ่มต้นของ โกโก้ วัลเล่ย์ มาจากการที่คุณจารุวรรณและสามี (คุณมนูญ ทนะวัง) ซึ่งทำงานเป็นวิศวกรในแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ของโลก รู้สึกเบื่อชีวิตพนักงานออฟฟิศในเมืองใหญ่จึงย้ายกลับบ้านที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน เธอต้องการใช้ชีวิตเกษตรกรที่เรียบง่าย แต่เริ่มแรกยังไม่รู้จะปลูกพืชอะไร จึงเริ่มต้นจากสิ่งที่รักและชอบจริง ๆ เนื่องจากทั้งสองคนชอบรับประทานช็อกโกแลตจึงคิดปลูกต้นโกโก้ ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วพืชชนิดนี้เป็นของใหม่ในประเทศไทย ข้อมูลเกี่ยวกับต้นโกโก้มีน้อยมาก ทั้งสองคนจึงตัดสินใจบินไปศึกษาหาข้อมูลการปลูกและแปรรูปโกโก้ที่อเมริกา สวีเดน อินเดีย และอินโดนีเซีย จนมีข้อมูลเพียงพอจึงเริ่มปลูกโดยนำต้นพันธุ์โกโก้มาจากมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ มาลงมือปลูกบนพื้นที่ 10 ไร่ ค่อย ๆ ดูแลและทำความรู้จักต้นโกโก้ด้วยตัวเอง พยายามเข้าใจธรรมชาติของโก้โก้ให้ได้มากที่สุด จนสามารถพัฒนาสายพันธุ์โกโก้เป็นของตนเองได้สำเร็จชื่อว่า ?น่าน 133? ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความทนทาน ให้ผลผลิตดี มีคุณภาพ และเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมากที่สุด

ชุมชนคือหัวใจของธุรกิจ

นอกจากจะปลูกต้นโกโก้จนเชี่ยวชาญ ขั้นตอนที่ยากที่สุดและในช่วงนั้นยังไม่มีใครในประเทศไทยสามารถนำเอาผลโกโก้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้สำเร็จ คุณจารุวรรณจึงตั้งใจศึกษาและทดลองจนสามารถแปรรูปได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการรีโนเวทรีสอร์ทเก่าของครอบครัวขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นแหล่งที่พักและเรียนรู้วิถีโกโก้เต็มรูปแบบ

?เมื่อเราคิดจะทำโกโก้ให้เป็นธุรกิจ เราก็คิดว่าควรจะพัฒนาและเติบโตไปพร้อม ๆ กับชุมชน หัวใจของธุรกิจเราคือไม่สามารถละทิ้งชุมชน ชุมชนอยู่ได้ ธุรกิจก็อยู่ได้ เพราะเราไม่อาจจะเดินได้โดยลำพัง จึงได้ชักชวนวัยรุ่นและคนในวัยทำงานมาทำงานด้วยกัน ให้ความรู้เรื่องการปลูกโกโก้ งานบริการ การผลิต และการนำโกโก้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ? คุณจารุวรรณ เล่าว่า ในช่วงแรก ๆ ที่ชักชวนคนในชุมชนรอบ ๆ ให้มาปลูกโกโก้ ทุกคนหันหลังให้หมด เพราะเป็นพืชชนิดใหม่ในชุมชนต้องปลูกถึง 3 ปีจึงจะให้ผลผลิต ขณะที่พืชอื่นปลูกเพียงไม่นานก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ เขาไม่รู้ว่าปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน ใครจะรับซื้อ เราจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับเขาว่าปลูกมาเราจะรับซื้อทั้งหมด แล้วก็ทำให้ดูว่ารีสอร์ท โกโก้ วัลเล่ย์ ของเราสามารถใช้เป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปได้ เมื่อทำให้เห็นผล ชาวบ้านก็เริ่มมั่นใจที่จะเข้ามาร่วมสร้างธุรกิจเกษตรยั่งยืนด้วยกันกับเรา จนปัจจุบันชาวบ้านจำนวนกว่า 200 ครอบครัวเพาะปลูกและส่งผลผลิตโกโก้ให้กับเรา เพราะสร้างรายได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น ๆ

?สิ่งที่พยายามทำคือใช้แรงงานคนให้มากที่สุด โกโก้ วัลเล่ย์ พยายามไม่ใช้เครื่องจักรในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เลย โดยเฉพาะผู้สูงอายุเราให้มาทำงานเบา ๆ เช่นแยกเปลือกโกโก้ ทำให้เขาภูมิใจที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ไม่เป็นภาระของลูกหลาน และดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของความอร่อยในผลิตภัณฑ์ของ โกโก้ วัลเล่ย์? คุณจารุวรรณ กล่าว

มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน

นอกจากชุมชุมที่ โกโก้ วัลเล่ย์ ให้ความสำคัญแล้ว สิ่งแวดล้อมก็สำคัญ คุณจารุวรรณจึงมุ่งมั่นที่จะทำให้เป็นธุรกิจที่สร้าง Zero Waste กับโลกใบนี้ โดยมีหลักคิดว่าเรา ไม่รู้หรอกว่าเราจะเดินไปได้ไกลแค่ไหนในวันข้างหน้า แต่ ณ วันนี้ตรงที่เราอยู่นี้ เราจะสร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องขยายธุรกิจไม่ว่าจะส่งออกหรือเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เราก็พร้อมและเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทำให้ประเทศชาติมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากโกโก้

COVID-19 ช่วงเวลาปรับตัวของธุรกิจ โกโก้ วัลเล่ย์ เดินทางมาด้วยเส้นทางการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเมื่อ COVID-19 ระบาด การท่องเที่ยวหยุดหมด ลูกค้าคาเฟ่ร้อยละ 90 เป็นนักท่องเที่ยว จึงต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ เริ่มจากการลดรายจ่าย ส่วนรายได้ส่วนใหญ่ที่มาจากการที่ลูกค้าเดินทางมาที่น่าน ก็ต้องปรับตัวหันไปใช้ช่องทางออนไลน์และเลือกการจัดส่งที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ เริ่มคิดค้นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ๆ ที่สามารถส่งออกและมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น เราต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่มากขึ้น และยังทำให้หันกลับมามองว่าขาดตกบกพร่องตรงไหน หรือควรเพิ่มศักยภาพที่จุดไหนให้ธุรกิจของเราพร้อมที่จะกลับมาอีกครั้ง ณ ช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นจังหวะที่ดี ส่วนน้อง ๆ พนักงานก็ได้พูดคุยกันเพื่อให้เข้าใจในสถานการณ์ อาจจะมีบางช่วงบางจังหวะที่บางคนจะได้ทำงานที่ตัวเองไม่ถนัด เช่น Live สดทาง Social Media หรือออกไปจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งก็ทำให้เรามีรายได้นำไปหล่อเลี้ยงธุรกิจและพนักงานของเราได้

การสนับสนุนของ EXIM BANK

เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ในช่วงที่เรากำลังศึกษาหาข้อมูล ได้มีโอกาสเข้าไปที่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสอบถามถึงแหล่งความรู้ที่จะสามารถเข้าไปหาข้อมูล จนได้เข้าร่วมโครงการกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และแนะนำให้รู้จัก EXIM BANK ได้เข้าใจพันธกิจของธนาคาร ได้รับโอกาสเข้าไปอบรมกับธนาคาร ได้เรียนรู้กระบวนการการส่งออก ได้เห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจที่จะส่งออก พอทราบถึงนโยบายของ EXIM BANK ก็รู้สึกว่ามันเหมาะกับ SMEs ตัวเล็ก ๆ อย่างเรา ปัจจุบันบริษัท โกโก้ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ได้รับวงเงินสินเชื่อเพื่อผู้ส่งออกป้ายแดงจาก EXIM BANK และบุคลากรของ EXIM BANK ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการขยายธุรกิจส่งออก

ฝากถึงผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มต้นส่งออก

สำหรับท่านผู้ประกอบการที่คิดจะเริ่มทำธุรกิจหรือที่เริ่มต้นส่งออก อยากให้มองที่ตัวเราเองก่อน มองให้เห็นคุณค่าของตัวเองก่อน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความรู้คู่คุณธรรม การนำสองสิ่งนี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจจะสามารถช่วยให้ตัวเองและสังคมรอบ ๆ ข้างพัฒนาไปพร้อมกัน จุดเริ่มต้นอาจจะยากแต่ถ้าเราตั้งใจทำมันจริง ๆ ทุกปัญหาจะมีทางออกเสมอ และสุดท้ายถึงแม้เราจะเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ แต่ถ้ามองในมุมใหญ่ เราก็เป็นเหมือนฟันเฟืองที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เท่านี้ก็ถือว่าคุ้มแล้วกับสิ่งที่เราคิดและกำลังทำอยู่

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2565


แท็ก อเมริกา   ฉายา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ