ส่องเทรนด์โลก: เตรียมพร้อมรับมาตรการ CBAM...คลื่นภาษีคาร์บอนลูกแรกที่กำลังจะซัดเข้ามา

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 28, 2023 14:21 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อนเป็นหัวข้อหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ สังเกตได้จากที่นานาประเทศต่างพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือปี 2593 โดยหนึ่งในกลไกที่ใช้เพื่อผลักดันเป้า Net Zero ก็คือการเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อกดดันให้ภาคการผลิตเร่งปรับตัวลดคาร์บอนโดยเร็ว

ปัจจุบันมีประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมากในการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน คือ สหรัฐฯ และ EU โดยสหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมาย Clean Competition Act เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง อาทิ สินค้าที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม แก้ว กระดาษ และเอทานอล ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยคาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 ขณะที่ EU มีมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้แล้ว "ส่องเทรนด์โลก" ฉบับนี้จึงจะชวนท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับมาตรการ CBAM ของ EU ให้มากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในโค้งสุดท้ายก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้

ทำความรู้จักกับมาตรการ CBAM ของ EU

- CBAM คืออะไร? ทำไมต้อง CBAM?

Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญภายใต้กรอบ European Green Deal ของ EU ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่จะทำให้ EU บรรลุเป้าหมายการเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เหลือศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593

แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังมาตรการ CBAM คือ การที่ EU ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าใน EU ลดการปล่อยคาร์บอนลง ย่อมส่งผลให้ผู้ผลิตใน EU มีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตใน EU ลดลงเมื่อเทียบกับผู้ผลิตนอก EU ที่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) และทำให้ EU ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ เพราะผู้ผลิตสินค้าก็จะมีแรงจูงใจในการย้ายฐานออกไปตั้งในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่า EU เพื่อให้มีต้นทุนลดลง ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะหันไปซื้อสินค้าที่ผลิตนอก EU เนื่องจากราคาที่ต่ำกว่า ดังนั้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero และเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตสินค้าใน EU จึงควรมีกลไกในการปรับราคาของสินค้านำเข้าให้สะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงในกระบวนการผลิตสินค้านั้น

- CBAM เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอะไรบ้าง?

สินค้าที่เป็นเป้าหมายของมาตรการ CBAM ในปัจจุบันมี 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ซึ่งเป็นสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง และมีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนรวมกันเกินกว่า 50% ของอุตสาหกรรมที่อยู่ในระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยคาร์บอนของ EU (EU Emission Trading System : EU ETS) นอกจากนี้ ยังคาดว่าในอนาคตอาจมีการขยายขอบเขตสินค้าให้ครอบคลุมถึงพลาสติกและเคมีอินทรีย์ด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันขอบเขตของการปล่อยคาร์บอนของสินค้าส่วนใหญ่ใน CBAM จะครอบคลุมทั้ง 1) การปล่อยคาร์บอนทางตรง (Direct Emission) จากการผลิตสินค้า เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องจักร การเกิดปฏิกิริยาเคมีในกระบวนการผลิต และการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจกจากสารเคมีที่ใช้ เช่น สารทำความเย็น และ 2) การปล่อยคาร์บอนทางอ้อม (Indirect Emission) เช่น การปล่อยคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นเหล็กและเหล็กกล้า (ไม่รวม HS 26011200 สินแร่และหัวแร่เหล็กที่เกาะรวมกัน) อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ที่จะพิจารณาเฉพาะการปล่อยคาร์บอนทางตรงเท่านั้น

- ผู้ประกอบการต้องทำอะไรบ้าง?

ในระยะแรกซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน (ต.ค. 2566-ธ.ค. 2568) ผู้ประกอบการจะยังไม่เสียค่าใช้จ่ายในการปล่อยคาร์บอน แต่ผู้นำเข้าสินค้าข้างต้นใน EU ต้องรายงานข้อมูลดังต่อไปนี้ทุกไตรมาส เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะถัดไป

  • ปริมาณสินค้าแต่ละชนิดที่นำเข้า
  • ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (Embedded Emissions) ทั้งทางตรง (Direct) และทางอ้อม (Indirect) ของสินค้านั้น ที่ตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับใบอนุญาต
  • ราคาคาร์บอนในประเทศที่ผลิตสินค้า
  • ช่วงการบังคับใช้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลเช่นเดียวกับในระยะเปลี่ยนผ่าน และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ภายในวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี โดยจะคิดจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่นำเข้าหักด้วยราคาคาร์บอนที่ชำระในประเทศผู้ผลิตแล้ว หรือหักด้วยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Free Allowances) ตามสัดส่วนที่ EU กำหนด ทั้งนี้ หากผู้นำเข้าไม่ได้ส่งมอบใบรับรอง CBAM ให้ครบถ้วนตามกำหนดจะมีโทษปรับในอัตรา 100 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สำหรับผู้ผลิตสินค้าหรือผู้นำเข้าที่ไม่สามารถรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้า (ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับใบอนุญาตจาก EU) ได้ ให้ใช้ ?ค่ากลางการปล่อยคาร์บอน (Default Value)? ของสินค้านั้นจากประเทศที่ผลิตแทน โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยของการปล่อยคาร์บอนของผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศที่ผลิต แต่หากประเทศนั้นยังไม่มีค่ากลางการปล่อยคาร์บอนของสินค้าดังกล่าว ให้ใช้ข้อมูลเฉลี่ยของกลุ่มบริษัทที่ดำเนินการได้แย่ที่สุดใน EU ETS แทน ซึ่งค่าที่ได้อาจสูงกว่าค่าการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงของผู้ผลิตรายนั้น

เหลียวดูผู้ประกอบการไทย...ผลกระทบและการเตรียมความพร้อม

- หลังจาก CBAM บังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมากเพียงใด?

เมื่อ CBAM เริ่มมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไป EU จะมีต้นทุนในการประเมินและเก็บข้อมูลการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่ผลิต รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการรับรองผลจากผู้ตรวจสอบที่ได้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ ต้นทุนหลักที่จะเพิ่มขึ้นคือค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM หรือค่าธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอนที่จะต้องจ่าย ซึ่งคำนวณจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านั้น คูณด้วยราคา CBAM Certificate ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน ยกตัวอย่างเช่น ในการผลิตซีเมนต์ปริมาณ 1 ตันของบริษัทหนึ่ง มีการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 650 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ 0.65 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสมมติให้ค่าธรรมเนียม CBAM Certificate เท่ากับราคาซื้อขายคาร์บอนเฉลี่ยใน EU ETS ปี 2565 ที่ 83 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น ค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM สำหรับการส่งออกซีเมนต์ 1 ตันจากบริษัทดังกล่าวไปยัง EU จะเท่ากับ 0.65 x 83 = 53.95 ยูโร

ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ที่คำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยเฉพาะทางตรง (Direct Emissions) ในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมและซีเมนต์ของไทย พบว่ามีค่า 0.5 และ 0.6 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อตันสินค้าตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการอะลูมิเนียมและซีเมนต์ของไทยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยตันละ 41.5 และ 49.8 ยูโร ตามลำดับ

- ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมตัวอย่างไร?

ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาแนวทางและขอคำแนะนำในการประเมินปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าจาก อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของไทยในการให้บริการรับรองเครื่องหมาย Carbon Footprint นอกจากนี้ ปัจจุบัน อบก. ยังอยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน และเร่งกำหนดค่ามาตรฐาน (Benchmark) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2567

ในโลกการค้าปัจจุบันต้องยอมรับว่าการลดการปล่อยคาร์บอนได้กลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว และเป็นที่แน่นอนว่ามาตรฐานสินค้าหรือมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องย่อมมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการจึงไม่ควรย่ามใจว่าสินค้าของท่านไม่ถูกเก็บภาษีคาร์บอน จึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งปรับตัว เพราะมาตรการ CBAM ของ EU เป็นเสมือนคลื่นลูกแรกของมาตรการภาษีคาร์บอนที่จะเกิดขึ้นในโลก และอีกไม่นานย่อมต้องมีคลื่นลูกต่อ ๆ ไปตามมา ไม่ว่าจะเป็นการขยายขอบเขตสินค้าภายใต้ CBAM ให้กว้างขึ้น การประกาศใช้กฎหมาย Clean Competition Act ของสหรัฐฯ หรือการที่ประเทศอื่น ๆ หันมาเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าแม้ท่านไม่ได้เป็นผู้ส่งออกสินค้าไปประเทศที่เก็บภาษีคาร์บอนโดยตรง แต่ท่านก็อาจอยู่ใน Supply Chain ของผู้ที่ส่งออกสินค้าเหล่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง รวมถึงรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้ลูกค้าของท่านนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ต่อเช่นกัน

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2566


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ