Share โลกเศรษฐกิจ: เศรษฐกิจแดนซามูไร...ฮึดสู้ 3 ทศวรรษที่หายไป

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 6, 2023 13:27 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

หากพูดถึงเศรษฐกิจญี่ปุ่น สิ่งแรก ๆ ที่หลายท่านนึกถึงคงหนีไม่พ้น The Lost Decades หรือหลายทศวรรษที่หายไป พูดง่าย ๆ คือเศรษฐกิจญี่ปุ่นแทบไม่เติบโตเลยตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จาก GDP ที่โตเฉลี่ยเพียง 0.7% ต่ำที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จนทำให้ญี่ปุ่นถูกจีนแซงหน้าขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2566 สัญญาณชีพจรของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มค่อย ๆ กลับมาเต้นอีกครั้ง และอาจถือเป็นจุดสตาร์ตสำคัญที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจาก ?3 กับดัก? ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ดังนี้

  • กับดัก?ตลาดหมี หากเราจะดูว่าเศรษฐกิจกำลังคึกคักหรือซบเซา หนึ่งในตัวเลขที่ดูได้ง่ายและเร็วที่สุดคือ ดัชนีตลาดหุ้นที่มักใช้เป็น Leading Indicator สะท้อนโมเมนตัมเศรษฐกิจในช่วงนั้น ๆ โดยหากย้อนกลับไปดูดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าแทบไม่เติบโตเลย พูดง่าย ๆ คือหากเราซื้อกองทุนหุ้นญี่ปุ่นที่อิงกับดัชนี Nikkei ตั้งแต่ต้นปี 2534 แล้วถือยาวมาถึงปลายปี 2565 ผลตอบแทนที่ได้รับคือ 0% แต่หากซื้อดัชนี Nasdaq ของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันจะได้ผลตอบแทนถึงกว่า 2,000% อย่างไรก็ตาม ฝันร้ายดังกล่าวดูจะค่อย ๆ จางลงตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ดัชนี Nikkei ปรับขึ้นแล้วกว่า 20% สูงเป็นอันดับ 2 ของตลาดสำคัญของโลกรองจาก Nasdaq ทั้งนี้ นอกจากจะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2566 ที่โต 6% สูงกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 3.1% แล้ว อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการปฏิรูปการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนของ The Tokyo Stock Exchange ที่จะเป็นแรงหนุนนักลงทุน โดยเฉพาะข้อกำหนดให้บริษัทที่มีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value < 1) ซึ่งมีบริษัทเกือบ 50% ในตลาดเข้าเกณฑ์นี้ ควรจะเอาเงินสดมาสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นมากขึ้น ทำให้มีการประเมินกันว่าปีนี้บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นจะซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผลเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • กับดัก?เงินฝืด กว่า 30 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อญี่ปุ่นต่ำที่สุดในโลกเฉลี่ยราว 0.3% สาเหตุจากเศรษฐกิจที่ชะลอลงต่อเนื่องหลังภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นเมื่อปี 2533 กดดันให้การบริโภคของญี่ปุ่นซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด (55% ต่อ GDP) โตต่ำเพียง 0.7% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2566 ดูจะมีสัญญาณบวกมากขึ้น สะท้อนจากยอดค้าปลีกที่ขยายตัวเฉลี่ย 6% ต่อเดือน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงสุดในรอบ 19 เดือน อีกทั้งบริษัทญี่ปุ่นก็มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยถึง 3.9% สูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษ นับว่ามีส่วนช่วยหนุนกำลังซื้อ และผลักดันให้เงินเฟ้อที่ต่ำมานานปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานที่ล่าสุดเดือน มิ.ย. 2566 อยู่ที่ 3.3% สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) 15 เดือนติดต่อกัน สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นแรงผลักให้ญี่ปุ่นหลุดกับดักเงินฝืดอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ การบริโภคของญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวเป็นโอกาสส่งออกของไทย สังเกตได้ว่าแม้การส่งออกรวมของไทยครึ่งแรกปี 2566 หดตัวที่ 5.4% แต่การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นหลายรายการยังขยายตัวได้ดี อาทิ รถยนต์ (9.9%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (15.8%) จักรยานยนต์ (78.8%) เครื่องประดับ (52.6%)
  • กับดัก?Safe Haven อีกหนึ่งสาเหตุของ The Lost Decades ที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือเงินเยนที่แข็งค่าจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หากสังเกตค่าเงินเยนปี 2534-2564 พบว่าแข็งค่าขึ้นเกือบ 20% โดยเฉพาะในยามที่โลกเผชิญกับวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤต Hamburger สงครามการค้า และ COVID-19 เงินเยนก็มักเคลื่อนไหวแข็งค่าสวนทางกับสกุลอื่น ๆ ทั้งที่ญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยหลายช่วงเวลาเงินเยนเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม วิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2565 ดูจะช่วยปรับสมดุลดังกล่าวได้พอสมควร เพราะญี่ปุ่นเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ดูจะยินดีกับเงินเฟ้อ ทำให้ BOJ สามารถคงดอกเบี้ยต่ำที่ -0.1% เพื่อประคองเศรษฐกิจได้ สวนทางกับธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 11 ครั้ง มาอยู่ที่ 5.25-5.5% สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เงินเยนตั้งแต่ต้นปี 2565 อ่อนค่าแล้วกว่า 10% ซึ่งก็มีส่วนช่วยการส่งออกและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งแรกปี 2566 เห็นได้จากการส่งออกในรูปเงินเยนที่โต 3.1% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าญี่ปุ่นสูงถึง 11 ล้านคน (ราว 70% ก่อน COVID-19) อย่างไรก็ดี ต้องจับตามองท่าทีของ BOJ ว่าจะเริ่มกลับทิศนโยบายการเงินเมื่อไร เพราะจะส่งผลต่อเงินเยนและโมเมนตัมเศรษฐกิจญี่ปุ่นระยะถัดไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

สัญญาณบวกของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของยุคเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยหากญี่ปุ่นไปได้ดีแน่นอนว่าไทยก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย เพราะต้องอย่าลืมว่าญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่นก็ยังมีเงินลงทุนสะสมเป็นอันดับ 1 ในไทย

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2566


แท็ก ญี่ปุ่น   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ