ส่องเทรนด์โลก: เทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืน...เมื่อโลกเปลี่ยน ไทยต้องพร้อมปรับ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 6, 2023 13:45 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 การท่องเที่ยวไทยเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีสัดส่วนต่อ GDP สูงถึง 18% ของประเทศ จากการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวไทยถึงเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562 เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าจากปี 2552 และจำนวนคนไทยเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 86 ล้านคน-ครั้ง เป็น 167 ล้านคน-ครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวอย่างรุนแรง และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่การท่องเที่ยวไทยจะกลับมามีบทบาทต่อเศรษฐกิจเหมือนเดิมอีกครั้ง ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะมีระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ค่อนข้างดี โดยดัชนี Travel & Tourism Development Index 2021 ของไทยอยู่ที่อันดับ 36 จาก 117 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย แต่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวครั้งนี้จำเป็นต้องแตกต่างจากเดิมเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวโลกที่เปลี่ยนไป ตลอดจนเพื่อรับมือกับคู่แข่งของไทยที่มีศักยภาพมากขึ้น สำหรับความท้าทายสำคัญที่ธุรกิจท่องเที่ยวไทยควรปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ มีดังนี้

เทรนด์การท่องเที่ยวโลก?มุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน

บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากวิกฤต Climate Change ที่รุนแรง ส่งผลให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ความยั่งยืน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งในมิติของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ผลสำรวจของ Booking.com ในปี 2566 พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใส่ใจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น ขณะเดียวกันทางฝั่งของผู้ประกอบการโรงแรม มีการรวมตัวเครือข่ายพันธมิตรกว่า 50,000 แห่งทั่วโลกภายใต้ Sustainable Hospitality Alliance เพื่อประกาศยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2566-2570) ในการเดินหน้าสู่ Net-Positive Hospitality ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ไม่เพียงเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุ Net Zero Emissions ภายในปี 2593 แต่จะสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบด้านลบและสร้างผลกระทบด้านบวกต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การปรับตัวเข้าสู่เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของทั้งนักเดินทางและเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวโลก มีแนวโน้มจะกลายเป็นมาตรฐานการทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในระยะต่อไป

คู่แข่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีพัฒนาการก้าวกระโดด

คู่แข่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาค เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยในปี 2558-2562 สูงกว่าไทย ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงาน The Travel & Tourism Competitiveness Report แสดงให้เห็นว่าอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยปรับขึ้นต่อเนื่องในปี 2558-2562 แต่ในปี 2564 คู่แข่งอย่างอินโดนีเซียก้าวกระโดดจากอันดับ 50 ในปี 2558 ขึ้นเป็นอันดับ 32 ในปี 2564 แซงหน้าไทยขึ้นไปแล้ว และเวียดนามก็สามารถเลื่อนอันดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากอันดับที่ 60 ในปี 2562 เป็นอันดับ 52 ในปี 2564 ล่าสุด Agoda แพลตฟอร์มผู้ให้บริการจองห้องพักทางออนไลน์ ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเวียดนามเติบโตก้าวกระโดด และมีโอกาสเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย โดยในปัจจุบันเวียดนามเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้

การปรับสู่ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน?ตอบโจทย์การแข่งขัน เพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ

การปรับตัวสู่กระแสการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างภาพลักษณ์เสมอไป เพราะปัจจุบันมีการลงทุนหลากหลายที่ช่วยเสริมผลประกอบการธุรกิจได้จริงในระยะยาว โดยผลการศึกษาของ Moore Global บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ระบุว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับประเด็นความยั่งยืน (ESG) จะมีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรสูงกว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญน้อยถึง 2.2 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนน่าจะเป็นแนวทางในการตอบโจทย์การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจากการเสริมจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติของไทยให้แข็งแกร่งขึ้นและช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ทำได้ง่ายเพื่อปรับตัวสู่เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ทันที อาทิ ปรับใช้พลังงานสะอาด เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์ เปลี่ยนไปใช้หลอดไฟเป็นแบบ LED เพื่อช่วยประหยัดการใช้พลังงาน เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของใช้ในห้องพักเป็นวัสดุรีไซเคิล ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ใช้วัตถุดิบและจ้างแรงงานจากชุมชนรอบตัวเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายรายได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรเริ่มศึกษาและจัดทำแนวทางการวัดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแสวงหาแนวทาง/เทคโนโลยีมาใช้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการดำเนินการเพื่อให้ได้รับการรับรองที่ได้รับการยอมรับ เช่น ISO 21401 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการความยั่งยืนสำหรับสถานประกอบการที่พักในการท่องเที่ยว และการลงนามใน UNESCO Sustainable Travel Pledge เพื่อรับตราสัญลักษณ์โรงแรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้ EXIM BANK พร้อมเคียงข้างและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้พร้อมปรับตัวและคว้าโอกาสจากกระแสความยั่งยืน ด้วยบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพและยกระดับธุรกิจไทยสู่เทรนด์รักษ์โลกและมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อ EXIM Green Start, EXIM Solar Orchestra และ EXIM D-Carbon Financing เพื่อผลักดันการฟื้นตัวของธุรกิจให้กลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเร็ววัน

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2566


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ