Economic Highlights: ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยปรับเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 28, 2008 13:48 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

Macro

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงไตรมาส 3 ปี 2551 ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารสามารถระดมเงินฝากออมทรัพย์ที่มีดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 ต้นทุนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในช่วงดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง

          ส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ (%)           Q3/50              Q2/51               Q3/51
          กรุงศรีอยุธยา                       3.2                3.9                 4.2
          กรุงเทพ                           3.1                3.3                 3.4
          กสิกรไทย                            4                4.1                 4.3
          กรุงไทย                             4                3.6                 3.8
          นครหลวงไทย                       3.2                3.2                 3.2
          ไทยพาณิชย์                         4.1                3.9                   4
          ทหารไทย                          2.6                2.6                 2.8
          ธนชาต                            3.3                3.6                 3.4
          ทิสโก้                             3.6                  4                 3.8
          เกียรตินาคิน                        4.5                  5                 4.5
          เฉลี่ย                             3.5                3.6                 3.7

ที่มา : บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2552 อยู่ที่ 3.0-4.0%

ลดลงจากราว 6.6-6.9% ในปี 2551 เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง อย่างต่อเนื่อง และอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างหารือกับผู้ประกอบการในการปรับลดราคาสินค้าตามต้นทุนที่ลดลง เพื่อดูแลราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

Business

ปิโตรเคมี : แนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาลง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยราคาเม็ดพลาสติกเริ่มปรับลดลงตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 2551 จนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยสูงถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงต้นปี ทั้งนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายสำคัญของไทย เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ การกระจายตลาดส่งออก โดยจะขยายตลาดไปยังประเทศแถบแอฟริกามากขึ้น จากปัจจุบันที่ส่งออกไปจีน และอาเซียน เป็นหลัก และเน้นรับคำสั่งซื้อสินค้าล็อตเล็กเพิ่มขึ้นเพื่อรักษายอดจำหน่าย รวมถึงปรับกลยุทธ์ด้านอื่น ๆ อาทิ การเข้าถึงกลุ่มลูกค้า การให้บริการเสริมหลังการขาย การลดต้นทุนการบริหาร การบริหารกระแสเงินสด และการเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนโครงการใหม่

รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ : วิกฤติการเงินโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อรถยนต์ใหม่ของผู้ใช้รถยนต์ทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายในประเทศไทยปรับลดการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2551 อาทิ บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ลดปริมาณการผลิตรถยนต์เหลือเพียง 6,350 คัน ลดลง 21.3% (จากเป้าเดิมที่ระดับ 8,065 คัน) บริษัท ตรีเพชร อีซูซุเซลส์ จำกัด ลดการผลิตรถยนต์เหลือ 10,995 คัน ลดลง 2.7% (จากเป้าเดิมที่ระดับ 11,295 คัน) นอกจากนี้ บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังเตรียม ปรับลดการผลิตลงเช่นกัน โดยล่าสุดโตโยต้าได้ส่งหนังสือแจ้งไปยัง Supplier ให้ชะลอการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อป้อนให้กับบริษัท ทั้งนี้ หากไม่มีปัจจัยเกื้อหนุนใหม่เข้ามาช่วยพยุงสถานการณ์ อาจส่งผลกระทบให้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่เตรียมผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็น Detroit of Asia ภายในปี 2553 ด้วยเป้าหมายกำลังการผลิตรถยนต์สูงถึงปีละ 1.8 ล้านคัน ต้องเลื่อนออกไป

International

เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam : SBV) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยประเภทต่าง ๆ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2551 ดังนี้

  • อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Prime Rate) ปรับลดจาก 14% เหลือ 13%
  • อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Refinancing Rate) ปรับลดจาก 15% เหลือ 14%
  • อัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount Rate) ปรับลดจาก 13% เหลือ 12%

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 ทั้งนี้ SBV ปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอการขยายตัวลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามเริ่มชะลอตัวจาก 28.3% ในเดือนสิงหาคม 2551 เป็น 27.9% ในเดือนกันยายน 2551 นอกจากนี้ SBV เตรียมซื้อคืนพันธบัตรมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จำหน่ายไปเมื่อเดือนมีนาคม 2551 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์เวียดนาม

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตุลาคม 2551--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ