รายงานสรุปการค้าไทย-อิรัค เดือนมกราคม — สิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 26, 2010 17:13 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บทนำ

อิรัคเป็นแหล่งสำรองน้ำมันมากเป็นอันดับสองหรือมีปริมาณ 143.2 พันล้านบาเรล รองมาจากซาอุดิอาราเบีย และถ้าประเมินราคาน้ำมันขณะนี้อยู่ที่ประมาณบาเรลละ 81 เหรียญสหรัฐฯ (ตุลาคม 2553) จะมีค่าราวๆ 2.27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ( $2.27 trillion) บ่อน้ำมันร้อยละ 70-อยู่ทางใต้ของประเทศ ร้อยละ 20-อยู่ทางเหนือ ที่เหลือเป็นบ่อน้ำมันบริเวณตอนกลางของประเทศ

หลังจากที่สหรัฐฯและอังกฤษ ได้เข้าไปปกครองอิรัค และจัดตั้งคณะผู้ปกครองชั่วคราว (Coalition Provisional Authority - CPA) เข้าไปดูแลบริหารงบประมาณก้อนใหญ่ซึ่งเป็นเงินของอิรักได้มาจากรายได้น้ำมันเพื่อใช้ฟื้นฟูอิรัก และภายหลังอิรัคมีรัฐบาลใหม่ของตนเองเข้าไปทำงานเพื่อปฎิบัติภารกิจในการฟื้นฟูบูรณะประเทศ จัดตั้งรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย เริ่มการสร้างอิรัคใหม่ เปิดประตูประเทศเพื่อทำการค้ากับต่างประเทศการค้าโดยเสรี

การค้ากับต่างประเทศ

ปี 2552 อิรัคส่งออกมูลค่าประมาณ 39.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกได้แก่ น้ำมันดิบ วัตถุดิบต่างๆที่ไม่ใช่น้ำมัน อาหาร และสัตว์มีชีวิต โดยส่งออกไปประเทศ สหรัฐฯ 27.6%, อินเดีย 14.5%, อิตาลี 10.1%, เกาหลีใต้ 8.6%, ไต้หวัน 5.6%, จีน 4.2%, เนเธอร์แลนด์ 4.1%, และญี่ปุ่น 4.0%

การนำเข้ามูลค่าประมาณ 41.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่นำเข้าได้แก่ อาหาร ยารักษาโรค สินค้าอุตสาหกรรม ต่างๆ จากประเทศ ตุรกี 25.0%, ซีเรีย 17.4%, สหรัฐฯ 8.7%, จีน 6.8%, จอร์แดน 4.2%, อิตาลีและเยอรมัน 4.0%

การค้ากับไทย

ปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าไปอิรัคมูลค่ารวม 433 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2553 ลดลงเหลือมูลค่า 287.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 33.5% และในช่วง 8 เดือนแรกส่งออกมูลค่า 251 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 23% (YoY)

สินค้าสำคัญที่ส่งออกได้แก่ ข้าว (43%) รถยนต์&อุปกรณ์ (30%) น้ำตาลทราย (11%) เครื่องปรับอากาศ (6%) กระดาษและผลิตภัณฑ์ ( 2%) เครื่องซักผ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็นและตู้แช่แข็งประมาณ (1%) ตามลำดับ

สำหรับการนำเข้าของไทยจากอิรัคมีมูลค่าเล็กน้อย ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2553 มีมูลค่าประมาณหมื่นเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น

สรุป

1. จีดีพีของอิรัคปี 2549 ประมาณ 57 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และขยายตัวเพิ่มเป็น 112 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อปี 2552 คาดว่าในปี 2557 จีดีพีอิรัคจะสามารถขยายตัวถึง 4,500 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจากการลงทุนและอุปสงค์ในตลาดอิรัคจะปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาครัฐพยายามลงทุนในสาธารญปโภคขั้นพึ้นฐานให้มากขึ้นและอย่างต่อเนื่อง กอร์ปกับประเทศมีน้ำมันและแก๊สธรรมชาติมากจึงมีโอกาสเติบโตสูง นอกจากนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาคเอกชนในปี 2553 ที่มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดยังมีอยู่อีกมาก

2. การเลือกตั้งในอิรัคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา Dr. Ayad Allawi ได้รับผลโหวตเสียงข้างมากแต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศได้ เพราะ Mr.Nuri Kamal al-Maliki นายกรัฐมนตรีรัฐบาลชุดเดิมที่ได้รับเสียงสนับสนุนน้อยกว่าไม่ยอมรับผลโหวตยังคงเดินหน้าบริหารประเทศต่อไป เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ลงตัว จึงเกิดแรงเฉื่อยของภาครัฐบาล ที่หน่วยงานต่างๆของภาครัฐฯเกียร์ว่างรอรัฐบาลชุดใหม่ การเบิกจ่ายภาครัฐสำหรับโครงการต่างๆซึ่งจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสะดุดไม่สามารถเดินหน้าได้ จะเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง บวกกับปัญหาการขัดแย้งทางศาสนาที่รุนแรง ปัญหาการก่อร้ายและความไม่สงบ ทำให้การพัฒนาประเทศในทุกๆด้านก้าวไปไม่ได้ไกลเท่าที่ควร

3. ยูเออียังคงมีบทบาทสำคัญในส่งออกต่อ(Re-export)ไปอิรัค และมีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีนักธุรกิจอิรัคอยู่ในยูเออีหลายบริษัทตั้งขึ้นในเขตอุตสาหกรรมพิเศษ เพื่ออาศัยระบบการธนาคารที่ทันสมัยของยูเออีเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลก ด้วยการเปิดแอลซี และสั่งซื้อด้วยการโอนเงินสด TT ให้ประเทศผู้ส่งออกขนส่งสินค้าโดยตรงไป Umm Qasar ท่าเรือสำคัญที่เมือง Basra ทางตอนใต้ของอิรัค

ดังนั้นยูเออีจึงอีกช่องทางสำคัญในการขยายการส่งออกของไทยไปอิรัคผ่านกลุ่มพ่อค้าเหล่านี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปอิรัคปี 2553 จะสามารถปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10% โดยมีสินค้าข้าว รถยนต์และอะหลั่ย เครื่องปรับอากาศ/เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และกระดาษเป็นสินค้าหลัก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก บาเรล   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ