ชี้ช่องเจาะตลาดศรีลังกา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 4, 2010 16:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา Democratic Socialist Republic of Sri Lanka

โดย ดร. ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ

ภายหลังจากสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อยาวนานของศรีลังกาได้สิ้นสุดลงเมือเดือนพฤษภาคม 2552 ส่งผลให้มีโครงการฟื้นฟู เศรษฐกิจเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เปิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดศรีลังกา โดยเฉพาะด้านสินค้าอุปโภคบริโภยและวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรมพื้นฐานต่างๆ ผู้ส่งออกไทยเห็นจะรอช้าไม่ได้เสียแล้ว

1. ข้อมูลทั่วไป

1.1 ลักษณะทางภูมิศาสตร์

  • ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

ศรีลังกามีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะและเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลทุกด้าน ตอนกลางเกาะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยภูเขาและป่าไม้ ทางตอนใต้เป็นเนินเขาและภูเขา บริเวณกลางเกาะศรีลังกามีความสูงเหนือน้ำทะเลกว่า 7,000 ฟุต สำหรับบริเวณที่ราบจะสูงประมาณ 1,000-3,000 ฟุต แม่น้ำสายสำคัญที่สุดของศรีลังกาคือ แม่น้ำมหาเวลิ- คงคา (Mahaveli Ganga) ความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร แม่น้ำสายสำคัญรองลงมาทางตอนใต้ของประเทศ ได้แก่ แม่น้ำเกลานิคงคา (Kelani Ganga) และแม่น้ำกาลุคงคา (Kalu Ganga) ภูมิอากาศส่วนใหญ่ของศรีลังกาจะมีอากาศแบบเมืองร้อน ฝนตกชุกในช่วงมรสุม

  • อาณาเขต

ศรีลังกาเป็นเกาะในมหาสุมทรอินเดีย ห่างจากตอนใต้ของอินเดียประมาณ 80 กิโลเมตร มีพื้นที่ 65,610 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นดิน 64,740 ตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นน้ำ 870 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือและทิศตะวันออกจรดอ่าวเบงกอล ส่วนทิศใต้และทิศตะวันตกจรดมหาสุมทรอินเดีย

  • เมืองหลวงและเมืองสำคัญต่างๆ

เมืองหลวงของศรีลังกา คือ กรุงโคลัมโบ (Colombo) ตั้งอยู่ริมมหาสมุทรอินเดียทางทิศตะวันตกของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีเมืองสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เมืองแคนดี้ (Kandy) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางศาสนา มีพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ซึ่งเป็นที่สักการะของชาวพุทธประดิษฐานอยู่ และมีต้นพระศรีมหาโพธิ์เก่าแก่ที่เกิดจากการนำหน่อของพระศรีมหาโพธิ์ต้นดั้งเดิมจากอินเดียมาปลูกไว้ และเมืองรัตนปุระ (Ratanapura) ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านอัญมณีของศรีลังกา

รัฐบาลแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 9 จังหวัด ได้แก่ Central (เมืองหลวงคือ Kandy) North Central (เมืองหลวงคือ Anuradhapura) North (เมืองหลวงคือ Jaffna) Eastern (เมืองหลวงคือTrincomalee) North Western (เมืองหลวงคือ Kurunegala) Southern (เมืองหลวงคือ Galle) Uva (เมืองหลวงคือ Badulla) Sabaragamuwa (เมืองหลวงคือRatnapura) และ Western (เมืองหลวงคือ Colombo)

  • ทรัพยากรธรรมชาติ อุตสาหกรรมสำคัญ และสินค้าเกษตร

ทรัพยากรธรรมชาติ หินปูน กราไฟต์ แร่ทราย รัตนชาติ ฟอสเฟต ดินเหนียว อุตสาหกรรม แปรรูปยาง ชา มะพร้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ เสื้อผ้า สิ่งทอ ซีเมนต์ โรงกลั่นน้ำมัน ยาสูบ

ศรีลังกาเป็นประเทศเกษตรกรรม เพาะปลูกข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศ สินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ชา ยาง มะพร้าว โกโก้ ข้าว อ้อย ธัญพืช เมล็ดถั่ว เมล็ดพืชที่มีน้ำมัน นม ไข่ หนัง เครื่องเทศ เช่น อบเชย กระวาน ลูกจันทน์เทศ และพริกไทย ซึ่งชาเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ

  • สภาวะแวดล้อม ปัญหาพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ

ศรีลังกายังคงประสบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การพังทลายของหน้าดิน ประชากรสัตว์ป่าลดจำนวนลงเนื่องจากการลักลอบจับสัตว์ และการเปลี่ยนเป็นสังคมเมือง นอกจากนี้ การทำเหมืองยังก่อให้เกิดมลภาวะ ทรัพยากรน้ำถูกปนเปื้อนโดยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และยังมีปัญหามาลพิษทางอากาศในโคลัมโบด้วย

1.2 ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประชากร

  • จำนวนประชากร และโครงสร้างอายุ

ปี 2553 ศรีลังกามีประชากรประมาณ 20.4 ล้านคน อัตราการขยายตัวของประชากร 0.9% ประชากรอายุ 0-14 ปี จำนวน 24.1% ประชากรอายุ 15-64 ปี จำนวน 68% ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 7.9%

  • เชื้อชาติ ศาสนา และภาษา

ศรีลังกาประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติ ได้แก่ สิงหล 73.8% แขกมัวร์ (มุสลิมจากอินเดียและตะวันออกกลาง) 7.2% อินเดียทมิฬ 4.6% ศรีลังกาทมิฬ 3.9% และอื่นๆ 0.5% ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ 69.1% มุสลิม 7.6% ฮินดู 7.1% คริสต์ 6.2% และอื่นๆ 10% โดยทั่วไปศรีลังกาใช้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการและภาษาประจำชาติ 74% และใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษาประจำชาติ 18% ภาษาอื่นๆ 8% ส่วนภาษาอังกฤษใช้ติดต่อสื่อสารทั่วไปในภาครัฐ และประชากรสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ประมาณ 10% ของประชากรทั้งหมด

  • อัตราการรู้หนังสือ

ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สามารถอ่านและเขียนได้ 90.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แบ่งเป็นเพศชาย 92.3% และเพศหญิง 89.1%

  • จำนวนแรงงาน

แรงงานจำนวน 7.67 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตร 34.3% ภาคอุตสาหกรรม 25.3% และภาคบริการ 40.4%

1.3 รัฐบาล

ศรีลังกาเป็นประเทศสาธารณรัฐ ปกครองแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล (Head of State and Head of Cabinet) เป็นระบบสภาเดียว (unicameral parliament) มีสมาชิกทั้งหมด 225 คน โดยจำนวน 196 คน ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และอีก 29 คน มาจากการจัดสรรที่นั่งให้กับพรรคการเมืองตามอัตราส่วนของคะแนนเสียงที่ได้รับจากประชาชนในแต่ละเขตเลือกตั้ง ประธานรัฐสภาได้รับเลือกจากสมาชิกรัฐสภา

ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยการปรึกษากับนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และมีอำนาจในการยุบสภา (สามารถทำได้ภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป 1 ปี) รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย นายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายมาฮินดา รัชะปักษา และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาย D M Jayaratne

1.4 การเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ

ADB, BIMSTEC, C, CP, FAO, G-15, G-24, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, ITUC, MIGA, MINURSO, MINUSTAH, NAM, OAS (observer), OPCW, PCA, SAARC, SACEP, UN, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UNMEE, UNMIS, UNWTO, UPU, WCL, WCO, WFTU, WHO, WIPO, WMO, WTO

1.5 การจัดทำข้อตกลงทางการค้า

1.5.1 การเป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ

  • South Asia Association for Regional Cooperation (SAARC)

SAARC หรือ ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียใต้ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2528 ประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และยกระดับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก ลดปัญหาความยากจน เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในภูมิภาค โดยมีการจัดทำความร่วมมือในสาขาต่างๆ ได้แก่ การเกษตรและการพัฒนาชนบท สุขภาพและกิจกรรมของประชากร สตรี เยาวชน และเด็ก สิ่งแวดล้อมและป่าไม้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตุนิยมวิทยา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการขนส่ง และมีเป้าหมายจัดตั้ง SAARC Preferential Trading Arrangement (SAPTA) เพื่อให้สิทธิพิเศษทางภาษีระหว่างกัน โดยมีการ ลงนามเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2538 และมีผลบังคับใช้วันที่ 7 ธันวาคม 2538 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Free Trade Agreement: SAFTA) ประเทศสมาชิกได้เห็นชอบให้มีการจัดทำความตกลง SAFTA และได้มีการลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 ในการประชุม SAARC Summit ครั้งที่ 12 ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ประเทศพัฒนาน้อย มาตรการปกป้อง และการปรึกษาหารือและกลไกระงับข้อพิพาท โดยจะเปิดเสรีการค้าระหว่างกันโดยสมบูรณ์ในปี 2559 และ มีเป้าหมายในการดำเนินการเพื่อจัดทำ Customs Union, Common Market และ Economic Union ในภูมิภาคต่อไป

ทั้งนี้ ในกรอบ SAARC ศรีลังกาได้แสดงบทบาทนำในการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกของการปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน (people-to-people contact) ในภูมิภาคให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ผลักดันให้ส่งเสริมความสัมพันธ์กับกรอบภูมิภาคอื่น เช่น ASEAN และ EU เป็นต้น

  • Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation

(BIMSTEC)

BIMSTEC เริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรกจากสมาชิก 4 ประเทศ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ภายใต้ชื่อ BIST-EC (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation) ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น BIMST-EC (Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation) เมื่อพม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2540 ต่อมาในเดือนธันวาคม 2546 เนปาลและภูฏานได้เข้าร่วมประชุมในฐานะสมาชิกใหม่ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค

จนถึงปี 2548 มีการจัดทำความร่วมมือสาขาต่างๆ ภายใต้กรอบ BIMSTEC โดยมีความร่วมมือสาขาหลักอยู่ 6 สาขา ได้แก่ การค้าและการลงทุน การคมนาคมและการสื่อสาร พลังงาน การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และประมง และภายหลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC ครั้งที่ 8 ณ กรุงธาการะหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 2548 สาขาความร่วมมือหลักใน BIMSTEC ได้เพิ่มขึ้นเป็น 13 สาขา โดยมีสาขาใหม่ 7 สาขา ได้แก่ เกษตร สาธารณสุข การลดความยากจน การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน

ในส่วนของสาขาการค้าและการลงทุน ประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้ร่วมกันลงนามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC (Framework Agreement on the BIMSTEC Free Trade area) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้า BIMSTEC (BIMSTEC Trade Negotiating Committee: BIMSTEC TNC) เพื่อเจรจารายละเอียดต่างๆ ภายใต้กรอบความตกลงฯ ได้มีการประชุมไปแล้ว 17 ครั้ง ล่าสุดวันที่ 15-17 ต.ค. 51 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

  • Bangkok Agreement

เป็นความตกลงที่เกิดขึ้นภายใต้ ESCAP ลงนามเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2518 โดยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย ลาว เกาหลีใต้ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และไทย มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2519 ปัจจุบัน สมาชิกความตกลง ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย ลาว เกาหลีใต้ ศรีลังกา และจีน (ไทยและฟิลิปปินส์ได้ลงนามก่อตั้งแต่มิได้ให้สัตยาบัน เนื่องจากข้อผูกพันในอาเซียนขณะนั้น)

  • Indian Ocean Rim Association for Regional Cooperation (IOR-ARC)

IOR-ARC หรือ สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย จัดตั้งขึ้นในการประชุม Indian Ocean Rim Initiative ครั้งที่ 1 ที่มอริเชียส เมื่อปี 2540 สมาชิกผู้ก่อตั้งมี 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย แอฟริกาใต้ เคนยา สิงคโปร์ โอมาน และมอริเชียส มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียในลักษณะไตรภาคี คือ ตัวแทนจากภาครัฐบาล เอกชน และวิชาการ โดยยอมรับในอำนาจอธิปไตยเขตแดน ไม่แทรกแซง กิจการภายในของกันและกัน การตัดสินใจในทุกระดับจะอาศัยฉันทามติ (consensus) และจะไม่มีการนำปัญหาทวิภาคี รวมทั้งกรณีใดๆ ที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งเข้ามาพิจารณาในกรอบของสมาคมฯ ไทยได้เข้าเป็นสมาชิก IOR-ARC โดยฉันทามติของที่ประชุมสภารัฐมนตรี IOR-ARC ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2542 ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก

ปัจจุบัน IOR-ARC มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 18 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย อินเดีย แอฟริกาใต้ เคนยา สิงคโปร์ โอมาน มอริเชียส อินโดนีเซีย มาดากัสการ์ มาเลเซีย โมซัมบิก ศรีลังกา แทนซาเนีย เยเมน ไทย บังกลาเทศ อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ ยังมีประเทศคู่เจรจา (dialogue partners) ได้แก่ อียิปต์ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และ ฝรั่งเศส รวมทั้งมีองค์การการท่องเที่ยวแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tourism Organization - IOTO) เป็นผู้สังเกตการณ์

กิจกรรมส่วนใหญ่ของ IOR-ARC มุ่งเน้นโครงการศึกษาด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (trade facilitation) เพื่อส่งเสริมการขยายปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยมีรูปแบบกิจกรรมกำหนดเป็นโครงการศึกษาระหว่างสมาชิกที่มีความสนใจร่วมกัน ภายใต้กลไกคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน (Working Group on Trade and Investment: WGTI) คณะทำงานด้านธุรกิจ (Indian Ocean Rim Business Forum: IORBF) และคณะทำงานด้านวิชาการ (Indian Ocean Rim Academic Group: IORAG) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน IOR — ARC ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ คือ การประสานงานระหว่างกลไกคณะทำงานทั้ง 3 คณะ และการประสานงานกันระหว่างสำนักงานเลขาธิการกับประเทศสมาชิกในด้านข้อมูลข่าวสารยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงทำให้มีการกำหนดหัวข้อโครงการศึกษาซ้ำซ้อนและไม่เอื้อประโยชน์ต่อกัน นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกจะต้องให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการที่ตนเข้าร่วมด้วย จึงมักประสบปัญหาเงินทุนและเป็นการลำบากที่จะหาสมาชิกเข้าร่วม

1.5.2 การจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (ที่เสร็จสมบูรณ์และมีผลบังคับใช้แล้ว และที่อยู่ระหว่างเจรจา)

  • Agreement on SAARC Preferential Trading Agreement (SAPTA) และ Agreement on South Asian Free Trade Area (SAFTA)

ประเทศสมาชิก SAARC (บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา) ลงนามความตกลง SAPTA เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2538 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 7 ธันวาคม 2538 เพื่อให้สิทธิพิเศษทางภาษีระหว่างกัน ต่อมาประเทศสมาชิกเห็นชอบให้มีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีภูมิภาคเอเชียใต้ (SAFTA) โดยมีการลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ประเทศพัฒนาน้อย มาตรการปกป้อง และการปรึกษาหารือและกลไกระงับข้อพิพาท โดยจะเปิดเสรีการค้าระหว่างกันโดยสมบูรณ์ในปี 2559

  • Asia-Pacific Trade Agreement (APTA)

ประเทศสมาชิกซึ่งประกอบด้วย บังกลาเทศ จีน อินเดีย ลาว เกาหลีใต้ และศรีลังกา ลงนาม The Asia-Pacific Trade Agreement (เดิมคือ Bangkok Agreement) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 โดยมีการให้สิทธิพิเศษทางภาษีระหว่างกัน ในลักษณะ MOP ซึ่งประเทศสมาชิกได้เสนอลดภาษีสินค้าโดยรวมจำนวน 4,270 รายการ และให้แต้มต่อแก่ประเทศ LDC เพิ่มเติมอีกจำนวน 587 รายการ

  • Indo-Sri Lanka Free Trade Agreement (ISFTA)

ลงนามเขตการค้าเสรี อินเดีย-ศรีลังกา วันที่ 28 ธันวาคม 2541 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม 2543 ครอบคลุมเฉพาะเรื่อง Trade in Goods และในระหว่างการเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรีศรีลังกาเมื่อเดือนมิถุนายน 2546 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะขยายเขตการค้าเสรี อินเดีย-ศรีลังกา ไปสู่ Comprehensive Economic Partnership Agreement (CEPA) ครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในส่วนของการค้าบริการ และขยายความร่วมมือด้านการลงทุน โดยมีการจัดตั้ง Joint Study Group เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำ CEPA ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อจัดทำ CEPA ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ณ กรุงโคลัมโบ และได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะ Trade Negotiating Committee และคณะทำงานกลุ่มย่อยในเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อจัดทำข้อบทของ CEPA ต่อไป

  • Pakistan-Sri Lanka Free Trade Agreement (PSFTA)

ลงนามกรอบความตกลงการค้าเสรี ปากีสถาน-ศรีลังกา (Framework Agreement of Pakistan-Sri Lanka Free Trade Agreement: PSFTA) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2545 มีผลบังคับใช้ 12 มิถุนายน 2548 ข้อตกลงได้ระบุสินค้าที่ปากีสถานได้รับสิทธิภาษี 0% จำนวน 102 รายการสินค้า และศรีลังกาได้รับสิทธิภาษี 0% จำนวน 206 รายการ และเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 ได้ลงนาม Protocol เพื่อขยายขอบเขตการจัดทำเขตการค้าเสรีเป็น Comprehensive Economic Partnership Agreement ครอบคลุมการค้าบริการ และความร่วมมือด้านการลงทุน

  • Framework Agreement on the BIMSTEC Free Trade Area

ประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้ร่วมกันลงนามกรอบความตกลง BIMSTEC FTA เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน

1.6 การคมนาคมติดต่อกับศรีลังกา

เส้นทางที่สามารถติดต่อกับศรีลังกาได้สะดวกคือทางอากาศ โดยศรีลังกามีท่าอากาศยานนานาชาติ 1 แห่ง คือ Bandaranaike International Airport สายการบินของประเทศศรีลังกา คือ Sri Lankan Airlines

ส่วนภายในประเทศมีท่าอากาศยานที่เมือง Anuradhapura, Batticaloa, Colombo, Ratmalana, Gal Oya Amparai, Jaffna, Kankesantu, Minneriya และ Trincomalee China Bay

สำหรับการคมนาคมทางน้ำ มีท่าเรือสำคัญตั้งอยู่ที่ Colombo, Galle, Kankasanturai และ Trincomaleeการคมนาคมทางบก ศรีลังกามีทางหลวงวิ่งเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ ความยาว 97,286 กิโลเมตร และทางรถไฟความยาว 1,449 กิโลเมตร

2. ข้อมูลเศรษฐกิจ

2.1 ภาพรวมเศรษฐกิจ

ตั้งแต่ช่วงปี 2513 ศรีลังกาดำเนินนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมุ่งที่จะก่อให้เกิดการขยายตัวด้านการผลิตและผลผลิตต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมีรากฐานอันแข็งแกร่งในเศรษฐกิจโลก โดยจะใช้ประโยชน์จากระบบการค้าเสรี ในขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการภายในประเทศได้พัฒนาทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการบริการ

นโยบายการค้าโดยทั่วไปต้องการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวด้านการค้าสู่ต่างประเทศ (outward-oriented trade regime) เน้นการส่งออก เพิ่มศักยภาพในการเจาะตลาดต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการรวมตัวเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับเศรษฐกิจโลก โดยการเข้าร่วมเจรจาในระดับต่างๆ ทั้งระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และพหุภาคี โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มทางเศรษฐกิจของศรีลังกา จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความมั่นคงเป็นสำคัญ แม้จะไม่เกิดภาวะสงคราม แต่การเพิ่มกำลังทางการทหารอาจส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบทางลบต่อการลงทุนและการบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

2.2 ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดี Rajapaksa ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสังคมโดยอาศัยหลักการ Mahinda Chintana (Mahinda Vision) หรือวิสัยทัศน์แห่งมาฮินดา ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศที่มีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ตั้งแต่ 2549 - 2559 โดยเน้นการพัฒนาสถาบันครอบครัวเป็นแกนหลักของสังคม ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การขจัดความยากจนแบบยั่งยืน และมีแนวทางปฏิบัติ คือ การสร้างสังคมที่มีวินัย โดยการรักษาวัฒนธรรมและศีลธรรม ประชาชนทุกคนและทุกหน่วยงานต้องให้ความเคารพกฎหมาย มีธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายที่สามารถเข้าถึงประชาชนมากขึ้น โดยให้ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจ และสร้างสภาพแวดล้อมของประเทศให้เอื้อต่อการพัฒนาเยาวชน สร้างองค์ความรู้ ทักษะ ความเข้มแข็ง และสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชน

ภายใต้หลักการ Mahinda Chintana ศรีลังกาจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคที่ให้ความเป็นธรรมต่อสังคม และเปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งจะนำศรีลังกาไปสู่จุดที่แข็งแกร่งในระบบเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งเน้น (1) การลดความยากจน (2) การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ห่างไกล (3) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (4) การพัฒนาภาคการเกษตร และ (5) การขยายบริการสาธารณะ โดยรัฐบาลศรีลังกาปฏิเสธการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรวมถึงธนาคารของรัฐ สนามบิน และกิจการไฟฟ้า อีกทั้งยังมีนโยบายเข้าไปบริหารกิจการสำคัญต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

ศรีลังกาต้องการแหล่งเงินทุนในการพัฒนาประเทศอย่างมากตามหลักการ Mahinda Chintana ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้เงินช่วยเหลือให้เปล่าและเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมา ศรีลังกาได้ขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank -- ADB) ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ โดยอิหร่านเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือแก่ศรีลังกามากที่สุด และจีนเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของศรีลังกา เช่น ท่าเรือ โรงงานไฟฟ้า เป็นต้น

ศรีลังกาได้ขอกู้เงินจาก IMF จำนวน 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดย IMF ได้อนุมัติเงินกู้งวดแรกแก่ศรีลังกามูลค่า 322.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการทบทวนการจัดเงินกู้ของศรีลังกาเมื่อวันที่ 8-22 กันยายน 2552 นั้น IMF เห็นว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจของศรีลังกาที่มีความเข้มแข็งกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของศรีลังกายังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว

2.3 การค้าระหว่างประเทศ*

ในปี 2552 การค้าระหว่างประเทศของศรีลังกามีมูลค่ารวม 16.56 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (-24%) เป็นการส่งออก มูลค่า 7.12พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (-13%) และเป็นการนำเข้า มูลค่า 9.43 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (-31%) ศรีลังกาขาดดุลการค้า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (-58%)

สินค้าส่งออกสำคัญของศรีลังกา ได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ชา เครื่องเทศ เครื่องเพชรพลอย มรกต ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์จากปลา เป็นต้น

ตลาดส่งออกสำคัญคือ สหรัฐฯ (22%) อังกฤษ (14%) อิตาลี (6%) อินเดีย (5.12%) เบลเยี่ยม (5%) เยอรมัน (4.96%) ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 20 ของศรีลังกา (0.9%)

สินค้านำเข้าสำคัญของศรีลังกา ได้แก่ ผ้าผืน สินแร่ น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอาหาร เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง เป็นต้น แหล่งนำเข้าสำคัญคือ อินเดีย (18%) สิงคโปร์ (12%) จีน (9%) อิหร่าน (8.8%) ฮ่องกง (5.4%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (3.1%) ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 8 ของศรีลังกา (2.8%)

3. การเมืองและสังคม

ศรีลังกาเป็นประเทศที่ประกอบด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ ศาสนา แต่การเมืองภายในมีพรรคการเมืองที่สำคัญเพียง 2 พรรคของชนชาติสิงหล คือ Sri Lanka Freedom Party (SLFP) และพรรค United National Party (UNP) ซึ่งแข่งขันช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ส่วนพรรคการเมืองอื่นเป็นพรรคเล็กๆ เช่น พรรคของชนเชื้อสายทมิฬ (Tamil National Alliance) พรรคทางพุทธศาสนา และพรรคของกลุ่มแรงงาน เป็นต้น นับแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 จนถึงปัจจุบันพรรค SLFP และพรรค UNP ผลัดกันเป็นรัฐบาลมาโดยตลอด โดยทั้งสองพรรคสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ต่างกันที่นโยบายเศรษฐกิจ โดยพรรค SLFP มีลักษณะค่อนไปทางสังคมนิยม ในขณะที่พรรค UNP มีนโยบายเศรษฐกิจเสรี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2548 นาย Mahinda Rajapaksa นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ผู้สมัครจากพรรค SLFP ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 ได้เข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของศรีลังกา โดยได้แถลงนโยบายว่าจะนำประเทศไปสู่ยุคใหม่ที่มีความเป็นธรรมในสังคม มีการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย และมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวศรีลังกา

นาย Rajapaksa ได้แต่งตั้งให้ นายรัตนศิริ วิกรามานายากา (Ratanasiri Wickramanayaka) อายุ 74 ปี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ นายWickramanayaka เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2543 — 2544 โดยนายมังคลา สมาราวีระ (Mangala Samaraweera) ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่าเรือและการบิน ต่อมา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2550 นาย Rajapaksa ได้ปรับคณะรัฐมนตรี โดยแต่งตั้งให้นายโรหิทา โบโกลากามา (Rohitha Bogollagama) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาวิสาหกิจและส่งเสริมการลงทุน ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ แทนนาย Samaraweera นาย Bogollagama มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นผู้ผลักดันให้มีการลงทุนจากต่างชาติอย่างแข็งขัน เป็นผู้ก่อตั้ง SME Bank และ National Enterprise Development Authority เพื่อดูแลการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีให้เป็นผู้แทนและโฆษกรัฐบาลในการเจรจากับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Ealam -- LTTE) ถึงสองครั้ง

ศรีลังกามีปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬมาเป็นเวลานับศตวรรษ โดยชาวทมิฬต้องการที่จะแยกดินแดนทางภาคเหนือและตะวันออกของประเทศตั้งเป็นมาตุภูมิทมิฬ จึงได้ก่อตั้งกลุ่ม LTTE เพื่อเป็นกองกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาล โดยใช้วิธีการก่อการร้าย ระเบิดพลีชีพ และการลอบสังหาร โดยพุ่งเป้าไปที่หน่วยทหาร ผู้นำทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นชาวสิงหล นอร์เวย์ (ผู้ไกล่เกลี่ย) ได้เริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพในปี 2543 นำไปสู่การลงนามความตกลงหยุดยิงในปี 2545 ซึ่งตามมาด้วยการเจรจาสันติภาพที่มีการประชุมมาทั้งหมด 8 ครั้ง โดยการเจรจาฯ จัดขึ้นที่ไทย 3 ครั้ง (กันยายน/ตุลาคม 2545 และมกราคม 2546) การเจรจาฯ ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 - 29 ตุลาคม 2549 ที่นครเจนีวา ก็ไม่ปรากฏผลที่สำคัญใดๆ อาจกล่าวได้ว่า การเจรจาฯ ที่ผ่านไม่สามารถบรรลุผลใด ๆ ที่เป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนความจริงใจที่จะยุติปัญหาทาการเมืองอย่างถาวร แม้จะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากประเทศตะวันตก ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างละเมิดความตกลงการหยุดยิงอยู่เนือง ๆ รัฐบาลศรีลังกากล่าวหาว่ากลุ่ม LTTE มักจะใช้ช่วงเวลาหยุดยิงฟื้นฟูกำลังของตัวเอง

ประธานาธิบดี Rajapaksa คนปัจจุบันซึ่งได้รับการเลือกตั้งมีนโยบายปราบปรามกลุ่ม LTTE อย่างเด็ดขาด รัฐบาลศรีลังกาได้ยกเลิกข้อตกลงหยุดยิงเมื่อเดือนมกราคม 2551 และเปลี่ยนมาใช้มาตรการทางทหารจัดการกับกลุ่ม LTTE โดยตั้งเป้าหมายปราบปรามกลุ่ม LTTE ให้หมดสิ้นภายในกลางปี 2552 (เดิมภายในปี 2551) ส่งผลทำให้กลุ่ม LTTE อ่อนกำลังลงอย่างมาก แต่ระหว่างนั้นก็ยังคงใช้การก่อการร้ายตอบโต้รัฐบาลศรีลังกาอยู่บ่อยครั้ง เช่น การวางระเบิดบริเวณชุมชนใจกลางกรุงโคลัมโบหลายครั้ง ทั้งที่สถานีรถไฟ สวนสัตว์ รถประจำทาง และห้างสรรพสินค้า การลอบสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล อาทิ นาย D.M. Dassanayake รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสร้างชาติ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2551 และนาย J. Fernandopulle รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทางหลวงและการพัฒนาถนน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2551 เป็นต้น

สืบเนื่องจากเดือนกรกฎาคม 2550 ที่รัฐบาลศรีลังกาสามารถยึดเมือง Thoppigala (ห่างจากกรุงโคลัมโบประมาณ 320 ก.ม. ทางทิศตะวันออก) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของ LTTE ในภาคตะวันออกของประเทศ วันที่ 11 พฤษภาคม 2551 รัฐบาลก็ประสบความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในภาคตะวันออกของประเทศ โดย United People’s Freedom Alliance (UPFA) ซึ่งเป็นกลุ่มพรรครัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรค SLFP ของประธานาธิบดีได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น โดยได้รับ 20 ที่นั่งจากทั้งหมด 37 ที่นั่ง

รัฐบาลพยายามช่วงชิงโอกาสที่กลุ่ม LTTE กำลังอยู่ในสถานะเสียเปรียบ ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่ม LTTE ให้ราบคาบ โดยเริ่มแผนปฏิบัติการทางทหารครั้งใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 รัฐบาลศรีลังกาสามารถยึดคืนเมืองสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นฐานปฏิบัติการของกลุ่ม LTTE ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เมือง Kilinochchi ซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงของกลุ่ม LTTE และเมือง Mullaitivu ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2552 กลุ่ม LTTE จำเป็นต้องถอยร่นไปอยู่ในบริเวณแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และตกเป็นฝ่ายตั้งรับ

ภายหลังจากการโจมตีอย่างหนักหน่วงของกองทัพศรีลังกา กลุ่ม LTTE ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2552 ต่อมา รัฐบาลศรีลังกาประกาศชัยชนะเหนือกลุ่ม LTTE เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 หลังจากที่กองทัพศรีลังกาสามารถสังหารนาย Velupillai Prabhakaran ผู้นำของกลุ่ม LTTE ได้สำเร็จ ถือเป็นการสิ้นสุดการสู้รบภายในประเทศ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทางเชื้อชาติระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬที่ดำเนินมาเกือบ 30 ปี

4. นโยบายเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดี Rajapaksa ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสังคมโดยอาศัยหลักการ Mahinda Chintana หรือวิสัยทัศน์แห่งมาฮินดา (Mahinda Vision) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2559 โดยเน้นการพัฒนาสถาบันครอบครัวเป็นแกนหลักของสังคม มีเป้าหมายหลักคือ การขจัดความยากจนแบบยั่งยืน การสร้างสังคมที่มีวินัย โดยการรักษาวัฒนธรรมและศีลธรรม โดยทุกคนและทุกหน่วยงานต้องให้ความเคารพกฎหมาย มีธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด และดำเนินนโยบายที่สามารถเข้าถึงประชาชน โดยให้ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจ และจะสร้างสภาพแวดล้อมของประเทศให้เอื้อต่อการพัฒนาเยาวชน สร้างองค์ความรู้ ทักษะ ความเข้มแข็ง และสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชน

ประธานาธิบดี Rajapaksa มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคที่ให้ความเป็นธรรมต่อสังคม และเปิดช่องทางให้บุคคลทั่วไปได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะนำศรีลังกาไปสู่จุดที่แข็งแกร่งในระบบเศรษฐกิจโลก เช่น การเพิ่มการลงทุน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้รุดหน้า

5. มาตรการด้านภาษี*

การดำเนินนโยบายทางการค้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของศรีลังกาคือการเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาล แต่ปัจจุบันศรีลังกาได้ปรับลดอัตราภาษีศุลกากร และปรับโครงสร้างภาษีให้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ศรีลังกายังคงมีการใช้มาตรการภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

รัฐบาลศรีลังกาใช้ความตกลงศุลกากรภายใต้ WTO Customs Valuation Agreement ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 และใช้ transaction value method ในการประเมินราคา C.I.F. นอกจากนี้ ศุลกากรยังได้ใช้ระบบ Electronic Data Interchange (EDI) เพื่อรองรับการอำนวยความสะดวกในการ clear สินค้า เพื่อช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการด้านศุลกากร และอำนวยความสะดวกทางการค้ามากขึ้น

  • Import tariffs

การเก็บภาษีนำเข้ามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาล และปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ปี 2546 มีจำนวนสินค้าที่ผูกพันอัตราภาษีภายใต้ WTO จำนวน 6,225 รายการจำแนกตามพิกัดอัตราศุลกากร 8 หลัก มีอัตราภาษีผูกพันที่ 0-250% ส่วนใหญ่ใช้แบบ ad valorem ตามราคา c.i.f. ภาษีเฉพาะ (specific duties) มีจำนวนประมาณ 1.2% ของรายการสินค้าทั้งหมด

ในปี 2548 อัตราภาษีโดยเฉลี่ย (average applied tariff) ของสินค้าอุตสาหกรรม (non-agricultural goods) ของศรีลังกาอยู่ที่ 8.3% อย่างไรก็ตาม ภาษีสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของศรีลังกาไม่ได้ถูกผูกพันไว้ภายใต้ WTO ส่วนอัตราภาษีโดยเฉลี่ยของสินค้าเกษตรของศรีลังกาอยู่ที่ 22.5%

ปัจจุบันศรีลังกาแบ่งการจัดเก็บภาษีออกเป็น 5 tariff bands (ลดลงจาก 6 tariff bands ในเดือน พ.ย. 48) คือ 0%, 2.5%, 6%, 15% และ 28% โดยสินค้าที่มีอัตราภาษี 0% ได้แก่ textiles, pharmaceuticals, medical equipment สินค้าวัตถุดิบพื้นฐานมีอัตราภาษีที่ 2.5% สินค้า semi-processed raw material มีอัตราภาษี 6% สินค้า intermediate product มีอัตราภาษี 15% และสินค้าสำเร็จรูปส่วนใหญ่มีอัตราภาษีที่ 28% ทั้งนี้ อัตราภาษีสำหรับสินค้ายาสูบและบุหรี่ อยู่ระหว่าง 75-250%

นอกจากนี้ เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ ยังมี specific duties ในสินค้าบางรายการ ซึ่งรวมถึง รองเท้า ผลิตภัณฑ์เซรามิก และสินค้าเกษตร

  • Bound tariff

นับตั้งแต่การเจรจารอบอุรุกวัย ศรีลังกาได้ผูกพันอัตราภาษีสินค้าเกษตรและสินค้าทิ่มิใช่เกษตรส่วนใหญ่ ที่ 50% ซึ่งสูงกว่าอัตราที่เรียกเก็บจริงมาก ทำให้รัฐบาลสามารถขึ้นอัตราภาษีได้สูง ซึ่งได้ทำแล้วในปี 2546

  • Other charges affecting imports

นอกจาก import duties แล้ว สินค้านำเข้ายังต้องเสีย additional levies อื่นๆ อีก ได้แก่

  • import duty surcharge อัตรา 10%
  • Ports and Airports Development Levy (PAL) อัตรา 2.5% (ขึ้นจาก 1.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2549)
  • Value Added Tax (VAT) อัตรา 0%, 5%, 15% และ 20% การคำนวณ VAT สำหรับสินค้านำเข้าคำนวณจากมูลค่า

รวมของ c.i.f. value + import duty + surcharge + cess + excise duty

  • excise fees ในสินค้าบางรายการ เช่น aerated water สุรา เบียร์ ยานยนต์ และบุหรี่
  • Port handling charge คำนวณตามขนาดของคอนเทนเนอร์
  • Social Responsibility Levy เพื่อสมทบให้กับ National Action Plan for Children อัตรา 1% (ขึ้น

จาก 0.25% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2549)

ในส่วนของนโยบายการส่งออกไม่มีความแน่นอน แต่ได้ค่อยๆ ยกเลิกภาษีส่งออกในทุกสาขา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจนำภาษีส่งออกกลับมาใช้ได้อีกหากมีความจำเป็นต้องส่งเสริมกระบวนการผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศ

สินค้าต้องห้ามส่งออก ได้แก่ ของเก่า หนังสือหายาก ต้นฉบับการเขียนบนใบตาล วัตถุหายากทางมนุษยวิทยา สัตว์ป่า นก สัตว์เลื้อยคลาน (ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์) และการส่งออกสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตการส่งออก (License Control) ได้แก่ ไม้และท่อนซุง ไม้สักที่เลื่อยแล้ว และสิ่งที่ทำจากไม้ และสัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ สินค้าที่ทำจากสัตว์ ผลไม้กินได้ เปลือกส้ม/เม็ดแตงโมแห้ง ไขมันจากสัตว์/พืช

6. มาตรการที่มิใช่ภาษี มาตรการอื่นๆ เช่น การอุดหนุนการผลิต การค้าและการลงทุน มาตรการปกป้อง

6.1 มาตรการที่มิใช่ภาษี

  • Import prohibitions and restrictions
การห้ามนำเข้าหรือจำกัดการนำเข้ามีวัตถุประสงค์เพื่อเหตุผลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ศีลธรรม และความมั่นคงของประเทศ หากมีการนำสินค้าต้องห้ามเข้ามาในศรีลังกา สินค้าจะถูกริบและถูกทำลายและผู้นำเข้าจะต้องเสียค่าปรับ สินค้าต้องห้ามนำเข้า ได้แก่ ปืน อาวุธยุทโธปกรณ์ อาวุธอันตราย ยาเสพติด และสิ่งที่ผิดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • Import Licensing

เดือนพฤษภาคม 2546 ศรีลังกาได้แจ้งต่อ WTO ในขั้นตอนเกี่ยวกับใบอนุญาตนำเข้า โดย Special Licensing Scheme (SIL) ถูกนำมาใช้เพื่อเหตุผลทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ และเพื่อควบคุมปริมาณและราคาสินค้าภายในประเทศ ในปี 2546 สินค้าจำนวน 474 รายการภายใต้พิกัดศุลกากร 8 หลัก ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า โดยใบอนุญาตนำเข้าจะออกโดย Department of Import and Export Control มีอายุ 6 เดือน และต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวน 0.1% ของราคา c.i.f

  • Standards, technical requirements and certification

หน่วยงาน Sri Lanka Standards Institution (SLSI) เป็นหน่วยงานมาตรฐานของศรีลังกา ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานสินค้า รับรองสินค้าและระบบ ตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก และให้บริการด้านห้อง lab

  • มาตรฐานหีบห่อ

สินค้าอุปโภคบริโภคต้องมีการบรรจุหีบห่อและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การปิดฉลาก (Labeling Regulations) ต้องมีตราสินค้าและประเทศที่ผลิต โดยใช้ภาษาอังกฤษ ทมิฬ หรือสิงหลก็ได้ นอกจากนั้น ต้องระบุรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับสินค้าด้วย (แต่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องวัสดุสำหรับหีบห่อ)

6.2 นโยบายการลงทุน

นโยบายการส่งเสริมการลงทุน

รัฐบาลศรีลังกาอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์ภายในประเทศสงบลง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment -- BOI) ของศรีลังกามีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยกเว้นภาษี 3-15 ปี ยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เป็นต้น ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่เป็นเป้าหมายในการส่งเสริม การลงทุน ได้แก่ สิ่งทอ ซอฟท์แวร์ อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยว ยางพารา และ outsourcing

รัฐบาลพยายามสานต่อนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของศรีลังกาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามกับกลุ่ม LTTE (Liberation Tigers of Tamil Ealam) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมกิจกรรม และการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนได้เสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ และมีองค์กรที่สนับสนุนการลงทุน เช่น Board of Investment (BOI) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติ ให้ข้อมูลด้านการลงทุนและสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกและจูงใจให้นักลงทุนจากเอเชียและยุโรปเข้ามาร่วมลงทุนในศรีลังกา โดยใช้ศรีลังกาเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้ได้ และมีหน้าที่อนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ ออกใบอนุญาต กำหนด tax incentive และให้ความช่วยเหลือด้าน procurement และยังจัดการบริหาร export-processing zones และ industrial parks

นอกจากนี้ รัฐบาลศรีลังกาได้กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน เช่น

  • การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่ 3 ร้อยละ 10 และตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20
  • การลดหย่อนภาษีศุลกากรสำหรับการซื้ออุปกรณ์และเครื่องจักรการผลิต วัสดุก่อสร้างและตึก โดยใช้ฐานคำนวณร้อยละ 75 ของยอดเงินลงทุนขากการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ ทั้งนี้ต้องมีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 250 ล้านรูปี หรือ 2.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการลงทุนนอกเขตที่กำหนด ให้หักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและเครื่องมือต่างๆ ได้ร้อยละ 50 ในเวลา 2 ปี จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ร้อยละ 33.3 ในเวลา 3 ปี
  • หักลดภาษีสำหรับรายจ่ายค่าฝึกอบรมการใช้คอมพิวเตอร์ได้เต็มจำนวน
  • ลดวงเงินยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิตเหลือ 4 ล้านรูปี จากเดิม 10 ล้านรูปี และเหลือ 1 ล้านรูปี จากเดิม 2.5 ล้านรูปี
  • สำหรับบริษัทที่ตั้งใหม่และดำเนินกิจการอยู่เดิมไม่จัดเก็บภาษีรายได้เป็นเวลา 3 ปี หากเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่จัดตั้งนอกเขตที่กำหนด ต้องมีการจ้างงานไม่น้อยกว่า 150 คน จึงจะสามารถยกเว้นค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ยกเลิกการจัดเก็บภาษีเงินปันผลจากบริษัทเพื่อลดการจัดเก็บซ้ำซ้อน และเพิ่มแรงจูงใจพัฒนากิจการเช่าซื้อ (leasing) เพื่อส่งเสริมการระดมทุนในระยะยาว
ศรีลังกามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ ชา ยางพารา อัญมณี เครื่องหนัง อาหารสำเร็จรูป เซรามิก พลาสติก เทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวและการบริการ และการก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เนื่องจากรัฐบาลศรีลังกาต้องการขยายนิคมอุตสาหกรรมไปยังภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อกระจายความเจริญสู่ชนบท
  • Free Trade Zone และ Industrial Park

ศรีลังกาได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ที่สำคัญ ได้แก่

  • Katunayake EPZ อยู่ใน Gampaha district ใกล้กับ Bandaranaike International Airport ห่างจากกรุงโคลัมโบ 29 กม. ผู้ลงทุนหลักได้แก่บริษัทผลิตเสื้อผ้า เช่น Mirrai, Leisureline, Isbella, Smart Shirts, Star Garments, Laws Garments Knitwear บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ FDK Lanka
  • Biyagama EPZ อยู่ใน Gampaha district ห่างจากรุงโคลัมโบ 24 กม. ผู้ลงทุนหลัก Ansell Lanka (Surgical gloves), Ocean Lanka (Knitted Fabrics), Stretchline (Circular knitted Fabrics/ Elastic), Arpitalian Compact Soles (Rubber Products for footwear), Skyspan Asia (Structural & arch membrane tents), C& H Lanka (Stuffed Soft Toys), Agio Tobacco Processing Co. (Tobacco Processing), Paxar Lanka (Garment Labels)
  • Koggala EPZ อยู่ใน Galle district ทาง ตต. เฉียงใต้ของ Koggala Lake ห่างจากรุงโคลัมโบ 132 กม. ห่างจาก Galle 16 กม. ผู้ลงทุนหลัก Brandix Activewear Ltd (Garments), Unichela (Pvt) Ltd (Garments), Koggala Garments (Pvt) Ltd, Flintec Transducers (Pvt) Ltd (Load Cells), Uniplast (Pvt) Ltd, (Plastic Figuring)
  • Malwatta EPZ อยู่ใน Gampaha district ติดกับ Colombo -Kandy Highway ห่างจากรุงโคลัมโบ 38 กม. ผู้ลงทุนหลัก Rican Lanka (Metal garment accessories), Crystal Sweater Lanka (Woven /knitted garments)
  • Mirigama EPZ อยู่ใน Gampaha district ห่างจากรุงโคลัมโบ 57 กม. ห่างจาก Katunayake International Airport 35 กม. ผู้ลงทุนหลักได้แก่บริษัทผลิตเสื่อผ้า เช่น U knits Garments, Chime Collection, Mirigama Clothing และบริษัทผลิตเครื่องแก้ว Nor-Lanka Ind.
  • Wathupitiwela EPZ อยู่ใน Gampaha district ห่างจากรุงโคลัมโบ 42 กม. ห่างจาก Katunayake International Airport 35 กม. ผู้ลงทุนหลัก Comfortwear (Lingerie- Non-quota), Unique Selling (Construction Membranes), Hyung Jet Corrugated Lanka (Corrugated Cartons & Display Boxes), Apollo Marine International (Marine Food)
  • Mawathagama EPZ อยู่ใน Kurunegala District ห่างจากรุงโคลัมโบ 115 กม. ห่างจาก Kurunegala 19 กม. ห่างจาก Kandy 48 กม. ผู้ลงทุนหลัก SPI Exports, Eco Apparels, L. Jinadasa Apparels, Global Fashions, Foundation Garments
  • Polgahawela EPZ อยู่ใน Kurunegala District ห่างจากรุงโคลัมโบ 115 กม. ห่างจาก Kurunegala 19 กม. ห่างจาก Kandy 48 กม. ผู้ลงทุนหลัก Templar Knitwear, Royal Garments, PTK Enterprises, Sumithra Garments, Jinadasa Garments
  • Horana EPZ อยู่ใน Kulutara District ห่างจากรุงโคลัมโบ 50 กม.
  • การจดทะเบียน และเอกสารรับรองอื่นๆ

การลงทุนต่างชาติต้องได้รับการอนุมัติผ่าน BOI และต้องจดทะเบียนต่อ Registar of Companies เป็นนิติบุคคลในศรีลังกา (คนต่างชาติบุคคลธรรมดาไม่สามารถจัดตั้งธุรกิจได้) ซึ่งอาจจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนที่มีหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปก็ได้

  • เงินลงทุนขั้นต่ำ

การลงทุนทุกโครงการต้องมีเงินทุนขั้นต่ำอย่างน้อย US$ 1 ล้าน ยกเว้นกรณีต่อไปนี้

  • การลงทุนเพื่อการส่งออกภายใต้การส่งเสริมของ BOI ต้องมีเงินทุนขั้นต่ำอย่างน้อย 12.5 ล้านรูปี
  • การลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียม การผลิตพลังงาน การพัฒนาทางด่วน ท่าเรือ สนามบิน รถไฟ น้ำประปา ขนส่งมวลชน เกษตรกรรมและการแปรรูปเกษตร และโครงการอื่นที่ได้รับอนุมัติจาก Ministry of Finance ตองมีการลงทุนขั้นต่ำ US$ 12.5 ล้าน
  • การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในการผลิตพลังงาน การส่ง และการจ่าย การพัฒนาทางด่วน ท่าเรือ สนามบิน รถไฟ น้ำ การสร้าง Industrial Parks และโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่ได้รับอนุมัติจาก BOI ต้องมีการลงทุนขั้นต่ำ US$ 10 ล้าน
  • สัดส่วนการลงทุนต่างชาติ

ธุรกิจซึ่งจำกัดสัดส่วนการลงทุนไม่ให้เกินกว่า 40% ได้แก่

  • การผลิตสินค้าซึ่งถูกจำกัดโควต้าการส่งออก
  • การปลูกหรือแปรรูปชา ยาง มะพร้าว โกโก้ ข้าว น้ำตาล และเครื่องเทศ
  • การทำเหมืองแร่ และแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติซึ่งไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
  • การค้าไม้ซึ่งใช้ไม้ของศรีลังกา
  • การตกปลาในทะเลลึก
  • การสื่อสารมวลชน
  • การศึกษา
  • บริษัทรับขนส่งสินค้า
  • ตัวแทนท่องเที่ยว
  • ตัวแทนชิปปิ้ง

อย่างไรก็ดี ธุรกิจเหล่านี้ อาจมีการลงทุนต่างชาติในสัดส่วนที่เกินกว่า 40% ได้ โดยการได้รับอนุมัติจาก BOI เป็นรายๆ ไป

  • ธุรกิจต้องห้ามการลงทุน
  • ธุรกิจที่ต้องห้ามต่างชาติลงทุน ได้แก่ ธุรกิจการยืมเงิน (Money Lending) (ยกเว้นธนาคาร) โรงรับจำนำ (Pawn Broking) การค้าปลีก (Retail Trade) ที่มีเงินลงทุนต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เว้นแต่ได้รับอนุมัติจาก BOI) การบริการ (ยกเว้นเพื่อการส่งออก การท่องเที่ยว) การประมงชายฝั่ง (Coastal Fishing) การศึกษาสำหรับเด็กศรีลังกาอายุไม่เกิน 14 ปี และการให้ Award of Local Educational Degrees)
  • ธุรกิจที่ไม่ถึงกับต้องห้ามต่างชาติลงทุน แต่ต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐ หรือ BOI ก่อนจึงจะลงทุนได้ ได้แก่ ธุรกิจขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางเรือแถบชายฝั่งทะเล อุตสาหกรรมซึ่งอยู่ภายใต้ตาราง 2 ของ The Industrial Promotion Act No. 46 of 1990 (เช่น การผลิตอาวุธ วัตถุระเบิด ยานยนต์หรือเครื่องมือของทหาร การผลิตยาเสพติก แอลกอฮอล์ ยาพิษ ยาอันตราย) การผลิตเงิน ธนบัตร เหรียญ และตราสาร การทำเหมืองเพชรพลอยขนาดใหญ่ และลอตเตอรี่

7. ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

7.1 ความสัมพันธ์ทางการทูต

ไทยและศรีลังกาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2498 และยกระดับเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2504 ปัจจุบัน นายทินกร กรรณสูต ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ และนายชัยรัตนะ พันทะ ทิสานายกะ (Mr. Jayaratna Banda Disanayaka) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย

7.2 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

  • ความสัมพันธ์ทางการค้า ไทย-ศรีลังกา

การค้ารวม: ในปี 2552 ศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 60 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ตามลำดับ ในระยะ5 ปีที่ผ่านมา (2548-2552) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 17 โดยในปี 2552 การค้ารวมมีมูลค่า 389 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 246 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การส่งออก: ศรีลังกาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 51 ของไทย และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2548-2552) การส่งออกมีมูลค่าเฉลี่ย 286.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 19 โดยในปี 2552 การส่งออกมีมูลค่า 286.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาลทราย ผ้าผืน ปลาแห้ง ปูนซิเมนต์ รถยนต์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เครื่องจักรกล คมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

การนำเข้า: ศรีลังกาเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 60 ของไทย และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย และปากีสถาน ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2548-2552) การนำเข้ามีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 40.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 54 ในปี 2552 การนำเข้ามีมูลค่า 61.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผลิตภัณฑ์โลหะ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เคมีภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

  • การประชุม Sub-Committee on Trade Related Matter
ในระหว่างการเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทยในเดือนสิงหาคม 2546 ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission: JC) ไทย-ศรีลังกา ครั้งที่ 2 ขึ้นในวันที่ 14 สิงหาคม 2546 ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการค้า (Sub-Committee on Trade Related Matters) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสขึ้น เพื่อเป็นกลไกหลักในการพิจารณาประเด็นทางการค้าระหว่างไทย-ศรีลังกา เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ไทย-ศรีลังกา แนวทางการขยายมูลค่าการค้า และลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และจะรายงานผลการประชุมต่อที่ประชุม JC ไทย-ศรีลังกา ซึ่งได้ยกระดับเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว

ศรีลังกาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Sub-Committee on Trade Related Matters ครั้งที่ 1 ในวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ซึ่งที่ประชุมได้หารือกันในเรื่องความตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement: PTA) การจัดสรรโควตาสินค้าชา และการจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (MRA) ทั้งนี้ มีการประชุมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นับตั้งแต่การจัดตั้ง Sub-Committee ดังกล่าว

7.3 ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ

  • ความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลศรีลังกาว่าด้วยบริการขนส่งทางอากาศ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2493
  • ความตกลงทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2524
  • ความตกลงว่าด้วยการค้าพลอยกิวด้าระหว่างไทยกับศรีลังกา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2530

-อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2531

  • ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาเพื่อการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทยกับศรีลังกา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2539
  • ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างไทย-ศรีลังกา วันที่ 3 มกราคม 2539 และมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission: JC) ไทย-ศรีลังกา ซึ่งมีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2546
  • ปฏิญญาว่าด้วยการจัดตั้งความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกาและไทย (BIST-EC) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังกลาเทศ-อินเดีย-พม่า-ศรีลังกาและไทย (BIMST-EC) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2540
  • ลงนามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMST-EC เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 ณ จังหวัดภูเก็ต
  • ลงนามพิธีสารเพื่อรับบังกลาเทศเป็นสมาชิกกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMST-EC เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ณ กระทรวงพาณิชย์ของไทย
  • ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการลงทุนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมของไทย และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547
  • ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ ที่ดินและระบบชลประทานแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรการว่าด้วยสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547

7.4 ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน

  • ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าแห่งศรีลังกา (The Board of Trade of Thailand, Bangkok, Thailand and The Ceylon Chamber of Commerce, Colombo, Sri Lanka) เพื่อขยายการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างกัน
  • ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหอการค้าแห่งศรีลังกาและหอการค้าไทย (The National Chamber of Commerce of Sri Lanka and The Thai Chamber of Commerce) เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้า การค้าบริการ ในระดับทวิภาคีระหว่างไทย-ศรีลังกา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ณ กรุงเทพมหานคร

7.5 การลงทุนระหว่างไทย-ศรีลังกา

การลงทุนของไทยในศรีลังกา ระหว่างปี 2521-2547 มีมูลค่าการลงทุนรวม 13,172 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สาขาที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือสาขาธุรกิจการเงิน 9,691 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาได้แก่การลงทุนในอุตสาหกรรมประมงและอาหารแปรรูป 1,385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการลงทุนในธุรกิจรับจัดอาหารสำหรับสายการบิน 1,282 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ไทยยังมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตสื่อสารทางวิทยุและโทรทัศน์มูลค่า 184 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งธุรกิจการขนส่ง และร้านอาหารไทย

ศรีลังกาได้เสนอให้ไทยไปร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมอัญมณี ก่อสร้าง อุตสาหกรรมการเกษตรและประมง เช่น การเพาะเลี้ยงกุ้ง การผลิตผลไม้กระป๋อง อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมโรงงานแก้ว เนื่องจากศรีลังกามีซิลิกาซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตแก้วจำนวนมาก และยังได้เสนอให้มีการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นด้วย อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบในการผลิต อุตสาหกรรมกระดาษ เซรามิก อะไหล่ยนต์ การท่องเที่ยว และการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น โดยให้ไทยไปตั้งฐานการผลิตในศรีลังกา เพื่อให้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี ศรีลังกา-อินเดีย ต่อไป

สำหรับการลงทุนของศรีลังกาในไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ขณะนี้มีจำนวน 6 โครงการ ในสาขาการผลิต Activated Carbon การผลิต Silicone Nipples ด้านผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ และด้านเพชรพลอย โดยเป็นการลงทุนของศรีลังกาทั้งหมด หรือเป็นการลงทุนร่วมกับไทยหรือต่างชาติ

7.6. การจัดทำความตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษทางการค้า (PTA) ไทย-ศรีลังกา

ข้อเท็จจริง

  • ในระหว่างการเยือนศรีลังกาของนายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) วันที่ 14-15 สิงหาคม 2546 ศรีลังกาได้ขอให้ไทยพิจารณาลดภาษีสินค้าชาและสินค้าอื่นๆ ให้แก่ศรีลังกา โดยนายกรัฐมนตรีของไทยตอบยินดีที่จะพิจารณาลดภาษีชาให้แก่ศรีลังกา จากนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงได้ร่วมกันยกร่างความตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษทางการค้าไทย-ศรีลังกา
  • กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกระทรวงการคลังพิจารณารายการสินค้าดังกล่าว ซึ่งไทยสามารถลดภาษีให้แก่ศรีลังกาได้รวม 16 รายการ และให้กำหนดโควตานำเข้าพิเศษสำหรับสินค้าชาไว้ที่ 125 ตัน และศรีลังกาได้เสนอสินค้าที่จะลดภาษีให้ไทย รวม 10 รายการ
  • คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษทางการค้าไทย-ศรีลังกา และอนุมัติการลงนามความตกลงดังกล่าว ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายกำหนดลงนามในช่วงการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีศรีลังกาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 แต่ศรีลังกามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ จึงไม่มีการลงนามความตกลงฯ
  • ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการค้าไทย-ศรีลังกา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ศรีลังกาได้ยกเรื่องการลดภาษีสินค้าชาขึ้นหารือ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าควรให้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษทางการค้าไทย-ศรีลังกาเพื่อศรีลังกาจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับสินค้าชาได้ แต่ได้มีการทบทวนรายการสินค้าแนบท้ายความตกลงใหม่ เนื่องจากอัตราภาษีที่เรียกเก็บในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยไทยตกลงที่จะลดภาษีให้ศรีลังกาจำนวน 12 รายการ และศรีลังกาจะลดภาษีให้ไทยจำนวน 6 รายการ
  • เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2548 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการลงนาม PTA ได้ โดยมีรายละเอียดรายการสินค้าที่จะลดภาษีระหว่างกัน ดังต่อไปนี้

ไทย จะลดภาษีให้ศรีลังกา 12 รายการ ได้แก่ ปลาทูน่า (5%) ชา (5%) โดยกำหนดโควตาพิเศษสำหรับสินค้าชาปีละ 125 ตัน พริกไทย (5%) เมล็ดโกโก้ (5%) กราไฟต์ (1%) แนฟทาลีน (1%) เพชรอื่นๆ (0%) รัตนชาติอื่นๆ (0%) และวาล์ว (1%) ศรีลังกา จะลดภาษีให้ไทย 6 รายการตามข้อเสนอของศรีลังกา ได้แก่ ส่วนประกอบของรองเท้า (0%) หลอดหรือท่อเหล็ก (0%) ภาชนะสำหรับบรรจุก๊าซ (0%) เครื่องจักรไฟฟ้า (3%) อานจักรยาน (5%) และอุปกรณ์สำหรับสาธิต (3.9%) โดยทั้งสองฝ่ายจะได้มีการเจรจาเพื่อกำหนดการลงนาม PTA ต่อไป

  • ศรีลังกาเสนอให้มีการลงนามความตกลง PTA ระหว่างสองฝ่ายในช่วงการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีศรีลังกา ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2550 อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการชะลอการลงนาม PTA ในครั้งนี้ออกไปก่อน เนื่องจากหากมีการลงนามดังกล่าว ไทยจะต้องลดภาษีสินค้าชาให้ศรีลังกาเหลือ 5% และให้โควตาพิเศษอีกปีละ 125 ตัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกชาในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการลดภาษีสินค้าภายใต้กรอบ AFTA เป็นอย่างมาก
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้แจ้งว่ากระทรวงเกษตรฯ ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรผู้ปลูกชาในเขตภาคเหนือ ซึ่งแสดงความกังวลต่อการเปิดตลาดชาภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และขอให้ชะลอการเปิดตลาดสินค้าชาออกไปอีก 5-10 ปี
  • ตามข้อตกลง AFTA ไทยต้องเปิดตลาดสินค้าชาอัตราภาษีร้อยละ 5 ตั้งแต่ปี 2546 และจะต้องลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 แต่จนปัจจุบันไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณี โดยยังคงมาตรการโควตาภาษีตาม WTO (อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 30 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 90)
  • นอกจากนี้ แม้ว่าสินค้าชาจะเป็นสินค้าหนึ่งที่ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือตามการดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบจาก FTA และ AFTA ให้มีการดำเนินการอย่างครบวงจร แต่การดำเนินการดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการเริ่มต้นของการหามาตรการแก้ไขข้อกังวลของเกษตรกรผู้ปลูกชา ที่ยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก คงต้องรอให้มีการดำเนินการไประยะหนึ่งก่อน เพื่อที่จะอธิบายและสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรที่เป็นรูปธรรมได้ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตลาดสินค้าชาได้ประมาณปี 2553 แต่การเปิดตลาดสินค้าชาให้แก่ศรีลังกาต้องไม่เร็วกว่าการปิดตลาดให้กลุ่มอาเซียน

7.7 การเจรจาเขตการค้าเสรี BIMSTEC

ข้อเท็จจริง

  • เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 รัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้าของประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้ร่วมลงนามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เพื่อร่วมกันจัดตั้งเขตการค้าเสรีภายในปี พ.ศ. 2555 ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันสมาชิก BIMSTEC ประกอบด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย
  • ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้า BIMSTEC (BIMSTEC TNC) เพื่อเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนภายใต้เขตการค้าเสรี BIMSTEC

ศรีลังกาเป็นเจ้าภาพการประชุม BIMSTEC TNC ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 15-17 ตุลาคม 2551 ณ กรุงโคลัมโบ ซึ่งได้มีการหารือเรื่องการเปิดเสรีการค้าสินค้า การจัดทำกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และความร่วมมือด้านศุลกากร การค้าบริการ และการลงทุน

8. ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าของไทย

  • ศรีลังกาเป็นตลาดขนาดเล็ก อำนาจซื้อต่ำ ข้อมูลด้านการค้า การลงทุนยังมีไม่เพียงพอ ทำให้นักธุรกิจสองฝ่ายยังขาดข้อมูลที่จะเอื้อประโยชน์ในการขยายการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ปัญหาความไม่สงบภายในประเทศยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำใหนักธุรกิจไทยไม่ต้องการเข้าไปติดต่อค้าขายในศรีลังกา
  • โครงสร้างสินค้าส่งออกหลายชนิด คล้ายคลึงกับไทย ทำให้พ่อค้าผู้ส่งออกไทยไม่ค่อยให้ความสนใจตลาดศรีลังกาเท่าที่ควร
  • ยังไม่มีความตกลงทางการค้าระหว่างกัน จึงทำให้ไม่มีการเจรจาทวิภาคีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือต่างๆ เช่นในการแก้ปัญหาการค้า อย่างไรก็ตาม มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (JC) ไทย-ศรีลังกา และคณะอนุกรรมการด้านการค้า (Sub-Committee on Trade Related Matters) เพื่อเป็นเวทีในการเจรจาหารือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การเมือง และสังคม ระหว่างกัน รวมทั้งแนวทางการขยายการค้า การลด/ขจัดอุปสรรคทางการค้า ตลอดจนการแก้ไขปัญหาทางการค้าระหว่างกัน

9 ข้อคิดเห็น

การค้าระหว่างไทย-ศรีลังกายังอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นเพียง 4.6% ของการค้าทั้งหมดระหว่างไทยกับเอเชียใต้ ส่วนหนึ่งมาจากการค้าระหว่างสองประเทศกระจุกตัวอยู่กับสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าจำพวกวัตถุดิบจากศรีลังกา นอกจากนี้ อุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือความไม่มั่นคงทางการเมืองของศรีลังกา และปัญหาการก่อการร้าย ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่มีความเชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาครัฐ ได้มีความพยายามที่จะเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำทั้งสองประเทศ และการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ ไทย-ศรีลังกา เพื่อเป็นเวทีในการขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน ลดและยกเลิกอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน รวมทั้งขยายความร่วมมือทางด้านต่างๆ ทั้งสังคม วัฒนธรรม อีกทางหนึ่ง รวมทั้งปัจจุบันประเทศสมาชิก BMSTEC อยู่ระหว่างการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ซึ่งหากมีผลบังคับใช้ น่าจะช่วยส่งเสริมให้การค้าระหว่างไทย-ศรีลังกา และการค้าระหว่างไทยกับภูมิภาคเอเชียใต้ขยายตัวได้มากขึ้น

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก sri lanka   สงคราม   ATIC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ