ประเมินสถานการณ์การส่งออกไปตลาดสำคัญปี 2553 - 2554 ในจาร์กาตา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 9, 2010 14:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศ/ภูมิภาค

อินโดนีเซีย/อาเซียน

ประมาณการส่งออกปี 2553

          ล้าน USD          6,067.53
          % เพิ่ม/ลด         30.00

สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า/เหตุผล/ปัจจัยสนับสนุน/ปัจจัยเสี่ยง

สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า

ในปี 2010 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 6.0 ซึ่งจะมีอัตราการขยายตัวเกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ร้อยละ 5.8 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกของอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะการส่งออกในช่วง 8 เดือน(ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าถึง 98.71 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.42 โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ถ่านหิน ปาล์มน้ำมัน สินค้าเกษตร ยานยนต์ และรองเท้า ในขณะที่การนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกมีมูลค่า 87.78 พันล้าน เหรียญสหรัฐ ทำให้เกินดุลการค้าถึง 10.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.87 การค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ในช่วง 8 เดือนแรก ไทยส่งออกมายังอินโดนีเซียมีมูลค่า 4,933.06 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.46 และนำเข้าจากอินโดนีเซียมูลค่า 3,745.70 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.18 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ ฟื้นตัวดีขึ้น และจากการที่ข้อตกลงของอาเซียนมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ ม.ค.53 จึงส่งผลให้อินโดนีเซียนำเข้าจากไทยในเดือนส.ค.มากขึ้นเป็นอันดับสองในอาเซียน ซึ่งสูงกว่ามาเลเซีย

ปัจจัยสนับสนุน/ปัจจัยเสี่ยง

อินโดนีเซียมีภาวะทางการเมืองและสังคมที่มีเสถียรภาพ และมั่นคงมาก ส่งผลให้นักลงทุนจากต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุนมากขึ้น/ย้ายฐานการผลิตจากจีน และเวียดนามมายังอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้น เช่นไต้หวัน เกาหลี นอกจากนี้ จากการปรับโครงสร้างของภาคราชการที่มีความคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งนโยบายในการปราบปรามคอร์รัปชั่น จึงส่งผลให้อินโดนีเซียมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นอีก 10 อันดับ ซึ่งมากกว่าเวียดนาม และอินเดีย จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศน่าลงทุนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเปียที่แข็งค่ามากขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศเปิด และมีการไหลเข้าออกของเงินลงทุนอย่างเสรี จึงมีผลทำให้ค่าเงินรูเปียขาดเสถียรภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะต้องรับมือกับกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะป็นมาตรการปกป้องทางการค้า (Safeguards)และมาตรการตอบโต้ทุ่มตลาด (Anti Dumping) การกำหนด มาตรฐานสินค้า (National Standard) กฎระเบียบการใช้ฉลาก เป็นต้น ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวอาจมีผลต่อการค้าและการลงทุน

คาดการณ์ส่งออกปี 2554

          ล้าน USD          8,191.17
          % เพิ่ม/ลด         35.00

สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า/เหตุผล/ปัจจัยสนับสนุน/ปัจจัยเสี่ยง

สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า

ในปี 2011 คาดว่าอินโดนีเซียจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.4 เนื่องจาก การขยายตัวของการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะยังคงไม่ฟื้นตัวดีมากนักก็ตาม แต่จะส่งเสริมให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้จะต้องสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในอัตราเพียงร้อยละ 5.3 ในปี 2011 และอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ระดับ 9,150 รูเปีย/เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่แข็งค่ามากนัก และเอื้อต่อการส่งออก นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนใช้จ่ายในการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ จำนวนมาก เช่น การสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับสนามบินในจาการ์ตากับในเมือง การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และทางรถไฟขนถ่านหินในกาลิมันตันกลาง การขยายท่าเรือ Tanjung Priok, JK และท่าเรือ Batum รวมทั้งโครงการกลั่นน้ำมันในชวาตะวันตก นอกจากนี้ยังตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติในบาหลีเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.5 และปรับปรุงขยายสนามบินบาหลีภายใต้โปรแกรม Public-private partnership (PPP) โดยใช้เงินกู้จาก ADB

ปัจจัยสนับสนุน/ปัจจัยเสี่ยง

อินโดนีเซียมีภาวะทางการเมืองและสังคมที่มีเสถียรภาพ และมั่นคงมาก ส่งผลให้นักลงทุนจากต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุนมากขึ้น/ย้ายฐานการผลิตจากจีน และเวียดนามมายังอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้น เช่นไต้หวัน เกาหลี นอกจากนี้ จากการปรับโครงสร้างของภาคราชการที่มีความคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งนโยบายในการปราบปรามคอร์รัปชั่น จึงส่งผลให้อินโดนีเซียมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นอีก 10 อันดับ ซึ่งมากกว่าเวียดนาม และอินเดีย จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศน่าลงทุนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ อินโดนีเซียประกาศขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าร้อยละ 10-15 ซึ่งอาจมีผลต่อราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาความเสี่ยงของสภาพดินฟ้าอากาศ ที่อาจเกิดความแห้งแล้ง ภาวะน้ำท่วม ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราเงิเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นได้ จากการที่ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง ค่าจัดการ/กระจายสินค้าได้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลสามารถพัฒนาและปรับปรุงสาธารณูปโภคให้ดีขึ้นได้ ก็อาจจะไม่ส่งผลต่อการควบคุมอัตราเงิเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ