การลงทุนประกอบธุรกิจในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 22, 2010 13:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กฎระเบียบการลงทุน

ธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นมีมูลค่าประมาณร้อยละ 2 ของ GDP สัดส่วนต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอื่น ทั้งการนำเงินเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่น และการออกไปลงทุนต่างประเทศ ต้องเป็นไปตาม Foreign Exchange and Foreign Trade Law ซึ่งกำหนดให้ผู้ลงทุนต่างชาติทำรายงานแจ้งกระทรวงการคลัง และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ภายใน 15 วันหลังเริ่มดำเนินการ

ในการประกอบธุรกิจสาขาต่างๆ ในญี่ปุ่น โดยทั่วไปไม่ข้อจำกัดสัดส่วนหุ้นต่างชาติ ยกเว้นธุรกิจบางประเภท ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายเฉพาะสาขานั้น ๆ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การประมง บริการการด้านเงิน โทรคมนาคม และการขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งภายในประเทศ นอกจากนี้การประกอบธุรกิจ ในบางสาขาแม้ไม่มีข้อจำกัดต่อต่างชาติ แต่ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น การทำการเกษตร ป่าไม้ ประมง เหมืองแร่ อุตสาหกรรมการผลิตบางประเภทเกี่ยวกับ ยา หนังและผลิตภัณฑ์หนัง กาวและเจลาติน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

1. การจัดตั้งธุรกิจ

1.1 ประเภทธุรกิจ โดยทั่วไปบริษัทต่างชาติตั้งธุรกิจในญี่ปุ่น 4 ประเภท คือ

1) Representative office มีขอบเขตดำเนินงานเพื่อ การจัดเตรียม และช่วยเสริมการดำเนินธุรกิจในญี่ปุ่นให้แก่บริษัทแม่จากต่างประเทศ การดำเนินงานของสำนักงานตัวแทนอาจรวมถึง การสำรวจตลาด การรวบรวมข้อมูล การจัดซื้อสินค้า และการดำเนินการเพื่อโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ แต่ ไม่อนุญาตให้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการขาย

การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในญี่ปุ่น สามารถจัดตั้งได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน ตาม Japan Corporate Law และไม่ต้องแจ้งสำนักงานภาษีอากรเนื่องจากไม่ต้องจ่าย corporate tax ยกเว้น สำนักงานตัวแทนของธุรกิจด้านการเงิน ที่จัดตั้งโดยธนาคารต่างชาติ บริษัทประกันภัย บริษัทหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ ต้องแจ้งต่อหน่วยงานด้านการเงินที่เกี่ยวข้องก่อนการจัดตั้ง

สำนักงานตัวแทนไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคาร และเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในนามสำนักงานฯ ได้ จะต้องกระทำในนามสำนักงานใหญ่ หรือตัวบุคคลที่เป็นผู้แทนในสำนักงานตัวแทนนั้น

2) Branch office สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ branch office ไม่มีสถานภาพเป็นบริษัท บริษัทแม่ต้องรับผิดชอบหนี้สิน และเครดิต แต่สามารถเปิดบัญชีธนาคาร และเช่าสำนักงานในนามของ branch office ได้

3) Subsidiary company บริษัทต่างชาติสามารถเลือกที่จะจัดตั้ง Subsidiary company ได้ใน ลักษณะที่เป็น

  • joint-stock corporation (Kabushiki — Kaisha (K.K))
  • limited liability company(Godo-Kaisha(LLC) )
  • unlimited partnership (Gomei- Kaisha) และ limited partnership(Goshi Kaisha) ซึ่งในทางปฏิบัติมีการจัดตั้งธุรกิจ 2 ลักษณะนี้น้อยมาก เนื่องจาก ผู้ถือหุ้นต้องรับผิดชอบหนี้สินอย่างไม่จำกัด

4) Limited liability partnership : LLP ไม่มีสถานะเป็น corporation เป็นเพียง partnerships LLP ไม่ต้องชำระภาษี corporate tax ผู้ถือหุ้นมีหน้าที่ชำระภาษีเงินได้โดยตรง

1.2 การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ

การจดทะเบียนจัดตั้ง subsidiary company และ LLP อยู่ภายใต้ Japan Corporate Law หรือ Japanese Commercial Code

  • ไม่กำหนดเงินทุนขั้นต่ำ
  • ไม่กำหนดจำนวนผู้ลงทุนใน subsidiary company อาจจะเป็นเพียง 1 คนหรือมากกว่า ส่วน LLP ต้องมีหุ้นส่วน 2 รายขึ้นไป และอย่างน้อย 1 รายต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีถิ่นพำนักในญี่ปุ่นมาแล้วเกิน 1 ปี หรือเป็น Japanese corporation
  • joint-stock corporation ต้องจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทุกปี แต่ไม่บังคับว่า LLC และ LLP ต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้น

ขั้นตอนการจดทะเบียนจัดตั้ง branch office, joint-stock corporation, limited liability company, และ limited liability partnership ปรากฎตาม แผนภาพที่ 1-4 ในเอกสารแนบ

2. บริษัทต่างชาติ และบริษัทไทย ในญี่ปุ่น

ประเทศที่ลงทุนในญี่ปุ่น เช่น สหรัฐฯอเมริกา ฝรั่งเศส จีน สหราชอาณาจักร รวมทั้งอาเซียนซึ่งลงทุนในญี่ปุ่นมูลค่า 59.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 จาก สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ธุรกิจที่บริษัทต่างชาติเข้าไปดำเนินงานในญี่ปุ่น เช่น ค้าปลีกเสื้อผ้าสินค้าแฟชั่น(Hennes & Mauritz, ZARA, Forever 21, Accessorize) ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ (IKEA) การจัดการเชิงพาณิชย์ (Lasalle Investment management) จำหน่ายหนังสือทาง internet (Amazon) และธุรกิจ Cash & Carry (METRO) เป็นต้น

บริษัทไทยในญี่ปุ่น ทำธุรกิจเกี่ยวกับ อาหาร และผลิตภัณฑ์สปา และธุรกิจอื่น เช่น เจริญโภคภัณฑ์ (นำเข้า จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร) P.K. Siam (นำเข้า และจัดจำหน่าย อาหาร เครื่องปรุง เครื่องดื่ม ผัก และผลไม้ไทย) Thann, Harn, Puri, palama-lapa, (ผลิตภัณฑ์สปา) Plantoy(ของเล่น) Betagro(อาหารสัตว์)

IPSTAR (บริการด้านดาวเทียม) Coca และ Jim Thomson (เฟรนไชส์ภัตตาคาร) สำหรับภัตตาคาร ร้านอาหารไทย ในญี่ปุ่น เจ้าของผู้ประกอบการมีทั้ง คนไทยที่อาศัยในญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่มีคู่สมรสเป็นชาวญี่ปุ่น และเจ้าของเป็นนักธุรกิจญี่ปุ่น

3. ปัญหา/อุปสรรคต่อการลงทุนในญี่ปุ่น ที่ผู้ประกอบการประสบ ได้แก่

  • ต้นทุนสูง โดยเฉพาะค่าจ้างบุคลากร ค่าเช่าสำนักงาน
  • การดำเนินงานด้านการตลาด และสร้างแบรนด์ ให้เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก และต้องใช้เงินทุนสูง
  • การติดต่อสื่อสารต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก และการทำธุรกิจโดยพนักงานญี่ปุ่นจะได้รับความเชื่อถือจากบริษัทคู่ค้ามากกว่า ขณะที่บุคลากรญี่ปุ่นที่สามารถสื่อสารภาษอังกฤษหาได้ค่อนข้างยาก และบุคลากรไทยมีข้อจำกัดด้านภาษา
  • มีข้อจำกัด และความไม่แน่นอนในการขอ visa ของบุคลากรไทย
  • มีกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ซับซ้อน

4. การส่งเสริมการลงทุน

เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ในปี 2547 ทางการญี่ปุ่นได้จัดตั้ง Invest Japan Office ขึ้นในสำนักงานในภูมิภาคของกระทรวง METI เพื่อบริการแก่ผู้ลงทุน โดย การสนับสนุนให้คำปรึกษา บริการข้อมูลและช่วยเหลือในการขอรับใบอนุญาต นอกจากนี้ ได้แปลข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบวิธีการลงทุนในญี่ปุ่น เป็นภาษาอังกฤษ และจัดตั้ง contact point ใน Japan External Trade Organization หรือ JETRO ซึ่งมีสำนักงานในจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่น และต่างประเทศรวมทั้งไทย เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น

มาตรการส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่น เช่น

  • ธุรกิจ SMEsที่ซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือ ที่ลงทุนในเครื่องจักรที่ประหยัดพลังงาน จะได้รับการอุดหนุน ร้อยละ 30 ของค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร หรือ ลดหย่อนภาษีลง ร้อยละ 7-20 ของภาษีนิติบุคคล
  • บริษัทที่ใช้จ่ายเพื่อฝึกอบรมพนักงานมากกว่าค่าใช่จ่ายเฉลี่ยที่ผ่านมา จะได้รับการลดหย่อนภาษีร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขุ้น หรือร้อยละ 10 ของภาษีนิติบุคคล
  • บริษัทที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการการวิจัยและพัฒนา (R&D) สูงขึ้นกว่าเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมา มีสิทธิได้รับลดหย่อนภาษี ร้อยละ 20 ของภาษีนิติบุคคล
  • บางจังหวัดออกมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุนในท้องถิ่น เช่น

-- จังหวัดโยโกฮามาให้การอุดหนุนไม่เกิน 100 ล้านเยนต่อปี แก่ธุรกิจที่เช่าสำนักงาน หรือศูนย์ R&D ในย่านธุรกิจที่กำหนด 5 เขต

-- Saitama International Business Support Center(SBSC) ของจังหวัดไซตะมะ อุดหนุนการเช่าสำนักงานในพื้นที่ที่กำหนด แก่บริษัทต่างชาติ ที่มีลูกจ้างประจำอย่างน้อย 1 คน มูลค่าการอุดหนุนไม่เกิน 1 ล้านเยน

5. โอกาสทางธุรกิจ

  • ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ประชากร 127 ล้านคน มีพฤติกรรมการบริโภค และบริการที่หลากหลาย
  • ธุรกิจ และกลุ่นสินค้าที่กำลังเติบโต ได้แก่ สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ธุรกิจและสินค้าเพื่อสุขภาพ และการผ่อนคลาย
  • การร่วมทุนกับญี่ปุ่น เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มเงินทุน การติดต่อหน่วยงานญี่ปุ่นและการปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบ รวมทั้งการเข้าใจตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคญี่ปุ่น
ข้อมูลอ้างอิง
  • สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงโตเกียว, การทำธุรกิจ และการลงทุนทั่วไปในญี่ปุ่น
  • www.jetro.go.jp, Investing in Japan, How to set up Business in Japan.
  • www.jetro.go.jp, Investing in Japan, Investment News
  • www.meti.go.jp, Foreign Direct Investment into Japan
  • World Trade Organization, Trade Policy Review, Report by the Secretariat, Japan

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ