รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคอาเซียน ประเทศสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 17:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศสิงคโปร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2553

เศรษฐกิจ-ภาวะการค้า

1. สรุปเศรษฐกิจช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (18 พย. 53) ได้ประกาศสรุปเศรษฐกิจฯ จากข้อมูลเบื้องต้น แสดงให้เห็นผลการเจริญเติบโตเศรษฐกิจร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ร้อยละ 19.5) โดยการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมสำคัญๆ ดังนี้

-ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ร้อยละ 46.1) มีอัตราเพิ่มขึ้นในระดับที่ลดลง เนื่องจากการลดลงของการผลิตสินค้า Biomedical ที่มีการปรับเปลี่ยนส่วนผสมของสินค้าและการปิดโรงงานเพื่อซ่อมบำรุง

-ภาคการก่อสร้าง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ร้อยละ 11.5) โดยโครงการอาคารอุตสาหกรรมและพาณิชย์แล้วเสร็จลงหลายโครงการ

-ภาคการค้าส่งและค้าปลีก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ร้อยละ18.9)

-กลุ่มการคมนาคมและคลังสินค้า ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ร้อยละ 8.2)

-ภาคการบริการด้านการเงิน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การบริการธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากผลของการจำหน่ายและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์

-ภาคการท่องเที่ยวและบริการ มีการขยายตัวในระดับที่ดี โดยกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 สำหรับการบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการให้บริการ ณ Integrated Resorts (IRs) 2 แห่งที่เปิดบริการแล้ว

2. การคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2553 สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2553 คาดว่า การเติบโตเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจาก 2 ภาคสำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า Biomedical ที่มีผลผลิตมากและมูลค่าสูง และภาคการบริการด้านการเงินที่ได้รับการส่งเสริมจากกิจการธนาคารและการประกันภัย ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ได้คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2553 ประมาณร้อยละ 15.0

3. การคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2554 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2554 จะมีการเจริญเติบโตประมาณร้อยละ 4.0-6.0 โดยคาดว่า สภาวะเศรษฐกิจภายในภูมิภาคจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจ แต่การขยายตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆและอยู่ในระดับที่มั่นคง ธุรกิจการลงทุนฟื้นตัวและเริ่มดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุนนโยบายการเงินเกี่ยวกับที่พักอาศัย ซึ่งยังมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศพัฒนาแล้วแต่ความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวอาจจะถูกกดกันโดยอัตราการจ้างงานที่สูงขึ้น และการเงินของครอบครัวที่รายได้มีค่าเงินลดลง สำหรับในภูมิภาคเอเชีย ความต้องการภายในประเทศคาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากนโยบายของภาครัฐ สนับสนุนให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ส่วนในสิงคโปร์การที่มีโรงงานผลิตสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยส่งผลกระตุ้นให้การค้าทั้งที่เป็นตัวสินค้าและการบริการ (ได้แก่ การท่องเที่ยว และการเงิน) ภายใน ประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศและในภูมิภาคจะเป็นตัวสนับสนุนอีกแรงหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงต้องพึงระวัง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การผันผวนของเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และหนี้สินของ EU

4. ผู้เดินทางใช้บริการสนามบินชางกี 3.39 ล้านคนในเดือนกันยายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 (เทียบกับ กย.52) ส่วนใหญ่ผู้โดยสารมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเฉียง เหนือ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 และ 16.8 ตามลำดับ ทำให้สายการบินบางสายต้องเพิ่มเที่ยวบิน ได้แก่ Cebu Pacific บินไปมนิลา China Airlines บินไปไทเปและสุราบายา และ China Eastern บินไปคุนหมิง ทั้งนี้ ผู้เดินทางใน 9 เดือนแรกของปี 2553 มีจำนวนรวม 30.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.3 (เทียบกับ 9 เดือนแรกปี 2552) คาดว่า ปี 2553 จะมีผู้เดินทางรวมถึง 37.2 ล้านคน สำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศในเดือนกันยายน 2553 ปริมาณ 151,055 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ซึ่งนับว่าเศรษฐกิจในเอเชียเป็นผู้นำทางให้พ้นจากเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย และผู้บริโภคในเอเชียมีความมั่นใจในการใช้จ่าย ส่งผลให้ธุรกิจที่สนามบินมีความสดใสขึ้น ทั้งร้านค้าปลอดภาษี และร้านอาหาร/เครื่องดื่ม

5. FLA เปิดศูนย์ข่าวสารข้อมูลแฟรนไชส์ Franchising & Licensing Association Singapore (FLA) มีแผนการเปิดศูนย์ข่าวสารข้อมูล franchise เพื่อสนับสนุนบริษัทในประเทศที่ประสงค์จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ และช่วยเหลือบริษัทที่มีตราสินค้าเป็นของตนเองขยายตลาดเพิ่มขึ้นทั้งภายในและนอกประเทศ FLA ลงทุนสร้างศูนย์ฯมูลค่า 100,000 เหรียญสิงคโปร์ ณ Maxwell Chamber ที่ Maxwell Road จะเปิดให้บริการได้ใน 6 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ FLA ได้จัดงาน FLAsia 2010 ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2553 ณ Marina Bay Sands Integrated Resort โดยมีจุดมุ่งหมายให้บริษัทในประเทศขยายไปยังตลาดต่างประเทศ และในทางตรงกันข้าม ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาขยายธุรกิจในสิงคโปร์ สำหรับมูลค่าธุรกิจ Franchise ต่อปีประมาณ 8 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 18 ของปริมาณรวมของมูลค่าการจำหน่ายปลีก

6. ตลาดการค้าสินค้าคาร์บอนในสิงคโปร์เติบโตขึ้น บริษัทใหม่ๆจัดตั้งสำนักงานขึ้นในสิงคโปร์ เพื่อการค้าคาร์บอนในเอเชีย เนื่องจากสิงคโปร์เป็นศูนย์การเงินนานาชาติสำคัญ จึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้ค้า ได้แก่ Tricorona และ Gazprom เป็นผู้ค้าคาร์บอนชั้นนำของโลกตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ ถึงปัจจุบัน มีผู้ค้าคาร์บอน 30 บริษัทในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจาก 2-3 รายเมื่อ 2-3 ปีก่อน ตลาดการค้าคาร์บอนทั่วโลกได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การเติบโตในปี 2551 มีมูลค่า 90 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 163 พันล้านเหรียญสิงคโปร์) คาดว่า ในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 1.2 ล้านล้านปอนด์ สำหรับสิงคโปร์

ภาครัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยให้การสนับสนุนบริษัทด้านค่าใช้จ่ายการพัฒนาข้อมูลสำหรับ Carbon Credit Projects ที่ได้รับประทับตราจาก United Nations ภายใต้ Clean Development Mechanism (CDM) Scheme รวมถึงให้ผู้ค้าคาร์บอนในสิงคโปร์ได้รับการลดหย่อนภาษีอีกด้วย

7. การคงระดับให้สิงคโปร์เป็น Global Refueling Centre ชั้นนำของโลก ซึ่ง Maritime and Port Authority of Singapore (MPA) ได้วางแผนร่วมกับคู่ค้าในอุตสาหกรรมต่างๆที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา Liquefied Natural Gas (LNG) ให้เป็น Marine Fuel โดยปัจจุบัน MPA ร่วมมือในโครงการที่นำโดย Det Norske Ceritas (DNV) -บริษัทของนอรเวย์ ทำการปรับให้ LNG เป็น marine diesel ธรรมดา ซึ่งผลการค้นคว้าจะเสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นอกจากนี้ MPA จัดสรรเงินสนับสนุน 1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ จากเงินกองทุน Maritime Innovation and Technology ให้ใช้ในการค้นคว้าเพิ่มเติมในการใช้ mass-flow meters (แทนการใช้ dipsticks) อีกทั้ง สิงคโปร์ เป็น Bunker Port อันดับ 1 ของโลก ในปี 2552 มีการจำหน่าย Bunker Fuel ปริมาณ 36.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 แม้ว่าจะอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกก็ตาม สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 การจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และคาดว่า ปี 2553 จะมีปริมาณเพิ่มถึง 40 ล้านตัน

8. Agri-Food and Veterinary Authority (AVA) สิงคโปร์ ตรวจสอบการนำเข้าไข่ไก่และสัตว์ปีกจากมาเลเซียอย่างเคร่งครัด เนื่องจากในมาเลเซียเกิดโรคระบาด Newcastle Disease เป็นไวรัสที่ทำให้สัตว์ปีกตายอย่างกระทันหัน ซึ่ง AVA ได้ตรวจสอบฟาร์มผลิตแล้วและให้ความมั่นใจต่อผู้บริโภคว่า โรคชนิดนี้จะเป็นอันตรายต่อสัตว์และลดปริมาณของผลผลิตเท่านั้น ไม่ติดต่อไปยังผู้บริโภค ทั้งนี้ AVA ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ Department of Veterinary Service ของมาเลเซีย เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและไม่ขาดแคลน ซึ่งการนำเข้าจากมาเลเซียต่อวันยังอยู่ในปริมาณเท่าเดิม คือ ไข่ไก่ ประมาณ 3.7 ล้านฟอง ไก่ 125,000 ตัว และเป็ด 20,000 ตัว และผู้ส่งออกในมาเลเซียรับประกันว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าฯ จะสามารถรองรับความต้องการของสิงคโปร์ได้

การลงทุนในประเทศ

1. Vodafone เปิดสำนักงานในสิงคโปร์ บริษัทมือถือยักษ์ใหญ่ของโลกจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคชื่อ Vodafone Global Enterprise ด้วยเงินลงทุน 141.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ตั้งอยู่ที่ Straits Trading Building มีเจ้าหน้าที่ 25 คน เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าฯแก่บริษัทต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และให้การบริการที่เกี่ยวข้องกับมือถือแก่บริษัทต่างๆประมาณ 600 ราย รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Novartis และ Nestle ทั้งนี้ สำนักงานในสิงคโปร์ทำหน้าที่ด้านการจัดการและดำเนินการจัดหา การจำหน่าย การตลาด การบริการหลังการขาย และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

การลงทุนในต่างประเทศ

1. สิงคโปร์จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมพนักงานในจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 National Trades Union Congress (NTUC) สิงคโปร์ จัดตั้ง LearningHub’s (LHub) Centre ในมณฑล Chengdu และ Sichuan โดยตั้งเป้าหมายจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 5,000 คนต่อปี ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่สำหรับตลาดภายในประเทศ และเป็นผลทางอ้อมสำหรับชาวจีนที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ให้มีความรู้ความชำนาญในขอบเขตการค้าปลีก ธุรกิจบริการ และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการเรียนภาษาอังกฤษให้ผ่าน Service Literacy Test (SLT) จาก LHub ชาวจีนที่ได้ผ่าน SLT จะเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาสอบเมื่อเดินทางถึงสิงคโปร์ อนึ่ง การที่ LHub ช่วยเลือกผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมก่อนที่จะเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ ช่วยส่งเสริมให้ได้พนักงานที่มีคุณภาพ ซึ่งระเบียบการอนุญาต Work Permit (Skilled worker) ของสิงคโปร์ในธุรกิจ 3 สาขา คือ Hospitality, Food & Beverage และ Retail ที่ผู้ยื่นขอจะต้องผ่าน SLT ก่อน ทั้งนี้ ในอนาคตภายใน 2-3 ปีข้างหน้า NTUC จะจัดตั้งศูนย์ฯ เพิ่มขึ้นในอินเดียที่เมือง Chennai, Bangalore และ New Delhi

2. บริษัทสิงคโปร์ลงทุนร่วมกับบริษัทเวียดนามมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 390 ล้านเหรียญสิงคโปร์) เพื่อทำการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยในเมืองโฮจิมินส์ โดยโครงการใหญ่ที่สุดคือ Gated Villa มูลค่า 115 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง Keppel Land สิงคโปร์ กับ Tien Phuoc เวียดนาม สำหรับในโครงการอื่นๆ รวมถึงโครงการ 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ระหว่าง CapitaLand -สิงคโปร์ และ No Va Land Investment Group Corporation —เวียดนาม เป็นโครงการสำหรับผู้บริโภคระดับกลาง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นประเทศอันดับ 5 ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม มีเงินลงทุนประมาณ 17.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน 851 โครงการ ที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างศูนย์อุตสาหกรรม การพัฒนาท่าเรือ และการสร้างที่พักอาศัย สำหรับการค้ารวมระหว่างกันในปี 2551 มีมูลค่า 13.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ และเวียดนามเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 14 ของสิงคโปร์

3. Temasek ลงทุนด้านพลังงาน โดยการจัดซื้อหุ้นบริษัทพลังงานในประเทศต่างๆ ได้แก่ (1) บราซิล : บริษัท Odebrecht Oil and Gas (OOG) มูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2) สหรัฐฯ : บริษัท Chesapeake Energy Corp มูลค่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ (3) อินเดีย : บริษัท GMR Energy มูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

1. สิงคโปร์กับฟินแลนด์ Mr. Nathan ประธานาธิบดีสิงคโปร์ เยือนฟินแลนด์อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2553 นับเป็นการเยือนครั้งแรกของประธานาธิบดีสิงคโปร์ เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Tarja Halonen ประธานาธิบดีฟินแลนด์ และได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่างๆ ซึ่งฟินแลนด์มีผู้ชำนาญการด้าน clean-tech ในขณะที่สิงคโปร์ส่งเสริมนักศิลปะ ทั้งนี้ สิงคโปร์และฟินแลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก ทั้ง 2 ประเทศมุ่งเน้นด้านการศึกษา สุขอนามัย เศรษฐกิจ และมีมาตรฐานการครองชีพในระดับสูง ปัจจุบันมีชาวสิงคโปร์พำนักอยู่ในฟินแลนด์ 120 คน และมีการจัดตั้งและการประชุมของ Singapore Association ขึ้นเป็นครั้งแรก

2. สิงคโปร์กับสวีเดน ประสานความร่วมมือระหว่างกันในด้านการศึกษา การค้นคว้าวิจัย โดย Mr. Ng Eng Hen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ได้ลงนาม Memorandum of Understanding (MOU) กับ Mr. Jan Bjorklund รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสวีเดน ซึ่งมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ 3 แห่งคือ The National University of Singapore (NUS), Nanyang Technological University (NTU) และ Singapore Management University (SMU) ได้มีโครงการความร่วมมือและโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับสถาบันการศึกษาของสวีเดน 13 แห่ง สำหรับการค้นคว้าวิจัยในปัจจุบันเป็นความร่วมมือระหว่าง Consortium of KI, NUS และ A*Star’s Genome Institute of Singapore ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ ในปี 2552 นักศึกษาสิงคโปร์ในสวีเดนมีจำนวน 523 ราย (ปี 2548 มี 252 ราย)

อื่นๆ

1. สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดงาน Imdex Asia 2011 (International Maritime Defence Exhibition and Conference ซึ่งจัดทุก 2 ปี) ซึ่งเป็นการจัดครั้งที่ 8 ณ Changi Exhibition Centre ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2554 เป็นงานเกี่ยวกับ Maritime Defence Technologies โดยจัดแสดงในคูหาพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร และที่กลางแจ้งอีก 100,000 ตารางเมตร (สำหรับการจัดแสดง sea vessels, maritime aircraft และ unmanned aerial vehicles : UAVs ) ถึงขณะนี้ มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมงาน 200 ราย จาก 25 ประเทศ คาดว่า จะมีเรือรบ 25 ลำ จาก 20 ประเทศมาจัดแสดง และผู้เข้าชมงานจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเรือ และผู้ชำนาญการพิเศษการป้องกันการเดินเรือ

2.โครงการเคหะสิงคโปร์ได้รับรางวัล UN Housing Award รางวัลที่ได้รับคือ UN-Habitat Scroll of Honour Award ในการที่ Housing and Development Board (HDB) จัดสร้างที่พักอาศัยให้มีสภาวะรักษาธรรมชาติ สะอาดและสร้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยที่ HDB เป็นตัวสำคัญที่จัดให้มีการสร้างที่พักอาศัยสำหรับประชากรร้อยละ 80 มีบ้านเป็นของตนเอง เป็นไปตามความประสงค์และความต้องการของแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเพิ่งแต่งงาน กลุ่มสูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ

3. สิงคโปร์เป็นอันดับ 4 ศูนย์กลางการเงินนานาชาติ จากการจัดอันดับของ Think-tank Z/Yen Group ซึ่งสำรวจจากผู้มีความชำนาญกลุ่มการเงิน/การธนาคาร 1,876 ราย โดยอันดับ 1 คือ ลอนดอน รองลงมาได้แก่ นิวยอร์ค ฮ่องกง สิงคโปร์ และโตเกียว นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเงินตราใหญ่ที่สุดของโลกอันดับที่ 4 และเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากโตเกียว อีกด้วย

4. คาดการณ์น้ำมันจะมีราคาสูงขึ้นอีก นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร HSBC สิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ความต้องการในเอเชียเพิ่มขึ้น และระเบียบที่เคร่งครัดด้านความปลอดภัยของสหรัฐฯและยุโรปจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการสร้าง oil rig สูงขึ้น ซึ่งคาดว่า จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นถึงระดับ 90-100 เหรียญสหรัฐฯ/บาเรล (อาจจะเพิ่มขึ้นเท่ากับราคาในปี 2550-2551 ที่สูงถึง 140 เหรียญสหรัฐฯ/บาเรลก็เป็นได้) ในปัจจุบันราคาน้ำมันยังคงระดับอยู่ที่บาเรลละ 80 เหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่เป็นตัวกดดันเพิ่มเติม คือ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น สืบเนื่องจากเงินทุนไหลเวียนมาจากตะวันตกสู่ตะวันออกมากขึ้น ผลักดันราคาหุ้นและราคาอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์และฮ่องกงให้สูงขึ้น อีกทั้ง ภัยธรรมชาติในไทยและอินโดนีเซียทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

5. การห้ามจำหน่ายสินค้าจากเกาหลีใต้ หน่วยงานสิงคโปร์ Health Sciences Authority (HAS) ได้ตรวจสอบสินค้าจากเกาหลีใต้ภายใต้แบรนด์ SKIN Food และสั่งห้ามจำหน่ายสินค้า 2 ชนิดเนื่องจากพบสารเคมี benzene (ปกติจะพบอยู่ในสี thinners กาวและยางพารา) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง ปนเปื้อนในสินค้า 2 ชนิดคือ 1) Skin Food Jojoba Pure Nail PK004 และ 2) Skin Food Milk Creamy Nail Base Coat ซึ่งสารปนเปื้อนอยู่ในระดับ 22.3 และ 30.3 parts per million (ppm) ตามลำดับ ทั้งนี้ ภายใต้ ASEAN Cosmetic Directive (ACD) สินค้าเครื่องสำอางที่จำหน่ายในประเทศอาเซียนจะต้องไม่มีสารดังกล่าวปนเปื้อน

6. การเฝ้าระวังการบริโภค Shisha ในสิงคโปร์ หน่วยงานสิงคโปร์ Health Promotion Board (HPB) ได้ตรวจสอบร้านกาแฟที่เปิดใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 47 แห่ง ในย่าน Arab Street, Baghdad Street, Haji Lane, Pahang Street และ Clarke Quay ซึ่งให้บริการ Shisha (การสูบกลิ่นยาสูบ) ที่มีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่ โดยผู้บริโภคจะใช้เวลาประมาณ 15-90 นาที/ครั้งในการสูบ Shisha ซึ่งเท่ากับการสูบบุหรี่ติดต่อกันมากกว่า 20 มวน แม้ว่า HPB มีความกังวลต่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่ยังไม่ได้สั่งห้ามการให้บริการดังกล่าว เพียงแต่ดำเนินการตามแบบ Anti-smoking ทำการส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและชุมชนต่างๆเพื่อให้ประชาชนทราบถึงอันตรายจากการบริโภค Shisha

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2553

1. รายงานผลการจัดคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เยือนงาน BIG & BIH, Oct. 2010 (14 ราย โดยแบ่งออกเป็น VVIP จำนวน 1 ราย VIP จำนวน 4 ราย และนักธุรกิจจำนวน 9 ราย (16-21 October 2010)

2. จัดส่งรายชื่อคณะนักธุรกิจสิงคโปร์ เข้าร่วมงาน TIEE 2010 โดยเป็น Exhibitor จำนวน 2 ราย และแขกพิเศษ จำนวน 1 ราย (19-21 November 2010)

3. ประสานงานเชิญชวนบริษัทไทยนำสินค้าจัดแสดงและจำหน่ายในงาน Asia Pacific Food Expo 2010 ณ Singapore Expo (19-23 พฤศจิกายน 2553)

4. ประสานงานกรมทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับผู้อำนวยการฯเพื่อเข้าร่วมงานมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ ในประเทศไทย (27 พย.- 2 ธต. 53)

5. ร่วมปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต FairPrice และ Giant ในการจัดโครงการส่งเสริมการขายสินค้าไทย ณ ซุปเปอร์มาร์เก็ต (งบประมาณปี 2554)

6. ติดต่อสื่อสิ่งพิมพ์สิงคโปร์ เพื่อการประชาสัมพันธ์งานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ 2554

7. ประสานงานเพื่อการจัดโครงการ Thailand Trade Exhibition 2011 ในสิงคโปร์

8. ขออนุมัติโครงการปีงบประมาณ 2554 เพิ่มเติม คือ โครงการส่งเสริมการขายสินค้าไทย ณ ห้าง ISETAN

9. ประสานเชิญชวนนักธุรกิจ/ผู้นำเข้าสิงคโปร์เยือนงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair 2011, Thailand International Furniture Fair 2011

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ