สถานการณ์สินค้ายานยนต์และยางรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เดือนพฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 17:18 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. จำนวนการผลิตรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นแบ่งแยกตามผู้ผลิต ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2553

2. ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นยุติการให้เงินสนับสนุนกับผู้ซื้อรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นอกจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภคญี่ปุ่นยังไม่คลายความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ทั้งประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นและประชากรหนุ่มสาวที่มีความประหยัดในการใช้สอยเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดรถยนต์ในญี่ปุ่นยังหาช่องทางในการฟื้นตัวไม่ได้ รายได้หลักของผู้ผลิตกลับมาจากการจำหน่ายรถยนต์ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ Emerging Market

ฮอนด้ามอเตอร์โตเกียวได้จัดชุดของขวัญสมนาคุณให้กับลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ กับดีลเลอร์ของบริษัทในวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีลูกค้าให้ความสนใจอย่างมากมายในทันทีที่เปิดโชว์รูมมีผู้สนใจสอบถามข้อมูลและทดลองขับกันอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าเมื่อสิ้นสุดวันยอดจำหน่ายรถยนต์ก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแต่อย่างไร ซึ่งตรงข้ามกับตลาดรถยนต์ในประเทศจีนซึ่งนำเข้ารถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นถึง 163,000 คันในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2553 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2548 ทั้งที่รัฐบาลจีนเก็บภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 25 แต่ด้วยอำนาจการซื้อที่มหาศาลของตลาดจีนทำให้อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นอาจต้องขึ้นอยู่

กับประเทศจีน เพราะว่าในจำนวนรถยนต์ที่ประเทศจีนนำเข้านั้นล้วนแต่เป็นรถยนต์ระดับไฮเอนด์ที่มีราคาแพง เช่น นิสสัน อินฟินิตี้ หรือ โตโยต้า เล็กซัส ทั้งสิ้น

นอกจากนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาในการความสามารถในการแข่งขัน กับต่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลฯจะได้เปิดการเจรจาการค้าเสรีกับหลายประเทศโดยมุ่งหวังให้ลดหย่อนภาษีสินค้าขาเข้าจากญี่ปุ่น เพื่อให้สินค้าญี่ปุ่นสามารถแข่งขันในตลาดต่างๆได้ แต่ในความเป็นจริงสินค้าจากญี่ปุ่นก็ยังถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงอยู่ตลอด เนื่องจากการเจรจาการค้าเกือบทุกตลาดนั้นยังไม่มีผลบังคับใช้เลย

เหตุผลสำคัญที่ส่งผลให้การเจรจาในแต่ละครั้งเกิดปัญหาก็คือรัฐบาลญี่ปุ่นเลือกที่จะปกป้องเกษตรกรในประเทศมากกว่าสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม(รถยนต์) ทำให้รถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น บ.ซูซูกิ มอเตอร์ต้องเสียภาษีนำเข้ารถยนต์ให้ประเทศอินเดียถึงร้อยละ 12.5 ในขณะที่รถยนต์จากฮุนได ประเทศเกาหลีใต้ เสียภาษีเพียงร้อยละ 1- 5 ของมูลค่า แม้ว่าญี่ปุ่นและอินเดียจะได้บรรลุข้อสรุปในเปิดการค้าเสรีระหว่างกันแล้วก็ตาม

จุดอ่อนของประเทศญี่ปุ่นดังที่ทราบในข้างต้นแล้วก็คือภาคการเกษตรญี่ปุ่นได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันมาเป็นเวลานานแล้วแต่รัฐบาลต้องการเอาใจเกษตรกรในประเทศเพื่อคงไว้ซึ่งฐานเสียงในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง หากยอมปล่อยให้สินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่าเข้ามาแข่งขันแล้วเกษตรกรญี่ปุ่นจะไม่สามารถแข่งขันได้เลย และจะนำไปสู่การคัดค้านและต่อต้านรัฐบาลในอนาคตด้วย ซึ่งหากเทียบจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมแล้ว ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีแรงงานจำนวนถึง 11 ล้านคน มากกว่าภาคการเกษตรซึ่งมีแรงงานเพียง 2.6 ล้านคน

ด้วยเหตุนี้เอง ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นหลายรายไม่สามารถรอการตัดสินใจของภาครัฐได้อีกต่อไปจึงได้ขยับฐานการผลิตออกสู่ตลาดต่างประเทศแล้ว อาทิ ซูซูกิ ก็ได้ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในอินเดีย และมิตซึบิชิก็เร่งสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ในประเทศไทย

3. ความเคลื่อนไหวอื่นๆของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น

โตโยต้า มอเตอร์ เร่งผลิตรถยนต์ไฮบริด และมีแผนที่จะใช้เครื่องยนต์ไฮบริดในรถยนต์ทุกรุ่นของบริษัท โดยบริษัทฯเปิดเผยว่าในปี 2555 จะวางตลาดรถยนต์ไฮบริดถึง 12 รุ่น และเชื่อว่ารถยนต์ไฮบริดจะเป็นกระแสหลักของรถยนต์ในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าจะยังไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับรถยนต์ปกติได้ในตอนนี้ก็ตาม และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้ายอดจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดจะมีส่วนแบ่งถึง 1 ใน 3 ของยอดขายบริษัท ในขณะที่โตโยต้ามุ่งพัฒนาเครื่องยนต์ไฮบริด แต่ เจเนอรัล มอเตอร์ และนิสสันกลับพัฒนารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า 100% แล้ว และคาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม รถยนต์พลังงานไฟฟ้าคงจะต้องใช้เวลาทำการพัฒนาอีกต่อไป เนื่องจากยังมีความไม่สะดวกด้านสถานีบริการ (จ่ายไฟฟ้า) รวมถึงระยะเวลาในการชาร์ตประจุไฟซึ่งนานกว่าการเติมน้ำมันตามปรกติอยู่บ้าง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ