ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ไทยกับสเปนมีมูลค่าการค้ารวม 149.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายส่งออกไปสเปน 103.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.52 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยมีหมวดสินค้าสำคัญที่ปรับตัวเพิ่ม คือ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (37.63%) ยางพารา (25.63%) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (2.74%) แต่ก็มีสินค้าหลักหลายรายการที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (-13.72%) กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง (-1.62%) และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-23.64%) ขณะที่นำเข้าจากสเปน มูลค่า 46.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.48 ทั้งนี้ ไทยได้ดุลการค้าในเดือนนี้เพิ่มขึ้นอีก 56.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในช่วง 11 เดือนแรก ปี 2553 ไทย-สเปน มียอดการค้ารวม 1,443.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยไทยมียอดส่งออกมาสเปนรวม 1,010.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.40 ซึ่งสามารถแบ่งโครงสร้างสินค้าส่งออก ได้ดังนี้
เมื่อเทียบกับช่วง 11 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา พบว่าประเภทสินค้าเกษตรกรรม มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 58.56 และสามารถเพิ่มสัดส่วนมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 20 อันเนื่องมาจากมีความต้องการยางพาราเพิ่มสูงมาก เช่นเดียวกับความต้องการบริโภคสินค้ากุ้งแช่สด/แช่แข็ง ขณะเดียวกัน ประเภทสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวได้ดีร้อยละ 40.68 โดยเฉพาะจากสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ที่เติบโตสูงมาก โดยมีสัดส่วนรวมร้อยละ 8.44 ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนรวมที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 71.61 แต่ก็ยังสามารถเติบโตได้ดีร้อยละ 38.70
ในรอบ 11 เดือน หมวดสินค้าส่งออกไทยใน 10 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกของไทยถึงร้อยละ 68.19 ล้วนมีอัตราการขยายตัวในอัตราสูงทั้งสิ้น (ดูรายละเอียดในตารางข้างล่าง) ขณะเดียวกันนำเข้าจากสเปนเป็นมูลค่า 432.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.49 ทำให้ไทยได้ดุลการค้าจากสเปนสะสมในปีนี้แล้ว จำนวน 578.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.44 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทย พบว่าสินค้า 5 อันดับแรก มีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 50 ของยอดส่งออกทั้งหมด โดยมีเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และยางพารา ครองสัดส่วนสูงเกินร้อยละ 10 ทั้ง 3 รายการ แต่ถ้านับรวมสินค้า 10 อันดับแรก ก็จะมีสัดส่วนการส่งออกเกือบร้อยละ 70 จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงของสินค้าที่เหลือไม่ค่อยมีผลกระทบกับยอดการส่งออกมากนัก
ถึงแม้ผลการส่งออกของไทยในตลาดสเปนจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ตอนต้นปี 2553 มาจนถึงกลางปี แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สินค้าหลักได้แสดงสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีปัญหาการว่างงานเรื้อรังที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ รวมทั้งปัญหาที่รัฐบาลได้ออกมาตรการด่วนในการตัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเฉียบพลันควบคู่ไปกับการขึ้นอัตราภาษี ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยลบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ได้สินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ขยายตัวสูงมาชดเชยมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เริ่มปรับตัวลดลง นอกจากนั้น สินค้ายางพาราก็ยังมีความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่องจนมีสัดส่วนเกินกว่าระดับร้อยละ 10 รวมทั้งสินค้ากุ้งแช่เย็น/แช่แข็งของไทยที่สามารถเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออกได้ในระดับที่น่าพอใจเช่นกัน
ในช่วงเดียวกันไทยนำเข้าสินค้าจากสเปนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 21.49 ซึ่งสินค้าส่วนมากเป็นสินค้าที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก โลหะ และสัตว์น้ำสด เป็นต้น รองลงมาเป็นสินค้าประเภททุน ได้แก่ เครื่องจักรต่างๆและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์/เภสัชกรรม โดยมีรายละเอียดการนำเข้าสินค้า 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุด ดังนี้
สเปน เป็นประเทศหนึ่งของสหภาพยุโรป ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้หลังจากเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อสองปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากการล่มสลายของธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาโดยตลอด รวมทั้งมีความสามารถทางการผลิตและความสามารถในการแข่งขันต่ำ ซึ่งจัดว่าอยู่ในลำดับท้ายๆของสหภาพยุโรป กอปรกับนโยบายการบริหารประเทศและข้อกฎหมายที่มีลักษณะสังคมนิยมและไม่เอื้อกับการสร้างงาน
ปัญหาประชากรที่ว่างงานเกือบ 5 ล้านคนยังคงเป็นปัญหาใหญ่เรื้อรังอยู่ต่อไป ซึ่งขณะนี้มีอัตราสูงกว่าร้อยละ 20 ของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาโดยการปรับย้ายโครงสร้างแรงงานที่ตกงานจำนวนมากจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายและรวดเร็ว ดังนั้น การฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปกันอย่างจริงจังจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะลดอัตราคนว่างงานลงให้ได้ระดับมาตรฐานของประเทศอื่นๆในยุโรป
นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบจากภายนอกคือปัญหาวิกฤติหนี้ของกรีซในช่วงกลางปีที่นักลงทุนกังวลว่าจะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆที่ใช้เงินสกุลยูโรเช่นเดียวกัน จนสหภาพยุโรปและ IMF ต้องเข้ามาช่วยแก้ไขและให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และขณะนี้ไอร์แลนด์ก็ประสบปัญหาสถาบันการเงินเช่นเดียวกัน จึงทำให้โปรตุเกสและสเปนถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะเป็นประเทศในลำดับต่อไปที่เผชิญกับวิกฤติหนี้และถูกลดความน่าเชื่อถือลงเป็นลำดับ ทั้งนี้ ยังไม่รวมผลกระทบจากมาตรการรัดเข็มขัดที่ต้องเร่งขจัดปัญหาการขาดดุลการคลังอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านการเงินของประเทศและของสหภาพยุโรปโดยรวม โดยการตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐและเร่งหารายได้จากภาษี ซึ่งล้วนแต่กระทบกับความเป็นอยู่ของประชากรทั้งสิ้น ดังนั้น จึงก่อให้เกิดการต่อต้านโดยการสไตรค์และการประท้วงจากผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การออกมาตรการแก้ไขตลาดการเงิน พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเงินและระบบสวัสดิการ ตลอดจนการควบคุมการบริหารการเงินของรัฐบาลในแคว้นต่างๆให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดยสรุปในภาพรวมแล้ว ในปี 2553 สเปนจะมีอัตราการขยายตัวติดลบอยู่ร้อยละ -0.3 และจะปรับเป็นบวกได้เล็กน้อยในปี 2554 ในอัตราร้อยละ 0.7 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของสหภาพยุโรปที่ร้อยละ 1.5 โดยจะต้องพยายามปรับสภาพสมดุลทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อสร้างมูลค่าการส่งออกให้มากที่สุดเนื่องจากไม่สามารถคาดหวังการเติบโตจากความต้องการภายในประเทศขณะนี้ได้ ควบคู่ไปกับการควบคุมค่าใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเข้มงวดต่อไป และในปี 2555 คาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.7 แต่อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจยังคงมีสภาพเปราะบางและอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ต้องคอยจับตามองอย่างใกล้ชิด
สำหรับการส่งออกของไทยในตลาดสเปนในปีนี้คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ถึงระดับมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 40 ในปี 2553 เนื่องจากตัวเลขฐานมูลค่าการส่งออกในปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลงมากจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของโลกถึงร้อยละ 40 เช่นกัน และจะสามารถสร้างดุลการค้าให้กับประเทศได้กว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จากปัญหาเรื้อรังต่างๆของสเปน และฐานการส่งออกของไทยในสเปนที่ปรับตัวขึ้นสูงในปีนี้ คาดว่าในปี 2554 มูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 7-10
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมาดริด
ที่มา: http://www.depthai.go.th