2553 ปีแห่งความหวัง และความผิดหวังของฮังการี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 11, 2011 11:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความหวังของ “ฮังการี” ขึ้นอยู่กับนักลงทุนต่างชาติ

ในปี 2553 สถานการณ์ประเทศฮังการี เริ่มต้นจากความหวัง และจบลงด้วยความกลัวในท้ายที่สุดแห่งปี ภาวะวิกฤติโลกดูเหมือนจะจบสิ้นลง แต่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับฮังการีในปี 2554 รัฐบาลของ Bajnai (รัฐบาลชั่วคราวก่อนการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2553) ซึ่งทำหน้าที่เสมือนผู้ดูแลชั่วคราว สร้างความพึงพอใจต่อนักลงทุนและสถาบันการเงินระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน แม้จะมีผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จสูง แต่ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัด เพราะรัฐบาลชุดนี้เปรียบเสมือนเป็ดขาพิการ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นจากการสนับสนุนของนักการเมืองที่กำลังจะหมดวาระ จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนักในระยะยาว

วิกฤตยุโรป เริ่มจากกรีซ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนถัดมา เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็ได้เกิดขึ้น วิกฤตการเงินในเขตยุโรป ซึ่งเริ่มจากปัญหาของประเทศกรีซ ได้แผ่ขยายสู่ยุโรปกลางและตะวันออกในเวลาต่อมา ทำให้ราคาของสินทรัพย์เสื่อมถอยลง ภาวะความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

ถึงแม้ว่าสหภาพยุโรป และไอเอ็มเอฟ จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของเงินยูโรเป็นอย่างมาก ส่งผลในทางติดลบอย่างเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะประเทศทางแถบตะวันออกของอียู ซึ่งสถานการณ์อยู่ในภาวะอันตรายอย่างเห็นได้ชัด

EU หันหลังให้ Fidesz

ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลชุดใหม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยการนำของพรรคการเมือง Fidesz เพื่อเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น รัฐบาลจึงเสนอแผนนโยบายทางการเงินแบบขาดดุลที่สูงขึ้น แต่ในเวลานั้นค่อนข้างจะโชคร้าย เนื่องจากสถานการณ์ของกรีซ ทำให้ อียูปฏิเสธคำขอร้องของรัฐบาลฮังการี

นโยบายเศรษฐกิจของฮังการีเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ หรือที่เรียกว่า “non-orthodox” ภาษีอัตราพิเศษถูกจัดเก็บเป็นครั้งแรกในสาขาอุตสาหกรรมการเงิน ตามมาด้วยธุรกิจค้าปลีก พลังงานและการสื่อสาร ทั้งนี้เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ของรัฐ จากการลดภาษีธุรกิจ (corporate tax) และภาษีรายได้นิติบุคคล (personal income tax) ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของคำมั่นสัญญา ที่ Fidesz ให้ไว้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

เงินทุนสำรองจาก IMF อันตรธาน

การเจรจาเพื่อขอเงินทุนสำรองในประเทศ รัฐบาลฮังการีไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของไอเอ็มเอฟ ที่เสนอให้แก้ไขแผนนโยบายเศรษฐกิจ ดังนั้นการตกลงของทั้งสองฝ่ายจึงถูกเลื่อนออกไปโดยปราศจากข้อตกลงในเดือนกรกฎาคมของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ฮังการีไม่มีเงินทุนสำรองจาก IMF และ SBA

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะค่าใช้จ่ายหนี้สาธารณะของประเทศ ถูกแก้ไขโดยการเก็บภาษีชดเชยจากตลาดทางการเงิน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ส่งผลเสียต่อความชัดเจนของนโยบายทางการคลังของรัฐบาล และความมั่นใจของแหล่งเงินทุนภายนอกประเทศมากขึ้น

เมื่อเงินบำนาญถูกช่วงชิง

สิ่งที่ดูจะเป็นปริศนามากที่สุด ของการดำเนินนโยบายทางการเงินก็คือ การตัดสินใจยกเลิกโครงสร้างหลักอันดับสองของระบบเบี้ยบำนาญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของชาติ ที่สะสมอยู่ในรูปของกองทุนเบี้ยบำนาญส่วนบุคคล ในด้านหนึ่ง สิ่งนี้เพิ่มคำถามเกี่ยวกับการเคารพในสิทธิทรัพย์สินส่วนบุคคล และกฏข้อบังคับทางกฏหมาย ขณะที่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญถูกตัดทอน และไม่มีผลบังคับใช้กับแผนการดำเนินการทางการเงินของรัฐบาล หรือถ้ามองอีกแง่หนึ่ง การแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจดูยังเป็นปริศนาในระยะยาว เพราะการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในปี 2554 ส่วนหนึ่งจะดึงมาจากกองทุนสะสมเบี้ยบำนาญส่วนบุคคล โดยจะถูกโยกย้ายจากบัญชีส่วนบุคคลสู่ระบบการบริหารของรัฐแบบ pay-as-you-go ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น

กำลังวิ่งอยู่บนความเสี่ยงสูง

ในขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษาทางการเงิน (จัดตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลชุดก่อน และอาจจะถูกยกเลิกในไม่ช้านี้) ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความยั่งยืนของนโยบายทางการคลัง ซึ่งเป็นคำถามมากมายในขณะนี้ว่า จากการคาดการณ์ของภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2555 รายได้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล จะไม่สามารถชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียจากการปรับลดภาษี ในขณะเดียวกัน Moody’s ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของฮังการี ลงเหลือเพียงแค่เหนืออัตรา junk category เพียงหนึ่งจุดเท่านั้น เช่นเดียวกับ Standard & Poor’s ซึ่งลดอันดับฮังการีก่อนหน้านี้แล้ว จากการถูกลดอันดับจากทั้งสองบริษัท ทำให้ภาพรวมของประเทศติดลบ และสูญเสียคะแนนด้านการลงทุนจากภายนอก

ความกดดันของภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างเป็นที่น่าสังเกตุ ส่วนหนึ่งมาจากภาษีอัตราพิเศษ และการลดภาษีรายได้นิติบุคคล ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงในปี 2554 ดังนั้น ธนาคารกลางจึงตัดสินใจปรับขึ้นเกณฑ์มาตรฐานธุรกรรมซื้อคืน(repo rate) 25 จุดหรืออัตราร้อยละ 5.5 หลังจากที่ควบคุมไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน ด้วยเหตุนี้ ทำให้ฮังการีจัดอยู่ในกลุ่มประเทศอันดับต้นๆที่ต้องมีการดำเนินการที่รัดกุมมากขึ้นในเขตเศรษฐกิจของ CEE

สวนทางกัน

ในปี 2554 สภาวะทางการเงินถูกบีบรัด ในขณะที่การเติบโตถูกเร่งให้ขยายตัวเร็วขึ้น การขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก และบางส่วนเพื่อชดเชยปริมาณความต้องการการบริโภค ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาวะวิกฤตเริ่มดีขึ้นอย่างช้าๆ และค่าจ้างสุทธิและรายได้ของครัวเรือนสูงขึ้น

เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายนอกประเทศ คาดว่าอียูจะเข้ามาร่วมแสดงบทบาทต่อการดำเนินงานภายในประเทศ เพราะจากผลการประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลที่ผ่านมา ในเรื่องของกลไกการช่วยเหลือทางการเงินและการควบคุมนโยบายการคลังของรัฐ ทางคณะกรรมการแห่งสหภาพยุโรปคงไม่ยอมให้ประเทศในเขตสมาชิก มีการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ไม่ค่อยชัดเจนนัก

ความหวัง ที่เหลืออยู่

เป็นไปได้ว่า คำถามเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด ของเดือนที่กำลังจะมาถึงก็คือ เนื้อหาของการปฏิรูปนโยบาย ซึ่งรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจ Gyorgy Matolcsy ได้สัญญาว่า จะประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ฮังการี ควรจะปรับเปลี่ยนนโยบายทางการคลัง ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงวิถีความมั่นคงทางการเงิน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการโน้มน้าวนักลงทุน ในฐานะที่ฮังการีเป็นทางเลือกที่น่าสนใจด้วยผลตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล หากรัฐบาลสามารถทำประเด็นนี้ได้สำเร็จ จะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างแน่นอน และยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลต่อภาพรวมของอียูอีกด้วย

ที่มา: The Budapest Times, 20 Dec 2010-9 Jan 2011

TakarekBank Weekly Economy Watch (Tuesday, 21 December 2010)

สคร. ณ กรุงบูดาเปสต์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ