จดหมายจากเมืองแขก เรื่องไปงานแต่งงานแขก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 18, 2011 14:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

วิสาขาน้องรัก

พี่กลับจากมหาบาลีปุลัมแล้วด้วยความสะบักสะบอม เป็นหวัดงอมแงม อากาศที่อินเดียปีนี้หนาวมาก หนาวมาหลายเดือนแล้ว ที่นิวเดลีถึงขนาดอุณหภูมิติดลบ มีคนตายเพราะหนาวตายไปหลายคนแล้ว แต่มีเพื่อนพี่คนหนึ่งหายหนาวแล้วเพราะมีคนให้เบียด ชิวๆ ไปแล้ว

“Love is a Journey not a destination”

เพื่อนซี้พี่คนนี้ชื่อ “แอนนิตา” หน้าตาคมขำคล้ำสนิทตามสไตล์ทมิฬนาฑู แต่นัยตาเธอกลมโตน่ารักเหมือนน้องสาวไมเคิลดีแท้ พอพี่ถึงบ้านก็เจอว่าที่เจ้าสาวรอส่งการ์ดเชิญไปร่วมงานแต่งงานเธออยู่พอดี ดูเธอมีความสุขดี เกือบจะตกรถไฟขบวนสุดท้ายเสียแล้ว ก้มหน้าก้มตาเรียนโทฯ จนลืมสนิทเรื่องสำคัญยิ่งของสาวอินเดีย เงยหน้าขึ้นมาคุณพ่อก็บอกกับเธอว่าหาว่าที่จ้าวบ่าวให้ได้แล้ว อินเดียยังคงรักษาธรรมเนียมเดิมไว้อย่างเหนียวแน่นทั้งหญิง-ชาย พ่อ-แม่จะเป็นคนหาคู่ครองให้ และเช่นเคย ฝ่ายจ้าวสาวต้องจ่ายสินสอดให้ฝ่ายจ้าวบ่าว น่าอิจฉาหนุ่มแขกจริงๆ

เก๋ทีเดียว แต่งงานปีใหม่เหมือนคนไทยเลย ปัจจุบันเศรษฐีใหม่อินเดียนิยมมาแต่งงานเมืองไทยกันมาก ทุ่มทุนสร้างไม่อั้นไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท เหมาโรงแรมเชิญแขกนับร้อยมาฉลองที่เมืองไทยกันเลยละ ธุรกิจงานแต่งงานบ้านเรารวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นสปา การท่องเที่ยว ฮันนีมูน ธุรกิจเสริมสวย อัญมณีเครื่องประดับ ทองรูปพรรณา สถาบันความงาม คอร์สลดความอ้วน เสื้อผ้า ผ้าไหม การแสดง การจัดเลี้ยง OTOP ฟิตเนส ของชำร่วย ของขวัญงานแต่งงาน ฯลฯ บ้านเรารวยกันไปตามๆ กัน

เมื่อเป็นแขกไปร่วมงานแต่งงาน

เรื่องอย่างนี้ต้องแจงกันให้ละเอียดเสียแล้ว พี่จะเล่าให้ฟัง เริ่มจากที่ประตูทางเข้าของสถานที่จัดงานพิธีเลยแล้วกัน

  • ที่ประตูทางเข้าเขาเอาต้นกล้วยที่มีกล้วยเครือใหญ่ๆ ยาวถึงดินผูกติดไว้กับเสาประตูทั้งสองข้าง คงจะคล้ายกับธรรมเนียมไทยที่ตอนแห่ขันหมากจะต้องมีต้นกล้วยด้วย นัยว่าเพื่อให้ลูกดกทำนองนั้น
  • ที่เหนือประตูมีใบมะม่วงเรียงร้อยสลับกับกลีบดอกไม้หลากสีสันเป็นมาลัยประดับอยู่ เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง สว่างสไวของชีวิตคู่ไม่รู้โรยรา
  • ในงานมีวงปี่พาทย์ Nadaswaram ระดมทั้งปี่ทั้งกลองบรรเลงเพลงกล่อมหอกันอึกทึกครึกโครมสนั่นหวั่นไหวจนเรือนโยกคลอนก่อนเวลาอันควร
  • บริเวณพื้นหน้าทางเข้ามีลวดลายมงคลเรียกว่า Kolam หรือ Rangoli เป็นลวดลายโรยด้วยกลีบดอกไม้มาเรียงกัน โดยมีความหมายว่า “ยินดีต้อนรับ” เมืองไทยก็นิยมทำอย่างงี้เหมือนกันนะ แต่มักจะพบเห็นตอนถือดอกไม้จันทน์ขึ้นบันได
  • เมื่อเดินถึงประตูห้องโถงพิธีเพื่อนจ้าวสาวต่างกรูกันมาประพรมด้วยน้ำลอยกลีบกุหลาบ สวมพวงมาลัย พร้อมของที่ระลึกเป็นขนมหวานลาดู และมะพร้าว 1 ลูก (เอ จะเอาไปทำอะไรหว่า)

พิธีหมั้น

เห็นแอนนิตาเล่าว่าคืนก่อนวันแต่งงานมีพิธีหมั้นด้วย หลังจากเสร็จพิธีทางศาสนาที่วัดแล้ว เจ้าบ่าวถูกส่งตัวไปให้เจ้าสาวด้วยขบวนแห่ โดยเจ้าบ่าวจะนั่งบนรถม้าที่ประดับด้วยดอกไม้ทั้งคัน ทำการแห่แหนกันไปตามถนน ที่ด้านซ้าย-ขวามีว่าที่พ่อตา-แม่ยายนั่งมาด้วย และเมื่อถึงสถานที่จัดงานที่บ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวก็เดินไปยังปรัมพิธี (เรียกว่า Jaana vasam ในอินเดียใต้ แต่ในอินเดียเหนือเรียกว่า Baraat) เพื่อจัดพิธีหมั้น สำหรับเจ้าสาวก็มีการแห่เจ้าสาวขึ้นเกี้ยวหรูหราไม่แพ้เจ้าบ่าวเช่นกัน

พิธีในวันแต่งงาน

  • คณบดีบูชา (Ganapati Puja) คณบดีเป็นอีกพระนามหนึ่งของพระพิฆเณศวร งานแต่งงานก็เช่นเดียวกับพิธีอื่นๆ ของคนอินเดีย ซึ่งจะต้องเริ่มต้นด้วยการบูชาพระพิฆเณศวร เทพแห่งการเริ่มต้นกิจการงานต่างๆ และความสำเร็จ เพื่อปัดเป่าอุปสรรคทั้งปวงและเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงราบรื่น
  • นันทิเทวตาบูชา (Naandi Devata Puja) โคนันทิเป็นโคของพระศิวะ เป็นพิธีขอพรจากญาติที่ล่วงลับไปแล้วให้อวยพรแก่คู่สมรสให้มีอายุยืนนานโดยผ่านสื่อสวรรค์โคนันทิ พิธีบูชากระทำโดยญาติผู้หญิงของบ่าวสาวที่แต่งงานแล้ว 5 คน (5 sumangalis) ด้วยการถวายพุ่มใบโพธ์ และรดน้ำนมที่โคนันทิ หลังจากนั้นมีการมอบของขวัญเป็นผ้าโสร่งไหมสีขาวโดธิ (Dhothi) ให้เจ้าบ่าวและส่าหรีให้เจ้าสาว

คำบูชานันทิ

โอม มหากาลยัม มหาวีรยัม

ศิวะ วหานัม อุตัตมามา

กานานัมตวา ปราตัม วานดิ

นันทิสวารัม มหาบาลัม

  • นพเคราะห์บูชา (Navagraha puja) เป็นการบูชาเทพนพเคราะห์ทั้ง 9 เจ้าแห่งโชคชะตามนุษย์ เพื่อให้บ่าวสาวพบแต่โชคดี
  • วราตัม (VRATHAM) —พิธีสละโสด ในตอนเช้าของวันแต่งงาน เจ้าบ่าวได้เข้าพิธีวราตัมที่บ้านตนเองซึ่งกระทำโดยพราหมณ์เพื่อสละชีวิตโสดสู่การเป็นคฤหัสต์ (Grihastra) ในพิธีนี้มีการบูชาเทพเจ้าหลายองค์ เช่น พระอินทร์ พระโสม (Soma) พระจันทร์ และพระอัคนี ส่วนเจ้าสาวก็ทำพิธีสละโสดเช่นกันที่บ้านแต่เรียกว่าพิธีกัปปู กัตตัล(kappu kattal) โดยพ่อแม่เจ้าสาวเป็นผู้ประกอบพิธีให้ ซึ่งเริ่มจากการบูชาพระพิฆเณศวรและเทพต่างๆ แล้วจึงผูกด้ายสาสิญจ์ (Kappu) บายศรีสู่ขวัญเจ้าสาวที่ข้อมือขวา (อันนี้คล้ายศาสนาพุทธ)
  • กาษียาตรา (Kasiyathra)

พิธีนี้น่าสนใจทีเดียว เพราะอาจมีเค้าเงื่อนมาจากเรื่องในศาสนาพุทธ โดยในช่วงสายของวันแต่งงาน เจ้าบ่าวได้ห่มผ้าสีขาววางท่าเป็นนักบวช (sanyasi, risi-ฤๅษี) คีบแตะ ถือไม้เท้า และพัดใบตาล (ตาลปัต?) ทำทีว่าจะเดินทางธุดงค์ไปยังแคว้นกาษี ซึ่งก็คือพารานาสี แหล่งใหญ่ของนักบวชทั้งหลาย (รวมถึงพระในศาสนาพุทธด้วย) สละโลกแล้ว ระหว่างทางพ่อเจ้าสาวก็เข้ามาขวางพร้อมทั้งกล่าวโอ้โลมปฏิโลมพรรณาถึงข้อดีต่างๆ ของการแต่งงานและเอ่ยปากยกลูกสาวให้ จนเจ้าหนุ่มใจอ่อนยอมสึกแล้วตามไปแต่งงานกับเจ้าสาว และเช่นเดียวกับเมืองไทยมีเด็กเล็กๆ เดินตามกันเป็นพรวน

ในชาดกของพุทธศาสนามีเรื่องทำนองนี้เหมือนกัน ในพุทธประวัติกล่าวว่าในวันที่ ๕ นับแต่วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรกได้มีพิธีวิวาห์มงคล ระหว่างเจ้าชายศากยะ ที่ชื่อว่า "นันทะ" กับเจ้าหญิงที่มีชื่อว่า "ชนบทกัลยาณี" นันทะเป็นพระอนุชาต่างมารดาของพระพุทธเจ้า ในงานวันวิวาหมงคลนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จร่วมงานมาตามคำทูลอาราธนาของพระพุทธบิดา เมื่อทรงฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จกลับ ได้ทรงมอบบาตรของพระองค์แก่เจ้าชายนันทะ ทรงถือตามส่งเสด็จ นันทะทรงดำริว่าอีกสักพักพระพุทธเจ้าคงจะทรงหันกลับมารับบาตรคืนไปจากตน แต่จนแล้วจนรอดพระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงทำเช่นนั้น ครั้นนันทะจะมอบบาตรถวายพระพุทธเจ้าก็ไม่กล้า ด้วยเกรงพระทัยผู้ทรงเป็นพระเชษฐา จนไปถึงพระอารามที่ประทับ พระพุทธเจ้าจึงหันมาตรัสกับพระอนุชาว่า "บวชไหม ?" นันทะจะปฏิเสธก็เกรงใจพี่ชาย หลุดปากไปว่า "บวชพระเจ้าข้า"

นันทะไม่ได้ยอมบวชด้วยน้ำใสใจจริง เพราะกำลังจะแต่งงาน ทั้งที่ตอนที่จะออกจากพระราชนิเวศน์นำบาตรมาส่งพระพุทธเจ้า นางชนบทกัลยาณีผู้เป็นเจ้าหญิงคู่อภิเษกสมรส ยังร้องเรียกสั่งตามมาว่า "เจ้าพี่ไปแล้วให้รีบเสด็จกลับ" แต่ที่ต้องตอบเช่นนั้น ก็เพราะว่าเกรงใจพระพุทธเจ้าดังกล่าวแล้ว ท้ายที่สุดพระนันทะก็บรรลุอรหันต์เป็นพุทธสาวกองค์สำคัญ

พิธีนี้เห็นแล้วถึงกับอึ้ง ศาสนาพุทธได้ฝังรากลึกลงในจิตใจคนอินเดียโดยไม่รู้ตัว ศาสนาพุทธมิได้สูญหายไปจากอินเดีย เพราะศาสนาพุทธได้เข้าไปแฝงอยู่ในทุกลมหายใจของชาวอินเดียแล้วนั่นเอง ทั้งนี้ปรัชญาฮินดูในเรื่องภัควัตคีตาดูเหมือนจะมีแนวทางศาสนาพุทธเข้าไปปนอยู่เป็นจำนวนมาก

  • พิธีบูชาต้นโพธิ (Ashwatha tree หรือ Peepal) แอนนิต้า และเพื่อนๆ พากันไปสวดมนต์ขอบคุณและขอพรจากต้นโพธิซึ่งเป็นตัวแทนของพระวิศณุ เห็นไหมละ แขกก็นับถือปนๆกันเหมือนไทยเรา ปนกันระหว่างพราหมณ์กับพุทธจนแยกกันไม่ออก
  • พิธี Vaaku Nichaya Muhurtham ที่ปรัมพิธีในห้องโถงงานแต่งงาน บ่าวสาวนั่งเคียงคู่อยู่ข้างกองไฟพิธีเพื่อให้อัคนีเทพเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยพ่อ-แม่ของทั้งสองฝ่าย หลังจากนั้นพราหมณ์ปุโรหิต ( purohit) ก็ร่ายเวทมนต์พร้อมทั้งเอ่ยนามของคู่บ่าวสาว และญาติผู้ใหญ่ 3 ชั่วคนให้เทพอัคนีอมควันอธิษฐานไปป้อนให้ทวยเทพบนสวนเพื่อรับรู้ (อันนี้ไม่ได้พูดเล่น เทพอัคคีไปป้อนอย่างนี้จริงๆ) โดยมีแขกและญาติๆ นั่งสัปหงกเป็นสักขีพยานอยู่โดยรอบ โดยมนต์ตอนที่สำคัญจะกล่าวว่า “ข้าแต่วรุณเทพ จงอย่าให้มีอันตรายเกิดแก่เขาทั้งสอง ข้าแต่พระพฤหัสบดี (Brihaspathi) ขอเธออย่าคิดร้ายต่อสามี ข้าแต่พระอินทร์จงประทานพรแด่เธอให้ปกปักษ์รักษาลูกๆ ของเธอ ข้าแต่สุริยเทพจงประทานพรแด่เธอให้สุขภาพสมบูรณ์” กว่าจะเสร็จพิธี คุณตาคุณยายหลับกันไปหลายงีบ
  • บ่าวสาวมอบพวงมาลัยให้กันและกัน (Maalai Mathal) ขั้นตอนนี้ บ่าว-สาวสวมมาลัยที่ปลุกเสกแล้ว (varamala) ให้กันและกันฝ่ายละ 3 พวงเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นชีวิตคู่
  • พิธีโล้ชิงช้า (Oonchal)

ต่อไปบ่าวสาวไปนั่งโล้ชิงช้า (Oochal) แกว่งไปมา โดยมีสาวๆ หางเครื่องร้องเพลงกล่อมเป็นเพลง Laali ทั้งนี้สายโซ่ที่ห้อยชิงช้าแสดงให้เห็นถึงสายใยเชื่อมไปถึงอำนาจศักดิ์สิทธิบนสวรรค์ สำหรับการแกว่งไปมาแสดงถึงความไม่แน่นอนของชีวิต มีทั้งสุขและทุกข์ที่ทั้งคู่จะต้องฟันฝ่าไปด้วยกัน

  • พิธีหว่านเมล็ดพืช (Paalikai)

ญาติผู้หญิงของบ่าวสาวที่แต่งงานแล้ว 5 คน (5 sumangalis)พร้อมด้วยถาดใส่ถ้วยดินเผาหลายใบที่มีสารพัดถั่วงอกใหม่ 9 อย่างบรรจุอยู่มอบให้พราหมณ์บริกรรมคาถา หลังพิธีแต่งงานญาติๆ ก็นำเอาสารพัดถั่วงอกนี้ไปลอยในแม่น้ำเพื่อเป็นการบูชาเทวดาที่ปกป้องลูกๆ ของสามีภรรยา

  • วารีบูชา (Vara Puja)

เป็นพิธีล้างเท้าเจ้าบ่าวด้วยน้ำนมและเช็ดให้แห้งด้วยผ้าไหม หลังจากนั้นจะมีการนำเอาน้ำและตะเกียงไฟไปเวียนทักษิณาวัตรไปเวียนรอบชิงช้าเพื่อป้องกันคู่บ่าวสาวจากสิ่งชั่วร้าย ตามมาด้วยการให้ทานเปรตโดยการขว้างข้าวปั้นย้อมสีเหลืองและแดงไปรอบๆ ชิงช้าเพื่อไม่ให้ภูติผีมารบกวนงานวิวาห์

  • กันยาดานัม (Kanyadhaanam) บางครั้งเรียกวา Dhaarai กันยาหมายถึงหญิงสาว ดานัมหมายถึงการมอบ รวมความกันหมายถึงการส่งตัวเจ้าสาวให้เจ้าบ่าว เจ้าสาวจะนั่งบนตักของพ่อ เหมือนลูกยังเล็กอยู่ในสายตาพ่อแม่ก่อนจะมอบต่อให้เจ้าบ่าวไปดูแลต่อ ใบพลูและมะพร้าวจะถูกวางลงบนอุ้งมือของเจ้าสาว โดยมีมือเจ้าบ่าวและพ่อเจ้าสาวรองอยู่ข้างล่าง แม่เจ้าสาวจะรดน้ำลงบนมือเจ้าสาวเป็นสัญลักษณ์ของการมอบเจ้าสาวให้เจ้าบ่าว ต่อจากนั้นพ่อเจ้าสาวก็จะจับมือเจ้าบ่าววางลงบนมือของเจ้าสาวเป็นอันเสร็จพิธี พิธีนี้ดูคล้ายการรดน้ำสังข์ของไทยไม่น้อย
  • พิธีมงคลยธารานัม (Mangalya Dharanam)

ขั้นตอนนี้เป็นตอนสำคัญ เมื่อถึงมงคลฤกษ์เจ้าบ่าวก็ผูกเชือกมงคลสีเหลืองขมิ้นพร้อมจี้ทองคำเล็กๆ ไว้ที่คอของเจ้าสาวเรียกว่า “มงคลสูตร” (Mangalsutra)(ฟังดูคล้ายกับมงคลสูตร 38 ของเรา) แต่ในอินเดียใต้จะเรียกว่าตาลี่ (Thaali) เปรียบได้กับแหวนแต่งงานของฝรั่ง เพื่อแสดงว่าหญิงนี้มีสามีแล้ว โดยมัดมงคลสูตรเป็นปม 3 รอบ รอบแรกเจ้าบ่าวเป็นผู้ผูก ส่วน 2 รอบหลังพี่สาวเจ้าบ่าวเป็นผู้ผูกเพื่อแสดงการยอมรับเข้าสู่ครอบครัว ในขณะที่กำลังผูกอยู่นั้นวงปี่พาทย์นาดาสวารัมก็จะบรรเลงสนั่นหวั่นไหวอีกคราเอาฤกษ์เอาชัยและขับไล่สิ่งอัปมงคลต่างๆ โดยประเพณีภรรยาจะสวมมงคลสูตรไปตลอดชีวิตของสามี หลังจากพิธีนี้ 2-3 วันจะมีงานเลี้ยงฉลองสมรส สามีก็จะเปลี่ยนด้ายนี้ให้แอนิตาเป็นสร้อยคอทองคำเส้นมหึมาแทนแต่ยังมีจี้มงคลสูตรหรือตาลี่ห้อยอยู่เหมือนเดิม ทองคำเป็นค่านิยมของคนอินเดียที่เจ้าสาวจะต้องสวมเครื่องประดับทองคำจำนวนมากเพื่อแสดงฐานะ ทองคำเป็นอัญมณียอดนิยมมียอดขายถึง 85% ของยอดขายอัญมณีทั้งหมด ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่แพรนดาโกลของไทยก็ได้เข้าไปทำตลาดเรียบร้อยแล้ว

  • บ่าวสาวจับมือกัน (Paanigrahanam)
ปานิคฤหัสถ์เป็นพิธีที่เจ้าบ่าวจับมือเจ้าสาวเป็นสัญญาใจว่าจะอยู่เคียงคู่กันชั่วนิรันดร์ พร้อมกับพูดว่า “ทวยเทพได้ประทานนางแก่ข้าเพื่อข้าจะได้ใช้ชีวิตอย่าคฤหัส เราจะไม่มีวันพรากจากกันแม้ว่าจะแก่เฒ่าชราปานใดก็ตาม”
  • พิธีสัปตปาธี (Sapthapadhi) พิธีนี้สำคัญที่สุดของพิธีแต่งงาน โดยเจ้าบ่าวต้องเดินจูงเจ้าสาวเดินรอบกองไฟ 7 ก้าว (Sathaadhi) ด้วยคติความเชื่อที่ว่าคนเราเมื่อเดินด้วยกัน 7 ก้าวก็จะกลายเป็นเพื่อนกันตลอดไป
  • พิธีบูชาไฟ (Pradhaana Hommam)คู่บ่าวสาวบูชาไฟด้วยการเทเนยเหลว (Ghee) พร้อมด้วยกิ่งไม้มงคล 9 อย่างลงไปในกองไฟเพื่อบูชาเทพอัคนี เทพอัคนีเมื่อได้เป็นสักขีพยานแล้ว ก็จะนำข่าวสารงานวิวาห์นี้ไปแจ้งแก่ทวยเทพบนสวรรค์
  • พิธีเหยียบหินบดแป้ง —เจ้าสาวจะใช้เท้าเหยียบหินบดแป้งขณะที่เจ้าบ่าวประคองก้มลงเอามือแตะเท้านั้นไว้ พร้อมกันนั้นพราหมณ์ปุโรหิตก็ร่ายมนต์ว่า “ขอให้เจ้าเหยียบหินโดยไม่หวั่น ในชีวิตที่อาจมีอุปสรรคและยากลำบาก”
  • ต่อจากนั้นเจ้าบ่าวก็เชิญชวนเจ้าสาวไปชมดาว “Arunadhati” เชื่อกันว่าเป็นเทวีที่งดงามบริสุทธิมีความซื่อสัตย์ต่อสวามีเทพนาม “Visishta” เป็นอย่างยิ่ง และมีความอุตสาหบากบั่นไม่ย่อท้อ โดยมีคติว่าให้เจ้าสาวจะได้รับพรจากเทวี Arunadhati ในคืนนั้น
  • โปรยข้าวบูชาไฟ (Lajja Homan) เจ้าสาวโปรยข้าวเข้ากองไฟเพื่อขอพรให้สามีอายุมั่นขวัญยืนและครอบครัวยั่งยืนสืบเชื้อสายหลายชั่วคน หลังจากนั้นบ่าวสาวเดินรอบกองไฟ 3 รอบพร้อมกับโปรยข้าวเข้ากองไฟอีกสามครั้ง
  • เมื่อเสร็จพิธีข้างกองไฟแล้ว ทั้งสองคนก็เป็นสามีภรรยากันโดยสมบูรณ์ บ่าวสาวจะเดินออกจากปรัมพิธี ขณะที่ญาติผู้ใหญ่จะคอยประพรมน้ำมนต์ “Akshadi” ให้ตลอดทางเพื่อเป็นศิริมงคลของทั้งคู่
  • Grihapravesam “ข้ามธรณีประตู”

ขั้นตอนนี้บ่าวสาวก็เดินทางไปยังบ้านของฝ่ายชายซึ่งต่อไปนี้จะเป็นบ้านของเธอด้วย ที่ธรณีประตูจะมีกระป๋องข้าววางอยู่ เจ้าสาวต้องก้าวข้ามธรณีประตูพร้อมกับเขี่ยให้กระป๋องข้าวล้มเข้าไปในบ้านเป็นสัญญลักษณ์ของการนำความอุดมสมบูรณ์รุ่งเรืองมาสู่บ้าน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีแต่งงาน ส่งตัวเข้าหอ หลังจากนั้นไม่รู้ทำอะไรกัน

งานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส

ตอนค่ำคืนหลังเสร็จพิธีทางศาสนา ก็เป็นช่วงของงานเลี้ยง ก็คล้ายๆ บ้านเรา มีการกินเลี้ยง การแสดงแสงสีเสียง สนุกสุดเหวี่ยงกันเลยทีเดียว เลี้ยงกันถึงตี 2 พี่บริโภคจนนอนไม่หลับไปหลายคืน แต่ดีอย่างงานแต่งของแขกไม่มีการให้เงินช่วยแบบของไทย แต่จะให้เป็นของขวัญแทน หรือไม่ให้ก็ไม่ว่ากันว่างๆ พี่คงต้องไปเดินแถวหัวลำโพงบ้างแล้วละ อิจฉา


แท็ก อินเดีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ