พัฒนาการรถไฟความเร็วสูงของจีน ... มาเร็ว มาแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 18, 2011 15:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปู๊น ปู๊น ฉึกฉัก ฉึกฉัก ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ... ในไม่กี่ปีข้างหน้า รถไฟหวานเย็นในจีนกำลังจะหมดไปและกลายเป็นของเก่ามีค่าที่ควรเก็บขึ้นหิ้งเท่านั้น!

การเดินทางโดยรถไฟระหว่างเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย (Hubei) ตอนกลางของจีนไปยังนครกวางโจว (Guangzhou) มณฑลกวางตุ้ง ศูนย์กลางบริเวณตอนใต้ของจีนที่มีระยะทางรวมกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเคยใช้เวลาถึง 10 ชั่วโมงในอดีต ลดลงเหลือเพียง 3 ชั่วโมงในปัจจุบัน หากคิดคำนวณเวลาการเดินทางไปสนามบิน การตรวจเช็คอิน นั่งรอทั้งที่สนามบินและบนเครื่อง และเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองด้วยแล้ว ก็ทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินระหว่างเมืองดังกล่าวใช้เวลาพอ ๆ กับของรถไฟความเร็วสูง ยิ่งหากพิจารณารวมถึงค่าใช้จ่ายที่ประหยัดลง ก็เชื่อว่าการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงจะเป็นที่นิยมแพร่หลายในจีนในอนาคต ประการสำคัญ เหตุการณ์เช่นนี้จะมิได้จำกัดมีอยู่แต่เฉพาะระหว่างเมืองดังกล่าวเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นในทุกเมืองใหญ่ทั่วจีน ขณะที่รัฐบาลจีนก็สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านลอจิสติกส์ในการเคลื่อนย้ายคนได้อีกมากตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยกระจายความเจริญ ลดอัตราการใช้พลังงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนได้ในอีกหลายภาคส่วน

นับแต่รถไฟความเร็วสูงเส้นทางระหว่างเมืองอู่ฮั่น-กวางโจวซึ่งมีระยะทางยาวที่สุดของจีนในปัจจุบันเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2552 ผู้คนในจีนต่างให้ความสนใจใช้บริการกันอย่างล้นหลาม เฉพาะช่วงวันหยุดแรงงานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็พบว่ามีผู้คนใช้บริการถึงกว่า 270,000 คน ทำลายสถิติจำนวนผู้โดยสารระหว่างเส้นทางดังกล่าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ เมืองเฉินโจว (Chenzhou) ที่เคยถูกมองข้ามและมีประสบการณ์ที่ขมขื่นเมื่อครั้งจีนประสบปัญหาพายุหิมะเมื่อไม่กี่ก่อน ก็ได้รับอานิสงค์มากมายจากการเป็นเมืองทางผ่านของเส้นทางรถไฟสายนี้ เพียงไม่กี่เดือนหลังจากรถไฟสายนี้เปิดให้บริการ นักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว การค้าขายและการขนส่งสินค้าเข้าออกเมืองที่เคยหยุดนิ่งก็ขยายตัวขึ้นเป็นทวีคูณ

จากข้อมูลกระทรวงการรถไฟ (Ministry of Railways: MOR) ของจีน รถไฟความเร็วสูงดังกล่าวใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากกว่ารูปแบบการขนส่งอื่นมาก โดยปัจจุบัน ภาคการขนส่งทางรถไฟให้บริการถึงร้อยละ 50 ของจำนวนผู้โดยสารโดยรวมของจีน และมีการใช้พลังงานไม่ถึงร้อยละ 20 ของปริมาณการใช้พลังงานของจีน การใช้รถไฟความเร็วสูงของจีนจึงเป็นวิธีการประหยัดพลังงานและลดภาวะมลพิษที่ดีในอีกทางหนึ่ง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้เปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง (China Railway High-speed: CRH) ในหลายเส้นทาง อาทิ ปักกิ่ง (Beijing)-เทียนจิน (Tianjin) ที่ใช้รถไฟรุ่น CRH3 ซึ่งถือเป็นต้นแบบระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนในปัจจุบัน ไล่ไปถึงเส้นทางปักกิ่ง-ไท่หยวน (Taiyuan) ของมณฑลซานสี (Shanxi) เจิ้งโจว (Zhengzhou) มณฑลเหอหนาน-ซีอาน (Xi’an) มณฑลซ่านซี (Shanxi) และเหอเฝย (Hefei) ของมณฑลอันฮุย (Anhui)-เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) รถไฟในบางเส้นทางวิ่งความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ในบางเส้นทางก็ให้บริการด้วยความเร็วถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงของจีนที่ให้บริการในปัจจุบัน

เส้นทางรถไฟความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เส้นทาง                                ระยะทาง (กิโลเมตร)                       วันที่เปิดให้บริการ
ปักกิ่ง-เทียนจิน                                 120                               1 สิงหาคม 2551
อู่ฮั่น-กวางโจว                               1,069                              26 ธันวาคม 2552
เจิ้งโจว-ซีอาน                                 485                              27 มกราคม 2553

เส้นทางรถไฟความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เส้นทาง                                ระยะทาง (กิโลเมตร)                       วันที่เปิดให้บริการ
เหอเฝย-อู่ฮั่น                                  350                               1 เมษายน 2552
สือเจียจวง                                    212                               1 เมษายน 2552
เหอเฝย-หนานจิง                               166                              18 เมษายน 2552
จี่หนาน-ชิงเต่า                                 394                              20 ธันวาคม 2551
หนิงโปว-เวินโจว                               268                              28 กันยายน 2552
เวินโจว-ฟูโจว                                 302                              28 กันยายน 2552
ฟูโจว-เซี่ยะเหมิน                               276                              26 เมษายน 2553
เซี่ยงไฮ้-หังโจว                                202                               26 ตุลาคม 2553

จากสถิติของกระทรวงการรถไฟของจีน ระบุว่า ปัจจุบันจีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงรวมระยะทางทั้งสิ้นกว่า 7,531 กิโลเมตรซึ่งยาวกว่าประเทศใด ๆ ในโลก และเพิ่มขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ขณะเดียวกันพัฒนาการของเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนก็รุดหน้าไปมาก แม้ว่าเทคโนโลยีของรถไฟความเร็วสูงจะถือกำเนิดจากญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส แต่จีนสามารถต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวของตนเองขึ้นได้อย่างยอดเยี่ยมจนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกในปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงของจีน “CRH” นับเป็นรถไฟที่ให้บริการด้วยความเร็วที่สูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับของชินคันเซ็น (Shinkanshen) ของญี่ปุ่น และรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่แล่นด้วยความเร็ว 300, 320 และ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามลำดับ แม้กระทั่ง การประชุมระดับโลกด้านรถไฟความเร็วสูง (World Congress on High Speed Rail) ครั้งที่ 7 ก็จะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในเดือนธันวาคม 2553

นอกจากนี้ ภายหลังความสำเร็จในการเปิดให้บริการรถไฟฯ เส้นทางเซี่ยงไฮ้-หนานจิงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 กระทรวงการรถไฟของจีนยังได้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงรุ่น CRH380A สายใหม่เชื่อมสถานีรถไฟหงเฉียว (เซี่ยงไฮ้)-หังโจว ระยะทาง 202 กิโลเมตร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 และก่อสร้างแล้วเสร็จหลังจากนั้นไม่ถึง 18 เดือน กระทรวงการรถไฟได้เริ่มทดลองวิ่งรถไฟฯ สายนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 และเปิดให้บริการนับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2553 ด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้การเดินทางระหว่างสองเมืองหลักของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงใช้เวลาเพียง 39 นาที ซึ่งนับว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับกว่า 2 ชั่วโมงของการเดินทางโดยรถยนต์

ล่าสุด กระทรวงการรถไฟของจีนยังทดลองรถไฟความเร็วสูงเส้นทางใหม่ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมาด้วยความเร็วสูงสุดถึง 486.1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นการทดลองวิ่งทำลายสถิติโลกอีกครั้ง เร็วกว่าเมื่อครั้งรถไฟฯ เส้นทางปักกิ่ง-เทียนจิน และเซี่ยงไฮ้-หังโจวทดลองวิ่งเสียอีก เพราะครั้งนั้นทำสถิติไว้ที่ 394.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ 416.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามลำดับ

และด้วยความเร็วของรถไฟเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ระดับดังกล่าวยังนับว่าเร็วกว่าของรถไฟ แม่เหล็กไฟฟ้า (Maglev) ที่คิดค้นขึ้นโดยซีเมนของเยอรมนี ที่ทุกวันนี้วิ่งให้บริการระหว่างสนามบินนานาชาติ ผู่ตง-สถานีหลงหยาง (เขตผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้) ด้วยความเร็วปกติ 340 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเสียอีก นั่นหมายความว่ารัฐบาลจีนไม่ต้องง้อเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูงของต่างชาติแล้วในปัจจุบัน รถไฟสายนี้จะเปิดให้บริการด้วยความเร็วปกติประมาณ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในราวกลางปี 2554 ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาเดินทางจากเดิมไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง และขนส่งผู้โดยสารระหว่างสองเมืองดังกล่าวประมาณ 80 ล้านคนต่อปี

พัฒนาการของรถไฟความเร็วสูงของจีน

จากคำสัมภาษณ์ของนายเหอ หัวหวู่ (He Huawu) วิศวกรใหญ่วัย 55 ปีของกระทรวงการรถไฟจีน พบว่า จีนมีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงมาหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ แต่การพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2537 ในปี 2535 นายเหอได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานการพัฒนารถไฟของยุโรปร่วมกับคณะผู้แทนกระทรวงการรถไฟจีน ในครั้งนั้น เขาประทับใจที่ได้มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูง (273 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ผ่าน Eurotunnel ที่เชื่อมระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ขณะที่รถไฟในจีนส่วนใหญ่วิ่งด้วยความเร็วเพียง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เขาได้แต่ฝันว่า วันหนึ่งประเทศของตนจะมีรถไฟความเร็วสูงเช่นนั้นบ้าง แต่ก็ยังไม่รู้ว่าความฝันที่จะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในจีนจะเกิดขึ้นเมื่อไร

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รถไฟจีนมีขีดความสามารถในการรองรับไม่ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการขนส่งสินค้าในจีน ซึ่งฉุดรั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน การดำเนินการก่อสร้างก็เต็มไปด้วยขวากหนาม ทั้งข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีและงบประมาณ จนกระทั่งปี 2547 รัฐบาลกลางของจีนจึงได้ประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงและผลักดันนวัตกรรมทางเทคโนโลยีรถไฟ รวมทั้งอนุมัติการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-เทียนจินเป็นเส้นทางแรก พร้อมกำหนดเป้าหมายให้สามารถเปิดบริการได้ภายใน 5 ปี โดยวิศวกรเหอได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการออกแบบและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในครั้งนั้น

วันที่ 1 สิงหาคม 2551 นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุครถไฟความเร็วสูงของจีนเมื่อรถไฟเส้นทางปักกิ่ง-เทียนจินเปิดให้บริการเป็นครั้งแรก และนับว่าเปิดให้บริการ 1 ปีก่อนหน้ากำหนดการที่รัฐบาลวางไว้ ว่าง่าย ๆ เพียงราว 15 ปีนับแต่ที่นายเหอเดินทางไปดูงานที่ยุโรป ความฝันของเขาที่อยากเห็นรถไฟความเร็วสูงให้บริการในจีนก็เป็นจริง และนับแต่นั้นมา การก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแล้วเส้นทางเล่าก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเพิ่มบริการดังกล่าวส่งผลให้การเดินทางของชาวจีนได้รับความสะดวก ประหยัดเงินและเวลา และลดแรงกดดันอันเนื่องจากขีดความสามารถในการให้บริการที่ไม่เพียงพอ ตู้โดยสารรถไฟที่เคยอัดผู้โดยสารแน่นเป็นปลากระป๋องเมื่อหลายปีก่อนกำลังหมดไป

รัฐบาลจีนยังได้ออกนโยบายเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการพัฒนารถไฟ ทั้งในรูปของขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ การให้สินเชื่อ การประเมินราคาที่ดิน การวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการวิจัยและพัฒนา ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นได้ให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการดังกล่าว โดยในปี 2553 คาดว่ารัฐบาลจีนจะทุ่มเงินถึง 700,000 ล้านหยวนหรือประมาณ 100,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเป็นระยะทางกว่า 4,600 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้จีนมีรางรถไฟความเร็วสูงเป็นระยะทางกว่า 11,000 กิโลเมตรภายในสิ้นปี 2553 เพิ่มจากประมาณ 6,500 กิโลเมตรในปัจจุบัน

ผลจากการที่แต่ละโครงการพัฒนารถไฟดำเนินไปอย่างรวดเร็วและหลายโครงการเสร็จก่อนกำหนด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดล่าสุด ก็คือ การประกาศของกระทรวงการรถไฟเมื่อต้นปี 2553 ว่า เส้นทางรถไฟ ความเร็วสูงระยะทาง 1,318 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่ง-นครเซี่ยงไฮ้จะเปิดให้บริการในปี 2554 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเวลาเดิมถึง 1 ปี เส้นทางนี้จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างสองมหานครที่สำคัญที่สุดของจีนจาก 10 ชั่วโมงลงเหลือเพียง 4 ชั่วโมงเศษเท่านั้น

นอกจากรัฐบาลจีนจะกำหนดทิศทางการพัฒนารถไฟฯ ภายในประเทศในช่วงแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 12 (2554-2558) อย่างชัดเจนแล้ว ยังประกาศเร่งขยายการส่งออกเทคโนโลยีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไปยังตลาดต่างประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายให้ China South Locomotive & Rolling Stock Corporation Limited (CSR) ซึ่งเป็น 1 ใน 2 รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตรถไฟของจีน ก้าวแซงยักษ์ใหญ่อย่าง Bombardier และ Alstom ขึ้นเป็นผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงรายใหญ่ที่สุดในโลกภายใน 5 ปี โดยหนึ่งในวิธีการที่คณะกรรมาธิการดูแลและจัดการสินทรัพย์ของรัฐ (State-Owned Assets Supervision and Administration Commission: SASAC) พิจารณาอยู่ในขณะนี้ก็คือการรวม CSR เข้ากับ CNR (China North Locomotive & Rolling Stock Corporation Limited)

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังกำหนดเป้าหมายภายในปี 2558 ที่จะให้ CSR และ CNR ทำรายได้ถึง 150,000 ล้านหยวนและ 140,000 ล้านหยวน ตามลำดับ พร้อมเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากตลาดส่งออกจากร้อยละ 10 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 20 โดยเฉพาะตลาดใหม่ อย่างตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกา โดยจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลกว่า 30 ประเทศ อาทิ สหรัฐฯ รัสเซีย บราซิล ซาอุดิอารเบีย ตุรกี โปแลนด์ และอินเดีย ซึ่งในจำนวนนี้ก็รวมถึงเส้นทางจีน-ลาว-ไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2554 ด้วย

ดังนั้น หากใครได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถไฟความเร็วสูงของจีนในช่วงนี้และในอนาคต ก็จะพบว่า พื้นที่โรงงานที่เคยว่างเปล่าในอดีตกลับคราคร่ำไปด้วยเครื่องจักรเครื่องมือ คนงาน และแม้กระทั่งคนเยี่ยมชมโรงงานที่เร่งประกอบหัวรถจักรและห้องโดยสารของรถไฟเพื่อนำส่งเมืองต่าง ๆ ของจีนและประเทศผู้ซื้อจากทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐฯ ที่ CSR ได้ร่วมลงทุนในสัดส่วน 50-50 กับ General Electric (GE) ของสหรัฐฯ ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในสหรัฐฯ โดยใช้เทคโนโลยีรถไฟของจีน

ทิศทางในอนาคต

ภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ กระทรวงการรถไฟจีนยังกำลังเร่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงเมืองหลักในอีกหลายเส้นทาง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยประกาศเมื่อปีที่ผ่านมาว่าจะดำเนินโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเพิ่มอีก 13,000 กิโลเมตรให้ครบ 42 สายภายในปี 2555 ซึ่งจะทำให้จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงรวมเกือบ 20,000 กิโลเมตรเชื่อมโยงเมืองหลักส่วนใหญ่ของจีนได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ในระหว่างปี 2554-2558 จีนวางแผนจะทุ่มเงินปีละประมาณ 700,000 ล้านหยวนเพื่อการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในประเทศ ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทการพัฒนาเส้นทางรถไฟของจีนระบุว่า ภายในปี 2563 หรือประมาณ 10 ปีจากนี้ไป จีนจะทุ่มเงินอีกอย่าน้อย 2 ล้านล้านหยวนก่อสร้างโครงข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในจีนให้เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 กิโลเมตร เชื่อมโยงเมืองเอกของแต่ละมณฑลและเมืองที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 500,000 คนไว้ทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่าประมาณร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของจีนจะสามารถใช้บริการรถไฟดังกล่าวได้อย่างสะดวกสบาย

กระทรวงการรถไฟจีนยังให้ข้อมูลอีกว่า จีนจะเร่งสร้างโครงข่ายรถไฟอย่างแพร่หลาย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผู้โดยสารและสินค้าจะสามารถขนส่งได้อย่างเสรีและสะดวกโดยปราศจากอุปสรรค ตามแผนแม่บทการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลจีนที่กำหนดไว้เมื่อปี 2547 ระบุว่า รถไฟความเร็วสูงของจีนจะมี 4 เส้นทาง “เหนือ-ใต้” และอีก 4 เส้นทาง “ตะวันออก-ตะวันตก”

เส้นทาง “เหนือ-ใต้” ทั้ง 4 ประกอบด้วย

1. เส้นทาง ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เป็นระยะทางยาว 1,318 กิโลเมตร

2. เส้นทาง ปักกิ่ง-อู่ฮั่น-กวางโจว-เสิ่นเจิ้น (ฮ่องกง) ระยะทางยาว 2,350 กิโลเมตร

3. เส้นทาง ปักกิ่ง-เสิ่นหยาง-ฮาร์บิน เป็นระยะทางยาว 1,612 กิโลเมตร

4. เส้นทาง เซี่ยงไฮ้-หังโจว-หนิงโปว-ฝูโจว-เสิ่นเจิ้น เป็นระยะทางยาว 1,650 กิโลเมตร

ขณะที่เส้นทาง “ตะวันออก-ตะวันตก” ประกอบด้วย

1. เส้นทาง ชิงเต่า-สือเจียจวง-ไท่หยวน เป็นระยะทางยาว 906 กิโลเมตร

2. เส้นทาง สูโจว-เจิ่นโจว-หลานโจว เป็นระยะทางยาว 1,346 กิโลเมตร

3. เส้นทาง เซี่ยงไฮ้-หนานจิง-อู่ฮั่น-ฉงชิ่ง-เฉิงตู เป็นระยะทางยาว 1,922 กิโลเมตร

4. เส้นทางเซี่ยงไฮ้-หังโจว-หนานชาง-ฉางซา-คุนหมิง เป็นระยะทางยาว 2,264 กิโลเมตร

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองรองในแต่ละมณฑลและมหานคร อาทิ ย่านริมฝั่งทะเลโป๋วไฮ่ ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ฉงชิ่ง และเฉิงตู แถมล่าสุดเมื่อปลายปี 2552 รัฐบาลจีนยังได้ประกาศที่จะทุ่มเงินก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่านอุโมงค์ใต้ทะเลระยะทางยาวกว่า 55 กิโลเมตรเชื่อมระหว่างมณฑลฝูเจี้ยน-เมืองทางตอนเหนือของเกาะไต้หวันอีกด้วย ซึ่งจะทำลายสถิติเป็นอุโมงค์ใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในโลกอีกครั้ง เส้นทางย่อยที่วางแผนไว้เหล่านี้จะเชื่อมโยงไปยังเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 8 เส้นทางหลักดังกล่าว

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงของจีนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

  • ฮาร์บิน-ต้าเหลียน เพื่อเชื่อมฮาร์บิน-เสิ่นหยาง และต้าเหลียนในอีสานจีน ระยะทาง 950 กิโลเมตร ความเร็วระหว่าง 300-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2556
  • ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เพื่อเชื่อมมหานครทั้งสอง ผ่านจี่หนาน ซูโจว และหนานจิง ระยะทาง 1,318 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2554
  • ปักกิ่ง-กวางโจว เพื่อเชื่อมกรุงปักกิ่งและกวางโจว ศุนย์กลางทางตอนใต้ของจีน ผ่านสือเจียจวง อู่ฮั่น และฉางซา ระยะทาง 2,200 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางรถไฟท่อนกวางโจว-อู่ฮั่นได้เปิดให้บริการแล้ว และส่วนที่เหลือคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2555
  • เซี่ยงไฮ้-เซินเจิ้น เพื่อเชื่อมเมืองสำคัญริมชายฝั่งทะเลด้านซีกตะวันออกของจีน จากศูนย์กลางทางธุรกิจในด้านซีกตะวันออก ผ่านหังโจว หนิงโปว ฝูโจว อู่ฮั่น ก่อนเข้าเซินเจิ้น ระยะทาง 1,650 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2554
  • ชิงเต่า-ไท่หยวน เพื่อเชื่อมพื้นที่ด้านซีกตะวันออกและภาคเหนือ โดยผ่านสือเจียจวง ระยะทาง 770 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางรถไฟท่อนสือเจียจวง-ไท่หยวนและชิงเต่า-จี่หนานได้เปิดให้บริการแล้ว และส่วนที่เหลือคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2563
  • สูโจว-หลานโจว เพื่อเชื่อมสูโจว เจิ้งโจว ซีอาน และหลานโจว ระยะทาง 1,400 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางรถไฟช่วงเจิ้งโจว-ซีอานได้เปิดให้บริการแล้ว และส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งนี้มิได้กำหนดช่วงเวลาที่โครงการจะแล้วเสร็จ
  • เซี่ยงไฮ้-เฉิงตู เป็นเส้นทางรถไฟควมเร็วสูงตามแนวแม่น้ำแยงซีเกียง เชื่อมตะวันออกและตะวันตกจากเซี่ยงไฮ้ หนานจิง เหอเฝย อู่ฮั่น ฉงชิ่ง และเฉิงตู ระยะทางรวม 1,900 กิโลเมตร ความเร็วระหว่าง 200-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2554
  • เซี่ยงไฮ้-คุณหมิง โดยเชื่อมผ่านหังโจว หนานชาง และฉางซา ระระทางยาวถึง 2,264 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2558

ภายหลังจากที่การพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ ผู้โดยสารรถไฟในจีนจะใช้เวลาเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปยังเมืองสำคัญในแต่ละมณฑลของจีนได้ภายในเวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง!

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ