รัฐบาลเกาหลีเปิดให้นำเข้ามังคุดสดจากไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 16:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผลไม้ไทยมีชื่อเสียงเรื่องรสชาด และความพิเศษเฉพาะของผลไม้ที่ต่างจากแหล่งผลิตอื่น และทั่วโลกก็ยอมรับในความอร่อยและคุณค่าของผลไม้ไทย แต่การส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ แต่ละประเทศก็จะวางกฎระเบียบขั้นตอนต่างๆเพื่อป้องกันโรคพืชและแมลงที่อาจจะติดเข้าไปกับผลไม้ ไปทำลายพืชพันธ์ธัญญาหารของท้องถิ่น และนี่ก็เป็นเหตุผลว่า การจะเปิดตลาดผลไม้สดในประเทศต่างๆ รัฐบาลและผู้ผลิตต้องร่วมมือกันวางมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อถือและส่งออกสินค้าที่ปลอดภัย

รัฐบาลไทย โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ใช้ความพยายามพัฒนากรรมวิธีกำจัดแมลงในผลไม้ จนเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลเกาหลี ในที่สุด รัฐบาลเกาหลีใต้ โดย National Plant Quarantine Services (NPQS) ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 แจ้งต่อ Plant Quarantine Research Group กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรของไทย ว่า เกาหลีได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 อนุญาตให้นำเข้ามังคุดสดจากประเทศไทยเพื่อการจำหน่ายในเชิงธุรกิจได้ มีผลตั้งแต่วันที่ประกาศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพืชและแมลง รัฐบาลเกาหลีกำหนดให้แปลงผลไม้ที่ผลิตเพื่อส่งออก ต้องดำเนินการที่สำคัญ คือ

1. แปลง (สวน) ที่ผลิตมังคุดสดที่ส่งออก และบริษัทบรรจุภัณฑ์มังคุดที่ส่งออก (Packinghouse) จะต้องขึ้นทะเบียนกับ National Public Procurement Office (NPPO) โดย NPPO ต้องจัดส่งรายชื่อผู้ผลิต และรายชื่อบริษัท Packinghouse ที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานและได้รับการขึ้นทะเบียนต่อ National Plant Quarantine Service of Korea ในแต่ละปี

2. มังคุดสดที่ส่งออกต้องผ่านกรรมวิธีกำจัดแมลงวัน ด้วยการรมยา (Methyl Brominde Fumigation Treatment ตามเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้

เคมีที่ใช้ : Methyl Brominde (CH3Br)

Dosage (g/m3) : 32

Duration : 2 hours

Lowest gas concentration after chemical injection : 30 min /26; 2 hours / 19

Temperature (c) : Over 21.0

Pressure : Normal Atmosphere

3. ผลไม้ที่ส่งออกต้องผ่านการสุ่มตรวจคุณภาพ พร้อมมีเอกสารรับรองของหน่วยงานตรวจสอบของไทย หรือ NPPO กำกับไปด้วยในทุกล็อตที่ส่งมอบสินค้า โดย NPPO ควรทำการสุ่มตรวจคุณภาพผลไม้ในสัดส่วนร้อยละ 2 ของการส่งมอบแต่ละครั้งก่อนส่งออกไปเกาหลี

การนำเข้าผลไม้เมืองร้อนและแหล่งนำเข้า

เกาหลีใต้นำเข้าผลไม้เมืองร้อน สด และแปรรูป ปีละประมาณ 330,000-400,000 ตัน โดยในปี 2552 นำเข้ารวม 318,146 ตัน มูลค่า 217.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ชนิดและแหล่งนำเข้า ดังนี้

  • กล้วย มีสัดส่วน 83.6 % ของปริมาณ และ 79% ของมูลค่านำเข้าผลไม้ทั้งหมด แหล่งนำเข้าหลัก มาจาก ฟิลิปปินส์ (ครองตลาด 99 % ของปริมาณและมูลค่านำเข้า) รองลงมา ได้แก่ โคลัมเบีย และเอควาดอร์ เกาหลีนำเข้าจากไทยเพียง 0.6 ตันในปี 2551 เข้าใจว่าเพื่อทดสอบตลาด หลังจากนั้นไม่มีนำเข้าจากไทยอีก
  • สัปปะรด มีสัดส่วน 15.4% ของปริมาณ และ 16.4 ของมูลค่านำเข้ารวม แหล่งนำเข้าจาก ฟิลิปปินส์(ครองตลาด 98 %) รองมาได้แก่ คอสตาริกา ไต้หวัน และจีน เกาหลีเคยนำเข้าจากไทยจำนวน 51 ตันในปี 2550 แต่การนำเข้าลดลงจนเหลือเพียงเล็กน้อย เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันราคากับแหล่งอื่น
  • มะม่วง มีสัดส่วน 0.4 % ของปริมาณและ 2.9 % ของมูลค่านำเข้ารวม แหล่งนำเข้าจาก ไต้หวัน (ครองส่วนแบ่ง 45.6 % ของมูลค่า) รองลงมา ได้แก่ ไทย (ส่วนแบ่งสูงขึ้นทุกปี จาก 22 % ในปี 2550 เป็น 40.5 % ในปี 2553/ มค.-มิย.) ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ
  • มะพร้าว นำเข้าปีละประมาณ 450 ตัน มูลค่า 180,000 เหรียญสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดมาจากเวียดนามและฟิลิปปินส์
  • มังคุด มีนำเข้าเฉพาะบางปี จากไต้หวัน
  • ทุเรียน มีไทยเป็นผู้ส่งออกรายเดียว แต่มูลค่าที่นำเข้าก็ผันแปร ตาก 30 ตันในปี 2550 เหลือ 7 ตันในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553
  • ผลไม้อื่นๆ เช่นเงาะ ลิ้นจี่ มีแหล่งนำเข้าจาก สหรัฐฯและอิหร่าน

การนำเข้าจากไทย

ผลไม้สดที่เกาหลีใต้ อนุญาตให้นำเข้าจากไทยในรูปผลสด มี 5 ชนิด ได้แก่ กล้วย มะพร้าวอ่อน ทุเรียน มะม่วง (น้ำดอกไม้) และสัปปะรด ผลไม้ที่นอกเหนือจาก 5 ชนิดนี้ สามารถส่งออกได้เมื่อผ่านการแปรรูป หรือแช่แข็ง โดยต้องผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานสาธารณสุข สำหรับมังคุด ยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ของไทยได้ดำเนินการเจรจาขอเปิดตลาดมานานแล้ว รวมทั้งส่งผลการทดสอบทางเทคนิคในการกำจัดแมลงวันด้วยการอบไอน้ำไปให้กระทรวงเกษตรเกาหลีพิจารณา ความคืบหน้าเรื่องนี้ อาจต้องติดตามสอบถามจากกระทรวงเกษตรฯ ของไทย

ผลไม้ไทยที่เกาหลีนำเข้ายังมีไม่มากโดยในปี 2552 นำเข้าจากไทย รวม 244 ตันมูลค่า 1.117 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ และ จำนวน 372 ตันมูลค่า 1.728 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553 เกือบทั้งหมดเป็นมะม่วง และทุเรียน

ระบบโลจิสติกส์และการกระจายตลาด

ผลไม้ประเภทกล้วย สับปะรดซึ่งมีระยะเวลาการบ่มให้สุก และผลไม้แปรรูป ซึ่งเก็บรักษาไว้ได้นานจะส่งออกจากแหล่งผลิตทางเรือ ขณะที่ผลไม้ที่มีราคาจำหน่ายสูงและมีการส่งออกตามฤดูกาล เช่น ทุเรียน และมะม่วง ส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางอากาศ

ผลไม้สดจากต่างประเทศจะขายผ่านบริษัทนำเข้า จากนั้นกระจายผ่านไปยังช่องทางต่างๆ กัน เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภค ได้แก่ (1) ผ่านสหกรณ์(Co-op) (2) ผ่านซูปเปอร์มาร์เก็ต /ห้างสรรพสินค้า/ Hyper market และ (3) การขายทางอินเตอร์เน็ต หรือ On-line market ไปยังผู้บริโภคโดยตรง ส่วนผลไม้กระป๋องหรือแช่แข็ง ส่วนใหญ่ขายผ่านผู้นำเข้าไปยังโรงแรม ภัตตาคารและผู้ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร

การจัดกิจกรรมส่งเสริมผลไม้ไทยในเกาหลี

สำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโซล เคยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ของไทย(มะม่วง) ร่วมกับ NS Home Shopping ซึ่งเป็น TV shopping รายใหญ่ของเกาหลี จัดโปรแกรมขายทางโทรทัศน์เมื่อปี 2551 ปรากฎว่ายอดขายเพิ่มขึ้นถึง 96 ล้านบาทในช่วง 6 เดือน มีการสั่งซื้อมะม่วงไทยจำนวน 100 ชุดๆ ละ 5 กิโลกรัมภายใน 40 นาที แต่หลังจากนั้นมา ก็ไม่ได้มีการจัดกิจกรรม หรือการร่วมมือกับผู้นำเข้า/ขายปลีก รวมทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องเอกสารประชาสัมพันธ์ การสร้างความรับรู้และส่งเสริมการบริโภค จึงอยู่ในขอบเขตจำกัด การเปิดตลาดให้กับมังคุดจากไทย จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของโอกาสในการเข้าไปบุกขยายตลาด ความพยายามของภาครัฐในการค้นคว้า วิจัย และสื่อสารกับประเทศต่างๆ จะเกิดผลก็เมื่อเกษตรกร ผู้ประกอบการค้า และบริษัทส่งออก ร่วมมือกันกวดขันคุณภาพ รักษามาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ซื้อ ที่จะไว้วางใจเปิดตลาด ยินมอมให้สินค้าเกษตรชนิดอื่นเข้าสู่ไปจำหน่ายได้มากขึ้น

ความนิยมบริโภคผลไม้เมืองร้อนและโอกาสในการขยายตลาด

ชาวเกาหลี มีรสนิยมการบริโภคคล้ายผู้บริโภคประเทศในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ คือ ให้ความสนใจเรื่องสุขภาพ วัยรุ่นจะชื่นชอบผลไม้เมืองร้อน ที่มีรสหวาน อมเปรี้ยว โดยเฉพาะชนิดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น กล้วย สัปปะรด มะม่วง ความนิยมบริโภคจะยิ่งสูงขึ้นในช่วงที่อากาศอบอุ่น และฤดูร้อน ส่วนผลไม้แปรรูป ผลไม้แช่แข็งและผลไม้กระป๋อง ส่วนใหญ่ในในอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจภัตตาคาร และโรงแรม เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการให้บริการ และใช้เพื่อแปรรูปเป็นอาหารเฉพาะอย่าง การบริโภคทั่วไปยังมีจำกัด อย่างไรก็ตามคนเกาหลีมีรายได้และอำนาจซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ โอกาสขยายตลาด จึงมีอีกมาก

ชาวเกาหลีนิยมสร้างแบรนด์สินค้าของตนเอง แม้แต่ผลไม้ ก็มีการสร้างแบรนด์และจุดขาย เพื่อสร้างความแตกต่างและทำให้ผู้ซื้อจดจำ ชื่อที่นิยมนำมาใช้ เช่น ชื่อแหล่งผลิตของผลไม้ ชื่อสหกรณ์ผู้ค้าปลีก บริษัทหรือชื่อเกษตรกรผู้ปลูก เป็นต้น ปัจจุบันตลาดยังขาดการรับรู้และข้อมูลเกี่ยวกับผลไม้ไทย การขยายตลาดให้ได้ผลจำเป็นต้องผลักดันอย่างจริงจัง กล่าวคือ

  • การเจรจาเปิดตลาดผลไม้ชนิดใหม่ๆ ต้องทำอย่างต่อเนื่องและร่วมมือกันทุกหน่วยงานในการผลักดัน เมื่อมีโอกาส ทั้งในการพบหารือกับผู้แทนรัฐบาล เช่น สถานเอกอัครราชทูต และการเจรจา ผ่านเวทีหารือต่างๆ ความละเลยหรือเพิกเฉยโดยรอคาตอบและผลการพิจารณาจากรัฐบาลเกาหลี ทำให้การเจรจาเปิดตลาดสินค้าแต่ละชนิดใช้เวลานานกว่า 5 ปีและประเทศคู่ค้าเห็นถึงความไม่จริงจังในการขอเปิดตลาด
  • ผลไม้ไทย เช่น มะม่วง มะพร้าว สับปะรด และทุเรียน แม้ว่าจะได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการ แต่สินค้าก็มีขายเพียงบางช่วง ขาดความต่อเนื่อง ผู้ซื้อจึงแสวงหาแหล่งผลิตอื่นที่มีการผลิตปริมาณมากและส่งออกได้แน่นอนกว่า หากจะขยายตลาดให้ได้ผล ผู้ผลิตและส่งออกต้องมีความตั้งใจจริงที่จะเข้าไปทำตลาดและทำให้มีการส่งออกอย่างต่อเนื่อง
  • เพื่อให้ผลไม้ได้รับความนิยม จำเป็นต้องทำให้ตลาดรู้จักวิธีรับประทาน ต้องเน้นข้อมูลคุณค่าของอาหารและประโยชน์ มีการทำโปสเตอร์ให้ความรู้ และสร้างความคุ้นเคยแก่ผู้พบเห็น กิจกรรมส่งเสริม ประชาสัมพันธ์จึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยอาจจะร่วมมือกับซูเปอร์มาร์เก็ตและ Hypermarket ชั้นนำจัดกิจกรรม เช่น In-store promotion ซึ่งยังเป็นที่นิยมและมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการบริโภค การจัดกิจกรรมพิเศษแนะนำผลไม้ และอาหารจากผลไม้แก่สื่อมวลชน นักเขียนของนิตยสาร และการร่วมมือกับ บริษัท TV Shopping จัดส่งเสริมการขายในช่วงฤดูผลไม้ไทย เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโซล

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ