เฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งภายใน : ตลาดปรับเปลี่ยนตามสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตคนญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 17:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

แม้ว่าความต้องการเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านมักสัมพันธ์กับจำนวนบ้านที่สร้าง คู่แต่งงานใหม่ รวมทั้งการเข้าเรียนของเด็ก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาปัจจัยเหล่านี้กลับมีผลต่อความต้องการเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านในญี่ปุ่นน้อยลง

การซื้อเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านหลังจากที่การก่อสร้างเสร็จสิ้นลดลง เนื่องจากคนญี่ปุ่นหันไปนิยม เฟอร์นิเจอร์ที่ทำตามต้องการของลูกค้า และติดตั้งระหว่างการก่อสร้างขั้นสุดท้ายมีมากขึ้น ตามลักษณะของที่อยู่อาศัยที่เป็นแบบตะวันตก และการเปลี่ยน lifestyle ของคนญี่ปุ่น

เฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งสำหรับเจ้าสาว โดยเฉพาะชุดตู้เสื้อผ้า ลดลงมาก เนื่องจากจำนวนคนใช้ชีวิตคู่น้อยลง รวมทั้งแต่งงานเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้คู่แต่งงานสมัยนี้จำกัดค่าใช้จ่ายเพื่อการเริ่มต้นชีวิตน้อยลง ยกเว้น การจัดงานแต่งงาน จึงซื้อเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ชุดรับประทานอหาร เตียงนอน เป็นต้น

อัตราการเกิดที่ลดต่ำลงทำให้ความต้องการ จำนวนเด็กที่เข้าเรียนโน้มลดลง จึงส่งผลให้ความต้องการ โต๊ะ เขียนหนังสือ เก้าอี้ รวมทั้ง ชั้นวางสมุดหนังสือ ลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพสังคมที่มีจำนวนผู้สูงวัยมากขึ้น ความต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ทนทานต่อแรงแผ่นดินไหว และไม่เกิดความเสี่ยงต่อแบคทีเรีย รวมทั้งแมลงตัวเล็กๆที่เป็นพาหะนำโรค เป็นต้น นอกจากนี้ สภาวะเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย จึงใช้ราคามาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น

ด้วยตันทุนการผลิตภายในประเทศที่สูงขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นต้องเพิ่มการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่ผลิตภายในประเทศลดลง ทั้งเฟอร์นิเจอร์โลหะ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ กอรปกับวิกฤตเศรษฐกิจปลายปี 2551-2552 ส่งผลให้ตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่น ปี 2552 ลดลงมาก เช่น การผลิตโต๊ะโลหะสำหรับทำงาน/เขียนหนังสือในปี 2552 มีปริมาณ 2 ล้านตัวลดลงจากที่เคยผลิต 3.2 ล้านตัวเมื่อปี 2550 เก้าอี้โลหะมีปริมาณการผลิตปี 2552 4.5 ล้านตัว ลดลงจาก 6.6 ล้านตัวเมื่อปี 2550 partition จากที่เคยผลิต 5.6 ล้านชิ้นเมื่อปี 2550 ลดลงเหลือ 4.7 ล้านชิ้นในปี 2552 ขณะที่เตียงนอนทำด้วยโลหะ อ่างล้างจานและอุปกรณ์เตาแก๊ส รวมทั้งเฟอริเจอร์ชุดห้องครัวที่ทำจากโลหะมีปริมาณลดลงไม่มากนัก

สำหรับการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม ปริมาณการผลิตลดลงเกือบทุกชนิด เช่น ชั้นวางของลดลงจากปริมาณ 1.5 ล้านชิ้นเมื่อปี 2550 เหลือ 1.2 ล้านชิ้นในปี 2552 เก้าอี้ไม้ ลดลงจาก 1 ล้านตัวเหลือ 7 แสนตัวในปี 2552 เตียงนอนลดลงจาก 7 แสนเตียงเมื่อปี 2550 เหลือเพียง 4.3 แสนเตียง ในปี 2552

ส่วนการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่น ขยายตัวต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2543- 2551 ก่อนที่จะลดลงในปี 2552 และฟื้นตัวขึ้นในปี 2553 ญี่ปุ่นนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้มากกว่าวัสดุอื่น จากสถิติการค้าที่คำนวณโดย JETRO ปรากฏว่า ในปี 2552 ญี่ปุ่นนำเข้า เฟอร์นิเจอร์ไม้ 1,423.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เฟอร์นิเจอร์โลหะ 378.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุอื่น เช่น พลาสติก ไม้ไผ่ เป็นต้น มีมูลค่า 71.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ 437.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

จีนเป็นแหล่งนำเข้าเฟอร์นิเจอร์สำคัญอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น แหล่งนำเข้าอื่น ได้แก่ เวียดนาม ไต้หวัน ไทย อินโดนีเวีย มาเลเซีย เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา เฟอร์นิเจอร์จากไทยที่สำคัญ ได้แก่ เก้าอี้โครงไม้มีเบาะ และเฟอร์นิเจอร์อื่นที่ทำด้วยไม้ ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 สินค้าจากไทยยังมีมูลค่าต่ำกว่าช่วงดียวกันของปี 2552 แม้มูลค่านำเข้าของญี่ปุ่นกระเตื้องขึ้นจากปี 2552 โดยสินค้าจาก จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

สำหรับสินค้าเคหะสิ่งทอ มูลค่าการจำหน่ายซึ่งรวมสินค้าที่ผลิตในประเทศและนำเข้า สำหรับ พรมปูพื้น และ wallpaper ปี 2551 มีมูลค่า 216 และ 102 พันล้านเยน ตามลำดับใกล้เคียงกับมูลค่าปี 2547 ขณะที่ผ้าม่านการจำหน่ายปี 2551 มีมูลค่า 120 พันล้านเยน ลดลงจาก 143 พันล้านเยนเมื่อปี 2547

ร้อยละ 20 ของผ้าม่านที่จำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น เป็นสินค้านำเข้า ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 90 นำเข้าจากประเทศจีน นำเข้าจากประเทศไทยปีละไม่ถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ Wallpaper ที่ใช้ในญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดกว่าร้อยละ 99 เป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ สำหรับพรมปูพื้นญี่ปุ่นนำเข้าเกือบครึ่งของมูลค่าที่จำหน่ายในตลาด โดยจินเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญครองส่วนแบ่งประมาณ 2 ใน 3 ของมูลค่านำเข้า ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 มีสัดส่วน มูลค่าประมาณ ร้อยละ 6 ระยะ 10 เดือนแรกของปี 2553 ญี่ปุ่นนำเข้าพรมเพิ่มขึ้นจากทุกแหล่ง

สภาพตลาดที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น ธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งภายใน ที่ขยายตัวได้ดีแม้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นผู้ค้าที่มีเครือข่าย เช่น บริษัท Nitori ของญี่ปุ่นและบริษัท IKEA ของสวีเดน ซึ่ง มีสินค้าหลากหลายให้เลือก ที่ผสมผสานทั้งการออกแบบดี คำนึงการใช้งาน และราคาไม่แพง ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งด้านคุณภาพชีวิต และมีแบบลักษณะพาะตัวไว้ได้

แหล่งข้อมูล

  • Manufacturured Import & Investment Promotion“Emerging Business Opportunities”, Furniture and Interior Goods
  • Japan Custom

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ