สถานการณ์สินค้ากุ้งในสหรัฐฯเดือน พย. ๒๕๕๓

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 21, 2011 11:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การนำเข้า

การนำเข้ารวมในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ เป็นปริมาณ ๑๒๗.๗ ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น ๙% จากเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๒ มีแนวโน้มว่าการนำเข้ารวมทั้งปีจะสูงกว่า การนำเข้ารวมปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีปริมาณ ๑.๒๑ พันล้านปอนด์ ทั้งนี้ตัวเลข ๑๑ เดือนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ เป็นปริมาณ ๑.๑๒ ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น ๑.๓%จากปี ๒๕๕๒

การนำเข้าในปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาค่อนข้างขึ้นๆลงๆ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะมีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นติดต่อกันใน ๕ เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน โดยก่อนหน้าเดือนมิถุนายน การนำเข้าลดลงทุกเดือนติดต่อกันถึง ๑๐ เดือน

ในระหว่างแหล่งนำเข้า ๘ อันดับแรก มีเพียง ๒ ประเทศเท่านั้นที่มีการส่งออกมาสหรัฐฯตกลงใน ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๕๓ คือ อินโดเนเซีย และเม็กซิโก โดยการนำเข้าจากอินโดเนเซียลดลง ๑๓.๙% เป็น ๑๒๓.๑ ล้านปอนด์ และจากเม็กซิโกลดลง ๔๔.๒% เป็น ๔๖.๘ ล้านปอนด์

การนำเข้าจากประเทศไทยยังคงนำลิ่วครองอันดับหนึ่ง โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้น ๕.๘% ใน ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๕๓ เป็นปริมาณ ๔๐๐ ล้านปอนด์

การผลิตในประเทศ

สถานการณ์การผลิตในประเทศปี ๒๕๕๓ ค่อนข้างวิกฤติ บางรายต้องปิดกิจการ บางรายต้องหยุดกิจการเป็นเวลานาน สาเหตุใหญ่มาจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก ทำให้ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต้องประกาศปิดการทำประมงในช่วงที่น่าจะเป็นเป็นฤดูกาลออกเรือที่ดีที่สุดของชาวประมง คือ พค.-กค. ๒๕๕๓ ซึ่งคาดกันว่าทำให้ผลผลิตลดลงประมาณ หนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่

อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรทางทะเล (Department of Marine Resources - DMR) มีความหวังว่า หลังจากเปิดน่านน้ำในปีนี้แล้ว อุตสาหกรรมน่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว

การพัฒนาวัคซีนฆ่าเชื้อในกุ้ง

มหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอวา (Iowa State University) ประกาศว่าศาสตราจารย์(ด้าน Animal Science) Hank Harrisได้ลงนามในสิทธิบัตรและข้อตกลงด้านการตลาดสำหรับวัคซีน๒ ชนิดที่จะใช้ในการทำฟาร์มกุ้งทั่วโลก

ศาสตราจารย์ Hank Harris ประธานบริษัท Harrisvaccines หนึ่งในบริษัทที่ช่วยการพัฒนาวัคซีนขึ้นมา ได้บรรลุข้อตกลงกับ ผู้ผลิตอาหารทะเลจากฟาร์มรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของเอเซีย ในความร่วมมือด้านวิจัย สนับสนุน และการตลาดผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลมาจากการวิจัย

การวิจัยจะมุ่งพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสกุ้ง White Spot และ Infectious Myonecrosis แต่ในขณะที่การคิดค้นวัคซีนได้พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ ทำอย่างจะให้วัคซีนเข้าไปในกุ้งแต่ละตัวได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงบ่อเพาะกุ้งที่มีกุ้งขนาดเท่ายุง จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ตัว ปัจจุบันบริษัทกำลังคิดที่จะใช้วิธีใส่เข้าไปในอาหารกุ้ง หรือน้ำในบ่อกุ้ง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ข้อมูลจาก SeafoodSource.com

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ