ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 12:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวมตลาด

Soil Association ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการกุศล (charity) ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการเกษตรและอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโลก และเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญในสหราชอาณาจักร ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับสภาวะตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักรในปี 2553 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  • สหราชอาณาจักรเป็นตลาดผลิตภัณฑ์ออแกนิกใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป รองจากเยอรมัน และฝรั่งเศส ตามลำดับ
  • ยอดขายสินค้าออแกนิกในสหราชอาณาจักรมีมูลค่ารวม 1.84 พันล้านปอนด์ ในปี 2552 ลดลงในอัตราร้อยละ 12.9 จากปีก่อนหน้า โดยเป็นปีแรกที่ยอดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักรเริ่มตก จากปัญหาการหดตัวทางเศรษฐกิจและการว่างงานที่สูงมาก ทำให้ผู้บริโภคต้องจำกัดรายจ่าย และลดการซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีราคาแพงกว่าสินค้าธรรมดาลง นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกรายใหญ่ลดพื้นที่จำหน่ายและลดจำนวนประเภทสินค้าออแกนิกที่ขายภายในร้านลง อย่างไรก็ดี สินค้าบางรายการสามารถต้านทานแนวโน้วการชะลอตัวของตลาด ซึ่งในส่วนของสินค้าอาหาร คือ นมออแกนิก อาหารสำหรับทารก และ home cooking ingredients โดยเฉพาะอาหารสำหรับทารกที่มีอัตราการขยายตัวของยอดขายสูงถึงร้อยละ 20.8 เนื่องจากพ่อแม่ให้ความสำคัญกับอาหารที่ให้กับลูกและพร้อมที่จะจ่ายราคาแพงสำหรับอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ความงามและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพออแกนิกก็มีอัตราการขยายตัวสูง
  • ในปี 2553 ตลาดมีแนวโน้มกลับมากระเตื้องขึ้น โดยตัวเลขยอดขายล่าสุด ในรอบ 3 เดือนสิ้นสุด 31 ตุลาคม 2553 ลดลงร้อยละ 1 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีตรงกับคาดการณ์ที่ว่าการหดตัวของตลาดได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และ Soil Association คาดว่า ตลาดจะโตทั้งปีประมาณร้อยละ 2-5
  • ประเภทสินค้าที่มียอดขายสูงสุดในปี 2552 คือ ผลิตภัณฑ์นม (มีสัดส่วนร้อยละ 33 ของยอดขายสินค้าออแกนิกทั้งหมด) ตามด้วยผักและผลไม้สด (มีสัดส่วนร้อยละ 26) home cooking ingredients (ร้อยละ 6) และเครื่องดื่ม (ร้อยละ 6)

2. พฤติกรรมการบริโภค

  • ผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าออแกนิกอย่างสม่ำเสมอ (มากกว่า 1 ครั้งใน 2 สัปดาห์) คิดเป็นร้อยละ 9 ของผู้บริโภคทั้งหมด แต่มียอดการซื้อสินค้าสูงถึงร้อยละ 56 ซึ่งหมายความว่า กว่าร้อยละ 50 ของยอดขายสินค้าออแกนิกทั้งหมด พึ่งพาผู้บริโภคกลุ่มนี้
  • รองลงมา คือ กลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออแกนิก มากกว่า 1 ครั้งใน 1 เดือน คิดเป็นร้อยละ 14 ของผู้บริโภคทั้งหมด และร้อยละ 21 ของยอดขาย
  • ผู้บริโภคสินค้าออแกนิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการอ่านฉลากสินค้าและเน้นซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดี และเลือกซื้อสินค้าโดยให้ความสำคัญกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีส่วนประกอบที่เป็น GMO สินค้าที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ผลิตในประเทศด้อยพัฒนา (fair trade) มากกว่าผู้บริโภคสินค้าทั่วไปอย่างมาก
  • ร้อยละ 64 ของผู้บริโภคซื้อสินค้าอาหารออแกนิกจากซุปเปอร์มาเก็ต

3. ช่องทางการจำหน่าย

ช่องทางจำหน่ายสินค้าออแกนนิกแบ่งออกได้เป็น 2 ช่องทางหลัก คือ

3.1 ห้างซุปเปอร์มาเก็ตหลัก (multiple retailers) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งวางจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างแพร่หลาย คือ Tesco, Sainsbury's, Waitrose, Asda, Morrisons; The Co-operative มียอดขายสินค้าออแกนนิกรวมกันในปี 2552 1.35 พันล้านปอนด์ พร้อมส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 73.7

  • Tesco เป็นห้างซุปเปอร์มาเก็ตที่ขายสินค้าออแกนิกใหญ่เป็นอันดับ 1 ในสหราชอาณาจักร มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27.5 มีสินค้าออแกนิกมากกว่า 800 รายการ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ของสินค้าออแกนิกที่ขายในห้างใช้แบรนด์ของห้างเอง (own-label) โดยประมาณร้อยละ 31.8 ของยอดขายสินค้าออแกนิกทั้งหมดเป็นผักและผลไม้สด รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์นม (ประมาณร้อยละ 28.7) และเนื้อสัตว์ (ประมาณร้อยละ 10.9) ตามลำดับ Tesco คาดการณ์ว่าในปี 2553 ยอดขายสินค้าออแกนิกของห้างฯจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1
  • Sainsbury’s เป็นห้างซุปเปอร์มาเก็ตที่ขายสินค้าออแกนิกใหญ่เป็นอันดับสอง มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23.6 ซึ่งสินค้าออแกนิกที่ทำยอดขายได้ดีที่สุดของห้างฯ คือ อาหารสำหรับทารก นม และเครื่องดื่มชา/กาแฟ
  • Waitrose มีสินค้าออแกนิกขายมากที่สุดถึงกว่า 2,600 รายการ และเป็นห้างที่กลุ่มลูกค้า ออแกนิกเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าออแกนิกอย่างสม่ำเสมอ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20.9 ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 23 ของยอดขายสินค้าออแกนิกใช้แบรนด์ของห้างเอง โดยแบรนด์คุณภาพระดับบนสุด คือ แบรนด์ Duchy Originals ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ Waitrose ซื้อ exclusive rights จากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ดังกล่าว (โดยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ได้ใช้พื้นที่ของ Duchy Home Farm ใน Cornwall เป็นที่ทาการเกษตรอินทรีย์
  • organic farm ทั้งนี้ ภายหลังที่ Waitrose ซื้อแบรนด์ Duchy Originals ไป Duchy Home Farm ก็ยังผลิตสินค้าออแกนิกให้กับ Wairtose) โดยสินค้าออแกนิกที่ทำยอดขายได้ดีที่สุดของห้าง คือ grocery เบีรย์/สุรา ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว/น้ำหอม Waitrose คาดการณ์ว่าในปี 2553 ยอดขายสินค้าออแกนิกของห้างฯจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-5
  • Asda มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 9.2 โดยสินค้าออแกนิกที่ทำยอดขายได้ดีที่สุดของห้างฯ คือ อาหารสำหรับทารก และนม

3.2 ช่องทางการจำหน่ายที่ไม่ใช่ซุปเปอร์มาเก็ตหลัก (non-multiple Retailers)

  • Box schemes / home delivery/ mail order : ประกอบด้วยผู้ผลิตรายย่อยที่มีลูกค้าประจำประมาณ 100 ราย ไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีลูกค้าเป็นหมื่นรายต่อสัปดาห์ โดยมียอดขายรวม 154.2 ล้านปอนด์ พร้อมส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.4
  • Farm Shop ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,000 แห่งในสหราชอาณาจักร ขายสินค้าอาหารออแกนิกที่ผลิตภายในฟาร์ม โดยมียอดขายรวม 32.67 ล้านปอนด์ พร้อมส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.8
  • Farmers’ Market ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 แห่งในสหราชอาณาจักร โดยมียอดขายรวม 18.96 ล้านปอนด์ พร้อมส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.0 โดยเป็นช่องทางการจำหน่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
  • Catering/restaurants : มียอดขายรวม 16.47 ล้านปอนด์ พร้อมส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.9
  • Other independent retailers : มียอดขายรวม 261.1 ล้านปอนด์ พร้อมส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.2 ได้แก่ ห้างซุปเปอร์มาเก็ตที่จำหน่ายสินค้าออแกนิกเป็นการเฉพาะ เช่น Whole Food Market ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกอาหารธรรมชาติและอาหารออแกนนิก (natural and organic foods) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีบริษัทแม่ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา Whole Foods Market เข้าสู่ตลาดสหราชอาณาจักรเมื่อปี ค.ศ. 2004 โดยการเข้าซื้อกิจการของ Fresh & Wild ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรในช่วงเวลานั้น ปัจจุบัน Whole Foods Market มีสาขาทั้งสิ้น 5 สาขา ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนและ Planet Organic ซึ่งปัจจุบันมีสาขาจำนวน 4 สาขาในกรุงลอนดอน

4. ประเภทสินค้าออแกนิกที่เป็นที่นิยมในตลาดสหราชอาณาจักร

ปัจจุบันมีสินค้าออแกนิกที่เป็นที่นิยมในตลาดสหราชอาณาจักรมี ดังนี้

4.1 สินค้าอาหารและเครื่องดื่มออแกนิก

  • ผลิตภัณฑ์นม มียอดขายสูงถึง 447.7 ล้านปอนด์ ในปี 2552 ลดลงร้อยละ 5.5 จากปีก่อนหน้า และมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 33 ของมูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มออแกนิกโดยรวม โดยนมออแกนิกซึ่งมียอดขายสูงสุดในสินค้ากลุ่มนี้ มีอัตราการขยายตัวของยอดขายเพิ่มสูงขึ้น
  • ผักและผลไม้สด มียอดขาย 352.8 ล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 14.8 และมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26 ของมูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มออแกนิกโดยรวม
  • อาหารสำหรับทารก (baby food) มียอดขายในประเทศรวมกว่า 100 ล้านปอนด์ และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ โดยอัตราการขยายตัวของยอดขายเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 20.8 ในปี 2552 โดยผู้ประกอบการรายสำคัญในตลาดส่วนนี้ คือ Heinz; Cow&Gate; Hipp; Organix; Ella’s Kitchen และ Plum Baby โดย product innovation เป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มยอดขาย
  • เครื่องดื่ม มียอดขายรวมทั้งหมด 81.4 ล้านปอนด์ โดยเครื่องดื่มร้อนประเภทชาและกาแฟมียอดขาย 54.3 ล้านปอนด์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์มียอดขาย 27.1 ล้านปอนด์ โดยมีอัตราการขยายตัวลดลง
  • อาหารและเครื่องดื่มเย็น (chilled food / drink) เช่น pizza; ready meals มียอดขายประมาณ 54.3 ล้านปอนด์ โดยมีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 21.4
  • ขนมปัง ขนมอบอื่นๆ มียอดขายในประเทศรวมประมาณ 40.7 ล้านปอนด์ โดยมีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 39.8

4.2 สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร

  • สิ่งทอออแกนนิก (organic textiles) ยอดขายสิ่งทอออแกนิกอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านปอนด์ โดยยอดขายได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งนี้ ผ้าฝ้ายออแกนิกคิดเป็นร้อยละ 90 ของยอดขายสิ่งทอออแกนิกโดยรวมในสหราชอาณาจักร และสหราชอาณาจักรมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 10 ของตลาดผ้าฝ้ายออแกนิกโลก แบรนด์ดังๆที่ใช้ฝ้ายออแกนิก ได้แก่ Timberland; Nike; Marks & Spencer; Gap และ New Look แต่ไม่ได้มีชั้นวางขายผลิตภัณฑ์ออแกนิกต่างหากภายในร้าน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของสิ่งทอออแกนิกที่ขายในสหราชอาณาจักร ส่วนที่เหลือของสิ่งทออแกนิก ได้แก่ เสื้อผ้า ผ้าคลุมเตียง (bed linen) และผ้าอ้อม (nappies) มีการแยกวางขายและโฆษณาชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออแกนิก ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยลงมา ได้แก่ People Tree ; Howies; Green Baby; Greenfibres และ Seasalt เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมียอดขายในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง (certify) 36 ล้านปอนด์ในปี 2552 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองโดย Soil Association มียอดขาย 16.8 ล้านปอนด์ โดยแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุด คือ Neals Yard Remedies อนึ่ง ปัญหาในปัจจุบันของสินค้าในกลุ่มนี้ คือ ไม่มีกฎระเบียบทางการของสหภาพยุโรปควบคุมโดยตรงในส่วนของ added-value labelling และ advertising claims ส่งผลให้มีการหลอกลวงโดยระบุว่าใช้ส่วนผสมออแกนิกแต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปัจจุบัน หน่วยงานรับรอง (certification agencies) ผลิตภัณฑ์ความงามธรรมชาติและออแกนิกชั้นนำของยุโรป (BDIH; Soil Association; Ecocert; Cosmebio; ICEA และ Ecogarantie) จึงได้ ร่วมกันจัดทำมาตรฐานกลางยุโรป ชื่อ Cosmos (the cosmetic organic standards) ขึ้นมา โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ร้อยละ 95 ของส่วนผสมของพืช (agricultural ingredients) ที่ใช้ต้องเป็นออแกนิก ร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์โดยน้ำหนัก (by weight) จะต้องเป็นออแกนิก ซึ่งรวมถึงน้ำ และอนุญาตให้ใช้ส่วนผสมสังเคราะห์ในสูตร (formula) ได้ไม่เกินร้อยละ 5 ทั้งนี้ แม้ว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีการทบทวน Cosmetics Directive 76/768/EEC ไปและออกระเบียบใหม่ EU Regulations on Cosmetic Products 1223/2009 แทน แต่ระเบียบใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2013 ก็ยังไม่มี specific criteria สาหรับ ‘natural’ cosmetics อย่างไรก็ดี มาตรา 20 ของระเบียบใหม่ระบุให้คณะกรรมาธิการยุโรปต้องร่วมมือกับประเทศสมาชิกในการจัดทำ action plan เกี่ยวกับคำโฆษณาบนตัวผลิตภัณฑ์ความงาม นอกจากนี้ ในส่วนของตัวผู้บริโภคเองก็มีความตื่นตัวมากขึ้น และเริ่มจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ความงามที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานรับรองที่ได้มาตรฐาน ดังจะเห็นได้จากยอดขายสินค้าในส่วนนี้มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น

5. การนำเข้า

ปัจจุบันสหราชอาณาจักรนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ ร้อยละ 30 ของมูลค่าจำหน่ายทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าประมาณ 600 ล้านปอนด์ โดยสินค้าที่นำเข้าหลัก ได้แก่ ชอคโกแลต กล้วยหอม น้ำมะพร้าวสด ชา กาแฟ อาหารสัตว์เลี้ยง และผักและผลไม้สดที่ไม่สามารถปลูกได้ในประเทศ เป็นต้น

6. กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

6.1 Council Regulation (EC) No 834/2007 on organic production and labelling of organic products เป็นกฎระเบียบใหม่ที่ออกมาแทน Regulation (EEC) No 2092/91 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552

กฎระเบียบฉบับใหม่นี้มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

6.1.1 ขอบข่ายของกฎระเบียบฉบับนี้ ครอบคลุม agricultural products รวมถึง aquaculture and yeast ดังนี้

  • Living or unprocessed products
  • Processed foods
  • Animal feed
  • Seeds and propagating material
  • Collection of wild plants and seaweed

6.1.2 อาหาร จะสามารถระบุว่าเป็นอาหารออแกนิกได้ ก็ต่อเมื่ออย่างน้อยที่สุดร้อยละ 95 ของส่วนผสมของพืชที่ใช้เป็นออแกนิก

6.1.3 ห้ามใช้ GMO ในการผลิต

6.1.4 ต้องใช้ตราสัญลักษณ์สหภาพยุโรป (EU-logo) แบบบังคับบน packaging สำหรับ organic pre-packaged food ผลิตในสหภาพยุโรป จากเดิมที่เป็นแบบสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2010 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สำหรับ non pre-packaged organic products ที่ผลิตในสหภาพยุโรป หรือ นำเข้าจากประเทศที่ 3 การใช้ EU-logo ให้เป็นไปตามความสมัครใจ นอกจากนี้ แต่ละประเทศสมาชิกสามารถใช้ national และ private logos เพิ่มเติมได้

6.1.5 กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับระบบควบคุม (control system) ที่แต่ละประเทศสมาชิกจะต้องจัดตั้งขึ้นมา เพื่อให้การดำเนินการตามกฎระเบียบ Regulation (EC) No 834/2007 ซึ่งเป็นกฎระเบียบกลางเป็นไปอย่างสอดประสานกัน โดยระบบควบคุมจะต้องสามารถบ่งบอก traceability ของสินค้าแต่ละตัวในทุกขั้นตอนการผลิต การจัดจำหน่าย ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้บริโภคว่า สินค้า ออแกนนิกได้รับการผลิตตามข้อกำหนดในกฎระเบียบของสหภาพยุโรป

6.1.6 การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออแกนิกนำเข้าจากประเทศที่สามจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการผลิตและควบคุมภายใต้เงื่อนไขเดียวกันหรือเทียบเท่ากับของสหภาพยุโรป โดย Commission Regulation (EC) No 1235/2008 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2008 ระบุรายละเอียดของ rules ในการปฏิบัติตาม Regulation (EC) No 834/2007 ในส่วนที่เกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ ออแกนิกจากประเทศที่สาม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  • ให้คงอาร์เจนติน่า ออสเตรเลีย คอสตาริก้า อินเดีย อิสราเอล และนิวซีแลนด์ ไว้ในบัญชี List of Recognised Third Countries ที่มีระบบการผลิตและมาตรการควบคุมการผลิตผลิตภัณฑ์ออแกนิกที่เทียบเท่ากับของสหภาพยุโรป และเพิ่มอีก 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ตูนีเซีย และสวิตเซอร์แลนด์ รวมเป็น 9 ประเทศ
  • การนำเข้าจากประเทศที่สามอื่นที่ยังไม่มี bilateral recognition และจึงยังไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชี Recognised Third Countries นั้น จะต้องมี certification of inspection ออกโดยหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับโดยคณะกรรมาธิการยุโรปให้เป็น control bodies and control authorities ในประเทศนั้น ซึ่งการจะเป็น control bodies and control authorities ของประเทศนั้นๆได้ หน่วยงานนั้นจะต้องยื่น application ขอรับการประเมินจากคณะกรรมาธิการยุโรปว่าสามารถดำเนินการตามเงื่อนไขใน Article 32 ของ Regulation (EC) No 834/2007 ได้ ซึ่งหากผ่านการประเมินว่าได้มาตรฐานเทียบเท่ากับของสหภาพยุโรปหรือใช้มาตรฐานของสหภาพยุโรป หน่วยงานนั้นๆก็จะมีรายชื่อปรากฏใน List of Recognized Control Bodies and Control Authorities for the purpose of compliance และจะถูก supervise โดยคณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกโดยตรง

6.1.7 Commission Regulation (EC) No. 889/2008 ลงวันที่ 5 กันยายน 2008 ระบุรายละเอียดของ rules ในการปฏิบัติตาม Regulation (EC) No 834/2007 ในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิต และการปิดฉลากผลิตภัณฑ์ออแกนิก รายละเอียดสามารถดูได้จาก website http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:L:2008:250:0001:0084:EN:PDF

6.2 นอกจากนี้ กฎหมาย/กฎระเบียบอื่นๆทั้งหมดที่ใช้กับ non-organic food ก็ใช้กับ organic food ด้วย

6.3 ในกรณีของสหราชอาณาจักร หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ Defra (Department for Environment, Food and Rural Affairs) ซึ่งได้ตั้ง Advisory Committee on Organic Standards (ACOS) ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ธุรกิจ และผู้บริโภค ขึ้นมาเป็นหน่วยงานสนับสนุน โดย ACOS ทำหน้าที่หลักๆ คือ ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าออแกนนิก ให้ความเห็นชอบหน่วยงานรับรอง และทำการวิจัย (R&D) ทั้งนี้ ปัจจุบัน หน่วยงานรับรองที่เป็น Approved UK Certification Bodies มีทั้งหมด 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย

  • Soil Association Certification Ltd.
  • Biodynamic Agricultural Association
  • Organic Farmers & Growers Ltd.
  • Organic Food Federation
  • Scottish Organic Producers Association
  • Irish Organic Farmers & Growers Association
  • Organic Trust Limited
  • Quality Welsh Food Certification Ltd.
  • Ascisco Ltd.

รายละเอียดสามารถดูได้จาก website ของ Defra ที่ http://www.defra.gov.uk/foodfarm/growing/organic/standards/certbodies/approved.htm

  • แต่ละหน่วยงานรับรองจะมีตราสัญญาลักษณ์มาตรฐานของตนเอง สำหรับตราสัญญา ลักษณ์มาตรฐานของ Soil Association (Soil Association Organic Standard) ถือเป็น certification mark ที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดของสหราชอาณาจักร โดยให้การรับรองสินค้าออแกนนิกร้อยละ 70 ของสินค้าออแกนนิกในตลาดสหราชอาณาจักร
  • นอกจากนี้ Soil Association ยังมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลและโน้มน้าวผู้บริโภค ให้หันมาบริโภคสินค้าออแกนนิกเพิ่มมากขึ้น website ของ Soil Association จะให้ข้อมูลที่น่าสนใจ

6.4 ระบบการนำเข้าสินค้าออแกนนิกจากประเทศที่ 3 ที่ไม่ใช่ EU-Recognised Third Countriesมายังสหราชอาณาจักร ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ออแกนิกจากนอกสหภาพยุโรป Council Regulation 834/2007 แยกประเภทผลิตภัณฑ์ออแกนิกออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นกับว่าเป็นการนำเข้าจากประเทศที่ 3 ในกลุ่มใด อย่างไรก็ดี จนกว่าระบบใหม่นี้จะ fully implemented การนาเข้าผลิตภัณฑ์ออแกนิกมีประเภทที่ 4 คือ ต้องขออนุญาตจาก Defra ดังนี้

(1) กรณีที่ผลิตภัณฑ์นำเข้ามาจากผู้ผลิตที่ได้รับการควบคุมโดย Control body ในประเทศที่ 3 ที่ผ่านการประเมินจากคณะกรรมาธิการยุโรป ตาม Article 33 (2) Council Regulation 834/2007

(2) กรณีที่ผลิตภัณฑ์นำเข้าจากผู้ผลิตที่ได้รับการควบคุมโดย Control body ในประเทศที่ 3 ที่มีชื่อปรากฏในบัญชีรายชื่อ List of Third Countries Control Bodies ที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมาธิการยุโรปว่าใช้มาตรฐานที่เทียบเท่ากับของสหภาพยุโรป ตาม Article 33(3) Council Regulation 834/2007

(3) กรณีที่ผลิตภัณฑ์นำเข้าจากผู้ผลิตที่ได้รับการควบคุมโดย Control body ในประเทศที่ 3 ที่มีชื่อปรากฏในบัญชีรายชื่อ List of Third Countries Control Bodies ที่ใช้มาตรฐานออแกนิกของสหภาพยุโรป ตาม Article 32 Council Regulation 834/2007

(4) กรณีการนำเข้าได้รับอนุญาตจาก Defra (ในส่วนของสหราชอาณาจักร) ตาม Article 19 of Regulation 1235/2008

เงื่อนไขการนำเข้ามีรายละเอียดที่แตกต่างกันขึ้นกับว่าเป็นการนำเข้าจากประเทศที่ 3 ในกลุ่มใด ดังนี้

6.4.1 Products imported from other third countries where the control body has been recognised as applying equivalent standard :

  • Article 33(3) Council Regulation 834/2007 กำหนดให้คณะกรรมาธิการยุโรปรวบรวมรายชื่อ individual control bodies ที่ดำเนินการในแต่ละประเทศที่ 3 ที่คณะกรรมาธิการยุโรปยอมรับ (recognize) ว่ามีการใช้มาตรฐานการผลิตและการควบคุมที่เทียบเท่า (equivalent) กับมาตรฐานอียู
  • การนำเข้าผลิตภัณฑ์ออแกนิกจากผู้ส่งออกที่ได้รับใบอนุญาต (license) จาก control body ไม่ต้องขออนุญาตจาก Defra แต่ผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนกับหนึ่งใน UK Organic Certifying Authorities ที่ได้รับการ approve จาก Defra และต้องมีใบ Certificate of Inspection ออกโดยหนึ่งใน Approved Inspection bodies ในประเทศที่ 3 ตาม Annex IV ของ Commission Regulation 1235/2008 สำหรับแต่ละ consignment ที่เข้าสหภาพยุโรป

6.4.2 Products imported from other third countries where the control body has been recognised as applying EU organic standards

  • Article 32 Council Regulation 834/2007 กำหนดให้คณะกรรมาธิการยุโรปยอมรับ individual control bodies ในประเทศที่ 3 ว่ามีการใช้มาตรฐานการผลิตและการควบคุมของอียู
  • การนำเข้าผลิตภัณฑ์ออแกนิกจากผู้ผลิตที่ได้รับใบอนุญาต (license) จาก compliant control body ไม่ต้องขออนุญาตจาก Defra แต่ผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนกับหนึ่งใน UK Organic Certifying Authorities ที่ได้รับการ approve จาก Defra และต้องมี documentary evidence ตามแบบฟอร์มใน Annex II ของ Commission Regulation 1235/2008

6.4.3 อนึ่ง เนื่องจากการจัดทำบัญชีรายชื่อ Control Bodies ตาม Articles 32 และ 33(3) ของ Council Regulation 834/2007 ใช้เวลา ดังนั้น ระบบเดิมที่ให้ประเทศสมาชิกออกใบอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์ออแกนิกจากประเทศที่สามจะยังคงใช้ต่อไปในช่วงนี้

รายละเอียดสามาถดูได้จาก website ของ Defra ที่ http://www.defra.gov.uk/foodfarm/growing/organic/imports/index.htm#1

7. ข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติม

7.1 เป็นที่คาดหมายว่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักรยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สหราชอาณาจักรประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2552 และเศรษฐกิจได้กลับมากระเตื้องขึ้นในปี 2553 และคาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวต่อไปในปี 2554 ประกอบกับกระแสที่ประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพอนามัย และหันมาบริโภคสินค้าอาหารที่มีความสะอาดปลอดภัย รวมทั้งเกี่ยวกับด้านการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม

7.2 นอกจากสินค้าอาหารออแกนิกแล้ว สินค้าเสื้อผ้าออแกนิก และผลิตภัณฑ์ออแกนิกเพื่อความงาม ก็ได้รับความนิยมสนใจมากขึ้น ซึ่งนับว่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีลู่ทางที่จะขยายไปสู่ประเภทสินค้าใหม่ๆได้เพิ่มขึ้นอีกมาก

7.3 สำหรับปัญหาอุปสรรคที่อาจมีผลกระทบต่อการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์มายังตลาดแห่งนี้ ได้แก่ การที่สหภาพยุโรปกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์มาตรฐานการผลิตสินค้าประเภทนี้ไว้สูงและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก รวมทั้งเงื่อนไขการนำเข้าจากประเทศที่ 3 ดังนั้น ผู้ผลิตและส่งออกของไทยควรศึกษาข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

7.4 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Natural & Organic Products Europe ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีที่กรุงลอนดอน จะช่วยเปิดโอกาสให้ได้พบกับผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าธรรมชาติและออแกนิกในสหราชอาณาจักร

รายละเอียดเกี่ยวกับงาน Natural & Organic Products Europe ดูได้ที่ website http://www.naturalproducts.co.uk/

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ