ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลของซาอุดีอาระเบีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 1, 2011 14:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ทั่วโลกมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม 1.6 พันล้านคน กระจายอยู่ใน 122 ประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรโลกในปี พ.ศ. 2549 แต่ในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าสัดส่วนประชากรชาวมุสลิมจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30

ประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเชีย ปากีสถาน อินเดีย บังคลาเทศ ตุรกี และอียิปต์ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ชาวมุสลิมที่มีกำลังซื้อ (Purchasing Power Parity) สูงที่สุด คือ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ตามด้วยตุรกี อิหร่าน มาเลเซีย และกาตาร์

1. โอกาสทางการตลาด

ซาอุดีอาระเบีย มีประชากรประมาณ 27 ล้านคน ประกอบด้วยชาวซาอุฯ 20 ล้านคน และคนต่างชาติ 7 ล้านคน ประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ ร้อยละ 99 ที่เหลือนับถือศาสนาอื่นๆ ซึ่งจะเป็นคนต่างชาติที่เข้าไปทำงาน ซาอุฯ มีอัตราการเพิ่มของประชากร ปี 2553 ร้อยละ 2.4 มีรายได้เฉลี่ย 18,693 เหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี

ข้อมูลของประเทศสมาชิก Gulf Countries Cooperation (GCC)

          ข้อมูล                     ซาอุฯ      ยูเออี     คูเวต     โอมาน      บาห์เรน       กาตาร์
ประชากร (ล้านคน)                    27.0       5.2      3.5       2.5        0.75         1.1
อัตราการขยายตัวประชากร (ร้อยละ)        2.4       5.0      3.5       1.1         2.0        10.5
รายได้ต่อหัว ($US)                  18,693    52,020   43,917    20,231      26,500      93,000
ที่มา: Al Rajhi Capital (15 Dec 2010)

นอกจากนี้ ในแต่ละปี จะมีผู้แสวงบุญชาวมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางไปซาอุฯ ประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ (เกินกว่าปีละ 5 ล้านคน) ซึ่งตามปกติจะอยู่ที่เมืองมักกะฮ์ มาดีนะห์ และเจดดาห์ ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ล่าสุดรัฐบาลซาอุฯ มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงมีการอนุญาตให้ผู้แสวงบุญเดินทางไปเมืองอื่นๆ ได้ภายในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งเป็นผลทางด้านบวกต่อความต้องการทางด้านอาหารในซาอุฯ ให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ตามกฎหมายการนำเข้าสินค้าของซาอุฯ สินค้าทุกชนิดที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่า ตลาดอาหารทั้งหมดของประเทศซาอุฯ คือ ตลาดอาหารฮาลาล ผู้บริโภคชาวซาอุฯ เชื่อมั่นในกฏ ระเบียบ ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งสินค้าอาหาร จึงค่อนข้างวางใจว่า อาหารที่มีจำหน่ายในประเทศทั้งหมด สามารถที่จะบริโภคได้

ข้อมูลล่าสุดอย่างเป็นทางการของซาอุฯ ระบุว่าในปี 2551 ซาอุฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มอาหาร 16.58 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (กลุ่มพืชผัก 7.41 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และกลุ่มเนื้อสัตว์ 4.10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 38.79 ทั้งนี้ สินค้าอาหารที่นำเข้าจากไทยในมูลค่าที่สูง ได้แก่ ข้าว (93.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และทูน่ากระป๋อง (71.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

เมื่อพิจารณาถึงจำนวนประชากร อัตราการเพิ่มของประชากรที่ค่อนข้างสูง รายได้จากน้ำมันที่ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าตลาดอาหารของซาอุฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี

ประชากรชาวซาอุฯ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง แต่ละครอบครัวจะซื้อสินค้าอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งและการซื้อแต่ละครั้งปริมาณค่อนข้างมาก เนื่องจากครอบครัวมีขนาดใหญ่

ปัจจัยเกี่ยวกับภาพพจน์และชื่อเสียงของประเทศผู้ผลิตสินค้า เช่น ผลิตจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย เป็นต้น แล้วแต่จุดเด่นของสินค้าจากประเทศนั้นๆ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลในการซื้อของผู้บริโภค

2. ช่องทางการตลาด

ผู้ผลิตสินค้า และผู้ส่งออกไทย สามารถจำหน่ายสินค้าให้กับผู้นำเข้าซาอุฯ ได้โดยตรง ทั้งที่เป็นผู้นำเข้าทั่วไป และผู้ที่เป็นผู้นำเข้าเพียงผู้เดียว (Sole Agent) ทั้งนี้ Hypermarket/Supermarket ขนาดใหญ่ ก็มีการนำเข้าเองโดยตรงเช่นกัน

ปัจจุบันตลาด Retail Food ของซาอุฯ เกินกว่าร้อยละ 60 ครอบครองโดยร้านค้าขนาดเล็ก ในส่วนของ Hypermarket และ Supermarket ครองตลาดร้อยละ 19 และ 15 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในอนาคต Hypermarket และ Supermarket จะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 1) ประชากรหนุ่มสาวมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากและนิยมจับจ่ายในห้างสมัยใหม่ แทนที่จะเป็นร้านค้าเล็กๆ 2) คนรุ่นเก่านิยมซื้อของในห้างสมัยใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความสะดวกสบาย และ 3) ครอบครัวชาวซาอุฯ ไม่มีแหล่งบันเทิงมากนัก เนื่องจากข้อห้ามทางศาสนา ดังนั้นจึงนิยมไปที่ห้างขนาดใหญ่ โดยถือว่าเป็นการพักผ่อนของทั้งครอบครัว

ประเทศซาอุดีอาระเบียอาจจำแนกได้เป็น 3 ภูมิภาคย่อย ได้แก่ ภาคตะวันตก มีเมืองเจดดาห์เป็นศูนย์กลาง ภาคกลาง มีกรุงริยาดห์เป็นศูนย์กลาง และภาคตะวันออก มีเมืองดัมมามเป็นศูนย์กลาง สามภูมิภาคดังกล่าวมีลักษณะทางด้านสังคม และวัฒนธรรมทางการค้าที่แตกต่างกัน ด้านตะวันตกมีลักษณะของเมืองธุรกิจเก่าแก่มายาวนาน ภาคกลางมีลักษณะอนุรักษ์นิยมทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมค่อนข้างสูง ด้านตะวันออกเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ ค่อนข้างจะเปิดกว้างและทันสมัย มีความใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศริมอ่าวเปอร์เซียนิยมนำเข้าสินค้าผ่านจากเมืองดูไบ ผู้นำเข้าสินค้า/ผู้ประกอบการของแต่ละภูมิภาค ส่วนใหญ่จะมีความชำนาญในด้านการตลาดและกระจายสินค้าในภูมิภาคของตนเองเป็นหลัก

2.1 ประเภทของร้านค้าฯ ในซาอุ

ร้านค้าขนาดเล็ก (Convenience Stores หรือ Bakala ในภาษาอาหรับ) ร้านค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีพื้นที่น้อยกว่า 50 ตร.ม. กระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งที่อยู่อาศัย ขายสินค้าในรูปของเงินสด โดยส่วนใหญ่รับสินค้ามาจากผู้ค้าส่ง (Wholesalers) สินค้าส่วนน้อยรับจากผู้นำเข้าโดยตรง ราคาของสินค้าจะสูงกว่า Supermarket แต่ได้เปรียบในเรื่องของความสะดวก รวดเร็วในการซื้อสินค้าครั้งละไม่มากนัก บางร้านค้ามีการขายแบบเชื่อ โดยลูกค้าจ่ายเงินทุกสิ้นเดือน สตรีชาวซาอุฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถ ดังนั้นจะพี่งพาร้านค้าประเภทนี้ที่อยู่ใกล้บ้าน แรงงานต่างชาติที่ไม่มีรถยนต์ ก็จะจับจ่ายซื้อของที่ร้านนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าที่เน้นขายสินค้าสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ (Ethnic stores) เช่นกัน เช่นร้านของคนอินเดีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน เป็นต้น ตามสถานีบริการน้ำมัน ก็มีการตั้งร้านขายสินค้าเช่นกันและมีแนวโน้มเพิ่มขี้นเรื่อยๆ

Hypermarket/Supermarket

ซาอุดีอาระเบีย มี Supermarket กระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 450 แห่ง มี Hypermarket กระจายอยู่ในเมืองสำคัญ 3 เมือง ได้แก่ กรุงริยาด เมืองเจดดาห์ และเมืองดัมมาม จำนวนมากกว่า 50 แห่งห้างฯ ที่มีชื่อเสียง เป็นที่นิยม เช่น Hyper Panda/Panda Supermarket, Othaim, Farm Supermarket, Tamimi Markets, Carrefour, Bin Dawood, Danube Hypermarket/Supermarket, Al Raya Supermarket, Al Sadhan Supermarket และ Balsharaf Supermarket

เพื่อเพิ่มรายได้และลดต้นทุน ร้านค้ากลุ่มนี้จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Listing fee) จาก Suppliers รายละ 2,000-27,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยรายใหญ่ที่มีกำลังต่อรองสูงก็จะจ่ายน้อย นอกจากนี้ต้องมีการจ่ายเงินตามร้อยละของยอดขายในแต่ละปี (Rebate) ให้กับห้างฯ เพื่อใช้ในการโฆษณา มีการให้เครดิตกับร้านค้าอย่างน้อย 60 วัน มีการคืนเงินสำหรับสินค้าที่หมดอายุ ต้องสนับสนุนการทำโปรโมชั่นพิเศษ เช่น ซื้อ 1 แถม 1 สำหรับสินค้าที่ใกล้หมดอายุ (Shelf life ต่ำกว่า 60 วัน)

ตลาดค้าส่งแบบดั้งเดิม

ตลาดค้าส่งแบบดั้งเดิมจะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยร้านของผู้ค้าส่งหลายๆ ราย ขายสินค้าหลายประเภท เช่น ผักผลไม้สด เนื้อสัตว์แช่เย็น ชีส อาหารแห้ง เป็นต้น ร้านค้าส่งจะมีขนาดประมาณ 50-500 ตร.ม. ลูกค้าที่มาซื้อสินค้า ได้แก่ ลูกค้าองค์กร ผู้ค้าอาหาร (Caterers) ร้านค้าขนาดเล็ก และครอบครัวขนาดใหญ่

2.2 การเข้าสู่ตลาดซาอุฯ ของผู้ส่งออกไทย

1) ผู้ประกอบการไทย หาโอกาสพบปะกับพ่อค้าชาวซาอุดีฯ เช่น เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Thai FEX ที่กรุงเทพฯ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ได้เชิญนักธุรกิจซาอุฯ เข้าร่วมงานทุกครั้ง หรือผู้ส่งออกไทย เดินทางเข้าซาอุฯ เพื่อพบลูกค้า โดยให้ผู้นำเข้าซาอุฯ เป็นผู้ออกหนังสือเชิญ เพื่อใช้ประกอบการขอวีซ่าเดินทาง

2) ผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารที่จัดในประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีหลายงาน ปัจจุบัน กรมส่งเสริมการส่งออกเข้าร่วมงาน Food, Hotel Arabia ที่จัดขึ้นที่เมืองเจดดาห์ ช่วงปลาย เดือนพฤษภาคม โดยผู้สนใจเข้าร่วมงานติดต่อได้ที่กรมฯ หรือสำนักงานฯ โดยตรง

3) ผู้ส่งออกไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหาร ในประเทศที่อยู่ใกล้เคียงซาอุดีอาระเบีย เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (งาน Gulf Food) และบาห์เรน เป็นต้น

4) ผู้ส่งออกไทยที่สนใจเปิดตลาดในซาอุฯ สามารถส่งตัวอย่างสินค้า โบรชัวร์ มาแสดง ณ ห้องแสดงสินค้าของสำนักงานฯ ณ เมืองเจดดาห์ ได้

3. การนำเข้าสินค้าและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง

3.1 เอกสารประกอบการนำเข้า

Saudi Food and Drug Authority (SFDA: www.sfda.gov.sa) เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่เข้ามาควบคุมดูแลการนำเข้าอาหาร อาหารสัตว์ ยา และเครื่องมือแพทย์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 โดยค่อยๆ รับโอนงานมาจาก Ministry of Commerce and Industry (ห้องแล็บตรวจสอบสินค้า) และ Saudi Arabian Standards Organization (SASO: www.saso.org.sa) (กฎ ระเบียบ และมาตรฐานของสินค้าอาหาร อาหาร สัตว์ ยา เครื่องมือแพทย์)

การนำเข้าสินค้าโดยทั่วไป ต้องใช้เอกสารประกอบ ได้แก่ Commercial Invoice, Bill of Lading, Country of Origin Certificate และ Packing List (or Certificate of Weight) ในส่วนของสินค้าอาหารบางรายการ ต้องมีเอกสารอื่นประกอบ รายละเอียดพอสรุปได้ ดังนี้

          สินค้า                  เอกสารที่ใช้                  สินค้า                    เอกสารที่ใช้

          ธัญพืช        1. Phytosanitary Certificate      นมและผลิตภัณฑ์       1. Health Certificate
                      2. Grain Analysis Certificate                       2. Veterinary Certificate
                      3. Certificate of Weight                            3. Certificate of Radioactivity
                         or Packing List                                     Measurement (สินค้าจากยุโรป และ
                      4. Fumigation Certificate                              สหภาพโซเวียต)
          เนื้อสัตว์      1. Health Certificate             ผักและผลไม้สด       Phytosanitary Certificate
                      2. Halal Certificate              ปลาและอาหารทะเล   Health Certificate
                      3. Animal Protein Free Feed       ไข่และผลิตภัณฑ์       Health Certificate

อาหารแปรรูป Health Certificate

เอกสารดังกล่าวข้างต้น ต้องได้รับการรับรองโดยหอการค้าไทย และสถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทยด้วย

3.2 อัตราภาษีนำเข้า

สินค้ากลุ่มอาหาร ส่วนใหญ่เสียภาษีนำเข้าร้อยละ 0-5 ซาอุฯ ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีขาย

ในกรณีที่สินค้าไม่ได้มาตรฐานจะต้องถูกส่งกลับคืน หรือทำลาย ในกรณีที่ไม่ออกสินค้าตามระยะเวลาที่กำหนด ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมคลังสินค้าเพิ่มเติมตามที่กำหนด ซึ่งผู้ส่งออกไทย หรือผู้นำเข้าซาอุดีอาระเบีย ต้องตกลงกันว่าผู้ใดจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ผู้ส่งออกไทยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีนำเข้า และขั้นตอนการนำเข้าได้ที่ www.customs.gov.sa

3.3 การปิดฉลากและแสดงรายละเอียดสินค้า (Label & Marking)

ภายใต้กฏระเบียบ Saudi Standard No. 1/1995 และ Gulf Standard Organization (GSO) No. 9/2007 ได้กำหนดให้สินค้าอาหารบรรจุสำเร็จ (Prepackaged Foodstuffs) ทุกชนิดจะต้องปิดฉลากเป็นภาษาอาหรับ จากโรงงานผู้ผลิต ในประเทศผู้ส่งออก โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ชื่ออาหารหรือผลิตภัณฑ์ รายละเอียดส่วนผสม ข้อมูลทางโภชนาการ น้ำหนักสุทธิ ชื่อและสถานที่ติดต่อของโรงงานผู้ผลิต ผู้บรรจุหีบห่อ ผู้แทนจำหน่าย ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก วันผลิตและวันหมดอายุ ชื่อประเทศผู้ผลิต และรหัสสินค้า (Product Code)

ในระยะหลังหน่วยงานของซาอุฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของพืช/สัตว์ตัดแต่งพันธุกรรมเพิ่มมากขึ้น มีการกำหนดเพิ่มเติมสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าต้องเขียนบนฉลากให้ชัดเจน ด้วยสีที่แตกต่างจากพื้นหลังว่าสินค้านั้นๆ มีส่วนผสมของพืชที่ตัดแต่งพันธุกรรมหรือไม่ โดยใช้คำในลักษณะดังนี้ “Contains Genetically Modified Product(s)” หรือ “Contains No Genetically Modified Product(s)” ในภาษาอาหรับ (และภาษาอื่นเพิ่มเติมก็ได้) อาหารที่มีส่วนผสมของสัตว์ที่ตัดแต่งพันธุกรรมจะไม่อนุญาตให้นำเข้าประเทศซาอุฯ

4. ข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารในซาอุดีอาระเบีย

ในภาพรวมประเทศซาอุฯ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน (น้ำจืด) พื้นที่ล้อมรอบไปด้วยทะเล ดังนั้นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกจึงมีน้อย น้ำจืดมีไม่เพียงพอ สินค้าอาหารส่วนมากจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่รัฐบาลซาอุฯ ให้ความสำคัญมากคือเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงเกษตรฯ ซาอุฯ แจ้งว่า ปี 2550 มีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว สาลี (2.55 ล้านตัน) Clover (1.78 ล้านตัน) มะเขือเทศ (0.47 ล้านตัน) มันฝรั่ง (0.46 ล้านตัน) และ แตงกวา (0.25 ล้านตัน)

ผลผลิตจากไม้ยืนต้นที่สำคัญ เช่น อินทผาลัม (0.98 ล้านตัน) แตงโม (0.39 ล้านตัน) เมล่อน (0.16 ล้านตัน) และ องุ่น (0.14 ล้านตัน)

ด้านการเลี้ยงสัตว์ เช่น สัตว์ปีก (506.26 ล้านตัว) แกะ (8.08 ล้านตัว) แพะ (2.21 ล้านตัว) วัว (0.40 ล้านตัว) และอูฐ (0.27 ล้านตัว) นอกจากนี้ ยังมีผลผลิตปลา/กุ้ง 81,069 ตัน (จากการเลี้ยงและการประมง)

ข้อมูลจาก FAO (Food Outlook, Nov. 2010) แสดงให้เห็นภาพรวมภาคการเกษตร/อาหารของซาอุฯ ว่าซาอุฯ ผลิตสินค้าไม่พอต่อการบริโภคภายในประเทศเกินกว่ากึ่งหนึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่นในปี 2553 ซาอุฯ มีผลผลิต ธัญพืช 1.10 ล้านตัน นำเข้า 11.90 ล้านตัน มีความต้องการบริโภคทั้งสิ้น 13.40 ล้านตัน (ข้าว ไม่มีการผลิตในประเทศ นำเข้าทั้งหมด 0.90 ล้านตัน) เนื้อสัตว์ มีการผลิตในประเทศ 0.76 ล้านตัน นำเข้า 0.82 ล้านตัน มีความต้องการบริโภค 1.54 ล้านตัน

4.1 ตลาดย่อย (Sectors) ที่น่าสนใจ

4.1.1 Dried Processed Food

Euromonitor ระบุว่าในปี 2553 ตลาดนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.93 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าข้าวมีมูลค่าสูงสุดถึง 1.72 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามมาด้วยสินค้ากลุ่มบะหมี่กี่งสำเร็จรูป 0.10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ พาสต้า มูลค่า 0.06 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซุป (Dehydrated) 0.03 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ Desserts Mixed 0.01 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

4.1.2 Canned and Preserved Food

Euromonitor ชี้ว่าในปี 2553 ตลาดนี้มีมูลค่าถึง 348.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้า Canned/Preserved Fish/Seafood มีมูลค่าตลาดสูงสุด 181.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามด้วย Canned/Preserved Beans มูลค่า 69.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ Canned/Preserved Meats มูลค่า 42.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ Canned/Preserved Vegetables มูลค่า 25.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ Canned/Preserved Fruit มูลค่า 20.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่น่าสนใจคือ ปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศไทย 3 บริษัท อยู่ใน 10 อันดับแรก ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด โดยใช้ Brand ของผู้ส่งออกไทยเอง ได้แก่ Kawasho (4.70% อันดับ 7) Safco Holding (3.10% อันดับที่ 9) Botan Seafoods (2.60% อันดับที่ 10) รายละเอียดดังเอกสารแนบ อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งการตลาดของปลาทูน่าไทยน่าจะสูงกว่าตัวเลขที่ระบุมาก เนื่องจากสินค้าหลายยี่ห้อสั่งปลาทูน่ากระป๋อง OEM จากประเทศไทย

4.2 ราคาของสินค้าอาหารในซาอุฯ

          สินค้า                           ราคา (รียัล)               สินค้า                      ราคา (รียัล)
   ข้าวหอมมะลิไทย ถุง 5 กก.                      24-26      ข้าวบาสมาติ ถุง 5 กก.                      47-55
   ทูน่ากระป๋อง 185 กรัม                      2.50-3.50      สัปปะรดกระป๋อง 825 กรัม                      5-7
   มะพร้าวอ่อน 1 ลูก                               5-6      สัปปะรด สด 1 กก.                           5-7
   พริกขี้หนูสด (ไทย) 1 กก.                       47-55      พริกสด (อินเดีย) 1 กก.                       4-7
   ขิงสด 1 กก.                                   4-7      แครอทสด 1 กก.                       1.50-4.00
   น้ำมัน (เมล็ดทานตะวัน) 1.8 ลิตร                 10-14      ไก่สด ทั้งตัว ขนาด 1 กก.                    11-13
   นม UHT 1 ลิตร                                 3-5      ไข่ไก่สด 30 ฟอง                           11-13
   วุ้นเส้น 600 กรัม                                7-8      บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอง/ถ้วย     0.70-1.50/2.50-4.00
หมายเหตุ: 1.ราคา ณ Hypermarket/Superstore เมืองเจดดาห์
          2. สำรวจราคา เดือนมกราคม 2554                          อัตราแลกเปลี่ยน: $US 1= 3.75 ซาอุดีรียัล

4.3 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปซาอุฯ

ปี 2553 ไทยส่งออกสินค้าไปซาอุฯ ทั้งสิ้น 2,118 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นสินค้ากลุ่มอาหารและผลิตภัณฑ์ประมาณ 223.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าสำคัญ เช่น ข้าว (93.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป (61.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ผลไม้แปรรูป (16.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง (6.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ผักกระป๋องและแปรรูป (3.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และผลิตภัณฑ์ข้าว สาลี/อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ (3.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

5. ข้อเสนอแนะ/ข้อมูลเพิ่มเติม

5.1 สินค้าอาหารของไทยที่มีศักยภาพในการทำตลาดในซาอุฯ

1) ข้าวนึ่ง ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ

2) อาหารทะเลกระป๋อง (ทูน่า ซาร์ดีน)

3) สัปปะรดกระป๋อง

4) ผลไม้กระป๋องอื่นๆ

5) ผลไม้แห้ง ผลไม้สด และผักสด

6) น้ำผลไม้กระป๋อง (น้ำมะพร้าวอ่อน, น้ำมะขาม)

7) ซอส เครื่องปรุงอาหารต่างๆ

8) อาหารทะเลแช่เย็น/แช่แข็ง

9) ข้าวเกรียบญี่ปุ่น และ Snacks

10) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

11) ใบชา กาแฟ

5.2 งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารที่น่าสนใจ

ในแต่ละปี ในซาอุดีอาระเบียมีการจัดงานแสดงสินค้าเป็นจำนวนมาก ที่น่าสนใจคืองาน Food, Hotel Arabia, Saudi Agro-Food นอกจากนี้ยังมีงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก ผู้ส่งออกไทยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.acexpos.com www.recexpo.com

5.3 การชำระเงินในการสั่งซื้อสินค้า

สำนักงานฯ ขอแนะนำให้ผู้ส่งออกไทยใช้ Irrevocable Letter of Credit หรือ ขอรับเงินสดล่วงหน้า (Advance Payment) เท่านั้น ในการทำธุรกิจทั้งส่งออกอาหาร และสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะทำธุรกิจกับผู้นำเข้าซาอุฯ รายนั้นๆ มานานเพียงใด เนื่องจากนโยบายของบริษัทฯ ซาอุฯ เปลี่ยนแปลงได้โดยง่ายจากการเปลี่ยนเจ้าของ ผู้บริหาร หรือผู้จัดการ

ผู้ส่งออกไทยควรระมัดระวัง กรณีที่ผู้นำเข้าสั่งของเพิ่มในปริมาณที่มากผิดปกติ หรืออ้างว่าธนาคารปิด ไม่สามารถเปิด L/C ได้ ในซาอุฯ ธนาคารจะเปิดวันเสาร์-พุธ วันพฤหัสฯ เปิดครึ่งวัน และในแต่ละปี จะมีวันหยุดยาวปีละสองครั้งเท่านั้น คือ ช่วงวันตรุษอีดิลฟิตรี (หลังรอมฎอน) และช่วงเทศกาลฮัจญ์ เช่น ในปี 2554 อยู่ในช่วงประมาณวันที่ 29-31 สค. และ 5-9 พย. ตามลำดับ

5.4 ข้อมูลเพิ่มเติม

1) เวลาท้องถิ่นซาอุฯ ช้ากว่าเวลาประเทศไทย 4 ชั่วโมง โดยทั่วไปวันทำงานคือ วันเสาร์ ถึงวันพุธ และเอกชนบางแห่งทำงาน วันพฤหัสฯ ช่วงเช้า

2) ช่วงเดือนรอมฎอน ในซาอุฯ จะมีการปรับเปลี่ยนเวลาทำงานให้สั้นลง ทำให้การติดต่อประสานงานในช่วงเวลาดังกล่าวค่อนข้างยากลำบาก นักธุรกิจไทยควรหลีกเลี่ยงการเดินทางมาซาอุฯ ในช่วงดังกล่าว และมีความอดทนในการติดต่อธุรกิจในช่วงเวลานั้นๆ

3) ช่วงเดือนรอมฎอน เป็นช่วงที่สินค้าอาหารขายดีที่สุด เกินกว่าร้อยละ 50 ของยอดขายสินค้าฯ ทั้งหมดในแต่ละปี เกิดขึ้นช่วงเดือนนี้ ดังนั้น ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจะสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นมากช่วง 2-3 เดือนก่อนเดือนรอมฎอน

4) ผู้นำเข้าซาอุฯ มีการต่อรองราคาค่อนข้างมาก กรณีที่ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถรับราคาได้ ควรที่จะปฏิเสธการขาย การลดคุณภาพของสินค้าลง อาจจะก่อให้เกิดข้อพิพาททางการค้า อันจะส่งผลเสียต่อตัวผู้ส่งออกเอง และภาพลักษณ์ของสินค้าไทยอีกด้วย

5) กฎ ระเบียบ การนำเข้าสินค้าของซาอุฯ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยมิได้มีการแจ้งล่วงหน้า ดังนั้น สำนักงานฯ แนะนำให้ผู้ส่งออกไทยสอบถามข้อมูลล่าสุด จากผู้นำเข้าซาอุฯ ก่อนการส่งออก เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ณ เมืองท่าปลายทาง

5.5 รายชื่อผู้นำเข้าอาหารของซาอุฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ