รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 17:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศ

สิงคโปร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2554

1. การค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ ปี 2553

การค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ปี 2553 มีมูลค่ารวม 661,578.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.67 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสิงคโปร์นำเข้าจากทั่วโลกรวมมูลค่า 310,393.72 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.64 และสิงคโปร์ส่งออกไปยังทั่วโลกรวมมูลค่า 351,185.0 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.53 โดยไทยเป็นประเทศคู่ค้านำเข้าอันดับที่ 9 และประเทศคู่ค้าส่งออกอันดับที่ 10 ทั้งนี้ ประเทศคู่ค้านำเข้าและส่งออก 10 อันดับแรก พร้อมมูลค่า อัตราการเพิ่มขึ้น/ลดลง และส่วนแบ่งตลาด ดังนี้

สิงคโปร์นำเข้า ปี 2553

     ประเทศ         มูลค่า US$Mil           เพิ่มขึ้น %        ส่วนแบ่งตลาด %
1.มาเลเซีย               36,296.01           27.64              11.69
2.สหรัฐฯ                 34,848.00           22.26              11.23
3.จีน                    33,622.55           30.04              10.83
4.ญี่ปุ่น                   24,394.18           30.63               7.86
5.ไต้หวัน                 18,510.48           44.85               5.96
6.เกาหลีใต้               17,979.09            28.5               5.79
7.อินโดนีเซีย              6,822.21            18.37               5.42
8.ซาอุดิอาระเบีย           11,218.97           38.78               3.61
9.ไทย                   10,268.03           25.36               3.31
10.อินเดีย                9,216.09            64.26               2.97

สิงคโปร์ส่งออก ปี 2553

      ประเทศ        มูลค่า US$Mil       เพิ่มขึ้น  %        ส่วนแบ่งตลาด %
1.มาเลเซีย            41,887.93           35.9             11.93
2.ฮ่องกง               4,130.17          32.07            11.71

3.จีน                 36,280.06          38.33            10.33
4.อินโดนีเซีย           32,991.42          26.68             9.39
5.สหรัฐฯ              22,641.27          29.15             6.45
6.ญี่ปุ่น                16,378.53          33.73             4.66
7.เกาหลีใต้            14,336.38          14.39             4.08
8.อินเดีย              13,275.66          43.71             3.78
9.ไต้หวัน              12,791.73          47.58             3.64
10.ไทย               2,676.03           26.1              3.61

2. การค้าระหว่างสิงคโปร์กับไทย ปี 2553

การค้ารวมระหว่างสิงคโปร์กับไทย ปี 2553 มีมูลค่า 22,944.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสิงคโปร์ยังคงได้เปรียบดุลการค้ากับไทยมูลค่า 2,408.0 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.35 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นการส่งออก และนำเข้า ดังนี้

  • การส่งออก สิงคโปร์ส่งออกมาไทยคิดเป็นมูลค่า 12,676.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประเทศคู่ค้าอันดับ 1 คือ มาเลเซีย รองลงมาได้แก่ ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน และไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 10 สำหรับรายการสินค้า 10 อันดับแรกที่สิงคโปร์ส่งออกไปไทย ได้แก่ 1) แผงวงจรไฟฟ้า 2) สื่อบันทึกข้อมูล/ภาพ/เสียง 3) ส่วนประกอบ/อุปกรณ์ของเครื่องจักรกล 4) เครื่องพิมพ์และเครื่องจักรที่ใช้ประกอบการพิมพ์ 5) น้ำมันสำเร็จรูป 6) อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซีสเตอร์และไดโอด 7) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าป้องกันวงจรไฟฟ้า 8) เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า 9) ของผสมมีกลิ่นหอมใช้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 10) ส่วนประกอบ ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า ประเภทที่ 85.35-85.37
  • การนำเข้า สิงคโปร์นำเข้าจากไทยมูลค่า 10,268.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.36 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.31) โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 9 ประเทศคู่ค้าอันดับที่ 1 คือ มาเลเซีย รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย ไทย และอินเดีย สำหรับรายการสินค้านำเข้า 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) น้ำมันสำเร็จรูป 2) แผงวงจรไฟฟ้า 3) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรกล 4) เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ 5) เครื่องโทรสาร/โทรพิมพ์/โทรศัพท์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ 6) เครื่องพ่นหรือฉีดเชื้อเพลิงของเตาเผา 7) เครื่องปรับอากาศ 8) อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด 9) มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และ 10) ข้าว

3. แนวโน้มการนำเข้าสินค้าไทยของสิงคโปร์ ปี 2554 สืบเนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

(1) การนำเข้าสินค้าเกษตร และอาหาร จะได้รับผลกระทบมาก คาดว่า สินค้าที่นำเข้าจะมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 5-7 โดยเฉพาะสินค้าผัก/ผลไม้สด อาหารกระป๋อง อาหารทะเลแช่เย็น/แช่แข็ง ข้าวหอมมะลิ เนื่องจากสิงคโปร์ต้องพึ่งการนำเข้าจากไทยเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ หากราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอีก ผู้นำเข้าบางรายอาจหันไปนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆในภูมิภาคที่มีค่าเงินอ่อนลง เพื่อให้สินค้านำเข้ามีราคาที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดสิงคโปร์

(2) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม คาดว่า ปริมาณการนำเข้าจะคงที่ หรืออาจจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณการสั่งซื้อที่สิงคโปร์จะได้รับจากยุโรปและสหรัฐฯ

(3) สำหรับสินค้าชนิดอื่นๆ (นอกเหนือจากสินค้าเกษตรและอาหาร)ผู้นำเข้าสิงคโปร์อาจจะลดปริมาณนำเข้าจากไทย และหันไปนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ที่ค่าเงินแข็งขึ้นน้อยกว่าไทย (ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และจีน) รวมถึงประเทศที่มีค่าเงินอ่อนลง (เวียดนาม พม่า และฮ่องกง)

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าอื่นๆของสิงคโปร์ โดยเฉพาะจากมาเลเซีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย คาดว่า สินค้าจะมีราคาสูงขึ้นกว่าปัจจุบันประมาณร้อยละ 6-8

อนึ่ง จำนวนประชากรสิงคโปร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เป็นจำนวน 5.08 ล้านคน (มิย.53) เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้สิงคโปร์ต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นไปและสอดคล้องกับ เชื้อชาติ คือ ชาวจีนร้อยละ 74 ชาวมุสลิมร้อยละ 13 ชาวอินเดียร้อยละ 9.2 และอื่นๆร้อยละ 3.8

4. การเติบโตเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ปี 2553 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (17 กพ. 54) ได้ประกาศการเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2553 ร้อยละ 14.5 โดยการเติบโตในภาค อุตสาหกรรมสำคัญๆ(เทียบกับปีก่อนหน้า) ได้แก่ (1) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 เนื่องจากการขยายตัวของกลุ่ม Biomedical เป็นสำคัญ (2) ภาคการก่อสร้าง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 โดยมีโครงการอาคารอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์หลายโครงการ (3) ภาคธุรกิจบริการ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 โดยกลุ่มการค้าส่งและการค้า-ปลีก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 กลุ่มการขนส่งและคลังสินค้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 กลุ่มการโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ส่วนกลุ่มการบริการด้านการเงินและด้านธุรกิจ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.2 และ 5.9 ตามลำดับ

5. คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2554 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาดหวังว่า การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2554 ยังคงอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจาก (1) การสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระดับการเติบโตที่มั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสิงคโปร์ (2) ในภูมิภาคเอเชีย ความต้องการสินค้าภายในภูมิภาคจะส่งผลดีต่อการค้า Intra-regional ให้มีความคล่องตัวและส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มการค้าส่งของสิงคโปร์ (3) นักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นตัวสนับสนุนให้สิงคโปร์มีการเติบโตของกลุ่มธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว (4) ปัจจัยจากการค้าภายในประเทศ ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตของสินค้าอิเล็คทรอนิกส์และ Biomedical ที่จะเป็นตัวสำคัญส่งเสริมให้มีการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญยังคงมีอยู่ 3 ประการ คือ (1) การที่เศรษฐกิจ EU ยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้สินที่ยังคงคาราคาซังอยู่ (2) ปัญหาอัตราเงินเฟ้อในเอเชีย อาจจะทำให้เกิดนโยบายการคลังที่เคร่งครัดขึ้นอีก และ (3) ปัญหาแรงงานขาดแคลน ดังนั้น จากปัจจัยสำคัญ 3 ประการดังกล่าว ทำให้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2554 เป็นร้อยละ 4.0-6.0

6. อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ ปี 2553

หน่วยงาน Monetary Authority of Singapore (MAS) ประกาศอัตราเงินเฟ้อ ปี 2553 ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2552 (ร้อยละ 0.6) เนื่องจากการเพิ่มสูงขึ้นมากของค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมขนส่ง (+10.3%) การศึกษาและเครื่องเขียน(+2.7%) ที่พักอาศัย (+2.0%) และอาหาร(+1.4%) โดยตารางเปรียบเทียบดัชนีราคาผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อ แยกตามกลุ่มสินค้า ดังนี้

                    กลุ่ม          น้ำหนัก %     ดัชนีราคา      การเปลี่ยนแปลง อัตราเงินเฟ้อ %

พย. 53 ธค. 53 ธค.53/ ธค.53/ 2553/

พย.53 ธค.52 2552

                         รวมทุกกลุ่ม  100    104.5    104.6    0.2     4.6     2.8
อาหาร                              22      102     102.2    0.2     2.1     1.4
เสื้อผ้า และ รองเท้า                    3     102.8    99.6     -3.1    0.1     0.5
ที่พักอาศัย                            25     104.3    103.2    -1.1    5.1      2
การคมนาคมขนส่ง                      16     113.4    116.3    2.6     12.8    10.3
การโทรคมนาคม                        5      98      98.1     0.1     0.7     -2.2
การศึกษา และ เครื่องเขียน               7     103.9    103.9     -      3.7     2.7
การรักษาสุขอนามัย                      6     102.9    102.9     -      2.7     1.9
การพักผ่อน และ อื่นๆ                   16     102.4    102.7    0.3     2.1     1.2
รวมทุกกลุ่ม ยกเว้นที่พักอาศัย              80     104.6    105.1    0.5     4.3     3.3
ที่มา : Singapore Department of Statistics

7.คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 หน่วยงาน Monetary Authority of Singapore (MAS) ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 โดยจัดเป็น 2 ประเภท คือ

1) การคาดการณ์โดยใช้ระบบการคิดที่ไม่รวมถึงราคาที่พักอาศัยและรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์เดิม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.0

2) การคาดการณ์โดยรวมถึงราคาที่พักอาศัยและรถยนต์ส่วนตัว จะทำให้อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 ปรับเปลี่ยนจากร้อยละ 2.0-3.0 เป็น ร้อยละ 3.0-4.0 ทั้งนี้ คาดว่า ในช่วง 2-3 เดือนแรกของปี 2554 อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.0-6.0 และหลังจากนั้น อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับปานกลางจนถึงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 ทำให้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 เป็น ร้อยละ 3.0-4.0

(ทั้งนี้ สิงคโปร์ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ แทนการใช้อัตราดอกเบี้ย)

8.สิงคโปร์พยายามสร้างให้ประเทศเป็นศูนย์กลางแห่งการเงิน โดยการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจสำคัญและความสามารถในด้านต่างๆให้สิงคโปร์เป็น gateway สำคัญของเอเชีย และ เป็น regional financial hub ส่งผลให้ตลาดการเงินเอเชียมีการเติบโต เพิ่มเครือข่ายและมีความแข็งแกร่ง โดยประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชียจะเป็นตัวเชิญชวนสำคัญให้ทั่วโลกสนใจเข้ามาลงทุนในช่วง 10 ปีข้างหน้า และจะทำให้สิงคโปร์มีโอกาสเป็นพื้นฐานสำหรับนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในเอเชีย ทั้งนี้ สิงคโปร์มีนโยบายดำเนินการต่อไปเพื่อให้มีความแข็งแกร่งด้านการค้าและการเงิน และให้มีการสนับสนุนด้านต่างๆ ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงการจัดการ ความโปร่งใส การสร้างรายการสินค้าการเงินและการบริการเพื่อการค้า อนึ่ง สิงคโปร์เป็นแหล่งการค้าสินค้าล่วงหน้า โดยมีอัตรามากกว่าครึ่งของเอเชีย

9. สิงคโปร์มีศักยภาพในการพัฒนาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จากรายงานของบริษัท ReEX Capital Asia ได้สำรวจศักยภาพการลงทุนเพื่อพัฒนาการใช้พลังงานของประเทศ 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม โดยใช้พื้นฐานของราคาพลังงาน กฎ/ระเบียบและขนาดของตลาดในแต่ละประเทศ ปรากฎว่า แม้ว่าสิงคโปร์จะมีตลาดขนาดเล็ก แต่สิงคโปร์ใช้เทคโนโลยีและเทคนิคเพื่อใช้พลังงานอย่างประหยัดโดยสร้างมูลค่าถึง 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์) สำหรับการพัฒนาอาคารอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์ให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถประหยัดได้ประมาณปีละ 341 ล้านเหรียญสหรัฐ

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2554

1. ประสานงานการลงโฆษณางานแสดง สินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง 2554 (BIFF & BIL 2011) โดยจัดลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ The Straits Times ในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2554

2. ประสานงานเกี่ยวกับการจัดโครงการ Thailand Trade Exhibition ณ บริเวณสถานทูต ไทย และ VivoCity

3. ประสานงานเกี่ยวกับการจัดโครงการส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ต Isetan, FairPrice และ Giant

4. ประสานขออนุมัติเชิญแขก VIP และอนุมัติ ผช.ผอ. สคร.สิงคโปร์ เยือนงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair 2011 ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ — 2 มีนาคม 2554

5. ประสานขออนุมัติเชิญแขก VVIP, VIP และอนุมัติ ผช.ผอ. สคร.สิงคโปร์ เยือนงาน Made in Thailand

6. ประสานขออนุมัติจัดคณะผู้นำเข้าผลไม้สดและแปรรูป ไปเจรจาซื้อผลไม้ในประเทศไทย และอนุมัติเจ้าหน้าที่ สคร.สิงคโปร์ ดูแลคณะฯระหว่างวันที่ 8-11 มีนาคม 2554

7. ประสานการลงโฆษณางาน Bangkok RHVAC 2011 และ Bangkok E&E 2011 ในสื่อสิ่งพิมพ์สิงคโปร์

8. ประสานเชิญชวนและจัดคณะนักธุรกิจ/ผู้นำเข้าสิงคโปร์เยือนงานแสดงสินค้า Thailand International Furniture Fair 2011, Bangkok International Fashion Fair & Bangkok International Leather Fair 2011 และ Bangkok International Gifts Fair & Bangkok International Houseware Fair 2011

9. ประสานเชิญสื่อมวลชนสิงคโปร์เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Thailand Int’l Furniture Fair 2011

10. ประสานงานการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์กรมส่งเสริมการส่งออกในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศ (สิงคโปร์)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ