สถานการณ์ตลาดสินค้าเสื้อผ้าและแฟชั่นในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 8, 2011 14:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เหตุการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว และสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็คทรอนิคส์ และ IT เนื่องจากเขตโตโฮกุซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดภัยพิบัติเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังการผลิตในประเทศอื่นๆ ด้วย เนื่องจากทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนใน global supply chain

สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม แม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากเช่นอุตสาหกรรมข้างต้น แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการดับไฟเป็นระยะๆ (Rolling Blackout) ในเขตคันโต อันเนื่องจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้รับความเสียหาย ทำให้ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในฝั่งคันโตไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งส่งผลถึงโตเกียวเมืองหลวงของประเทศด้วย ทำให้ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ บริษัทสินค้าแฟชั่นและเครื่องนุ่งห่มบางรายต้องปิดสาขาชั่วคราว เช่น H&M ของสวีเดนต้องปิดร้านค้า 9 แห่งในเขตโตเกียว, Uniqlo ต้องปิดร้านค้า 28 แห่งจากทั้งหมด 823 แห่งในญี่ปุ่น เช่นเดียวกับบริษัทเสื้อผ้าแฟชั่นจากสเปนอย่าง Inditex และ Mango ต้องปิดร้านค้าบางสาขาลงชั่วคราวเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้จัดงาน Japan Fashion Week ยังได้ประกาศยกเลิกการจัดงาน ซึ่งมีกำหนดที่จัดในกลางเดือนมีนาคมในโตเกียว เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติและเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยอย่าง High end fashion จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผู้บริโภคญี่ปุ่นจะคำนึงถึงในขณะนี้ การดิ่งลงของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังเป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อ sentiment ของผู้บริโภค โดยหุ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ของบริษัทผู้ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยอย่าง Burberry ของอังกฤษ LVMH ผู้ผลิตหลุยส์วิตอง และ Tiffany ตกลงอย่างฉับพลันในเช้าวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2554 หลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น ทั้งนี้เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยที่สำคัญลำดับที่ 3 ของโลกถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ครองสัดส่วน 11 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยในโลก ซึ่งใกล้เคียงกับจีน และเป็นรองตลาดสหรัฐอเมริกาตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยที่ใหญ่ที่สุดของโลก

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่จำเป็นพื้นฐาน เช่น ชุดชั้นใน และเสื้อผ้าที่ใช้ประจำวัน จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างสินค้าเครื่องประดับและเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นอย่างเช่น ชุดว่ายน้ำ เป็นต้น อีกทั้งยังมีความจำเป็นที่ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจะต้องซื้อสินค้าจำเป็นรวมทั้งเสื้อผ้าเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหายไป

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนี้มูลค่าตลาดเสื้อผ้าของญี่ปุ่นถูกคาดการณ์ว่าจะลดลง 1.7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2011 ตามแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าของญี่ปุ่นซึ่งลดลง 8.5 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระหว่างปี 2008-2010 จาก 9,649 พันล้านเยน เหลือ 8,833 พันล้านเยน และคาดว่าภัยพิบัติจะทำให้อัตราการลดลงเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นตัวฉุดลง

ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายมูลค่า 2,212 พันล้านเยนในปี 2010 ลดลง 11.7 เปอร์เซ็นต์จากปี 2008 ทั้งนี้ 82 เปอร์เซ็นต์เป็นการนำเข้าจากประเทศจีน ในขณะที่นำเข้าจากไทยในปี 2010 มีมูลค่า 23.5 พันล้านเยน ลดลง 5.2 เปอร์เซ็นต์จากปี 2008 โดยลดลงในอัตราที่ช้ากว่ามูลค่าตลาดในประเทศและการนำเข้ารวม แต่ยังคงมีสัดส่วนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าทั้งหมดของญี่ปุ่น ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเหตุการณ์ดังกล่าวเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสื้อผ้าจำเป็นพื้นฐาน แต่อาจลดลงตามแนวโน้มตลาดในประเทศญี่ปุ่น

แหล่งข้อมูลและเอกสารอ้างอิง

1. "Japan earthquake: apparel industry impact", Leonie Barrie, 21 March 2011

2. "Luxury goods firms fear effect of Japanese disaster", guardian.co.uk, 14 March 2011

3. World Trade Atlas

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ