การค้าระหว่างประเทศของฟิลิปปินส์ เดือน ธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 4, 2011 16:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การค้าระหว่างประเทศในเดือนมกราคม — ธันวาคม 2553 เปรียบเทียบกับปี 2552

มูลค่า : พันล้านเหรียญสหรัฐ

                  ม.ค.-ธ.ค.53    ม.ค.—ธ.ค.52     % Change
   การค้ารวม        106.093          81.526        30.13
   การส่งออก         51.392          38.435        33.71
   การนำเข้า         54.701          43.091        26.94
   ดุลการค้า          -3.309          -4.656       -28.93

1.1 ปริมาณการค้า ปริมาณการค้ารวมเดือน มกราคม - ธันวาคม 2553 มีมูลค่า 106.093 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.13 จาก 81.526 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2552 โดยเป็นการส่งออก 51.392 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ นำเข้า 54.701 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับเดือนธันวาคม 2553 มีปริมาณการค้ารวม 9.092 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.29 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2552 ส่วนมูลค่าส่งออกและนำเข้าเดือนธันววาคม 2553 เท่ากับ 4.162 และ 4.930 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

1.2 การส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2553 ฟิลิปปินส์ส่งออกมูลค่า 51.392 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.71 จาก 38.435 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2552

สินค้าส่งออกที่สำคัญของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการส่งออกรวม 31.079 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.4 ของมูลค่าส่งออกรวม) เพิ่มขึ้นจาก 22.182 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งออกได้ในระยะเดียวกันของปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 40.11 สำหรับการส่งออกในเดือนธันวาคมนี้มีมูลค่าการส่งออก 4.162 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาร้อยละ 25.32 โดยที่สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักมีมูลค่าส่งออก 2,255.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาซึ่งส่งออกได้ 1,888.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 19.43 เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มในการส่งออกสดใส มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 70 ลำดับที่สองได้แก่เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มซึ่งมีมูลค่าส่งออก 137.9 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาซึ่งส่งออกได้ 131.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 5.6 ส่วนลำดับต่อมาได้แก่ไม้แกะสลักและเฟอร์นิเจอร์ไม้ มูลค่าส่งออก 113.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาซึ่งส่งออกได้ 68.21 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 65.6 สำหรับน้ำมันมะพร้าวซึ่งส่งออกได้ 105.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาร้อยละ 20.5

ตั้งแต่มกราคม —ธันวาคม 2553 ตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฟิลิปปินส์กลับมาเป็นญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 15.17 ส่วนสหรัฐอเมริกาเลื่อนลงมาเป็นลำดับที่สอง มีสัดส่วนร้อยละ 14.70 ลำดับต่อมาได้แก่ สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง มีสัดส่วนร้อยละ 14.27, 11.09 และ 8.43 ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยเลื่อนขึ้นมาเป็นลำดับที่ 8 ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.48

1.3 การนำเข้า ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2553 การนำเข้าของฟิลิปปินส์มีมูลค่า 54.701พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.94 จาก 43.091 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สินค้านำเข้าอันดับหนึ่งคือ สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ นำเข้ามูลค่า 18.550 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มีสัดส่วนร้อยละ 33.9 ของการนำเข้ารวม) นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.31 จากปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 15.167 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลำดับที่สองได้แก่น้ำมันเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 9.521 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.36 จาก 7.361 พันล้านเหรียญสหรัฐของเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ส่วนเดือนธันวาคมนี้มีการนำเข้า 4,930.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 3,936.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 25.2 โดยที่ร้อยละ 39.8 เป็นการนำเข้าวัตถุดิบ และร้อยละ 28.6 เป็นการนำเข้าสินค้าทุนที่สำคัญได้แก่ อุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมและไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 49.9 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ลำดับต่อมาได้แก่ อุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 20.1 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเข้า 940.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 สำหรับสินค้าข้าวตั้งแต่มกราคม - ธันวาคม 2553 นำเข้าแล้วเป็นมูลค่า 1,499.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 952.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 57.3

1.4 ดุลการค้า

ตั้งแต่มกราคม — ธันวาคม 2553 ฟิลิปปินส์มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกทำให้มีการขาดดุล 3.309 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งขาดดุล 4.656 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 28.93

1.5. ประเทศคู่ค้าสำคัญของฟิลิปปินส์

คู่ค้าที่สำคัญของฟิลิปปินส์ในเดือนนี้ ลำดับแรกยังคงเป็นญี่ปุ่นซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 13.71 ส่วนสหรัฐอเมริกาเลื่อนลงมาเป็นอันดับสองมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 12.64 ส่วนอันดับที่3, 4และ5 ได้แก่ สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเกาหลีใต้ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 11.80, 9.72 และ 5.71 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยเลื่อนกลับมาเป็นลำดับที่ 7 ดังเดิม โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.33

2. การค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ

                            ม.ค.— ธ.ค 53         ม.ค.- ธ.ค.52      % Change
การค้ารวม                            7,261.50         4,805.10         51.12
ไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์                    4,886.10         3,021.90         61.69
ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์                   2,375.40         1,783.20         33.21
ดุลการค้า                             2,510.70         1,238.70        102.69

2.1 ปริมาณการค้า

ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม 2553 มีมูลค่า 7,261.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.12 จาก 4,805.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2552 โดยเป็นการส่งออก 4,886.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 2,375.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในเดือนธันวาคม 2553 มีปริมาณการค้ารวม 502.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.62 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2552 ส่วนการส่งออกและนำเข้าเดือนนี้มีมูลค่า 311.5 และ 191.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

2.2 การส่งออก

ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2553 ไทยส่งสินค้าออกไปฟิลิปปินส์เป็นมูลค่า 4,886.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.69 จาก 3,021.9 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าสินค้าไทยส่งไปฟิลิปปินส์กับมูลค่าที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากทุกประเทศ คิดเป็นร้อยละ 8.9

สินค้าไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์ที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 1,012.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของมูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปฟิลิปปินส์) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 53.92 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ลำดับที่สองคือน้ำมันสำเร็จรูป มีมูลค่าส่งออก 618.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 12.6 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 349.01 สินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ ข้าวมีมูลค่าส่งออก 246.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 5.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 243.37 เนื่องจากผู้ส่งออกไทยสามารถประมูลขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังส่งออกน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น จาก 35.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 170.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 375.4 ทั้งนี้เพราะฟิลิปปินส์ประสบภาวะแห้งแล้ง ผลิตน้ำตาลได้ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค

2.3 การนำเข้า

ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2553 ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์มูลค่า 2,375.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.21 จากระยะเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งนำเข้ามูลค่า 1,783.2 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าสินค้าที่ฟิลิปปินส์ส่งมายังไทยคิดเป็นร้อยละ 4.6 ของมูลค่าส่งออกรวมของฟิลิปปินส์

สินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ที่สำคัญอันดับแรกคือ แผงวงจรไฟฟ้ามีมูลค่า 412.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 17.3 ของมูลค่านำเข้ารวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 325.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 26.76 ลำดับที่สองได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ นำเข้าเป็นมูลค่า 363.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 15.3 ของมูลค่านำเข้ารวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 217.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 67.21

2.4 ดุลการค้า

เนื่องจากไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์มากกว่านำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2553 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้ากับไทยเป็นมูลค่า 2,510.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขาดดุลสูงกว่าระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขาดดุล 1,258.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 102.69

3. การคาดการณ์ภาวะการค้า

ปี 2010 ฟิลิปปินส์ส่งออกได้ 51.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 33.7 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปีที่ผ่านมาของฟิลิปปินส์ และสูงกว่าอัตราที่รัฐบาลได้ประมาณการส่งออกของปี 2010 ไว้ที่ร้อยละ 15 สำหรับการส่งออกปี 2011 รัฐบาลได้ประมาณการว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 อันเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศมีแนวโน้มลดลง เพราะความต้องการซื้อของตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง นอกจากนี้ผลจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ของประเทศ เนื่องจากจะเกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงาน และโรงงานบางแห่งอาจจะต้องหยุดการผลิตเป็นการชั่วคราว แต่ในทางกลับกันก็อาจจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรได้แก่ผัก และผลไม้ ซึ่งจะส่งออกไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น

สำหรับสินค้าข้าวซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์โดย NFA ได้ประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติของผู้นำเข้าข้าวที่ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้รวมจำนวน 20 ราย เป็นข้าวจำนวนประมาณ 454,000 เมตริกตัน ดังนั้นผู้นำเข้าดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการนำเข้าข้าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ส่วนที่เหลืออีกจำนวนประมาณ 205,000 เมตริกตัน กำหนดให้ผู้ประสงค์นำเข้ายื่นความจำนงในวันที่ 1 พฤษภาคม นี้ ซึ่งจะได้ประกาศผลการพิจารณาให้ทราบต่อไป สำหรับสินค้าไทยที่ยังมีศักยภาพในการส่งออกไปฟิลิปปินส์เป็นอันดับหนึ่งได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งปี 2010นี้ส่งออกได้ 1,012.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 53.92 สินค้าอื่นที่มีศักยภาพรองลงมา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้าและเม็ดพลาสติก ส่วนสินค้าเกษตรได้แก่ข้าว และน้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 243.37 และ 375.49 ตามลำดับ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ