สถานการณ์สินค้ายานยนต์และยางรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เดือนพฤษภาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 7, 2011 11:13 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น

Mitsubishi Motors Corp. มีแผนที่จะปรับปรุงคุณภาพของชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถยนต์ที่ผลิตจากโรงงานในตลาดใหม่อาทิประเทศไทย จีนและบราซิล ให้มีคุณภาพทัดเทียมกับชิ้นส่วนฯที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจาก Mitsubishi ต้องการให้โรงงานทั่วโลกสามารถ Share ชิ้นส่วนฯร่วมกันได้ ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนและสามารถดึงเอาผลผลิตของโรงงานในแต่ละประเทศในโลกมาใช้แทนกันได้ โดยบริษัทเริ่มส่งวิศวกรจากประเทศญี่ปุ่นเดินทางไปยังโรงงานตลาดใหม่เพื่อตรวจสอบคุณภาพและให้คำปรึกษากับโรงงานสาขาในประเทศต่างๆแล้ว Mitsubishi ได้คัดสรรผู้เชี่ยวชาญจากโรงงานในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 30-100 คน ส่วนมากเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิศวกรรมและจัดเป็นหน่วยเคลื่อนที่ย่อยส่งไปประจำการในโรงงานของ Mitsubishi ในประเทศเศรษฐกิจใหม่

Mitsubishi ต้องการเพิ่มจำนวนการผลิตรถยนต์ในต่างประเทศเป็นจำนวน 1.58 ล้านคัน/ปี ภายในปี 2557 ซึ่งจะทำให้อัตราการผลิตรถยนต์จากโรงงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 54 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของ Mitsubishi

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของผู้ผลิตยางรถยนต์ญี่ปุ่น

TOYO Tire เพิ่มการลงทุนในประเทศมาเลเซีย อีก 2 แสนล้านเยน ในการตั้งโรงงานแห่งใหม่ โรงงานแห่งใหม่จะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2556 เมื่อแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตถึง 6 ล้านเส้น/ปีหรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของกำลังการผลิตยางของ TOYO ยางส่วนใหญ่ที่ผลิตจะถูกขายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศจีน อินเดีย และ ประเทศในกลุ่มอาเซียน นอกจากโรงงานที่มาเลเซียแล้ว TOYO ยังสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ เมือง Jiangsu ประเทศจีน มูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านเยน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะที่อุปสงค์ในประเทศญี่ปุ่นถึงจุดอิ่มตัว แต่อุปสงค์ในตลาดเศรษฐกิจใหม่นั้นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

Bridgestone คาดว่าผลประกอบการในปีนี้จะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากนโยบายปรับลดต้นทุนและราคายาง(เส้น)ในตลาดโลกที่ปรับตัมสูงขึ้นมาก แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและค่าเงินเยนที่ปรับตัวสูงขึ้น มาฉุดรั้งก็ตาม โดยบริษัทคาดการณ์ว่าจะมียอดขายถึง 1.48 ล้านล้านเยน ซึ่งจะทำให้บริษัทได้กำไร 3.5 หมื่นล้านเยน

Sumitomo Rubber จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์แห่งใหม่ที่ประเทศบราซิลซึ่งมีมูลค่าราว 2.8 หมื่นล้านเยน ซึ่งโรงงานแห่งใหม่นี้จะเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าแห่งแรกในในอเมริกาใต้ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2556 โรงงานแห่งใหม่นี้จะมีกำลังการผลิตยางรถยนต์ราว 5.8 ล้านเส้น/ปี เหตุที่บรืษัทต้องเร่งลงทุนในบราซิลเนื่องจากยางรถยนต์ที่ส่งออกจากประเทศญี่ปุ่นมีค่าขนส่งสูง ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง ประกอบกับปัญหาการแข็งค่าของเงินเยนจึงทำให้ยางรถยนต์ของบริษัทไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตท้องถิ่นในประเทศบราซิลได้

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของผู้ผลิตยางรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศไทย

JSR Corp. ผู้ผลิตยางสังเคราะห์ (solution styrene-butadiene) จะลงทุนในประเทศไทยในโครงการมูลค่า 2 หมื่นล้านเยน เพื่อผลิตยางสังเคราะห์คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2556 ร่วมกับกลุ่ม Bangkok Synthetics Co. โดยฝ่ายญี่ปุ่นจะถือหุ้นร้อยละ 51 ขณะที่ฝ่ายไทยถือหุ้นร้อยละ 49 ตามลำดับ ยางสังเคราะห์ที่ผลิตเสร็จแล้วส่วนใหญ่จะถูกส่งต่อไปยังโรงงานของ Bridgestone และโรงงานอื่นๆในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะนี้ บริษัทอยู่ในกระบวนการตัดสินใจว่า จะสร้างโรงงานขนาดกำลังผลิต 1 แสนตันเลยหรือว่าจะสร้างโรงงานขนาด 5 หมื่นตันก่อนจึงจะขยายขนาดเป็นระดับ 1 แสนตันในอนาคต

ในปีนี้ JSR Corp.ได้ลงทุนปรับปรุงโรงงานที่เมืองโยไกจิ จังหวัดมิเอะแล้วจำนวน 5 พันล้านเยนเพื่อเพิ่มการผลิตในประเทศแต่ทว่ายังไม่สามารถผลิตได้ทันต่อความต้องการของตลาดซึ่งกำลังตื่นตัวด้วยกระแสยางรถยนต์ประหยัดน้ำมัน (ในภาวะราคาน้ำมันแพง)

เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทยางรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นทุกบริษัท ต่างมีการลงทุนในโครงการใหม่เพื่อตอบรับกับการเจริญเติบโตของประเทศเศรษฐกิจใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่น่าจับตามอง เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศญี่ปุ่นหรือสหรัฐซึ่งใกล้ถึงจุดอิ่มตัว

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ