กล้วยไม้ไทย จะเบ่งบาน กลางทะเลทราย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2011 14:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์ทั่วไป

ยูเออีเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ย 20-45 องศาเซลเซียส พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ไม่เหมะในการเพาะปลูกดอกไม้ จึงนำเข้าดอกไม้สดจากต่างประเทศ ดอกไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือดอกกุหลาบ ดอกลิลลี่ และดอกเบญจมาศ เป็นต้น ดอกไม้ไทยที่นำเข้าในตลาดนี้ คือดอกกล้วยไม้ พันธุ์ที่นำเข้ามากคือ Dendrobium สีแดง ม่วง และสีขาว ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ตกแต่งร่วมกับดอกไม้อื่นๆ ประเทศคู่แข่งสำคัญของกล้วยไม้ไทยในยูเออี คือกล้วยไม้จากกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก ได้แก่ เคนย่า ซิมบับเว แทนซาเนีย อูกันดา เอธิโอเปีย มาลาวี และแซมเบีย ที่สร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกดอกไม้เป็นจำนวนหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี โดยเฉพาะเคนยาจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาการส่งออกดอกไม้ เป็นอันดับสองของโลกรองจากโคลัมเบีย โดยเฉพาะกล้วยไม้จากอัฟริกาพันธุ์ Green cymbidium ที่มีความทนทานกับอากาศร้อนได้ดีได้รับความนิยมมากในยูเออี และ กล้วยไม้พันธุ์ Phalaenopsis orchids นำเข้าทั้งต้นสำหรับใช้ตกแต่งจากไต้หวัน นั้นเป็นดอกไม้ยอดนิยม เช่นกัน นอกจากนั้น UAE ยังนำเข้ากล้วยไม้จากสิงคโปร์ มาเลเซีย และนิวซีแลนด์

ราคาจำหน่ายดอกกล้วยไม้พันธุ์ Dendrobium สีแดงม่วง สีม่วงขาว และสีขาว จำหน่ายปลีกประมาณก้านละ 60.00-90.00 บาทขึ้นไป สำหรับไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ ไทยมีคู่แข่งสำคัญเช่น ดอกเบญจมาศจากเนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ดอกกุหลาบและลิลลี่จากอินเดีย เนเธอร์แลนด์ เคนย่า เป็นต้น

ดอกไม้สดที่มีราคาแพงและมีอายุการใช้งานสั้น ไม่ค่อยได้รับความนิยมในการใช้สำหรับประดับตกแต่งบ้านเรือนมากนัก แต่มักจะใช้ในโอกาสสำคัญ เช่น งานแต่งงาน งานฉลองรับปริญญา วันเปิดร้านใหม่ ตกแต่งสถานที่ประชุมสัมมนา และงานแสดงสินค้า เป็นต้น

การนำเข้า

ยูเออีจัดเก็บสถิติการนำเข้าไม้ตัดดอกภายใต้ HS-CODE: 0603 ไม่แยกเก็บสถิติตามชนิดของดอกไม้ ปี 2009 (สถิติล่าสุด) มูลค่าการนำเข้าตลาดดอกไม้ประมาณ 19.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออัตราลดลงในเชิงมูลค่า 18.3% โดยนำเข้าดอกไม้จากประเทศ เนเธอร์แลนด์ (26%) เคนย่า (22%) อินเดีย (9%) ไทย (8%) เอธิโอเปีย และมาเลเซีย (6%) อัฟริกาใต้ (4%) โคลัมเบีย เอกวาดอร์และนิวซีแลนด์ (3%)

มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ไทยไปยูเออีเมือปี 2009 มูลค่า 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-16.5%) ปี 2010 มูลค่า 1.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-9.4%) ปี 2011 (เดือนมกราคม-พฤษภาคม) มูลค่า 0.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+0.3%)

จากการสำรวจตลาดพบว่า ดอกไม้ที่ยูเออีนิยมนำเข้า คือ กุหลาบ เบญจมาศ กล้วยไม้ คาร์เนเชั่น เยอบีร่า และแกลดิโอลัส เป็นต้น

ช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด

ผู้นำเข้าดอกไม้ส่วนใหญ่เป็นผู้ขายส่งและขายปลีก ส่วนใหญ่มีสำนักงานอยู่ในรัฐดูไบและกระจายตามเมืองสำคัญอื่น อาบูดาบี ชาร์จาห์ การส่งออกดอกไม้ของไทยไปยูเออีเป็นดอกกล้วยไม้เกือบทั้งหมด โดยมีช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด พอสรุปได้ดังนี้

                        - ผู้นำเข้า                    ร้อยละ 50
                        - ผู้ค้าปลีก                    ร้อยละ 40
                        - อื่นๆ                       ร้อยละ 10

การปลูกในประเทศ

เมืองอัลเอน (Al Ain) กรุงอาบูดาบี เป็นเมืองกสิกรรมปลูกผัก ผลไม้ สำหรับใช้ในประเทศและส่งออก มีการปลูกดอกกุหลาบสำหรับส่งออก ในปี 2009 ยูเออีสามารถส่งออกดอกไม้สดยังประเทศกลุ่ม GCC ไซปรัส และกลุ่มประเทศซีไอเอส มูลค่าประมาณ 1 แสนเหรียญสหรัฐฯไป

ภาษีและเอกสารประกอบการนำเข้า

ยูเออีเรียกเก็บภาษีนำเข้าดอกไม้ทุกชนิดในอัตราร้อยละ 5 ยูเออี และไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกในการขยายตลาดส่งออกดอกไม้ในยูเออี เนื่องจากไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกดอกไม้ไปประเทศอื่นๆ

เอกสารการนำเข้าประกอบด้วย Invoice, Certificate of Origin ประทับตรารับรอง จากหอการค้าไทย และ Legalize จากสถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในประเทศไทย Bill of Lading, Packing List และ Health Certificate ทั้งนี้การนำเข้าดอกไม้จะต้องผ่านการตรวจสอบเชื้อโรคและศัตรูพืช และต้องแสดงใบรับรอง Phytosanitary Certificate

สรุป ปัญหา และลู่ทางการขยายตลาด

1. ยูเออีเป็นตลาดที่มีการแข่งขันในด้านราคาสูง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศร้อนจัดทำให้ดอกไม้มีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น ดอกไม้สดจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้สำหรับประดับตกแต่งในบ้านเรือนมากนัก ส่วนใหญ่จะใช้ดอกไม้สดสำหรับโอกาสพิเศษและตกแต่งสถานที่ เช่น โรงแรม สำนักงาน งานแสดงสินค้า งานแต่งงาน และงานฉลองรับปริญญา เป็นต้น

2. ดอกกล้วยไม้มีรูปทรงและสีสันที่หลากหลาย สามารถนำไปใช้จัดเป็นช่อให้มีรูปแบบแปลกตาทันสมัย ใช้งานในแจกันได้นาน ถือเป็นดอกไม้ที่ตลาดมีความต้องการสูงมากในปัจจุบัน

3. ขณะนี้ดูไบนำเข้าไม้ตัดดอกจากประเทศกลุ่มอาฟริกา เช่น เคนยา เอธิโอเปีย อัฟริกาใต้ ซึ่งนักลงทุนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ไปลงทุนเพาะปลูกไม้ดอกเมืองหนาวหลายชนิดในประเทศดังกล่าว เช่น กุหลาบ เบญจมาศ เยอบีร่า ลิลลี่ กล้วยไม้ และแกลดิโอลัส เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้ดอกที่สามารถปลูกในประเทศเหล่านี้ได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกและภูมิอากาศเหมาะสม อากาศค่อนข้างเย็น ค่าแรงต่ำ จึงสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก ทำให้สินค้าสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ราคาจำหน่ายดอกกล้วยไม้พันธุ์ Dendrobium สีแดงม่วง สีม่วงขาว และสีขาว จำหน่ายปลีกประมาณก้านละ 60 - 90 บาทขึ้นไป

4. วิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อตลาดดอกไม้ในยูเออี ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ บริษัทผู้นำเข้าไม้ตัดดอกรายสำคัญในดูไบหลายรายกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2009 เป็นต้นมา ปริมาณการสั่งจัดแจกันดอกไม้สดสำหรับใช้ในโรงแรมเฉลี่ยจากที่เคยสั่งวันละ 1,000 แจกัน ลดลงเหลือประมาณ 300 แจกันต่อวัน

5. กล้วยไม้เป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศไทยปีละหลายพันล้านบาท และด้วยศักยภาพของการปลูกดอกกล้วยไม้ของผู้ผลิตไทย หลากหลายสายพันธ์ ประกอบกับเป็นดอกไม้ที่มีความทนทาน ตรงกับความต้องการตลาดดอกไม้ในปัจจุบัน หากผู้ผลิตกล้วยไม้หรือไม้ตัดดอกเพื่อการส่งออก พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น กล่าวคือ ช่อดอกยาว ดอกสะอาด สีสันสดใส แข็งแรง อายุการใช้งานทนทาน ไม่มีตำหนิ ปลอดภัยจากสารเคมีและศัตรูพืช รวมถึง การวางแผนการผลิต หีบห่อ และการขนส่ง ให้ทันกับความต้องการของตลาดในช่วงเทศกาลต่าง ๆ มีการพัฒนาไม้ดอกสายพันธุ์ใหม่ๆ สม่ำเสมอ คาดว่าจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและมูลค่าการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

6. อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของการส่งออกดอกไม้ของไทยใน UAE คือ ในช่วงปี 2553 ได้รับแจ้งจากผู้นำเข้ามากกว่า 10 บริษัทว่า บริษัท Pentipa Aroonkiatpongsa Farms และ Manyoni Agricultural Farm Thailand แอบอ้างว่าเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทย โดยได้เก็บเงินค่าสินค้าล่วงหน้าแต่ไม่ได้ส่งสินค้าให้ผู้นำเข้าในยูเออีและGCC หลังจากที่ได้ตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำให้เสียภาพลักษณ์กล้วยไม้ของไทย

ดังนั้นหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง บริษัทส่งออกกล้วยไม้และไม้ตัดดอกของไทย ที่ต้องการขยายการส่งออกสู่ตลาดนี้จะต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้วงการกล้วยไม้ไทย เพื่อกล้วยไม้ไทยจะได้ขยายตลาดใน UAE และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ