โจรสลัดโซมาเลียกับเส้นทางการค้าของโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 16, 2011 11:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จากกรณีที่เรือบรรทุกน้ำมันของยูเออีพร้อมลูกเรือ 17 คน ถูกโจรสลัดโซมาเลียยึดจับเป็นตัวประกัน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 หลังจากที่ได้มีการเจรจากัน ขณะนี้เรือดังกล่าวได้ถูกปล่อยพร้อมลูกเรือแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 แต่ไม่มีรายงานว่ารัฐบาลยูเออีได้จ่ายค่าไถ่แต่อย่างใด

สาเหตุ

โซมาเลียเป็นประเทศยากจนในทวีปแอฟริกา หลังจากที่ได้เกิดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2543 ชนเผ่าต่างๆสู้รบกันเองจนทำให้ประเทศไม่มีรัฐบาลกลางที่มีเอกภาพ ทุกเผ่าต่างแสวงหาอำนาจ ตั้งตัวเป็นใหญ่ ต่อมาเมื่อ ปี 2547 โซมาเลียประสบภัยสินามิและได้รับเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่จากต่างประเทศ แต่ได้นำเงินไปซื้ออาวุธเพื่อปล้นเรือต่างๆที่ผ่านน่านน้ำ โดยได้อ้างว่าจักรวรรดิ์นิยมมาปล้นทรัพยากรของประเทศ หลังจากมีรายได้เป็นกอบเป็นกำทหารที่แตกแถวได้เข้าร่วมปล้นเรือ และจับเรือเรียกค่าไถ่ได้เงินจำนวนหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ กองโจรสลัดจะนำเงินบางส่วนไปใช้จัดเตรียมความพร้อมสำหรับการบุกยึดเรือครั้งใหม่ ซึ่งรวมทั้งการจัดหาอาวุธที่ทรงอานุภาพกว่าเดิม เรือที่มีขนาดใหญ่และเร็วกว่าเดิม อุปกรณ์ชั้นสูงต่างๆ จนทำให้กองโจรพัฒนาเข้มแข็งขึ้นทั้งทางด้าน อาวุธ และเทคโนโลยี่จะเห็นได้ว่าเมื่อปี 2552 โจรสามารถปฏิบัติการดักปล้นกันเพียง 165 ไมล์จากฝั่ง ต่อมาปี 2553 ได้พัฒนาระยะไปได้ไกลถึง 1,100 ไมล์จากฝั่งแล้ว

โจรสลัดโซมาเลียเป็นกลุ่มคนอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งของประเทศที่มีความยาว 4 พันไมล์ มีฐานปฎิบัติการอยู่ที่รัฐ Puntland ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองทางตอนเหนือของโซมาเลีย โดยโจรสลัดเหล่านี้ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้ท่าเรืออายล์ (Eyl) และท่าเรืออื่นๆ ใช้เป็นฐานปฏิบัติการ รวมถึงนำเรือที่จับได้มาเก็บไว้ขณะที่รอเจรจาเรียกเงินค่าไถ่ มีสมาชิกมากว่า 1,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มมากว่า 10 กลุ่ม มีอุปกรณ์ไฮเทคล่าสุด รวมทั้งโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม และระบบ GPS อาวุธที่ใช้รวมทั้งอาวุธหนักอย่าง เครื่องยิงจรวด RPG กับปืนกล AK-47 มีเรือควบคุมการปฎิบัติการที่อาจแฝงมากับเรือต่างๆ บรรทุกเรือยนต์เร็วออกไปปฎิบัติการในทะเล มีสายสืบคอยแจ้งข่าวจากเมืองท่าต่างๆในอ่าวเอเดน เรือก็เป็นเรือเร็วมีเครื่องยนต์ที่ทรงพลังในการบุกเข้าหาเป้าหมาย และบางครั้งจะเป็นการปล่อยเรือเร็วออกจากเรือใหญ่ซึ่งเป็นเรือแม่ที่ลอยลำอยู่ในทะเลลึกเพื่อไปก่อเหตุ

โจรสลัดโซมาเลียส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน อายุ 20-35 ปี โครงสร้างการทำงานของกลุ่มโจรสลัดคล้ายกันเกือบทุกกลุ่ม ที่ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1) ส่วนสมอง มาจากอดีตชาวประมงที่รู้เส้นทางเดินเรือในทะเลอย่างดี จะเป็นฝ่ายวางแผน

2) ส่วนใช้แรง เป็นทหารแตกแถว หรืออดีตกลุ่มติดอาวุธ มีหน้าที่บุกจู่โจมเรือเป้าหมาย

3) ส่วนไฮเทค เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ระบบกำหนดตำแหน่งผ่านดาวเทียม หรือ GPS ฯลฯ

ความเสียหายของโลกและของไทย

สำนักงานพาณิชยนาวีระหว่างประเทศ (International Maritime Bureau) เปิดเผยว่าในปี 2552 มีเหตุการณ์ที่เรือถูกโจรสลัดโจมตีทั้งหมด 406 โดยในจำนวนนั้นมี 217 เหตุการณ์ที่เป็นฝีมือของสลัดโซมาเลีย ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 200% เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่มีเรือเพียง 111 ลำถูกโจรสลัดโซมาเลียโจมตี

เหตุการปล้นสะดมของโจรสลัดระบาดไปทั่วน่านน้ำใกล้เคียงกับโซมาเลียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่ได้มีการลาดตระเวนของกองเรือนานาชาติ เพื่อยับยั้งพฤติกรรมอุกอาจในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันกลุ่มโจรสลัดยังคงยึดเรือเดินสมุทรไว้ทั้งหมด 29 ลำ และตัวประกันอีกประมาณ 800 รายที่ครอบครัวหรือบริษัทเจ้าของเรือไม่สามารถหาเงินมาไถ่ได้

เมื่อปี 2553 บริษัทต่างๆได้จ่ายเงินค่าไถ่รวมทั้งสิ้นจำนวน 238 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ค่าไถ่จำนวนสูงสุดคือ 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่บริษัทเดินเรือสหรัฐฯได้จ่ายเพื่อให้ปล่อยเรือบรรทุกน้ำมันที่ขนน้ำมันมูลค่า 200 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา

เรือประมงไทยหลายลำที่ถูกโจรสลัดจับอาทิ เรือประมง “เอ็มวี พรานทะเล” หมายเลข 11 12 และ 14 ของบริษัท พี.ที. อินเตอร์ฟิชเชอรีย์ ถูกโจรสลัดจากโซมาเลียบุกยึดในเขตน่านน้ำของมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากชายฝั่งของประเทศโซมาเลียประมาณ 1,930 กิโลเมตร ลูกเรือทั้งหมด 77 คนถูกจับเป็นตัวประกัน ต่อมากลุ่มโจรได้นำเรือพรานทะเล 11 และ 14 เป็นเรือแม่ในการออกปล้นเรืออื่น จนกองกำลังทหารเรืออินเดียตรวจพบและทำการช่วยเหลือจนสามารถยึดเรือคืนมาได้ 1 ลำ เสียหาย 1 ลำ และช่วยชีวิตลูกเรือได้รวม 44 คน เสียชีวิต 5 คน แต่ยังคงเหลือถูกกลุ่มโจรสลัดโซมาเลียจับกุมและรอความช่วยเหลืออีก 18 คน และจนถึงในขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมา นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 23 ธันวามคม 2553 โจรสลัดได้ยึดเรือ MV THOR NEXUS พร้อมลูกเรือชาวไทยทั้งหมด 27 คนไว้เป็นตัวประกัน บริษัท THORESEN & CO. (BANGKOK) LTD.เจ้าของเรือได้เจรจาต่อรองกับกลุ่มโจรสลัดรวมระยะเวลา 110 วัน และได้จ่ายเงินค่าไถ่เพื่อให้โจรสลัดได้ปล่อยเรือ THOR NEXUS พร้อมลูกเรือทั้งหมดดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายน 2554 ที่ผ่านมา

การป้องกันและการปราบปราม

1. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีมติเรื่องการกระทำอันเป็นโจรสลัดของโซมาเลีย และเพื่อปกป้องเส้นทางการเดินเรือสายสำคัญของโลก ประเทศสมาชิกคณะมนตรีได้จัดตั้งกองเรือนานาชาติอันประกอบด้วยเรือสหรัฐ รัสเซีย อินเดีย NATO อิหร่าน จีน เกาหลีไต้ และไทย ในการให้ความร่วมมือลาดตระเวนดูแลพื้นที่ในน่านน้ำโซมาเลีย อ่าวเอเดน มหาสมุทรอินเดีย และสามารถใช้มาตรการที่เห็นสมควรจัดการกับกลุ่มโจรได้ตามดุลยพินิจ เพื่อป้องกันโจรสลัดโจมตีเรือสินค้าที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นประจำ ที่แต่ละปีมีเรือบันทุกน้ำมัน เรือสินค้า เรือยอชท์ประมาณ 2 แสนลำผ่านเส้นทางนี้ นอกจากนี้สหประชาชาติยังได้ออกมติให้เรือรบของกองเรือนานาชาติให้สามารถไล่ติดตามโจรสลัดได้ แม้ว่าโจรสลัดจะหนีขึ้นบกก็จะสามารถส่งกองทหารหรือหน่วยปราบปรามโจรสลัดขึ้นไล่ล่าบนฝั่งได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นการไล่ล่าต่อเนื่องจากทะเลขึ้นฝั่ง และจะต้องแจ้งให้รัฐบาลประเทศชายฝั่งทราบเร็วที่สุด ก่อนที่โจรสลัดจะถือโอกาสหนีขึ้นฝั่งและกองเรือนานาชาติก็ไม่สามารถจัดการได้

2. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 มีรายงานผลการประชุม Contact Group on Piracy off the Coast of Somalia (CGPCS) ที่สหรัฐฯ มีแผนจัดการฐานข้อมูลของโจรสลัดโซมาเลียในปี 2554 โดยจะรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย รหัสสารพันธุกรรม (DNA) ชื่อ หมายเลขหนังสือเดินทาง และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นเส้นทางการเงินที่สนับสนุนโจรสลัดโซมาเลีย และใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับหน่วยงานปราบปรามโจรสลัดด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน CGPCS มีข้อมูล DNA ของโจรสลัดโซมาเลียแล้ว 480 คน

3. จนถึงขณะนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ตัดสินลงโทษโจรสลัดโซมาเลีย ศาลสหรัฐตัดสินเมื่อเดือนมีนาคมจำคุกโจรสลัดโซมาเลีย 5 คนตลอดชีวิต บวกอีก 80 ปีโทษฐานโจมตีเรือของกองทัพเรือ ส่วนเดือนเมษายนโจรสลัดโซมาเลีย 1 คนถูกศาลวอชิงตันตัดสินจำคุก 25 ปี จากการจับเรือพาณิชย์และลูกเรือไว้เป็นตัวประกันนาน 71 วัน และเมื่อต้นเดือนศาลสเปนตัดสินจำคุกโจรสลัดโซมาเลีย 2 คนรวมกัน 439 ปี จากการจี้จับเรือประมงและลูกเรือเมื่อปี 2552

ผลกระทบต่อโลก/ไทยและการป้องกัน

1) ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากกลุ่มสลัดโซมาเลียไถ่ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ค่ามาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม ค่าพรีเมี่ยมประกันภัย ฯลฯซึ่งบริษัทชิปปิ้งจะบวกรวมเป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากลูกค้า มีการประเมินว่าเงินประกันภัยที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ประชาคมโลกหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในโซมาเลีย โดยเฉพาะยุโรปที่ประกอบการค้าทางเรือ 80% ผ่านอ่าวเอเดน

2) ปัญหาโจรสลัดโซมาเลีย ทำให้เกิดความสูญเสียต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก และความไม่ปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน อันส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในเรื่องของการส่งสินค้าทางทะเล การประมงนอกน่านน้ำของไทย และนานาประเทศเป็นอย่างมาก จนกระทั่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีมติให้ประเทศสมาชิกคณะมนตรีให้ความร่วมมือในการลาดตระเวนดูแลพื้นที่ในน่านน้ำโซมาเลีย และสามารถใช้มาตรการที่เห็นสมควรจัดการกับกลุ่มโจรได้ตามดุลยพินิจ

3) เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลไทยจึงได้เห็นชอบอนุมัติให้กองทัพเรือไทยส่งเรือหลวงสิมิลัน และเรือหลวงนราธิวาสพร้อมเฮลิคอปเตอร์ แบบเบลล์ 212 ชุดซีลทีมจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ และกำลังพลประจำเรือจำนวน 368 นาย เดินทางไปสนธิกำลังร่วมกับกองกำลังผสมนานาชาติปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย เป็นครั้งที่ 2 เพื่อสกัดกั้นและปราบปรมโจรสลัดน่านน้ำชายฝั่งโซมาเลีย อ่าวเอเดน และมหาสมุทรอินเดีย

4) เรือประมงไทยที่ออกไปจับปลาในเขตอันตรายดังกล่าว จะต้องมีความระมัดระวัง เรียนรู้ลักษณะต่างๆ ของโจรสลัดที่สามารถสังเกตได้ เช่น ลักษณะเรือ คนในเรือ และอุปกรณ์ที่อยู่ในเรือ รับทราบคำแนะนำการปฏิบัติหากถูกโจรสลัดเข้าปล้นยึด และติดต่อกองเรือคุ้มกันเพื่อแจ้งพิกัดเรือเสมอ

5) ระบบป้องกันโจรสลัดรุ่นล่าสุด เพื่อช่วยเรือเดินสมุทรสู้รบ หรือหลบหนีจากการปล้นสะดม เป็นระบบเตือนภัยที่จะส่งสัญญาณ เมื่อเรือขนาดเล็กที่ไม่ตอบสนองต่อระบบสัญญาณวิทยุสื่อสารโดยทั่วไปเข้ามาใกล้ หรือมีเรือซึ่งเคลื่อนที่ และเร่งความเร็วผิดปกติ ในทันทีที่พบเรือแปลกปลอมเข้ามาในระยะประชิด ระบบดังกล่าวจะส่งสัญญาณเตือนโดยอัตโนมัติไปยังห้องควบคุมในเรือเพื่อสั่งการปืนพลังน้ำแรงดันสูงบนดาดฟ้าเรือที่สามารถยิงได้ไกลถึง 70 เมตร วิธีนี้ลูกเรือจะปลอดภัยจากการต่อสู้

6) ปัจจุบันปัญหาเรื่องโจรสลัดโซมาเลียมีผลประโยชน์และเงินทองทับซ้อน มีผู้ร่วมผลประโยชน์ในเรื่องนี้จำนวนมาก ซึ่งมิใช้แต่พวกโจรสลัดในโซมาเลีย มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ทั่วโลก ทั้งในรูปของรัฐบาล ภาคเอกชน กลุ่มนายหน้า ผู้สั่งการ บริษัทไถ่เรือ บริษัทประกันภัย ผู้ทำหน้าที่เจรจา เอ็นจีโอ และอีกมากมาย ทางออกของปัญหานี้อีกทางที่น่าพิจารณาคือ เหมือนอย่างที่รัฐบาลของบางประเทศให้ประกาศห้ามไว้อย่างชัดเจนแล้ว การห้ามไม่ให้เรือสัญชาติของตนเองทุกชนิดเข้าใกล้น่านน้ำโซมาเลียโดยเด็ดขาด

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ