การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 29, 2011 11:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ส่งออกลดลง-นำเข้าเพิ่มขึ้น

การส่งออกของจีนในเดือน ตุลาคมเข้าสู่จุดที่ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ซึ่งส่งผลให้เกิดความกังวลใจว่าอาจก่อให้เกิดการดึงรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ด้านการนำเข้านั้นกลับกระโดดเพิ่มขึ้นมามากว่าที่คาดหมาย ตัวเลขจากศุลกากรจีนเผยว่า การส่งออกของจีนเพิ่มขึ้น 15.9 เปอร์เซ็นต์ในเดือนตุลาคม ปีต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 157,490 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตกลงมาจากเดือนกันยายน ซึ่งมีมูลค่า 169,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และครั้งนี้ถือว่าตกต่ำมากสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่มีการส่งออกลดตกต่ำลงถึง 2.4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากเศรษฐกิจขาลงของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าใหญ่สุดของจีน ตัวเลขการขนส่งสินค้าลงเรือไปขายยังสหภาพยุโรปตกลงมาอยู่ที่มูลค่า 28,740 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม จาก 31,610 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ส่วนตัวเลขการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 28,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม เทียบกับเดือนกันยายนจะอยู่ที่ 30,110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนการนำเข้าในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 28.7 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 14,046 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้อยกว่าเดือนกันยายนที่มีมูลค่า 155,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าการคาดการณ์ที่บอกว่าจะอยู่ที่เพียง 23.0 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สำหรับมูลค่าได้เปรียบดุลการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองนั้น จีนยังคงได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม เป็นมูลค่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่า 14,510 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม การได้เปรียบดุลการค้าของจีนในเดือนตุลาคมนั้นถือว่าน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีมูลค่า 24,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้จีนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการควบคุมเงินเฟ้อ รัฐบาลจีนจึงได้ระดมสารพัดมาตรการคุมราคาสินค้าและราคาอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา โดยสั่งให้ธนาคารสำรองเงินสดไว้ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อดึงดูดให้คนนำเงินมาฝากมากขึ้น มาตรการค่อนข้างได้ผลเมื่อเงินเฟ้อชะชอตัวช้าลงในเดือนตุลาคมจากเดือนก่อนหน้าราคาขายอสังหาริมทรัพย์ก็ลดต่ำลงทั่วแผ่นดินจีน ซึ่งส่งผลให้การผลิตในโรงงานห้างร้านต่าง ๆ ชะลอตัวตามไปด้วย

นายจง ชาน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการนำเข้าและการส่งออกอย่างเท่าเทียมกัน นายจง กล่าวระหว่างการประชุมด้านการนำเข้าซึ่งจัดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 31 กันยายน ว่า ตั้งแต่จีนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) และการนำเข้าก็มีบทบาทในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วและมั่นคง แต่นโยบายการนำเข้าของจีนยังต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างการนำเข้าของประเทศให้เหมาะสมยิ่งกว่านี้ โดยรัฐบาลจีนกำลังพิจารณาใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาษี และวิธีการที่จะเพิ่มช่องทางหมุนเวียนการนำเข้าในประเทศและการส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้า (การค้า)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และสร้างความสมดุลของการค้า

ในขณะที่วิกฤติหนี้ทั่วโลก ส่งผลด้านลบต่อความต้องการสินค้าจีนและส่งออก"การขยายการนำเข้าจะสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศ" นายจงกล่าวว่า "ขณะเดียวกันประเทศก็มุ่งมั่น ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างการจัดการนำเข้า และการนำเข้าเทคโนโลยีอุปกรณ์ทรัพยากร และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทันสมัยมากขึ้นใน 5 ปีถัดไป" "หากไม่ขยายการนำเข้า จีนคงไม่สามารถรักษาดุลการค้าระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน" นายจงกล่าว

ล่าสุดในแผนห้าปี สมัยที่ 12 (พ.ศ. 2554-2568) ประเทศจะให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลการนำเข้าและการส่งออก โดยด้านหนึ่งขยายการนำเข้าสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงและพลังงาน และอีกด้านก็เพิ่มการนำเข้าจากบรรดาประเทศที่ขาดดุลการค้ากับประเทศจีนอยู่

เมื่อเช้าวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2554 นายสั่น ตันหยัง โฆษกของกระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวในงานแถลงข่าวว่า เค้าโครงของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมห้าปี ฉบับที่ 12 เสนอว่าจีนจะขยายการนำเข้าสินค้าบริโภคเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการดุลของการค้าระหว่างประเทศ

นายสั่น ตันหยัง กล่าวว่า การปรับลดภาษีการนำเข้าของสินค้าบริโภคเป็นวิธีสำคัญ แต่ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะช่วยการเพิ่มการนำเข้าของสินค้า การเปลี่ยนความคิดการบริโภค การส่งเสริมให้รัฐบาลและวิสาหกิจต่างชาติมาจัดงานส่งเสริมการค้า และสนองสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่ดีให้แก่วิสาหกิจต่างชาดิก็ถือเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยขยายการนำเข้าของสินค้าบริโภคได้เช่นกัน

นายสั่น ตันหยังยังกล่าวว่า มองจากสภาพโดยรวมแล้ว การดำเนินการค้าระหว่างประเทศของจีนยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างดี แต่เนื่องจากสภาพการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศค่อนข้างผันผวน โดยเฉพาะ 2-3 เดือนนี้ ปัจจัยที่ไม่แน่นอนที่สามารถส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของจีนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทางจีนคาดการณ์ว่า สภาพการนำเข้าและการส่งออกของจีนในไตรมาสที่ 4 และปีหน้า โดยเฉพาะไตรมาสแรกของปีหน้าจะตกอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงพาณิชย์จีนจะพยายามรักษาการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้มีความมั่นคง ขณะเดียวกัน จะขยายการนำเข้าอย่างแข็งขัน เร่งปรับรูปแบบการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ และผลักดันการค้าระหว่างประเทศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ตั้งไว้

โอกาสทองในการส่งออกสินค้าไทยมายังประเทศจีนเพิ่มขึ้น

เป็นโชคดีของประเทศไทยที่สินค้านำเข้าหลายอย่างของจีน เป็นสินค้าที่ไทยสามารถผลิตและส่งออกไปขายได้ การเปิดตลาดในประเทศจีนก็ไม่ได้ยุ่งยาก แนวโน้มการส่งออกไปจีนปีนี้ยังคงมีทิศทางการเติบโตต่อเนื่องและน่าจะขึ้นสู่ตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย) จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนหันมาให้ความสนใจประเทศจีนอย่างจริงจังมากขึ้น

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยด้วยอัตราเร่งยังคงเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรที่จีนกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนหลังจากที่พื้นที่เพาะปลูกของจีนในหลายมณฑลได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรของไทยไปยังจีนในเดือนมิถุนายน 2554 ขยายตัวกว่า 1 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าเกษตรที่เติบโตถึงร้อยละ 40.2 ยังผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งแรกปีนี้ เติบโตดีเกินคาดในระดับร้อยละ 23.8

ลู่ทางและอนาคตของตลาดผลไม้ไทยในจีน

ปัจจุบัน ไทยส่งออกผลไม้ไปยังจีนประมาณ 200,000-300,000 ตัน/ปี สินค้าผลไม้ที่จีนอนุญาตให้นำเข้าจากไทยได้มีจำนวน 23 ชนิด ในจำนวนนี้ มีลำไย ทุเรียน มังคุด กล้วยไข่ ส้มโอ ลิ้นจี่ ชมพู่ เงาะ มะม่วง น้อยหน่า และลองกอง ที่ผู้ประกอบการได้นำเข้ามายังตลาดจีนแล้ว ส่วนผลไม้ประเภทอื่น ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน รวมทั้งผู้ประกอบการนำเข้าในจีนก็ยังไม่มีใบอนุญาตนำเข้าด้วย ทางด้านการขนส่งนั้น ผลไม้ประเภทชมพู่ เงาะ มะม่วง น้อยหน่า และลองกอง จะทำการขนส่งทางเครื่องบิน เนื่องจากเน่าเสียง่าย ส่วนผลไม้ประเภทอื่นส่วนใหญ่จะทำการขนส่งทางเรือ สำหรับสินค้าประเภทผัก มีการส่งออกน้อยมาก เนื่องจากจีนสามารถเพาะปลูกผักได้มากอยู่แล้ว โดยจีนเป็นประเทศผู้ผลิตผักได้มากที่สุดในโลก และหลังจากเปิด FTA กับไทย จีนก็ส่งออกสินค้าผักมายังประเทศไทยเป็นปริมาณมาก

ผู้ประกอบการรายใหม่ที่คิดจะส่งออกผลไม้ไทยมายังจีนจำเป็นที่จะต้องรู้จักวิธีการดูแลและถนอมผลไม้ที่ตนจะนำเข้าเป็นอย่างดี เนื่องจากผลไม้มีอายุสั้น ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ ความเข้าใจในตลาดจีนเป็นอย่างดี ต้องรู้ว่าจะนำสินค้าไปขายที่ไหน และต้องหาคู่ค้าที่ดี ที่รู้จักผลไม้ไทยและความต้องการของตลาดต่าง ๆ ในจีน อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ ควรจะ “ซื้อมาและขายเอง” นอกจากนั้น ควรรู้จักติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเองด้วย

ผลไม้ที่มีแนวโน้มการส่งออกลดลงได้แก่ ลำไย และลิ้นจี่ โดยลำไยนั้น จีนมีการผลิตมากขึ้น และทางเวียดนามก็ส่งออกมายังจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็มีการพัฒนาคุณภาพขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนลิ้นจี่นั้น การส่งออกจากไทยมายังจีนลดลงมาก โดยสาเหตุหนึ่งก็เพราะจีนมีพันธุ์ลิ้นจี่ที่ผลิตออกวางตลาดก่อนไทย ทำให้ลิ้นจี่จากไทยขายได้ยากขึ้น สำหรับผลไม้ที่ยังมีแนวโน้มการส่งออกที่ดี ได้แก่ ทุเรียน และมังคุด นอกจากนี้ กล้วยก็เป็นผลไม้ที่มีการส่งออกเรื่อย ๆ โดยตลาดกล้วยไทยในจีน จะเป็นตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยจะเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากกล้วยไทยมีคุณภาพและราคาสูงสุดในตลาด เมื่อเทียบกับกล้วยจากเวียดนามและฟิลิปปินส์

สคต.เซี่ยเหมินเห็นว่า อย่างไรก็ตาม โอกาสของผลไม้ไทยในตลาดจีนยังมีโอกาสสูง เนื่องจากผลไม้ไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มมากขึ้นหลายชนิดและสามารถขยายตลาดไปตามเมืองต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนักธุรกิจไทยไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะผู้บริโภคในเมืองที่มีการกระจุกตัวของผลไม้ไทยมากอยู่แล้วและยังมีการแข่งขันสูง เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เพราะขณะนี้ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองชั้นในของจีน อาทิเช่นเมืองฉงชิ่ง เมืองต้าเหลียน เมืองชิงเต่า เมืองเซี่ยเหมิน เมืองอี้อู เป็นต้น มีศักยภาพในการบริโภคสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเข้าไปทำตลาดในเมืองดังกล่าว จึงถือเป็นการเปิดเกมรุกตลาดผลไม้ในจีนก่อนคู่แข่ง ส่งผลให้ผลไม้ไทยสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเดิมและสามารถขยายตลาดไปตามเมืองต่างๆ ทั้งภาคตะวันตก ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและขยายโอกาสทางการค้าของผลไม้ไทยในตลาดจีนได้มากขึ้น จึงควรที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ภาคเกษตรกร ชาวสวน จะได้ร่วมมือกันส่งเสริมผลักดันและขยายตลาดการส่งออกผลไม้ไทยในจีนให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลการนำเข้าผลไม้และสินค้าเกษตรเพิ่มเติม

General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine: AQSIQ ได้ประกาศ “วิธีการบริหารควบคุมตรวจสอบและกักกันโรคในผลไม้ที่นำเข้า” เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2548

โดยให้วิธีการดังกล่าวเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา มีผลใช้บังคับกับผลไม้ทุกชนิดที่นำเข้ามายังสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามขั้นตอน ดังนี้

ผู้นำเข้าผลไม้ไทย จะต้องจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกและและขอใบอนุญาตการนำเข้าผลไม้ (Import Permit) จาก AQSIQ ที่ กรุงปักกิ่ง หรือ AQSIQ ประจำมณฑลต่างๆ ก่อนการลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงการซื้อขายผลไม้กับผู้ส่งออกไทย ผู้นำเข้าจีนที่ได้รับใบอนุญาตการนำเข้าและทำสัญญาหรือข้อตกลงการซื้อขายผลไม้กับผู้ส่งออกไทย เป็นผู้ดำเนินพิธีการตรวจสอบคุณภาพของผลไม้และพิธีการศุลกากร

AQSIQ - กรุงปักกิ่ง เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาออกใบอนุญาต โดยจะแจ้งผลการการพิจารณาอนุญาตให้ AQSIQ ประจำมณฑลต่างๆ ที่ได้รับคำขอทราบด้วย ซึ่งปกติจะใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ ใบอนุญาต มีอายุการใช้งานภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันที่ได้รับอนุญาต และสามารถยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตล่วงหน้าก่อนใบอนุญาตเดิมจะหมดอายุ 1 เดือน โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการนำเข้า แต่ปริมาณการนำเข้าจะต้องไม่เกินจำนวนที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า และ หากมีการเปลี่ยนแปลงรายการใดๆ เช่น ประเภทสินค้า ปริมาณและน้ำหนักของสินค้า หรือท่าเรือนำเข้า จะต้องยื่นขอใบอนุญาตการนำเข้าใหม่

เอกสารที่ใช้ในการดำเนินการด้านพิธีการนำเข้าผลไม้ของจีน

  • Quarantine Certificate จาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรของไทย
  • Certificate of Origin จาก กระทรวงพาณิชย์
  • Trade Contract (เอกสารระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย)
  • Letter of Credit
  • Invoice/Bill of Lading

ที่มา: 1.www.chineseinfo.com

2.www. Moneychanel.com

3.www.thaibizchina.com

4.www.nbd.com.cn

5.www.chinanew.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ.เมืองเซี่ยเหมิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ