คณะผู้แทนระดับสูงของอินเดียเดินหน้าเจรจาสหรัฐอเมริกา กรณีถูกเรียกเก็บอากร CVD สินค้าเหล็กไม่เป็นธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 8, 2011 14:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

คณะผู้แทนระดับสูงของอินเดียนำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม (Mr. Rahul Khullar) เดินทางไปเจรจากับกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สัปดาห์นี้ เพื่อหาข้อยุติกรณีที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บอากร CVD (อากรตอบโต้การอุดหนุน) สินค้าเหล็กของอินเดียอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าหากไม่สามารถตกลงกันได้ รัฐบาลอินเดียจะนำเรื่องนี้ขึ้นฟ้องร้องต่อองค์กรระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Mechanism) ภายใต้องค์การการค้าโลกต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2551 สหรัฐอเมริกาได้เรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุนจากบริษัท Essar Steel ของอินเดียในอัตรา 21.95% และเมื่อเดือนมกราคม 2554 สหรัฐอเมริกาได้ประกาศทบทวนและเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุนจากบริษัท Tata Steel เพิ่มขึ้นเป็น 586.43%

การไต่สวนและเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุนดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาทำให้รัฐบาลอินเดียเกิดเความไม่พอใจและตั้งใจที่จะนำประเด็นดังกล่าวยื่นฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก แต่ก่อนที่จะดำเนินการต่อไปรัฐบาลอินเดียจะขอเจรจากับสหรัฐอเมริกาก่อน หากตกลงกันไม่ได้ก็จะเดินหน้ายื่นฟ้องร้องต่อไป

สำหรับประเด็นที่รัฐบาลอินเดียตอบโต้ว่าสหรัฐอเมริกาเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรมนั้น เนื่องจากรัฐบาลอินเดียเห็นว่าสหรัฐอเมริกาตีความคำว่า "การอุดหนุน" กว้างเกินไป ซึ่งการอุดหนุนตามคำจำกัดความของสหรัฐอเมริกาได้รวมถึงสิทธิประโยชน์สิ่งจูงใจเพื่อการส่งออก (Export Incentives) ทั้งหมดที่บริษัทผู้ผลิตผู้ส่งออกได้รับจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลของรัฐ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ได้รับตาม พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) นอกจากนั้นยังรวมถึงการจัดซื้อจากหน่วยงานที่เป็นของรัฐหรือการกู้เงินจากธนาคารของรัฐอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้สหรัฐอเมิรกาได้นับรวมอยู่ในส่วนที่เป็น "การอุดหนุนจากรัฐบาล" ทั้งสิ้น โดยรัฐบาลอินเดียเห็นว่าควรจำกัดขอบเขตคำจำกัดความของ "การอุดหนุน" ให้แคบลงกว่านี้ซึ่งจะทำให้อัตราอากรตอบโต้การอุดหนุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่ำลงหรืออยู่ในระดับต่ำกว่า de minimis (ต่ำกว่า 2% สำหรับประเทศกำลังพัฒนา) ซึ่งก็คือ ไม่ต้องจ่ายอากรตอบโต้ดังกล่าวนั่นเอง

นอกจากปัญหาเรื่องการตีความคำว่า "การอุดหนุน" ดังกล่าวแล้ว รัฐบาลอินเดียจะชี้แจงให้สหรัฐอเมริกาเข้าใจมากขึ้นในประเด็นเกี่ยวกับการที่บริษัทผู้ผลิตผู้ส่งออกเหล็กของอินเดียซื้อสินแร่เหล็ก (Iron Ore) จากบริษัท NMDC Limited ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลสังกัดกระทรวงเหล็ก (Ministry of Steel) โดยรัฐบาลอินเดียได้เปิดเผยว่าบริษัทดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นบริษัทของรัฐบาล แต่ราคาสินแร่เหล็กที่ขายให้กับ Essar Steel และ Tata Steel ก็เป็นราคาตลาดและรัฐบาลไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการกำหนดราคาแต่อย่างใด ซึ่งประเด็นนี้ รัฐบาลอินเดียมีความหวังว่าจะชนะคดีต่อสหรัฐอเมริกาถ้าหากมีการยื่นเรื่องฟ้องร้องไปถึงองค์การการค้าโลก เนื่องจากองค์กรอุทธรณ์ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO Appellate Body) เพิ่งมีคำตัดสินเกี่ยวกับคดีการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) เมื่อเดือนที่แล้ว ให้จีนเป็นฝ่ายชนะคดีต่อสหรัฐอเมริกาในรูปคดีที่ใกล้เคียงกับของอินเดีย โดยมีความเห็นว่าการที่จะตีความว่ารัฐบาลทำการควบคุมราคาโดยผ่านบริษัทของรัฐบาลได้นั้น รัฐบาลจะต้องมีการมอบอำนาจให้บริษัทดังกล่าวด้วย การที่รัฐบาลเพียงเป็นเจ้าของบริษัทหรือควบคุมบริษัทอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะบอกว่ารัฐบาลได้ทำการควบคุมราคาเพื่อประโยชน์ในการให้การอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมภายใน

ในส่วนของบริษัท Essar Steel ที่ถูกสหรัฐอเมริกาเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD: Counterveiling Duty) ในอัตรา 21.95% นั้น อัตราอากรดังกล่าวถูกคำนวณมาจากผลประโยชน์ที่บริษัทฯ ได้รับจากสิทธิประโยชน์ด้านการส่งออกจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลของรัฐ (Export Incentives) ต่างๆ เช่น Shipment Export Credit, Export Promotion Capital Goods Scheme, Special Economic Zone (SEZ) Act 2005, Gujarat SEZ Act และราคาสินแร่เหล็กที่ซื้อจากบริษัท NMDC Limited ที่สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าเป็นราคาที่รัฐบาลอินเดียให้การอุดหนุนให้ซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก

ส่วนบริษัท Tata Steel ซึ่งเพิ่งถูกทบทวนและถูกปรับอัตรา CVD ขึ้นไปถึงระดับ 586.43% นั้น อัตราอากรดังกล่าวก็ถูกคำนวณมาจากผลประโยชน์ที่บริษัทฯ ได้รับจากมาตรการส่งเสริมการส่งออกต่างๆของรัฐบาลอินเดียเช่นกัน เช่น เงินกู้ที่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลอินเดียผ่านธนาคารของรัฐ เงินกู้จากกองทุนพัฒนาเหล็ก (Steel Development Fund) การได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ภายใต้ Section 80 HHC ความช่วยเหลือจากโครงการพัฒนาตลาดและการเข้าตลาดโดยกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย ราคาสินแร่เหล็กที่ซื้อจากบริษัท NMDC Limited ที่สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าเป็นราคาที่รัฐบาลอินเดียให้การอุดหนุนให้ซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก เป็นต้น

นอกจากประเด็นเรื่องการถูกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ที่ไม่เป็นธรรมจากสหรัฐอเมริกาแล้ว คณะผู้แทนระดับสูงของอินเดียก็จะยกประเด็นเรื่องการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti Dumping Duty) ที่ซ้ำซ้อนอีกด้วย โดยระบุว่าการอุดหนุน (Subsidy) และการทุ่มตลาด (Dumping) จะต้องพิจารณาแยกจากกัน ถึงแม้ว่าองค์กรอุทธรณ์ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO Appellate Body) จะอนุญาตให้ใช้มาตรการเยียวยาด้วยการเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สำหรับสินค้าที่ถูกไต่สวนเดียวกันก็ตาม เพราะวัตถุประสงค์ในการใช้มาตรการมีความแตกต่างกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาเพิ่งประกาศไต่สวนชั้นต้น ทั้งการอุดหนุน (CVD) และการทุ่มตลาด (AD) สำหรับสินค้าเหล็กจากอินเดีย คือ Circular Welded Carbon-Quality Steel Pipe รวมทั้งจากประเทศโอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียตนาม อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเหล็กอีกชนิดหนึ่งของอินเดีย คือ Cut-to-Length Carbon Steel Plate ที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศผลขั้นสุดท้ายการทบทวนครั้งที่สอง (Second Review) ไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 โดยบริษัทผู้ผลิตผู้ส่งออกของอินเดียทุกบริษัทต้องถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตรา 42.39% และเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ประกาศผลขั้นสุดท้ายการทบทวนครั้งที่สาม (Third Review) สินค้าเหล็กของอินเดีย คือ Stainless Steel Wire Rod โดยบริษัทผู้ผลิตผู้ส่งออกของอินเดียทุกบริษัทต้องถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ในอัตรา 48.8% ทุกบริษัmถ้าส่งออกไปสหรัฐอเมริกา

อินเดียมีการส่งออกเหล็กไปทั่วโลกระหว่างปี 2553-2554 มีมูลค่า 9.45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2552-2553 ถึง 109.27% โดยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในช่วงปีดังกล่าวเป็นมูลค่า 484 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 5.12% ของมูลค่าการส่งออกรวม แม้ว่าแนวโน้มการส่งออกเหล็กของอินเดียไปทั่วโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกไปสหรัฐอเมริกาอาจจะมีทิศทางตรงกันข้ามเนื่องจากสหรัฐอเมริกามีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลอินเดียไม่สามารถอดทนต่อไปได้จนต้องเดินทางไปเจรจา และหากว่าไม่ประสบความสำเร็จก็จะเดินหน้าไปยื่นฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลกต่อไป

อินเดีย ถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 12 ของสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2553 รวม 48.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอินเดียเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 10.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อินเดียส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในปี 2553 มูลค่า 29.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากสหรัฐอเมริกามูลค่า 19.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนมูลค่าการค้าบริการ (Trade in Services) รวม 22.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ