กฎหมายป้องกันการค้าไม่เป็นธรรมของสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 27, 2011 14:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเป็นมา

ตามที่รัฐบาลมลรัฐหลุยส์เซียน่าและมลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯ ได้ปรับปรุงกฎหมาย การแข่งขันด้านธุรกิจค้าให้เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการสหรัฐฯ เมื่อเดือนกกรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา โดยได้เพิ่มมาตรการในด้านการคุ้มครองลิขสิทธิ์การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในด้านซอฟท์และฮาร์ดแวร์ให้แก่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ และเปิดโอกาสให้ประกอบการสหรัฐฯสามารถดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายเรียกร้องค่าเสียหายได้ จากผู้ผลิต/ส่งออก ในต่างประเทศที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ซึ่งใช้ซอฟท์แวร์/ฮาร์ดแวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบการสหรัฐฯ

ความคืบหน้า

ปัจจุบัน รัฐบาลระดับมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้หันมาให้ความสนใจต่อกฎหมายความ เป็นธรรมในการดำเนินการค้าและมีการดำเนินการ ดังนี้

๑. อัยการสูงสุดรัฐ (State Attorneys General) จำนวน ๓๕ มลรัฐของสหรัฐฯ ร่วมกันลงนามในหนังสือเป็นทางการถึงสำนักงาน Federal Trade Commission (FTC) ขอให้ FTC ใช้อำนาจพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย Federal Trade Commission Act ให้มีมาตรควบคุมเข้มงวดมากยิ่งขึ้น และให้ครอบคลุมไปถึงด้านการละเมิดลิขสิทธิ์การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในด้านซอฟท์และฮาร์ดแวร์ของผู้ประกอบการในต่างประเทศซึ่งส่งสินค้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ

๒. การแก้ไขกฎหมายของมลรัฐวอชิงตันและหลุยส์เซียน่า นับได้ว่าเป็นแม่บทของการ เปลี่ยนแปลงในอนาคตของสหรัฐฯ กลุ่มอัยการสูงสุดรัฐทั้ง ๓๖ มลรัฐ เห็นพ้องและร่วมกันยืนยันว่า จะยกร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ให้สภาผู้แทนราษฎรมลรัฐพิจารณา

๓. อัยการสูงสุดรัฐ ๑๐ มลรัฐในเขตความดูแลของสคต.ชิคาโกเข้าร่วมดำเนินการนี้ ได้แก่ อาร์คันซอส์ อิลลินอยส์ แคนซัส เคนทัคกี้ ไอโอว่า มิชิแกน มิสซูรี่ เนบราสก้า โอกลาโฮม่า และ เซ้าท์ดาโกต้า ยกเว้นหลุยส์เซียน่าซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่มลรัฐอินเดียน่า โอไฮโอ้มินเนโซต้า วิสคอนซิน และนอร์ธดาโกต้า ยังไม่ดำเนินการ

๔. กฎหมายเปิดช่องทางให้บริษัทซอฟท์แวร์สหรัฐฯ เช่น Microsoft, IBM, Oracle, EMC, HP เป็นต้น สามารถตรวจสอบการใช้ซอฟท์แวร์ของผู้ประกอบการได้ (บริษัทฯ มีเทคโนโลยี่ในการตรวจสอบ)

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

๑. รัฐบาลมลรัฐมีความเห็นว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายควบคุมการแข่งขันธุรกิจ การค้าของมลรัฐ ให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในด้านซอฟท์และฮาร์ดแวร์ พร้อมกับมีมาตรการและบทลงโทษผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันให้กับผู้ผลิตสหรัฐฯ

๒. การตื่นตัวของภาครัฐบาลระดับมลรัฐในสหรัฐฯ ที่จะปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มความเข้มงวดกฎหมายของมลรัฐเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจการค้าให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบในมลรัฐ ผู้ผลิต/ส่งออกในต่างประเทศที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มต้นทุนการผลิตสินค้านำเข้าจากต่างประเทศของสหรัฐฯ รวมทั้งสินค้าจากประเทศไทย และเป็นผลให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ ต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น แต่ในทางกลับกัน กฎหมายอาจจะเป็นการสร้างโอกาสการแข่งขันให้กับสินค้าไทยเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน เช่น จีน และ อินเดีย เนื่องจาก ประเทศไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์น้อยกว่าจีนซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ

๓. แนวโน้มการยกร่าง/ปรับปรุงกฎหมายจะมุ่งประเด็น เพิ่มความเข้มงวดและจะเปิดโอกาสให้ผู้เสียประโยชน์หรือเสียเปรียบของสหรัฐฯ สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ทางกฎหมาย หรือลงโทษห้ามผู้ผลิต/ส่งออกในต่างประเทศที่ทำการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ ส่งสินค้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ

๔. ภาครัฐและสมาคมผู้ผลิตสินค้าของไทยควรร่วมมือหารือกับบริษัทที่ขายเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อรับคำแนะนำและหาทางช่วยลดต้นทุนด้านซอฟท์แวร์ และเพื่อให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทยได้ใช้ซอฟท์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ