สรุปภาวะตลาดผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางของไทยในเยอรมนีเดือนธันวาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 10, 2012 14:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมในประเทศ

รถยนต์เป็นสินค้าสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ทำด้วยยาง จากการที่ในปี 2554 ได้มีการซื้อขายรถยนต์นั่งทั้งเก่าและใหม่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2554 มีการจดทะเบียนรถใหม่ 2.929 ล้านคันและการซื้อขายรถเก่า 5.712 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และ 5.6 ตามลำดับ ทำให้ความต้องการยางรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีการผลิต การจำหน่ายสินค้าทำด้วยยาง ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2554 นี้ มีมูลค่า 12,969 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 เป็นยอดการจำหน่าย ยางรถยนต์ มูลค่า 5,403 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 ในจำนวนนี้เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 3,699 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7 และในต่างประเทศมูลค่า 1,705 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 8.7 สำหรับผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่สำคัญๆ ยังคงเป็นแท่นยาง ปะเก็น และยางผสมสารเคมีต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานด้านพิเศษต่างๆ เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,565 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8 เป็นการจำหน่ายในประเทศมูลค่า 4,286 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 การขายในต่างประเทศมูลค่า 3,279 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4

สินค้าส่งออกของไทย

ความต้องการสินค้าทำด้วยยางประเภทต่างๆ ในตลาดเยอรมนียังคงมีสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทชิ้นส่วนสำหรับการผลิตเครื่องมือ เครื่องจักรกลต่างๆ จึงทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้น จะมีเฉพาะยางยานพาหนะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการนำเข้ามากจากแหล่งนำเข้าอื่นๆ (อิตาลี ฮังการี และโปแลนด์) ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2554 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 205.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 ที่สำคัญๆ ได้แก่

  • ถุงมือยางใช้ในด้านการแพทย์ มูลค่า 107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 52.1 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีร้อยละ 13.8 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 38, 11 และ 18 ตามลำดับ
  • ยางใหม่สำหรับยานพาหนะ มูลค่า 75.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.4 คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 36.8 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี ในเยอรมนีไทยมีส่วนแบ่งตลาดเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1.0 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ฝรั่งเศสมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13 เช็กร้อยละ 8 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 7
  • ผลิตภัณฑ์ยางใช้ทางเภสัช มูลค่า 8.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 4.0 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 ใน เยอรมนีไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.6 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยมและอิตาลี มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18, 13 และ 11 ตามลำดับ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ