สรุปภาวะตลาดสินค้าอาหารไทยในเยอรมนีเดือนมกราคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 13, 2012 15:57 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามตัวเลขเบื้องต้นของสหสมาคมอุตสาหกรรมอาหารเยอรมัน มูลค่าตลาดผลผลิตอาหารแปรรูปของเยอรมนีในปี 2554 ที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.5% เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 162,200 ล้านยูโร การส่งออกเพิ่มขึ้น 13% เป็นมูลค่า 48,500 ล้านยูโร ตลาดส่งออกสำคัญๆ จะเป็นประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 80 % ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ขยายตัว 19% สินค้าส่งอออกสำคัญๆ จะเป็นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะเนื้อสุกร ขนมหวานต่างๆ ช็อคโกแลต เนย ขนมปัง บิสกิตและกาแฟ เป็นต้น การที่มูลค่าตลาดอาหารเยอรมันขยายตัว สืบเนื่องจากการปรับราคาจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 - 3 ซึ่งตลอดปี 2555 นี้คาดกันว่าราคาสินค้าอาหารโดยรวมของเยอรมนีจะมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีกระหว่างร้อยละ 3 - 5 เนื่องจากปัจจุบันวัตถุดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้นมาก หากนำปัจจัยเหล่านี้มีคิดคำนวณด้วย มูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของเยอรมนีจะขายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.3

สินค้าส่งออกของไทย

ในช่วงฤดูหนาวเยอรมนีจำเป็นต้องนำเข้าผักและผลไม้สดจากต่างประเทศจำนวนมาก เนื่องจากพืชผักสดในประเทศจะมีแต่เพียงผักกะหล่ำต่างๆ จึงทำให้การส่งออกอาหารของไทยไปตลาดเยอรมนีโดยรวมยังคงดำเนินไปด้วยดี และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ยกเว้นผักสดบางชนิดที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย ในปี 2554 ไทยได้ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปเยอรมนีเป็นมูลค่า 341.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 ที่สำคัญๆ ได้แก่ ไก่แปรรูปแช่แข็ง (แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ บราซิล เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส) กุ้งสดแช่แข็ง (เวียดนาม เนเธอร์แลนด์ บังคลาเทศ) และข้าว (เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม กัมพูชา ปากีสถาน) สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร มีการส่งออกเป็นมูลค่า 321.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 สินค้าส่งออกที่สำคัญๆ ได้แก่ กุ้งกระป๋อง (เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค เวียดนาม) สับปะรดกระป๋อง (เคนยา อินโดนีเชีย) และน้ำมันปาล์ม (อินโดนีเชีย เนเธอร์แลนด์ ปาปัว นิวกีนี)

จากการที่รัฐบาลไทยกำหนดราคารับซื้อข้าวและมีโครงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำได้ทำให้ราคาสินค้าอาหารไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวที่มีการเสนอขายตันละประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐในขณะที่ข้าวจากอินเดีย กัมพูชาหรือเวียดนามเสนอขายราว 600 เหรียญสหรัฐ ทำให้ปัจจุบันมีข้าวจากแหล่งอื่นๆ ที่เสนอขายราคาต่ำกว่าข้าวไทยเข้าไปวางจำหน่ายในตลาดเยอรมันเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากมีปริมาณที่น้อยอยู่จึงทำให้ข้าวไทยยังคงมีวางขายอยู่ แต่ก็มีราคาสูงกว่าประมาณ 10% สำหรับสินค้าพืชผักสดอื่นๆ โอกาสตลาดสินค้าของไทยเริ่มแจ่มใสเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพืชผักสดที่ถูกตรวจเข้มที่ด่านนำเข้า เพราะมีจำนวนผู้ส่งออกไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ