การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 6, 2012 11:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของอินเดีย

ปี 2010 - 11 อินเดียค้าขายกับทั่วโลกรวมมูลค่าทั้งสิ้น 620,901.95.-ล้านเหรียญสหรัฐฯ(USD)โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 251,135.88.-USD และมูลค่าการนำเข้าสินค้า จากทั่วโลกรวม 369,769.12.-USD ซึ่งขาดดุลการค้าให้กับต่างประเทศทั่วโลกรวมมูลค่าทั้งสิ้น 118,633.24.-USD สำหรับการค้าขายกับไทยในปี 2011 อินเดียขาดดุลการค้า ให้ไทยรวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,169.-USD โดยมีมูลค่าการส่งออกมาไทยรวม 3,013.-USD และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยรวม 5,181.-USD จะเห็นได้ว่าโดยภาพรวมในแง่ของการค้าระหว่างประเทศฯนั้น อินเดียซึ่งเศรษฐกิจเติบโตสูงในระดับต้นๆของโลก ขาดดุลการค้า มาโดยตลอด

ปัจจุบัน มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดภายใต้กฎหมายความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดขององค์การการค้าโลก(World Trade Organization: WTO) ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้น 153 ประเทศ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันอย่างกว้างขวางและกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ “การทุ่มตลาด” ยกตัวอย่าง เช่น การที่ประเทศ A ส่ง “สินค้าชนิดหนึ่ง” เข้าไปจำหน่ายในประเทศ B ในราคาต่ำกว่าราคาที่จำหน่ายในประเทศ A หรือในราคาต่ำกว่าราคาที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศอื่นๆหรือในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่คำนวณขึ้นจากต้นทุนการผลิตในประเทศ A เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปกฎหมายภายในของประเทศสมาชิกฯจะสอดคล้องกับความตกลงฯของ WTO ซึ่งกำหนดให้อุตสาหกรรมภายในของประเทศผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันกับ “สินค้าชนิดหนึ่ง” ที่ส่งเข้ามาจำหน่ายฯนั้น สามารถยื่นคำร้องต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องฯ ขอให้พิจารณาไต่สวนฯว่ามีการทุ่มตลาดสินค้าดังกล่าว และก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน เพื่อใช้มาตรการตอบโต้“การทุ่มตลาด”ได้ ทั้งนี้ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดส่วนใหญ่เป็นการเรียกเก็บอากรการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีปกติ หรือที่เรียกว่า “อากรตอบโต้การทุ่มตลาด”

อินเดียเป็นประเทศที่มีการเปิดไต่สวน(INITIATION) การทุ่มตลาดมากที่สุด ในโลก นับแต่มีการใช้กฎหมายตอบโต้การทุ่มตลาดกันมาเนื่องจากมีอุตสาหกรรมภายในรายเล็กกลางใหญ่ที่แข็งแกร่งรวมตัวกันและแบ่งปันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ พยายามรักษาผลประโยชน์ฯสิทธิที่พึงมีพึงได้อย่างเต็มที่ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะดำเนินการยื่นคำขอให้ทางการเปิดไต่สวนฯเพื่อใช้มาตรการทางการค้าฯ โดยเฉพาะมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด

จากสถิติขององค์การการค้าโลก (WTO) รวบรวมการรายงานครึ่งปีและทั้งปีจากประเทศสมาชิกฯ พบว่านับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538(1995) ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554(2011) อินเดียเปิดไต่สวนฯมากถึง 647 กรณี ทั้งนี้ ประเทศที่เปิดไต่สวนฯมากที่สุด 10 อันดับแรกในช่วงปีดังกล่าว สรุปดังนี้

                    ประเทศ                 เปิดไต่สวนฯ (กรณี)
                    1. อินเดีย                    647
                    2. สหรัฐอเมริกา               452
                    3. สหภาพยุโรป                428
                    4. อาร์เจนติน่า                288
                    5. บราซิล                    227
                    6. ออสเตรเลีย                219
                    7. แอฟริกาใต้                 213
                    8. จีน                       186
                    9. แคนาดา                   153
                    10.ตุรกี                      147

จากสถิติฯดังกล่าว ยังพบอีกว่า ประเทศต่างๆที่ถูกอินเดียเปิดไต่สวนฯมาจากทุกทวีป โดยอินเดียได้เปิดไต่สวนฯประเทศต่างๆอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสิ้น 58 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538(1995) ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554(2011) ประเทศฯที่ถูกอินเดียเปิดไต่สวนฯมากกรณีที่สุด 10 อันดับแรก สรุปดังนี้

                    ประเทศ                  ถูกเปิดไต่สวนฯ (กรณี)
                    1. จีน                         144
                    2. เกาหลีใต้                    49
                    3. สหภาพยุโรป                  48
                    4. ไต้หวัน                      47
                    5. ไทย                        37
                    6. สหรัฐอเมริกา                 33
                    7. ญี่ปุ่น                        32
                    8. อินโดนีเซีย                   25
                    9. สิงคโปร์                     23
                    10.มาเลเซีย                    22

การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (ANTI-DUMPING MEASURE)

หลังจากเปิดการไต่สวน(INITIATION) การทุ่มตลาดอย่างเป็นทางการแล้ว กระบวนการไต่สวนฯก็จะเริ่มขึ้นโดยจะมีคณะกรรมการฯพิจารณาว่ามีการทุ่มตลาดและก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศฯหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ การดำเนินกระบวนการพิจารณาไต่สวนฯจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่งนับตั้งแต่วันประกาศเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดฯ

หากผลการไต่สวนฯพบว่ามีการทุ่มตลาดจริงและความเสียหายต่ออุตสาหกรรมฯของประเทศที่ไต่สวนฯเป็นผลมาจากการทุ่มตลาดนั้น ประเทศที่ไต่สวนฯก็สามารถกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเรียกเก็บอากรการนำเข้าสินค้าที่ทุ่มตลาดฯเพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีปกติ หรือที่เรียกว่า การเรียกเก็บ “อากรตอบโต้ การทุ่มตลาด” ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ทั้งนี้ จะมีการเรียกเก็บอากรฯจากการนำเข้าสินค้าทุ่มตลาดในอัตราไม่เกินส่วนเหลื่อมทุ่มตลาดที่พบ และมีกำหนดระยะเวลาเรียกเก็บอากรไม่เกิน 5 ปี

อินเดียได้รายงานต่อองค์การการค้าโลก(WTO)กรณีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(มาตรการ AD) กับประเทศต่างๆ ซึ่งนับจำนวนมาตรการฯจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 206 กรณีจาก 26 ประเทศ โดย 10 อันดับแรกที่อินเดียใช้มาตรการ AD มากกรณีที่สุด ดังนี้

                    ประเทศ                              มาตรการฯ ยังมีผลใช้บังคับ (กรณี)
                    1. จีน                                         71
                    2. เกาหลีใต้                                    18
                    3. ไต้หวัน                                      17
                    4. ไทย                                        15
                    5. สหภาพยุโรป                                  11
                    6. อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น                      9
                    7. สหรัฐอเมริกา                                  8
                    8. สิงคโปร์                                      6
                    9. เวียดนาม                                     4
                    10.อิหร่าน                                       3

ข้อคิดเห็น/ ข้อเสนอแนะ

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจซบเซาไปทั่วโลกทั้งในอเมริกา ยุโรปและเอเชีย มีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆจะใช้มาตรการทางการค้ามากขึ้น โดยเลือกมาตรการฯที่เหมาะสมกับเป้าหมายตามความต้องการซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในรูปแบบลักษณะจำกัดการนำเข้าฯมากขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศตนจะได้รับ เช่น ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการว่างงาน การปกป้องอุตสาหกรรมแรกเริ่ม และการปกป้องหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ มีการเลือกใช้มาตรการ AD ต่อกันเป็นจำนวนมากเพื่อปกป้องตนเองดังกล่าว

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต/ ผู้ส่งออกฯจึงควรศึกษาสภาพการณ์ของสินค้าที่ส่งออกฯด้วยว่าเป็นอย่างไรในเชิงปริมาณและราคาฯ โดยไม่ควรกำหนดราคาขายต่ำเกินไปจนประเทศคู่ค้าเพ่งเล็งว่าสินค้าฯนั้นกำลังทุ่มตลาดและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน หรือหากมีการส่งออกไปในปริมาณที่เพิ่มขึ้นก็ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง เพราะอาจถูกประเทศคู่ค้าเปิดการไต่สวนฯได้ รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย AD ของประเทศคู่ค้าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และสามารถใช้สิทธิในการปกป้องตนเอง

อย่างไรก็ตาม หากถูกเปิดไต่สวนฯแล้ว ผู้ประกอบการฯควรให้ความร่วมมือในกระบวนการไต่สวนฯตามกฎหมาย เช่น ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม และการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นต้น เพื่อผ่อนปรนหรือลดระดับความแรงของมาตรการฯหรือหลุดพ้นจากมาตรการฯไปเลย

นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาวิเคราะห์โอกาสในการหาตลาดใหม่ๆโดยการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสินค้าฯ เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้านั้นๆได้ และเป็นการลดการพึ่งพาตลาดใหญ่ตลาดเดียว

สคต.กรุงนิวเดลี

กุมภาพันธ์ 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ