สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ของเวียดนาม ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2012 11:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ของเวียดนาม ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
1. GDP Growth + 4.0 % โดย
  • ภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง ขยายตัวร้อยละ 2.84
  • ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 2.94

-ภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 5.31

เศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าการขยายตัววในช่วงเดียวกันของปี 2554 โดย GDP ขยายตัวเพียงร้อยละ 4 ทั้งนี้ เนื่องมาจากมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐในการควบคุมการปล่อยสินเชื่อทางธุรกิจทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขาดเงินทุนหมุนเวียนต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมากในช่วงปลายปี 2554 และต้นปี 2555 นอกจากนี้ ยังมีปริมาณสินค้าคงเหลือในสต๊อคจำนวนมาก ที่ยังไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้

2. CPI /Inflation rate :

ดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนมีนาคม 2555 ขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.16 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเป็นการเพิ่มในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 20 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ CPI ของไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 15.95 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 2.55 จากตัวเลขดังกล่าว รัฐบาลเวียดนามเชื่อมั่นว่า เป้าหมายที่จะลดอัตราเงินเฟ้อในปี 2555 ให้เหลือเป็นเลขตัวเดียวมีทางเป็นไปได้สูง หากไม่มีปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจอื่นๆเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2-4

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆได้แสดงให้เห็นว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 เศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ความมีเสถียรภาพของเงินสกุลท้องถิ่น ที่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศค่อนข้างนิ่ง ไม่แกว่งตัวเหมือนปี 2554, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง, สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ การฟื้นตัวของตลาดหลักทรัพย์ และการเพิ่มขึ้นของเงินสำรองเงินตราต่างประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลในเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนาม

3.ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม :

ในไตรมาสที่ 1 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 4.1 น้อยที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดย อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 75 และร้อยละ 17 ของมูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและการปรับราคาน้ำมันในประเทศ ถึง 2 ครั้งในปี 2554 และ 1 ครั้ง ในเดือนมีนาคม 2555

4. การส่งออก นำเข้า และดุลการค้า :

เวียดนามส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มูลค่า 24.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 23.6 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องโทรศัพท์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าและสิ่งทอ รองเท้า สินค้าสัตว์น้ำ น้ำมันเชเชื้อเพลิงและก๊าซ สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว และกาแฟ เป็นต้น ตลาดสิงออกที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป (4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สหรัฐอเมริกา (4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) อาเซียน (3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ญี่ปุ่น (2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และจีน (2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

ในส่วนของการนำเข้า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 เวียดนามนำเข้า มูลค่า 24.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน (5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) อาเซียน (4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เกาหลี (3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ญี่ปุ่น (2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สหภาพยุโรป (1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

เวียดนามขาดดุลการค้า 0.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2555

5.การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) :

การลงทุนจากต่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 มีมูลค่า 2.63 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 จำนวน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 0.8 แยกเป็นโครงการใหม่ จำนวน 120 โครงการ มูลค่า 2.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการเดิมที่ขยายการลงทุน มูลค่า 0.37 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศที่ลงทุนเป็นอันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 2.098 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 92.6 รองลงมา ได้แก่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ( 46.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ) เกาหลี (25.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไทย (25.3 ล้านเหรียญสหรัฐ)

6. จำนวนนักท่องเที่ยว :

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเวียดนามในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 มีจำนวน 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5

7. การจ้างงาน :

มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 341,000 ตำแหน่ง

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วไป

1. ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ จำนวน 15,300 ราย ในขณะเดียวกันก็มีธุรกิจที่เลิกกิจการ จำนวน 2,200 ราย และแจ้งหยุดกิจการชั่วคราวหรือยุติการชำระภาษี จำนวน 9,700 ราย ส่งผลให้มูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ สาเหตุที่สำคัญมาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดของภาครัฐ โดยธนาคารแห่งชาติเวียดนามได้ดำเนินมาตรการตามนโยบายการเงินของรัฐบาล เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ทั้งในส่วนของการ ขยายการให้สินเชื่อ การสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ปรับปรุงระบบธนาคารที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง จำนวน 9 แห่ง ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และสร้างเสถียรภาพของเงินสกุลท้องถิ่น (เวียดนามด่อง) เป็นต้น

2.เพื่อให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 6 ในปี 2555 รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ได้กำหนดแผนเพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้

  • คลี่คลายและขจัด ปัญหา/อุปสรรคเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและกิจกรรมทางธุรกิจ รวมถึงระบบการบริหารจัดการ

-ลดอัตราดอกเบี้ย ให้สิทธิพิเศษทางภาษี ใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะการกระจายสินค้าเวียดนามไปยังพื้นที่ชนบทให้มากขึ้น ขยายตลาดต่างประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก

-ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หาแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจภาคการเกษตร ทั้งในด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตร เพิ่มอัตราการเติบโตภาคการเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 2-3

-เร่งระดมเงินทุนจากทุกแหล่งเงิน รวมถึงเงินช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

-ปฏิบัติตามนโยบาย แผนงาน งาน โครงการที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ทั้งในด้านสวัสดิการสังคม ความปลอดภัย ด้านการเมือง การพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา การสร้างงาน และการแก้ไขปัญหาการจราจร เป็นต้น

-ให้ความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น โดยการเข้าถึงประชาชนในท้องที่ เพื่อแก้ไขปัญหาการร้องเรียน

-จัดทำร่างแผนการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจชาติ ระยะ 5 ปี (2011-2015)

-กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระยะ 9 ปี (2012-2020) เพื่อให้เวียดนามเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และเป็นหนึ่งในสามของประเทศผู้นำในอาเซียนด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ในปี 2020

3.ตลาดเงินตราต่างประเทศของเวียดนามส่อเค้าดีขึ้น เมื่อพบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ค่าของเงินสกุลท้องถิ่น(เวียดนามด่อง) มีเสถียรภาพขึ้น โดยในช่วงต้นเดือนมกราคม 2555 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 21,036 เวียดนามด่อง และแข็งค่าขึ้นเป็น 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 20,800-20,850 เวียดนามด่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม โดยธนาคากลางได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการในอัตราคงที่ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 20,828 เวียดนามด่อง นอกจากนี้ ธนาคารแห่งชาติเวียดนามยังได้ออกมาตการควบคุมเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ ลงวันที่ 8 มีนาคม 2555 ใช้มีผลบังคับใช้วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ตามมาตรการดังกล่าว ธนาคารกลางจะยกเลิกสินเชื่อเงินตราต่างประเทศแก่ผู้ส่งออกสำหรับธุรกรรมที่ใช้เงินตราต่างประเทศภายในประเทศ กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์จะเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินเวียดนามด่องทันทีที่มีการถอนหรือสั่งจ่ายเงินในประเทศ และไม่อนุญาตให้กู้เงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้าและบริการโดยไม่มีแผนการส่งออกเพื่อนำแงินตราต่างประเทศมาชำระเงินกู้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้เครดิตสำหรับเงินตราต่างประเทศถูกจำกัดให้แคบลง โดยจะอนุญาตให้ผู้ส่งออกกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการในต่างประเทศเท่านั้น

รายงานความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555
1. ปัญหาทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ :

รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารแห่งชาติเวียดนาม ได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับการจำแนกประเภทของธนาคารพาณิชย์เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) ธนาคารที่มีความมั่นคงทางการเงิน จะได้รับอนุมัติสัดส่วนการเติบโตของสินเชื่อร้อยละ 17 (2) ธนาคารที่มีทรัพย์สินขนาดกลาง จะได้รับอนุมัติสัดส่วนการเติบโตของสินเชื่อร้อยละ 15 (3) ธนาคารที่มีความมั่นคงต่ำกว่ามาตรฐานจะได้รับอนุมัติสัดส่วนการเติบโตของสินเชื่อร้อยละ 8 (4) ธนาคารที่มีความเสี่ยงต่อการล้มละลาย จะไม่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อ แต่จะเน้นการติดตามหนี้สินจากลูกหนี้เดิม โดยธนาคารแห่งชาติจะทบทวนผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ เพื่อจัดกลุ่มอีกครั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า

นโยบายดังกล่าวมุ่งหวังผลในการจัดการกับปัญหาหนี้ค้างชำระของธนาคารพาณิชย์ และจะเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารขนาดเล็กต้องยอมรับการควบรวมกิจการกับธนาคารที่มีเสถียรภาพทางการเงินมากกว่าในที่สุด

ในปี 2554 เวียดนามมีสัดส่วนหนี้เสียร้อยละ 11.3 ของเงินกู้ทั้งระบบ สำหรับปี 2555 ธนาคารแห่งชาติเวียดนามจะจำกัดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้ต่ำกว่าร้อยละ 16 (Vietnam Investment Review)

2.สถานการณ์การลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนาม :

ในปี 2555 เวียดนามอาจสูญเสียส่วนแบ่งของการลงทุน FDI ให้กับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค โดยนักลงทุนรายใหญ่บางรายประกาศจะขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นต้น ทั้งนี้ เลขาธิการสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลีในเวียดนามกล่าวว่า แม้เวียดนามยังคงได้เปรียบด้านความมั่นคงทางการเมือง มีที่ตั้งซึ่งติดกับจีน ค่าจ้างแรงงานต่ำ แต่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคก็เริ่มเป็นเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2555เวียดนามได้รับการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุน ว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับที่ 14 จากทั่วโลก ซึ่งลดลงจากปี 2554 ที่เวียดนามอยู่ในอันดับ 12 ในขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 9 และ 10 ตามลำดับ

ในปี 2554 การลงทุน FDI ในเวียดนามมีมูลค่า 14.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2553 ร้อยละ 26 ยอดการเบิกจ่ายเงินลงทุนอยู่ที่ 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับปีก่อนหน้า ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อ และความไร้เสถียรภาพทางการเงิน ของรัฐ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะทบทวนแผนการลงทุนในเวียดนามเมื่อเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น (Vietnam Investment Review)

3.บริษัท SCG ของไทยจะซื้อกิจการผลิตปูนซิเมนต์ในเวียดนาม :

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG แจ้งว่า ได้รับการทาบทามจากโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ในเขตภาคกลางและภาคเหนือของเวียดนาม ให้บริษัทฯเข้าซื้อกิจการมูลค่า 315 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิต 5,000 ตันต่อวัน ซึ่งบริษัทฯจะสรุปผลในช่วงครึ่งหลังของปี 2555

ในช่วงปลายปี 2554 SCG ได้ลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงงานบดปูนซิเมนต์และโรงงานผสมคอนกรีต 2 แห่งในนครโฮจิมินห์ มูลค่ารวม 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันบริษัทฯมีมูลค่าการลงทุนในเวียดนาม 350 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน โดยก่อนหน้านี้ SCG ได้ลงนามจะร่วมลงทุนในโครงการโรงงานปิโตรเคมี Long Son ในเขตจังหวัดบาเรีย-วุงเต่า ร่วมกับบริษัทต่างชาติอื่น โดยคาดว่าโรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า

SCG เข้าไปลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันมีโรงงาน 15 แห่งทั่วประเทศ มูลค่าทรัพย์สิน 330 ล้านเหรียญสหรัฐ มีพนักงานชาวเวียดนามกว่า 2,100 คน (Vietnam Investment Review)

-----------------------

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย

บุษบา บุตรรัตน์ รวบรวม/รายงาน

25 เมษายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ