ข้อมูลการแก้ไขปัญหาการนำเข้าไก่สดจากไทยกับสหภาพยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 19, 2012 14:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลการแก้ไขปัญหาการนำเข้าไก่สดจากไทยกับสหภาพยุโรป

1. เรื่องเดิม

1.1 สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกเนื้อไก่สดที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร เยอรมนี และ เนเธอแลนด์ โดยมีปริมาณการส่งออกไปสหภาพฯเฉลี่ยปีละ 78,000 ตัน แต่ภายหลังการระบาดของไข้หวัดนกในไทยเมื่อปี 2547 ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกไก่สดไปยังสหภาพฯได้จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากถูกอ้างว่ายังไม่ปลอดโรคไข้หวัดนก แม้ว่าขณะนี้ ไทยจะได้รับการยอมรับจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ว่าปลอดเชื้อไข้หวัดนกเป็นเวลา 3 ปี 1 เดือน 23 วัน นับจากวันที่ทำลายสัตว์ปีกตัวสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 แล้วก็ตาม

1.2 กรมปศุสัตว์ได้ทำหนังสือถึงสหภาพยุโรป (DG SANCO) เพื่อขอให้ยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดจากไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 และเจ้าหน้าที่ Food and Veterinary Office (FVO) ของ DG SANCO ได้เดินทางมาตรวจระบบควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกแล้ว ซึ่งผลการตรวจเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม FVO ขอสงวนสิทธิ์การมาตรวจโรงงานเพิ่ม นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้ทำหนังสือถึง DG SANCO เมื่อเดือนธันวาคม 2554 เพื่อติดตามการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสดจากไทย ภายหลังจากที่กรมปศุสัตว์ได้รับแจ้งผลการตรวจโรงงานเป็นที่น่าพอใจ

1.3 กระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือในนามรัฐบาลไทยถึง EU Commissioner แล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 เพื่อขอให้สหภาพฯ เร่งพิจารณายกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดจากไทย โดยไทยเชื่อว่าการยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งไทยและสหภาพยุโรป

2. การดำเนินการแก้ไขปัญหาในส่วนของสหราชอาณาจักร

นอกจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ได้ดำเนินการ่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป ในการชี้แจงข้อเท็จจริงกับ Directorate General for Health and Consumer Affairs (DG SANGO) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรปแล้ว สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอนได้ดำเนินการประสานงานและจัดการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ บริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่ (Invicta Food Group) สมาคมอาหารแช่แข็งสหราชอาณาจักร British Frozen Food Federation (BFFF) และสมาคมการค้าเนื้อสัตว์นานาชาติ International Meat Trade Association (IMTA) เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้สหภาพยุโรปพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยก่อนที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในช่วงเดือนมีนาคม 2555

สมาคมการค้าและผู้นำเข้าสหราชอาณาจักรซึ่งมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการยุโรปและผู้นำเข้ารายใหญ่ของสหราชอาณาจักรมีความเต็มใจสนับสนุนให้คณะกรรมาธิการฯ ยกเลิกการใช้มาตรการฯ กับไทยซึ่งทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกัน

3. สถานะล่าสุด

คณะกรรมาธิการยุโรปด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ (Standing Committee on the Food Chain and Animal Health) ได้มีมติในการประชุมให้ยกเลิกยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยหลังจากถูกห้ามนำเข้าตั้งแต่ปี 2547 ล่าสุดสหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบยกเลิกการระงับการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกจากไทย ซึ่งจะทำให้สามารถส่งไก่ไทยไปจำหน่ายได้อีกตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป เนื่องจากเห็นว่าไทยได้ดำเนินการควบคุมจนปลอดจากไข้หวัดนก และจากการที่สหภาพยุโรปได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแล้วว่าการจัดการไข้หวัดนกของไทยมีระบบการควบคุมเป็นที่น่าพอใจได้มาตรฐานตามที่กำหนด อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้กำหนดให้การนำเข้าไก่แช่เย็นแช่แข็งจะต้องเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นภายหลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 ไปแล้ว

การยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้านี้จะทำให้ไทยสามารถส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งมาสหภาพยุโรปได้และสามารถใช้ประโยชน์จากโควต้าภาษีของสหภาพยุโรปจำนวน 97,710 ตันดังนี้

(1) ไก่หมักเกลือ 92,610 ตันต่อปีโดยมีอัตราภาษีในโควต้าร้อยละ 15.4 และ

(2) ไก่ไม่หมักเกลือ 5,100 ตันต่อปีอัตราภาษีในโควต้าร้อยละ 0 (ชดเชยจากการเจรจาเรื่องถั่วเหลือง)

(3) ไก่ประเภททั่วไป มีโควต้าในอัตราภาษีร้อยละ 93-512 โดยไทยมีสิทธิยื่นขอเช่นเดียวกับประเทศอื่น

ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากโควต้าภาษีที่สหภาพยุโรปให้กับสินค้าส่งออกสินค้าไก่ของไทยจำนวน 97,710 ตัน โดยสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยประมาณ 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 14,000 ล้านบาท

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน

พฤษภาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ