กฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยและการรักษาพยาบาลราคาไม่แพง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 6, 2012 11:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยและการรักษาพยาบาลราคาไม่แพง

ความเป็นมา

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายบารัก โอบามา เสนอกฎหมายการคุ้มครองผู้ป่วยและการรักษา พยาบาลในราคาไม่แพง (Patient Protection and Affordable Care Act: PPACA) หรือเรียกกันว่า โอบาม่าแคร์ และรัฐสภาสหรัฐฯ เห็นชอบเป็นกฎหมายเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2553) กฎหมายประกันสุขภาพฉบับดังกล่าวนี้ มีจุดประสงค์ขยายระบบประกันสุขภาพ ให้ครอบคลุมถึงคนอเมริกัน 33 ล้านคนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ

ข้อเท็จจริง

1. มลรัฐจำนวน 25 รัฐ นำโดยรัฐฟลอริด้า และสมาคมธุรกิจอิสระร่วมยื่นฟ้องคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ โดยมองว่า บางมาตรากฎหมายนี้ ละเมิดสิทธิของพลเมืองและแทรกแซงธุรกิจประกัน และ พรรครีพับลิกันคัดค้านกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน

2. ศาลสูงสุดสหรัฐฯ (Supreme Court) ตัดสินคำฟ้องเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ให้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการรักษาพยาบาลในราคาไม่แพง ว่าเป็นพระราชบัญญัติที่ไม่คัดค้านหลักของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และมีผลในการบังคับใช้ ซึ่งนับได้ว่า เป็นชัยชนะของชาวอเมริกันทุกคน

3. กฎหมายประกันสุขภาพฉบับนี้ เป็นการกระจายระบบประกันสุขภาพ ให้ครอบคลุมชาวอเมริกัน 33 ล้านคนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ อีกทั้งบังคับให้ประชาชนเกือบทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพภายในปี 2557 มิฉะนั้นจะต้องถูกลงโทษปรับในรูปแบบของภาษี อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะมีเงินสนับสนุนแก่บุคคลและครอบครัว ที่มีรายได้น้อยและปานกลางที่ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีข้อบังคับที่ห้ามบริษัทประกันภัย ปฏิเสธลูกค้าที่มีปัญหาสุขภาพ รวมทั้งเพิ่มโทษปรับแก่บริษัทขนาดใหญ่ ที่ไม่ซื้อประกันให้พนักงาน แก่บริษัทขนาดใหญ่ ที่ไม่ซื้อประกันให้พนักงาน

4. กฎหมาย PPACA ฉบับนี้ นับได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 50 ปีของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เข้ามามีบทบาทปรับระบบการรักษาพยาบาลให้เข้าสู่รัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นการลดบทบาทของภาคเอกชนในด้านบริการรักษาพยาบาล

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. กฏหมาย PPACA จะส่งผลดีต่อธุรกิจการแพทย์เชิงท่องเที่ยว (Medical Tourism) ของไทย เนื่องจากจะมีผู้ป่วยจำนวนมากจากสหรัฐฯ มารักษาพยาบาลในประเทศไทยด้วยเหตุผล ดังนี้

1.1 คนอเมริกันอีก 33 ล้านจะต้องมีประกันสุขภาพ โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีความ ต้องการใช้บริการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะมุ่งมาประเทศไทย เนี่องจาก ประเทศไทยมีมาตรฐานการรักษาพยาบาลเป็นที่ยอมรับในสากล และ มีต้นทุนต่ำกว่าในสหรัฐฯ

1.2 ปัจจุบัน ค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐฯ สูงเป็นผลให้ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ สูงตามไปด้วย ผู้ถือประกันสุขภาพมองหาทางเลือกรักษาพยาบาลที่มีราคาย่อมเยาว์กว่า

1.3 บริษัทประกันภัยจะเสนอโปรแกรมแก่นายจ้างหรือผู้ซื้อประกันอิสระ โดยให้มีข้อเลือกสามารถไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศได้ ซึ่งจะผลักดันคนอเมริกันไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน หันไปใช้

บริการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ

2. การส่งเสริมธุรกิจบริการการแพทย์เชิงท่องเที่ยวเป็นเหมือนดาบสองคม จะมีผลกระทบด้านบวกและลบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยและประชาชนไทย ผลด้านบวกที่มองเห็นได้ชัดเจน คือ การสร้างรายได้ให้ประเทศ แพทย์และบุคคลากรในวงการแพทย์มีรายได้เพิ่มขึ้น และ ยกระดับมาตรฐานรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันและส่งเสริม ในขณะเดียวกันจะส่งผลด้านลบ คือ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และ จะเป็นผลให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลของคนไทยเพิ่ม ซึ่งภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการส่งเสริม สนันสนุน และ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ และการควบคุมผลด้านลบให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

3 มิถุนายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ