รู้จักจีน รู้จักซีอาน (ตอนที่ ๑๑): ซีอานกับความพร้อมในการขยายความร่วมมือทางการค้ากับประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 18, 2012 14:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รู้จักจีน รู้จักซีอาน (ตอนที่ ๑๑)

ซีอานกับความพร้อมในการขยายความร่วมมือทางการค้ากับประเทศไทย

นอกจากจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะเมืองแห่งความเป็นศูนย์กลางของโลกในอดีตแล้ว ปัจจุบันรากฐานอันแข็งแรงของซีอาน คือ “โบราณประวัติอันภาคภูมิใจ” ชาวซีอานสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางและตระกูลพ่อค้า เส้นทางสายไหมอันเจิดจรัส ณ อดีตกาล สมัยที่เมืองซีอานหรือชื่อเดิมคือฉางอานเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการค้าเชื่อมต่อระหว่างประเทศจีนกับโลกภายนอกสู่มุ่งสู่เอเชียกลางและยุโรป การขนส่งใช้เส้นทางผ่านความทุรกันดารและอันตรายเพื่อนำสินค้าไปขายและรับสินค้ากลับมานำไปสู่การแลกเปลี่ยนความเจริญและวัฒนธรรมด้านต่างๆ ระหว่างกัน

ในเวลาต่อมาเมื่อเส้นทางสายไหมทางบกถึงจุดล่มสลายไปพร้อมๆ กับความเจริญรุ่งเรืองของมหานครฉางอาน เกิดการเคลื่อนตัวของเมืองหลวงจากดินแดนที่เป็นซีอานในปัจจุบันออกไปทางตะวันออก มีการสถาปนาเมืองหลวงใหม่ๆตามความเหมาะสมของสถานการณ์และตำราการสร้างเมืองหลวง ชัยภูมิที่ตั้งทั้งเพื่อความปลอดภัยจากการรุกรานของชนเผ่าทางเหนือที่เรืองอำนาจขึ้น ทั้งเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดินฟ้าน้ำอากาศ โดยเฉพาะเมื่อการขนส่งสินค้าทางเรือได้เข้ามามีบทบาทเป็นการพลิกโฉมหน้าของเส้นทางค้าขายให้เปลี่ยนจากการใช้คาราวานอูฐเกวียนและเดินเท้าหันไปสู่การเดินทางโดยใช้เส้นทางเดินเรือทางทะเลที่สะดวกสบายมากขึ้น

จากประวัติอันยาวนาน ๓,๐๐๐ ปีตราบจนถึงวันนี้เมื่อซีอานได้รับการกำหนดให้เป็นเมืองหน้าด่านในการนำความเจริญสู่ภาคตะวันตกของสาธารณรัฐประชาชนจีน

นับตั้งแต่ความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าได้เคลื่อนย้ายไปสู่ภาคตะวันออกของประเทศจีน ซึ่งมีชายฝั่งทะเลยาวนับพันกิโลเมตรและมีเมืองท่าชายฝั่งที่เหมาะจะเป็นชัยภูมิทางการค้า กระทั่งถึงยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศจีน เขตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ล้วนตั้งอยู่ทางภาคตะวันออก จนกระทั่งมาถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้เมื่อจีนก้าวเข้าสู่ยุคที่อุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกเจริญถึงขีดสุดจนเกิดปัญหาด้านความแออัดของที่อยู่อาศัยและการขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนต้นทุนทางการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันลดลง จีนจึงหันกลับมามองฝั่งตะวันตกอีกครั้งเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมการผลิตและแหล่งของการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุดได้เปรียบของแถบนี้คือเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติและพลังงานใต้ดิน อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และสินแร่ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคฝั่งตะวันตกจึงกลับมาได้รับความสำคัญในทางเศรษฐกิจ โดยจีนกำหนดจะพัฒนาเมืองซีอานเป็นลำดับแรกและใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองอื่นๆ ต่อไป

ความสำคัญของซีอานต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ซีอานตั้งอยู่ในมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นมณฑลที่ได้รับฉายาว่า “คูเวตของจีน” เพราะอุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากรพลังงานที่สำคัญ นอกจากนี้ซีอานยังเป็นเมืองที่มีอัตราการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงต่อเนื่องหลายปี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้คนที่นี่ได้รับการดูแลทั้งทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัยของพลเมือง บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และที่สำคัญคือประชากรได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อนักลงทุนเลือกที่จะเข้ามายังภูมิภาคนี้ ก็ย่อมที่จะมองซีอานก่อนเสมอเป็นลำดับแรก การเข้ามาของ นักลงทุนต่างชาติ ทำให้รัฐบาลค้นพบว่า นักลงทุนกับนักท่องเที่ยวมีความต้องการและเป้าหมายแตกต่างกัน การพัฒนาเมืองของซีอานอาจตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้สูง แต่การสร้างเมืองและพัฒนาคนเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศยังต้องมองให้รอบด้านมากขึ้น ที่สำคัญคือ ระบบทางการค้าต้องมีความเป็นสากล นอกจากระบบมีแล้ว ต้องมีการนำมาใช้จริงอย่างได้ผลด้วย การความพยายามยกระดับให้ซีอานเป็นเมืองแห่งความสากลทัดเทียมเมืองอื่นๆ ทั่วโลก เช่น มีการส่งเสริมให้ชาวซีอานใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย การปรับปรุงการบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรือระบบขนส่งมวลชนให้มีความทันสมัยแบบสากลและเป็นมิตรต่อผู้ใช้บริการให้มีการยกระดับได้เทียบเคียงกับมาตรฐานเฉลี่ยของโลกภายนอก

การพัฒนาคนโดยให้ความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของพลเมือง คุณภาพการศึกษา และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

เมืองซีอานเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของประเทศจีน ด้วยการมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่มากกว่า ๑๐๐ แห่ง สามารถผลิตบุคลากรสำหรับรองรับอุตสาหกรรมในทุกด้าน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไอทีนั้น ซีอานถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในจีน เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลเมืองซีอานได้นำมาตรการ “เขตอุตสาหกรรมปลอดค่าธรรมเนียม” มาใช้ในการจูงใจนักลงทุนในเขตอุตสาหกรรมไฮเทคของซีอาน จึงไม่แปลกที่บริษัทไอทีชั้นนำของโลก อย่าง Micron, Honeywell, Samsung, HP, Dell และ Intel ต่างมีโรงงานตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมไฮเทคซีอานแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่ขึ้นหน้าขึ้นตายังมีการผลิตแผงโซล่าเซลพลังงานสีเขียว และ อุตสาหกรรมการบิน ซึ่งรัฐบาลจีนโดยสำนักการบินพลเรือนแห่งจีน หมายมั่นที่จะสร้างให้ซีอานเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการบินครบวงจรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย อันจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยเกี่ยวกับอวกาศ

ศักยภาพทางตลาดของซีอานต่อความต้องการสินค้าไทย

ในแต่ละปีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ มีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยที่เมืองสำคัญทางตอนเหนือของจีนขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี สำหรับการจัดงานครั้งนี้ที่เมืองซีอาน สินค้าที่นำมาออกร้านมีมากมายหลายชนิด อาทิเช่น ผลไม้ไทย อาหารไทย สินค้าหัตถกรรมและเสื้อผ้าพื้นเมืองของไทย ล้วนแต่ได้รับความสนใจจากชาวซีอานอย่างมาก โดยเฉพาะได้มีการนำผลไม้จำนวนมากมาจัดแสดงและให้ผู้เข้าชมงานได้ลิ้มลองฟรี เช่น ทุเรียน มังคุด สับปะรด ส้มโอ มะขามหวาน กล้วยไข่และมะพร้าวอ่อน ซึ่งสินค้าที่นำมาจัดแสดงเป็นสินค้าที่จัดส่งมาโดยตรงจากประเทศไทยเพื่อมาเข้าร่วมงาน ทำให้เป็นสินค้าที่สด ใหม่ มีคุณภาพดี ไม่ใช่ของตกค้าง ซึ่งทำให้เพิ่มความมีรสชาติและหอมหวานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าชาวซีอานต่างแสดงความชื่นชอบและชื่นชมต่อความแปลกใหม่และหลากหลายของสินค้าไทยที่เข้าร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้ยังมีการจัดโครงการส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้าในประเทศจีนตอนเหนือ ซึ่งมีการออกข่าวใหญ่ไปทั่วทั้งภูมิภาคก่อให้เกิดกระแสความต้องการสินค้าไทยติดต่อเป็นลูกคลื่นจากผลของการประชาสัมพันธ์โดยสื่อต่างๆ ของท้องถิ่นทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สถานีวิทยุ และโทรทัศน์ ตลอดจนเวบไซด์ต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ ซีอานนอกจากจะมีความโดดเด่นด้านการเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของชาวจีนในประเทศจีน โดยในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนซีอานมากกว่า ๑๐๐ ล้านคน เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์การสร้างชาติที่จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิพระองค์แรกที่รวบรวบจีนจากก๊กต่างๆ เข้ารวมเป็นผืนแผ่นดินเดียวกันได้เป็นครั้งแรก ซีอานนับเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนทั้งประเทศในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ดังนั้น เมืองซีอานจึงมีการพัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดีเยี่ยมที่สุดอีกแห่งหนึ่งในประเทศจีนเพื่อรองรับแขกผู้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางคุณภาพดีและมีโครงข่ายเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตรฐาน เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งจะมีทั้งหมด ๖ สาย ปัจจุบันเปิดใช้งานแล้ว ๑ สายในปี ๒๕๕๔ และจะเปิดใช้งานสายที่ ๒ ในเดือนกันยายนปีต่อไป ซีอานยังมีรถไฟความเร็วสูงแล่นระหว่างเมืองสำคัญ ลดระยะเวลาเดินทางทางรถไปจาก ๘ — ๑๒ ชั่วโมงให้เหลือเพียง ๒ — ๔ ชั่วโมง และสนามบินที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคตะวันตก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการสร้างและพัฒนาระบบขนส่งสินค้าให้มีขีดสามารถที่สูงขึ้น

จากปัจจุบันที่ซีอานมีจุดอ่อนสำคัญคือด้านโลจิสติกส์ทางการค้าจากการที่เมืองเป็น Land Locked City ซีอานจึงมีการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดประตูออกกว้างไม่เพียงแต่เพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวต่างประเทศที่ปัจจุบันคือแหล่งรายได้สำคัญของเมืองและมณฑลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเพื่อรองรับนักลงทุนที่เข้ามาร่วมกิจการรวมทั้งนักธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่มีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลเห็นถึงความสำคัญของเมืองนี้ต่อการพัฒนาประเทศของรัฐบาลจีน ซึ่งมีเป้าหมายหลักที่สำคัญคือเพื่อยกระดับฐานะความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ความเจริญให้แก่พลเมืองที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานนับเป็นพันพันปีอีกด้วย รายงานโดย นางสาวสิริรัตน์ วงศ์ไพโรจน์พานิช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองซีอาน กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๕

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ