สถานการณ์ข้าวหอมมะลิไทยในมณฑลเสฉวน และมหานครฉงชิ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 5, 2012 16:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1.สภาพตลาดข้าวหอมมะลิไทยในมณฑลเสฉวน และมหานครฉงชิ่ง

ปัจจุบัน ข้าวหอมมะลิไทย เป็นหนึ่งในสินค้าอาหารไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริโภคในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และมหานครฉงชิ่ง

กลิ่นหอมเฉพาะ และเมล็ดข้าวที่มีลักษณะเรียวยาว ประกอบกับรสชาติความอร่อยของข้าวหอมมะลิไทย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่แตกต่างจากข้าวของจีนที่มีลักษณะเมล็ดข้าวแบบกลม ป้อม สั้น และลักษณะพิเศษเฉพาะเหล่านี้เอง ที่ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยครองใจผู้บริโภคชาวจีนตะวันตกจำนวนไม่น้อย

ในมณฑลเสฉวนมีบริษัทนำเข้า และค้าส่งข้าวรายใหญ่ที่สุด คือ บริษัท Chengdu Jinxiong Trading Co., Ltd. ซึ่งทางบริษัทนำเข้าข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวจากประเทศไทยเป็นสัดส่วนทั้งหมด 100% มูลค่านำเข้าปีละประมาณ 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดขายของบริษัทฯ ประมาณปีละ 16 ล้านเหรียญสหรัฐ

คุณหลัว หง ผู้บริหารระดับสูงบริษัท Chengdu Jinxiong Trading Co., Ltd. พูดคุยถึงสถานการณ์การค้าในปัจจุบันว่า "บริษัทฯ นำเข้าข้าวหอมมะลิ ข้าวหอม ข้าวหอมปทุม และข้าวเหนียวบรรจุสำเร็จส่งตรงจากประเทศไทย เก็บสินค้าที่โกดังในนครกวางเจาโดยไม่มีการบรรจุใหม่ โดยบริษัทฯ นำเข้าข้าวหอมและข้าวหอมมะลิไทยปีละกว่า 3,000 ตัน และนำเข้าข้าวเหนียวกว่า 200 ตันต่อปี โดยกระจายสินค้าในเขตพื้นที่นครเฉิงตู มหานครฉงชิ่ง และมณฑลส่านซี ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งค้าส่งและค้าปลีก เช่น ส่งสินค้าตรงถึงบริษัทผู้ค้าปลีก ส่งเข้าจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยจำหน่ายข้าวหอมมะลิหลัก ๆ 2 ยี่ห้อ คือ ข้าวตราฉัตร (Royal Umbrella) ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และยี่ห้อซินผิ่น (Xin Pin) ซึ่งบรรจุเสร็จในประเทศไทยเช่นกัน"

ปัจจุบัน ในมณฑลเสฉวน นครเฉิงตู มีจำหน่าย ข้าวสารแบบบรรจุถุงทั้งจากเขตมณฑลเสฉวน และเขตนอกพื้นที่อื่นๆ เช่น เขตปกครองตนเองหนิงเซียะ มณฑลเหลียวหนิง มณฑลจี๋หลิน มณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลหูเป่ย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้าวหอมมะลิไทยจำหน่ายอย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน ทั้งในห้างสรรพสินค้าระดับบน ห้างสรรพสินค้าทั่วไป ร้านค้าแบบกิจการสาขาตลอดจนร้านค้าตามตลาดท้องถิ่นทั่วไป โดยราคาสินค้าอาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามระดับของห้างฯ หรือตลาดที่จัดจำหน่าย

ข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าระดับบน/ซุปเปอร์มาร์เก็ตมีหลากหลายแบรนด์ หลากหลายขนาด ได้แก่ ขนาดบรรจุถุง 2.5 กิโลกรัม 5 กิโลกรัม และ 10 กิโลกรัม แต่โดยมากจะจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทยขนาด 5 กิโลกรัม เป็นหลัก สำหรับราคาจะอยู่ที่ประมาณ 73-128 หยวน ต่อน้ำหนักบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ตราสินค้าข้าวหอมมะลิไทยที่จัดจำหน่ายทั่วไป เช่น ข้าวหอมมะลิชาววัง ข้าวตราฉัตร ข้าวซินผิ่น ข้าวตราทานตะวัน ข้าวตราKOKO เป็นต้น สำหรับข้าวจีนบรรจุถุง ราคาที่จำหน่ายประมาณ 36-60 หยวนต่อ 5 กิโลกรัม สำหรับข้าวหอมมะลิไทยชนิดแบ่งขายจะอยู่ที่ประมาณ 6.80 หยวน ต่อครึ่งกิโลกรัม ขณะที่คู่แข่งสำคัญคือ ข้าวจากเวียดนาม ราคาเพียงแค่ 1.99 หยวน ต่อครึ่งกิโลกรัมเท่านั้น

ด้านข้าวหอมมะลิไทยในตลาดนครฉงชิ่ง เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากชาวฉงชิ่งมีกำลังในการซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้น นอกจากนั้น ระบบโลจิสติกส์ที่มีการพัฒนารองรับการขนส่งและกระจายสินค้า ก็สนับสนุนให้การนำเข้าสินค้าจากไทยสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และแนวโน้มการจำหน่ายสินค้านำเข้าจากไทยก็จะมีมากขึ้นตามลำดับ

แม้ว่าราคาข้าวหอมมะลิไทยที่แพงลิ่วเมื่อเทียบกับข้าวที่ผลิตเองในประเทศ ยังคงถือเป็นปัญหาหลักสำคัญในการจำหน่าย แต่ทว่า ในทางตรงกันข้าม ข้าวหอมมะลิไทยกลับได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวจีนตะวันตกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์ และขนาดของบรรจุภัณฑ์ของข้าวหอมมะลิไทยนับวันยิ่งมีให้เลือกสรรมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟู อันส่งผลให้การเพิ่มขึ้นด้านรายได้ของชาวจีนตะวันตกมีมากขึ้น ความนิยมในสินค้านำเข้า และการใช้เงินในการจับจ่ายซื้อสินค้า จึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้บริโภคเหล่านี้ ปัจจัยทั้งหมดนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ตลาดข้าวหอมมะลิไทยมีโอกาสพัฒนาได้ในตลาดจีนตะวันตกเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

2.จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค

จุดแข็ง 1. ข้าวหอมมะลิไทยมีชื่อเสียงและคุณภาพ 2. ข้าวหอมมะลิไทยมีลักษณะพิเศษเฉพาะ (กลิ่นหอมเมล็ดข้าวเรียวยาว) 3. ความสัมพันธ์ไทย-จีนยาวนาน

จุดอ่อน 1. ราคาสูง 2.ขาดแผนการตลาดในการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง

โอกาส 1. จีนตะวันตกเป็นตลาดใหญ่ 2. เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง 3. การเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์ 4. ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสินค้าสูง 5. รัฐบาลจีนยอมรับข้าวไทย และมีมาตรการสนับสนุนการนำเข้าข้าวไทย 6. ข้าว ถือเป็นอาหารหลักของผู้บริโภคชาวจีน

อุปสรรค 1. การปลอมปนข้าว 2. การใช้ชื่อข้าวหอมมะลิไทยในการแอบอ้าง 3. คู่แข่ง

3.กลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสม

เนื่องจากข้าวหอมมะลิไทยมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น ข้อจำกัดของกลุ่มผู้บริโภคจึงยังคงมีน้อย เพราะผู้ มีกำลังซื้อโดยมากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ค่อนข้างสูงเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักในการขยายตลาดข้าว

ไทย ดังนั้น การสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคทั่วไปถึงคุณสมบัติ ความแตกต่าง ตลอดจน ความมีชื่อเสียง และความหอม นุ่มของข้าวหอมมะลิไทย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการควรจะให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ และเอกชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุน และส่งเสริมการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และขยายตลาดการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยมายังจีนตะวันตกมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ทันสมัย และความก้าวไกลบนโลก ของอินเตอร์เน็ต เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะสามารถใช้เป็น เครื่องมือในการขยายตลาดการส่งออก และการจำหน่ายข้าว หอมมะลิไทยได้มากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างของตลาดค้าส่งผลไม้ ฉงชิ่งไช่หยวนป้าที่มีการจัดทำเว็บไซต์จำหน่ายสินค้านำเข้าจาก ต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่จำหน่ายมี ข้าวหอมมะลิไทย รวมอยู่ด้วย ดังกรณีตัวอย่างนี้ อาจจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะ ช่วยผลักดันให้มูลค่าการนำเข้า และการจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นในเขตจีนตะวันตกเพิ่มขึ้นอีกก็เป็นได้

4.ข้อมูลอื่นๆ จากการสัมภาษณ์ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของนครเฉิงตู

โดยทั่วไปแล้ว การนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ จะต้องมีการสมัครโควต้าการนำเข้าด้วย ซึ่งโควต้า การนำเข้าข้าวจากทั้ง 23 มณฑลของจีน จะต้องยื่นเรื่องสมัคร ณ กรุงปักกิ่ง เสียก่อน โดยแต่ละมณฑลจะถูกกำหนดโควต้านำเข้าข้าวที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละปี

มณฑลเสฉวนเป็นหนึ่งในมณฑลของจีนที่รัฐบาลให้โควต้าการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ และหนึ่งใน ผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยรายใหญ่ของมณฑลเสฉวน คุณหลัว หง ผู้บริหารระดับสูงบริษัท Chengdu Jinxiong Trading Co., Ltd. ให้ข้อมูลว่า บริษัทสมัครโควต้านำเข้าข้าวหอมมะลิไทยไปยังกรุงปักกิ่งโดยผ่านการสมัครผ่านมณฑลเสฉวน นอกจากนี้ คุณหลัว หง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เดิมมณฑลเสฉวนยังไม่มีโควต้าการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ แต่ทางบริษัทฯ เป็นเจ้าแรกที่เริ่มบุกเบิกการยื่นขอโควต้าการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทย แต่กระนั้น ในปัจจุบัน ปริมาณโควต้าการนำเข้าข้าวก็ยังมีไม่มากนัก (ประมาณไม่กี่พันตันเท่านั้น) ซึ่งหากปริมาณการนำเข้าไม่เพียงพอ ทางบริษัทก็จะซื้อข้าวจากมณฑลอื่นๆ แทนการนำเข้าข้าวนอกโควต้า

ด้านภาษีการนำเข้าข้าว แม้จะอยู่ที่ร้อยละ 1 แต่ VAT ถือว่าค่อนข้างสูง (ร้อยละ 13) สำหรับโควต้าการนำเข้าข้าวในมณฑลที่ได้รับสิทธิ์ค่อนข้างสูงเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ มณฑลกวางตง กรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยง

ไฮ้ เป็นต้น มณฑลกวางตง จะมีโควต้าการนำเข้าข้าวมากที่สุด ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี สำหรับข้าวหอมมะลิของไทยกำหนดโควต้าประมาณ 1 ล้านตันต่อปี

ด้านราคาจำหน่ายปลีกข้าวหอมมะลิไทยของบริษัทฯ อยู่ที่ราคา 20 หยวน ต่อ 1 กิโลกรัม สำหรับ ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ราคาจำหน่ายปลีกประมาณ 23 หยวนต่อ 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 11.5 - 11.8 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม เหตุผลที่ทางบริษัทจำหน่ายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง เนื่องจาก มีการนำเข้าโดยตรง และไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ช่องทางการนำเข้าข้าวผ่านทางกวางโจว มายังนครเฉิงตูโดยรถไฟ ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ (จากกรุงเทพ-กวางโจว ใช้เวลาประมาณ 10-20 วัน)

สำหรับมหานครฉงชิ่ง แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการนำเข้าข้าวโดยตรง แต่หากมีผู้ประกอบการต้องการสมัครขอโควต้าการนำเข้าข้าว ก็สามารถกระทำได้เช่นกัน

ปัจจุบัน คู่แข่งข้าวหอมมะลิของไทย ได้แก่ ข้าวของเวียดนาม โดยเฉพาะในปี 2555 เริ่มมีการนำเข้ามาจำหน่ายในจีนมากยิ่งขึ้น การนำเข้าข้าวดังกล่าวมีบรรจุภัณฑ์ที่เขียนว่าเป็นข้าวจากเวียดนาม แต่โดยมากจะนำข้าวเข้ามาผสมในข้าวที่ผลิตของประเทศจีน นอกจากนั้น ข้าวของพม่า อินเดีย และปากีสถาน ก็เริ่มมีการนำเข้ามากยิ่งขึ้นแล้วเช่นกัน

ทั้งรัฐบาลจีนและไทยต่างก็มีข้อตกลงกันในเรื่องข้าวหอมมะลิไทยมาเป็นระยะเวลานานหลายปีแล้ว แต่หนึ่งในปัญหาที่ทางบริษัทยังคงพบเจอคือ ข้าวหอมมะลิไทยมีมาตรฐานในไทย แต่เมื่อนำเข้ามาจำหน่ายในจีนกลับไม่มีมาตรฐานนี้ (Thai Hom Ma Li Rice) ปัญหาที่สองคือ ข้าวของเวียดนาม พม่า และกัมพูชา เริ่มเข้ามาในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้าวจากกัมพูชา เนื่องจาก ราคาข้าวหอมมะลิไทยแพงมากเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มมีการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา เพราะมีความใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทย และที่สำคัญคือราคาถูกกว่าข้าวไทย ปัจจัยนี้อาจเป็นเหตุให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อข้าวเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

คุณหลัว หง ยังกล่าวอีกว่า เนื่องจากทางบริษัทมีการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยโดยตรงแบบบรรจุ เสร็จจากประเทศไทย ดังนั้น จึงสามารถการันตีได้ว่า เป็นข้าวหอมมะลิไทยแท้ และไม่มีปลอมปน แต่สำหรับผู้ประกอบการรายอื่น เขาไม่สามารถการันตีได้ นอกจากนี้ เขายังมีแผนการที่จะนำเข้าข้าวออร์แกนิคของไทยเพิ่มเติมอีกด้วย

แม้ว่าข้าวหอมมะลิไทยจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่ทว่า แบรนด์ข้าวหอมมะลิไทยที่มีมายาวนานหลายปี และเป็นที่คุ้นเคยสำหรับตลาดผู้บริโภคชาวจีนตะวันตกแล้ว โดยเฉพาะในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และมหานครฉงชิ่ง จึงยังถือเป็นโอกาสทองที่จะสนับสนุนข้าวหอมมะลิไทยต่อไป โดยเฉพาะรัฐบาลไทย ควรจะให้การสนับสนุน ส่งเสริม ผลักดัน และช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยมายังจีนตะวันตกให้มากยิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

3 กรกฎาคม 2555

ที่มา: 1. จากการสำรวจตลาดในพื้นที่จริงของห้างสรรพสินค้า Ito yokado, Auchan, Carrefour, Liandong,

Wangfujing, Isetan นครเฉิงตู

2. จากการสัมภาษณ์คุณหลัว หง ผู้บริหารระดับสูงบริษัท Chengdu Jinxiong Trading Co., Ltd.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ