รายงานภาวะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 4, 2012 16:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ขอบเขต

สินค้ากึ่งสำเร็จรูป HS 7101 ไข่มุกธรรมชาติ, HS 710231, 710239 เพชรยังไม่ประกอบตัวเรือน, HS 7103 รัตนชาติ(หินสี)

สินค้าสำเร็จรูป HS 7113 เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ, HS 7114 เครื่องทองและเครื่องเงิน, HS 7116 เครื่องมุกหรือรัตนชาติ

1. ความต้องการบริโภค

จากการประเมินของสมาคม Taiwan All Jewelers Association ระบุว่ามูลค่าตลาดอุตสาหกรรมอัญมณีในไต้หวันเท่ากับ 30,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ต่อปี และเครื่องประดับอื่น ๆ เท่ากับ 12,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ต่อปี (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญไต้หวัน = 1.03 บาท โดยประมาณ)

ชาวไต้หวันเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยสำนักสถิติและงบประมาณแห่งชาติของไต้หวันได้คาดการณ์ว่าในปี 2012 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยต่อคน (GDP per capita) จะมีมูลค่าเท่ากับ 20,222 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี การเลือกซื้ออัญมณีเครื่องประดับของผู้บริโภคยุคก่อนในไต้หวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อการออมทรัพย์โดยนิยมซื้อทองคำแท่งหรือเครื่องประดับทองคำ ผู้บริโภคจะไม่คำนึงถึงรูปแบบมากนัก และต้องการสินค้าที่คิดค่าแรงในราคาต่ำ ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ แต่หลังจากที่บริษัท De Beers ผู้จำหน่ายอัญมณีรายใหญ่ของโลกมุ่งขยายตลาดในไต้หวันตั้งแต่ปี 2000 ได้ทำการโฆษณาและสร้างค่านิยมให้ชาวไต้หวันหันมาซื้ออัญมณีมากขึ้น ปัจจุบันผู้ซื้ออัญมณีและเครื่องประดับมีแนวโน้มอายุต่ำลงทุกปี ส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือแม้แต่วัยรุ่น กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ไม่ได้ซื้ออัญมณีและเครื่องประดับเพื่อการออมทรัพย์ แต่ถือเป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่ง และยินดีที่จ่ายในราคาสูงขึ้น หากพบสินค้าที่มีรูปแบบหรือคุณภาพถูกใจ

2. ภาวะการผลิตของประเทศ

ไต้หวันพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโดยเริ่มจากการผลิตหินปะการังและทองคำ ในยุคที่อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น (ก่อนปี 1945) ต่อมาช่วงปี 1960 เริ่มมีการผลิตหยก ช่วงปี 1970 เริ่มผลิตหินสี (Semi-precious Stone) จนถึงปี 1986 นับเป็นจุดสุดสูงของการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไต้หวัน หลังจากนั้นการผลิตได้เริ่มถดถอยลง เนื่องจากภาวะค่าแรงสูงขึ้น ค่าเงินเหรียญไต้หวันแข็งค่า ทำให้มีการย้ายฐานผลิตไปยังต่างประเทศไม่น้อย

อุปสรรคสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีในไต้หวันคือ ต้องนำเข้าวัตถุดิบซึ่งมีราคาสูงขึ้น ตลาดในประเทศอิ่มตัวและซบเซา ขาดแคลนการผสานกันระหว่างผู้ประกอบในแนวตั้งและแนวนอน ไม่มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีก ผู้ผลิตย้ายฐานผลิตไปต่างประเทศ ตลอดจนไม่สามารถกำหนดจุดเด่นของสินค้าไต้หวันในตลาดโลกได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเน้นการเลือกซื้อสินค้าคุณภาพสูง มีรูปแบบใหม่สะดุดตา ทำให้ผู้ผลิตต้องทำการออกแบบสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างไม่หยุดยั้ง ควบคู่กับการสร้างแบรนด์เนม การออกแบบกล่องบรรจุที่สวยงาม ตลอดจนจัดการประกวดแข่งขันเพื่อเป็นการพัฒนาสินค้าใหม่

ปัจจุบันนี้ ผู้บริหารรุ่นใหม่ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในไต้หวันจะมีการรวมตัวกันมากขึ้นในการจัดซื้อร่วมกันเพื่อเป็นการลดต้นทุน และมีการใช้กลยุทธ์การผลิตสินค้าที่ออกแบบเฉพาะจำหน่ายผ่านร้านค้าแฟรนไชส์ (Franchise) โดยอาศัย

ประโยชน์จากการโฆษณาได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ จากสถิติของ Department of Statistic, Ministry of Economic Affairs, Taiwan มูลค่าการผลิตอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไต้หวันในปี 2011 เท่ากับ 2,627.45 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.94 เมื่อเทียบกับปี 2010 สำหรับในปี 2012 (มกราคม - มิถุนายน) เท่ากับ 1,555.38 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

3. การนำเข้า

3.1 การนำเข้าโดยรวม

ในปี 2011 ไต้หวันนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับคิดเป็นมูลค่ารวม648.636 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.82 จากปี 2010 โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2012ไต้หวันนำเข้าคิดเป็นมูลค่ารวม 329.197 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.29 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามรายละเอียดตามตารางที่ 1

ตารางที่ 1 สถิติการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไต้หวันในช่วงปี 2010-2012

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ
HS-Code              Products                   2010       2011       +/-      2011*       2012*       +/-
7113       เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ            219.771    293.905    33.73%   106.689     178.164     66.99%
7114       เครื่องประดับทองและเงิน               196.696    192.741    -2.01%   145.643      56.514    -61.20%
710239     เพชรยังไม่ประกอบตัวเรือน               80.684    107.536    33.28%    50.707      59.468     17.28%
7103       รัตนชาติ (หินสี)                       21.173     27.716    30.90%     14.89       10.63    -28.61%
7116       เครื่องมุกหรือรัตนชาติ                   16.109     23.693    47.08%    9.0887      20.765    128.47%
7101       ไข่มุกธรรมชาติ                         2.337      2.927    25.25%     1.155       3.578    209.78%
710231     เพชรยังไม่ประกอบตัวเรือน                0.085      0.118    38.82%     0.069       0.078     13.04%
           Total                             536.855    648.636    20.82%    328.242    329.197      0.29%
ที่มา : กรมศุลกากรไต้หวัน
*ข้อมูลจากเดือนมกราคม-มิถุนายน

          ทั้งนี้ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไต้หวันนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรกในปี 2011 ได้แก่
          - เครื่องเพชรพลอย มูลค่า 293.905 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 33.73 แหล่งนำเข้าที่สำคัญคือ ฮ่องกง ฝรั่งเศส สหรัฐฯ อิตาลี และญี่ปุ่น สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2012 นำเข้ามูลค่า 178.164 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2011 ร้อยละ 66.99 24.94%
          - เครื่องประดับทองและเงิน นำเข้ามูลค่า 192.741 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2010 ร้อยละ 2.01 แหล่งนำเข้าที่สำคัญคือ จีน ญี่ปุ่น ไทย เยอรมัน และสวิสเซอร์แลนด์ สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2012 นำเข้ารวมคิดเป็นมูลค่า 56.514 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2011 ร้อยละ 61.20
          - เพชรที่ยังไม่เข้าตัวเรือน นำเข้าคิดเป็นมูลค่า 107.536 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 33.28 แหล่งนำเข้าที่สำคัญคือ อินเดีย เบลเยี่ยม ฮ่องกง สหรัฐฯ และอิสราเอล สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2012 นำเข้ามูลค่า 59.468 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2010 ร้อยละ 17.28

          3.2  การนำเข้าจากไทย ในปี 2011 ไต้หวันนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยคิดเป็นมูลค่ารวม 18.445 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 36.32 สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2012 ไต้หวันนำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า10.328 เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.27 รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตารางที่ 2

ตารางที่ 2 สถิติการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยของไต้หวัน

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ
HS-Code           Products           2010       2011       +/-       2011*       2012*       +/-
7101        ไข่มุกธรรมชาติ             0.009      0.005   -44.44%      0.004       0.000   -100.00%
7103        รัตนชาติ(หินสี)             1.420      1.495     5.28%      0.584       0.711     21.75%
7113        เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ  7.977     10.908    36.74%      4.848       6.543     34.96%
7114        เครื่องทองและเครื่องเงิน     2.955      4.797    62.34%      1.673       2.599     55.35%
7116        เครื่องมุกหรือรัตนชาติ        1.052      1.068     1.52%      0.505       0.397    -21.39%
710239      เพชรยังไม่ประกอบตัวเรือน    0.033      0.054    63.64%      0.009       0.000   -100.00%
710231      เพชรยังไม่ประกอบตัวเรือน    0.085      0.118    38.82%      0.069       0.078     13.04%
            Total                  13.531     18.445    36.32%      7.692      10.328     34.27%
ที่มา : กรมศุลกากรไต้หวัน
*ข้อมูลจากเดือนมกราคม-มิถุนายน

          โดยสินค้าที่ไต้หวันนำเข้าจากไทยสูงสุด 3 อันดับแรกในปี 2011 คือ
          - เครื่องเพชร พลอยมูลค่า 10.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 36.74 ไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 3.71 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2012 นำเข้า 6.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 34.96
          - เครื่องประดับทองและเงิน มูลค่า 4.797 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 62.34 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.48 ของการนำเข้าทั้งหมดของไต้หวันในสินค้าประเภทนี้ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2012 นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 2.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 55.35
          - รัตนชาติ มูลค่า 1.495 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5.28  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.39 ของการนำเข้าทั้งหมดของไต้หวันในสินค้าประเภทนี้ และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2012 นำเข้าคิดเป็นมูลค่า 0.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2011 ร้อยละ 21.75

          3.3. กฎระเบียบทางการค้า ระเบียบการนำเข้าและส่งออก
          เนื่องจากอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไต้หวันมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก รัฐบาลไต้หวันจึงไม่มีการตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ตลอดจนไต้หวันไม่มีวัตถุดิบอัญมณีและรัตนชาติ และโลหะมีค่าต่าง ๆ จึงกำหนดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบในอัตราต่ำเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และไม่มีการกำหนดระเบียบควบคุมการนำเข้าส่งออกที่เข้มงวดหรือเป็นอุปสรรคต่อการค้า
          ทั้งนี้อัตราภาษีศุลกากรขาเข้าของอัญมณีและเครื่องประดับชนิดต่าง ๆ อยู่ในระดับ 0 - 5 %

4. การตลาด
          ตลาดไต้หวันมีความนิยมเครื่องประดับหยกและเพชร มากกว่าพลอย ไพลิน หรือหินสีอื่นๆ  รูปแบบสินค้าจะเน้นความทันสมัย เรียบง่าย ส่วนใหญ่จะไม่เน้นอัญมณีเม็ดใหญ่เม็ดเดียว แต่จะเป็นแบบเม็ดเล็กประกอบกัน  นอกจากนี้จะเกาะติดกระแสนิยมตามรูปแบบของสินค้าแบรนด์เนมทั้งในญี่ปุ่นและยุโรป

          4.1 การกำหนดราคาขาย
          กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้เริ่มมีงานทำหรือผู้มีรายได้ระดับต่ำนิยมซื้อสินค้า ราคาขายปลีกต่ำกว่า 10,000 เหรียญไต้หวัน (1 เหรียญไต้หวัน = 1.03 บาท โดยประมาณ) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีปริมาณการจำหน่ายมากที่สุด
          ราคาขายปลีก 30,000 - 100,000 เหรียญไต้หวัน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ซื้อเพื่อเป็นของหมั้น หรือมอบให้กับคนรักหรือเคารพ โดยทั่วไปจะนิยมเครื่องประดับที่เข้ากันเป็นชุด ทั้งนี้ระดับราคา 40,000 - 50,000 เหรียญไต้หวันเป็นระดับที่ขายได้ง่าย
          อัตรากำไรของร้านค้าปลีก นั้น เครื่องประดับทองอยู่ในระดับประมาณ 20% อัญมณีและหินมีค่าอื่น ๆ ประมาณ 50-100% การขายอัญมณีและรัตนชาติในห้างสรรพสินค้าอยู่ในระดับ 200%

          4.2 ช่องทางการจำหน่าย
          การจำหน่ายสินค้าผ่านทางร้านค้าอัญมณีเป็นช่องทางจำหน่ายที่มีมากที่สุด ร้านค้าอัญมณีส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนหนาแน่น อาทิเช่นย่านห้างสรรพสินค้า โซโก้ ถนนจงเสี้ยวตง ในกรุงไทเป  การตั้งเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าเป็นช่องที่สำคัญเช่นกันซึ่งจะมีเคาน์เตอร์จำหน่ายสินค้าอัญมณีแบรนด์เนมต่าง ๆ ตั้งอยู่ ช่องทางจำหน่ายผ่านสตูดิโอถ่ายรูปแต่งงาน/ผู้รับจัดงานแต่งงาน ก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยม

          4.3 การส่งเสริมการจำหน่าย
          ผู้ค้าอัญมณีในไต้หวันนิยมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายโดยการลดราคาในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น หลังวันตรุษจีน (เดือนกุมภาพันธ์) วันวาเลนไทน์ วันแม่ (วันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือน พฤษภาคม) วันแห่งความรักของจีน (เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติ)คริสต์มาสและปีใหม่
          การส่งเสริมการขายโดยการจัดนิทรรศการอัญมณีและเครื่องประดับ ตามห้างสรรพสินค้าหรือตามศูนย์แสดงสินค้า เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ได้ผลและนิยมกระทำในไต้หวัน นอกจากนี้จากการที่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นของขวัญที่นิยมมอบให้ในงานวิวาห์ ดังนั้นในงานนิทรรศการที่เกี่ยวกับงานวิวาห์จึงมีผู้ขายอัญมณีและเครื่องประดับไปร่วมจัดแสดงเช่นกัน

5. แนวโน้มตลาด
          จากการที่รายได้โดยเฉลี่ยของชาวไต้หวันอยู่ในเกณฑ์สูงและคุณภาพชีวิตที่ค่อนข้างดี ทำให้คนไต้หวันรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญการแต่งกายมากขึ้น แฟชั่นและความทันสมัยจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในไต้หวันให้ความสำคัญมาก ประกอบกับแนวคิดใหม่ๆ โดยแนวโน้มสำคัญของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในไต้หวันพอจะแบ่งออกง่ายๆ ได้ดังนี้

          5.1 การมอบเครื่องประดับอัญมณีเป็นของขวัญแต่งงานแทนทองคำ
          ที่ผ่านมา ทองและเครื่องประดับจากทองคำถือเป็นของขวัญที่ผู้ใหญ่นิยมมอบให้แก่คู่บ่าวสาวมากที่สุดในการแต่งงาน อย่างไรก็ดี จากการที่ราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นในการซื้อเครื่องประดับทอง จากเดิมที่ราคาอยู่ระหว่าง 3,000 - 4,000 เหรียญไต้หวัน เพิ่มเป็น 1 หมื่นกว่าๆ จึงจะสามารถซื้อได้ เห็นได้ชัดว่าราคาทองคำยิ่งแพงคนก็ยิ่งซื้อเครื่องประดับอัญมณีมากขึ้น นอกจากนี้ภาพของเครื่องประดับทองคำในความคิดของผู้บริโภครุ่นใหม่จะมองว่าค่อนข้างเชย และล้าสมัย จนมองกันว่ามีแต่อากงอาม่าที่ใช้ของพวกนี้ ความนิยมในการใช้เป็นเครื่องประดับ ทองคำในชีวิตประจำวันจึงลดน้อยถอยลงทุกวัน ส่วนเครื่องประดับอัญมณีให้ภาพลักษณ์ของความทันสมัยมากกว่าและใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

          5.2 กลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยเพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยลดต่ำลง
          รายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้กลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยมีความกล้าที่จะซื้อสินค้าราคาแพงมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มหันมาผลิตสินค้าที่ราคาไม่สูงมากออกสู่ตลาดมากขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นความนิยมในรูปแบบของความหรูหราที่ซื้อหาเองได้ (Affordable Luxury) ขึ้น

          5.3 ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับบรรยากาศในการซื้อสินค้ามากขึ้น
          โดยพฤติกรรมในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในปัจจุบัน จะแตกต่างจากในอดีตที่จะเดินเข้าสู่ร้านก็เพราะมีความต้องการซื้อเท่านั้น แต่ในทุกวันนี้ เนื่องจากมีผู้ประกอบการตั้งร้านอยู่ภายห้างสรรพสินค้ามากขึ้น การเดินชมสินค้าจึงถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น การตกแต่งร้านให้มีบรรยากาศที่ดีและมีการบริการที่มีคุณภาพสูงก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าเช่นเดียวกัน เพราะหากจะว่าไปแล้วกลุ่มลูกค้าที่มาเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจะมีเรื่องราวของตัวเองอยู่ การสร้างความเข้าใจกับลูกค้าและช่วยให้สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตรงตามวัตถุประสงค์จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้

          5.4 ภาวะการแข่งขันรุนแรง แบรนด์เนมจากต่างชาติเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
          กระแสความนิยมที่มองอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าแนวแฟชั่นซึ่งเป็นที่นิยมไปทั่วโลกทำให้เหล่าแบรนด์เนมเช่น Chanel หรือ LV ที่ก่อนหน้านี้ทำสินค้าเสื้อผ้าและกระเป๋าเป็นหลักก็หันมาให้ความสำคัญกับอัญมณีและเครื่องประดับเช่นกัน การจะแข่งขันกับแบรนด์เนมเหล่านี้ได้ สินค้าจะต้องมีการออกแบบที่ดี จึงจะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค

          5.5 โอกาสทางการค้าจากการเปิดตลาดนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่
          นับตั้งแต่ไต้หวันเปิดให้นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางเข้าประเทศได้ก็สร้างความคึกคักให้กับตลาดค้าปลีกในประเทศเป็นอย่างมาก เพราะนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่เหล่านี้มีกำลังซื้อในระดับสูง เพราะไต้หวันมีการคัดเลือกผู้ที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวว่าต้องยื่นแสดงหลักฐานทางการเงินประกอบการขอวีซ่า อีกทั้งชาวจีนแผ่นดินใหญ่ส่วนใหญ่จะมีความเชื่ออยู่แล้วว่าสินค้าไต้หวันเป็นสินค้าชั้นดี จึงเกิดเป็นกระแสนิยมเลือกซื้อสินค้าไต้หวันติดไม้ติดมือกลับบ้านระหว่างเดินทางมาท่องเที่ยว

          5.6 กลุ่มลูกค้าหลักคือกลุ่มผู้หญิงอายุระหว่าง 28-40 ปี
          จากการที่สภาพสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงสมัยใหม่แต่งงานช้าลง และใช้ระยะเวลาในการคบหาดูใจที่นานขึ้น ประกอบกับในสังคมการทำงานผู้หญิงมีตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้น มีความสามารถในการจับจ่ายซื้อของเพื่อให้รางวัลแก่ตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 28-40 ปี ที่ไม่จำเป็นต้องคงภาพลักษณ์ของความเป็นผู้หญิงแกร่งทำงานเก่งที่ไม่นิยมการแต่งตัวไว้อีกต่อไป โดยเปลี่ยนมาเอาใจใส่กับการรูปลักษณ์ภายนอกและให้ความสนใจกับความงามของตัวเองมากขึ้น

6. บทสรุปและข้อคิดเห็น
          6.1 การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเริ่มเสียเปรียบประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำกว่าโดยเฉพาะสินค้าจากจีน อีกทั้งผู้ประกอบการไทยจะไม่ค่อยเน้นการผลิตหยกซึ่งถือเป็นสินค้าอัญมณีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดคนเชื้อสายจีน
          6.2 การจะทำตลาดไต้หวันผู้ส่งออกไทยจึงต้องมีปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจพอสมควร และจากแนวโน้มตลาดที่กล่าวถึงเห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคประเภทที่ซื้อสินค้าเพื่อใช้เองก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
          6.3 กลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าสนใจอีกกลุ่มคือกลุ่มผู้ชายวัยทำงานรุ่นใหม่ ที่หันมาเอาใจใส่การแต่งตัวมากขึ้น ตามเทรนด์ของการรักและให้รางวัลกับตัวเอง
          6.4 สินค้าที่จะได้รับการยอมรับจากตลาดจะต้องเป็นสินค้าที่มีการออกแบบให้  ทันสมัยและรับกับเครื่องแต่งกายสมัยใหม่ได้


          รายงานโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
          โทร. 886-2-2723 1800 โทรสาร. 886-2-2723 1821
          อีเมล์ : thaicom.taipei@msa.hinet.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ