การประชุมร่วมสองฝ่าย อินเดีย-จีน ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 9 ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 10, 2012 15:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2555 ได้มีการประชุมร่วมสองฝ่าย อินเดีย-จีน ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 9 (The 9 th Session of the Joint Group of India-China on Economic Relations, Trade, Science and Technology) ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยฝ่ายอินเดียมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม (นาย Anand Sharma) เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนฝ่ายจีนมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นาย Deming Chen) เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งมีประเด็นสำคัญซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันสรุปได้ ดังนี้

1.อินเดียยอมยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้ากว่า 44,300 เมกกะวัตต์ ที่อินเดียได้สั่งซื้อจากจีนเรียบร้อยแล้วเพื่อตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงการใหญ่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของอินเดีย (ระหว่างปี 2555-2556 จนถึงปี 2559-2560) จากเดิมที่อินเดียจะเก็บอากรขาเข้าสินค้าดังกล่าวในอัตราร้อยละ 21.0

2.ให้มีการจัดทำแผน 5 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน (Five-year Plan on Economic Cooperation) โดยจะมีการระบุหน่วยประสานงานหลักของทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจนเพื่อให้การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันเป็นไปอย่างราบรื่น

3.ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Working Group) ตามข้อเสนอของฝ่ายจีน ซึ่ง ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง (Senior Officers) ของทั้งสองฝ่ายเพื่อทำหน้าที่พิจารณาประเด็นทางการค้าและการลงทุน โดยคณะทำงานร่วมดังกล่าวจะต้องมีข้อเสนอแนะ (Recommendations) และการประเมินผลภายใน 90 วัน

4.ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพิจารณาถึงตัวเลขการขาดดุลการค้าของอินเดียต่อจีน ซึ่งจีนเป็นฝ่าย ได้เปรียบดุลการค้ามาตลอดและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก โดยในปีงบประมาณ 2554-2555 จีนเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าถึง 39,651.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 66.17 โดยในปีงบประมาณ 2554-2555 มูลค่าการค้ารวมระหว่างอินเดียกับจีนมีมูลค่า 75,457.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 59,000.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 27.9 โดยอินเดียส่งออกไปจีนเป็นมูลค่าเพียง 17,902.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่นำเข้าจากจีนถึง 57,554.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าหลักที่อินเดียส่งออกไปจีนจะเป็นสินค้าขั้นปฐม วัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) โดยในปีงบประมาณ 2553-2554 จีนส่งออกโลหะชนิดที่ไม่ใช่เหล็ก (Non-Ferrous Metals) และสินแร่เหล็ก (Iron Ore) ไปจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50.0 ของมูลค่าการส่งออกรวมของอินเดียไปจีน อนึ่ง ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการกำหนดเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันไว้ที่ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558

ตารางแสดงมูลค่าการขาดดุลการค้าของอินเดียต่อจีน
ปีงบประมาณ            มูลค่าการขาดดุล             %การเปลี่ยนแปลง
                   (พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)
2549-2550                9.15                      n.a.
2550-2551               16.27                     77.80
2551-2552               23.14                     42.20
2552-2553               19.20                    -17.01
2553-2554               23.86                     24.25
2554-2555               39.65                     66.17
ที่มา: DGCIS

          5. ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบแนวทางในการลดช่องว่างทางการค้า ซึ่งอินเดียเป็นฝ่ายขาด ดุลการค้ากับจีนอยู่เป็นมูลค่ามหาศาล โดยมีแนวทางดังนี้
          5.1 จีนยินยอมที่จะเปิดตลาดสินค้าให้กับบริษัทอินเดียมากขึ้นสำหรับการจำหน่ายสินค้าให้กับรัฐบาลจีน
          5.2 จีนจะนำเข้าสินค้าเกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) และเภสัชภัณฑ์ (Pharmaceutical Products) จากอินเดียมากขึ้น
          5.3 จีนสนับสนุนให้บริษัทอินเดียเข้าไปทำการส่งเสริมสินค้าในจีนให้มากขึ้น
          6. ด้านการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น  ทั้งนี้ ในปัจจุบันจีนลงทุนในอินเดียเป็นมูลค่า 580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอินเดียลงทุนในจีนเป็นมูลค่า 460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอินเดียได้เชิญให้บริษัทจีนเข้าไปลงทุนในพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติของอินเดีย (National Investment and Manufacturing Zones: NMIZs)
          7. นอกจากการหารือระหว่างกันในระดับรัฐบาลแล้ว ยังมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจำนวน 9 ฉบับ เพื่อแสดงความตั้งใจจริงของภาคเอกชนของจีนที่จะนำเข้าสินค้าจากอินเดียเป็นมูลค่ารวม 189 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งยังมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งอินเดีย (Federation of Indian Chambers of Commerce and Industry: FICCI) กับหอการค้าจีนเพื่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ (China Chamber of Commerce for Import and Export of Machinery and Electronics Products: CCCME) เพื่อเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานทั้งสองในอันที่จะร่วมกันส่งเสริมการค้าระหว่างกันต่อไปในอนาคต
          อนึ่ง การประชุมร่วมสองฝ่าย อินเดีย-จีนฯ นี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2532 อันเป็นผลมาจากการเดินทางไปเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของนายกรัฐมนตรีอินเดีย (นายราจีฟ คานธี) เมื่อเดือนธันวาคม 2531 สำหรับการประชุมสองฝ่าย อินเดีย-จีนฯ ครั้งที่ 8 จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553

ความเห็นสำนักงานฯ
          1. ในทางการเมืองระหว่างประเทศ อินเดียและจีนยังเป็นคู่แข่งขันกันและยังมีความ ขัดแย้งกันบริเวณแนวพรมแดนอยู่บ้าง โดยเฉพาะกรณีที่อินเดียให้ที่พักพิงแก่ดาไลลามะที่ลี้ภัยมาจากธิเบตซึ่ง จีนไม่ค่อยพอใจอินเดียเท่าใดนัก ในขณะเดียวกันจีนก็หวาดระแวงอิทธิพลของอินเดียต่อธิเบตด้วยเช่นกันเพราะบริเวณที่ราบสูงธิเบตเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยสินแร่ทองแดงและสินแร่เหล็กปริมาณมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันอินเดียเองก็ต่อต้านจีนอยู่ในทีเช่นกัน ถ้าพิจารณาจากแผนที่ในภาคผนวก ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ The Grand Chessboard เขียนโดย Zbigniew Brzezinski เมื่อปี 2540 จะเห็นได้ชัดถึงการขยายอิทธิพลของจีนออกไปทุกทิศทางโดยมีเป้าหมายที่จะหาทางออกทะเล ซึ่งเขตอิทธิพลของจีนได้ขยายออกไปไกลมากโดยเฉพาะทางทิศใต้ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ทั้งหมด แต่มีอินเดียเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในสถานะต่อต้านอิทธิพลจากจีนอยู่
          2. คนอินเดียยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสินค้าจากจีน โดยมีความเชื่อว่าสินค้าจากจีนเป็นสินค้า คุณภาพไม่ดีและไม่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าจากจีนเข้าไปในอินเดียก็ยังอยู่ในระดับที่สูงมากถึง 57.55 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2554-2555 ในขณะที่การส่งออกจากไทยไปอินเดียในช่วงเดียวกันมีมูลค่าเพียง 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ทั้งๆที่สินค้าจากประเทศไทยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอินเดียเป็นอย่างมากว่าเป็นสินค้าดีมีคุณภาพ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะภาคเอกชนของไทยยังให้ความสนใจที่จะทำการค้ากับอินเดียน้อยเกินไปก็ได้
          3. แม้ว่าภาคเอกชนของจีนจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงและสามารถขยายตลาด ออกไปได้ทั่วโลกด้วยตนเอง แต่ภาครัฐของจีนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูง (ทั้งข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ) ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการนำหน้าภาคเอกชนของจีนเพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ ด้วยการเดินหน้าพบปะเจรจาเพื่อหาความร่วมมือกับประเทศเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกันและร่วมกันแก้ไขปัญหาทางการค้าและการลงทุนที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐของจีนนิยมที่จะใช้วิธีนี้เป็นหลัก
          4. อินเดียเป็นประเทศที่ใช้มาตรการปกป้องทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier:  NTB) มากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping: AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการตอบโต้จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard: SG) และจีนก็เป็นประเทศที่ถูกตอบโต้ด้วยมาตรการเหล่านี้มากที่สุดประเทศหนึ่งเช่นกันประเด็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งก็คือ การสร้างกลไกในการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านการค้าและการลงทุนด้วยการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Working Group) ขึ้นมา มีความเป็นไปได้สูงที่น่าจะรวมประเด็นเหล่านี้ไว้ด้วย เนื่องจากแนวทางของจีนที่ผ่านมามักจะนิยมส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเจรจากับประเทศต่างๆเพื่อให้ตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมา หากมีประเด็นที่มีความเป็นไปได้ว่าจีนอาจจะถูกไต่สวนจากมาตรการปกป้องเหล่านี้ ก็จะได้เร่งหารือเพื่อแก้ไขปัญหาเสียก่อนที่จะถูกประกาศไต่สวน ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองมากว่าบทบาทของคณะทำงานร่วมจะทำให้ปริมาณการถูกประกาศไต่สวนจากมาตรการปกป้องเหล่านี้ของจีนและอินเดียจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่


                                                                 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ