สถานการณ์การค้าการลงทุนเมียนมาร์หลังประกาศใช้กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 1, 2013 15:48 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมียนมาร์ประกาศใช้กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2555

ความเปลี่ยนแปลงจากกฎหมายเดิม อาทิ มีการกำหนดธุรกิจและบริการต้องห้ามที่สงวนไว้สำหรับชาวเมียนมาร์เท่านั้น เช่น ปศุสัตว์ ประมง เกษตรกรรม ฯลฯ กิจการที่ต้องขออนุมัติ เช่น กิจการที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สาธารณสุข รวมทั้งกิจการที่อยู่ในรัศมี 10 ไมล์ จากแนวพรมแดน ยกเว้นภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล ด้านรูปแบบการลงทุน สามารถทำได้ 3 วิธี คือ ต่างชาติถือหุ้นร้อยละ 10, ร่วมทุนกับเอกชนหรือรัฐบาลเมียนมาร์ และดำเนินกิจการตามเงื่อนไขข้อตกลง นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องสัดส่วนการแต่งตั้งบุคลากรทักษะของ เมียนมาร์ร้อยละ 25 ใน 2 ปีแรก ร้อยละ 50 ในปีถัดไป และร้อยละ 75 ในอีก 2 ปีถัดไป ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนั้น นักลงทุนต่างชาติจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรหรือวัตถุดิบ 3 ปีจากที่เริ่มดำเนินการ

แนวทางการขยายการลงทุนในเมียนมาร์ รัฐบาลเมียนมาร์สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรม "มูลค่าเพิ่ม" ซึ่งจะช่วยให้มีการสะสมทุนอย่างต่อเนื่อง เอื้อต่อการลงทุนในอนาคต และช่วยลดการว่างงาน ตลอดจนเกิดการถ่ายทอดทักษะในระยะยาว ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานก่อน จากนั้นคือทรัพยากรมนุษย์ และสุดท้ายคือเทคโนโลยี โดยเน้นเมืองใหญ่และบริเวณศักยภาพใกล้เคียง

โอกาสของไทย แบ่งได้ 3 ระยะ คือ

1.ระยะแรก : โครงการปรับปรุงเส้นทางคมนาคม ระบบโลจิสติกส์ โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ระบบไฟฟ้า ประปา ระบบสาธารณสุข รวมถึงการให้คำปรึกษาทางการเงินและกฎหมาย

2.ระยะที่สอง : ธุรกิจบริการด้านการศึกษา สถาบันฝึกอบรมเทคโนโลยีหรือวิชาชีพเฉพาะทาง ศูนย์ให้บริการซ่อมสินค้าไฮเทค อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ เครื่องจักร เครื่องมืออุตสาหกรรม รถยนต์ ธุรกิจส่งคนไข้ไปรักษาในไทย และบริการอพาร์ทเมนท์เช่า

3.ระยะยาว : เมียนมาร์มีแนวโน้มจะพัฒนาประเทศโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เช่น แปรรูปสินค้าเกษตรและทรัพยากร เพื่อให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในอนาคต

ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สคร.ย่างกุ้ง

สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ